ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปฏิบัติการปล้นคลังหลวงพ่วงไปกับ 4 พ.ร.ก.ก่อหนี้น้ำท่วม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (10 ม.ค.) เป็นพฤติกรรมของ "ครม.ยิ่งลักษณ์" ที่น่ารังเกียจ เป็นผลงานชิ้นโบว์ดำทำลายตัวรัฐบาลเอง
"รัฐบาลยิ่งลักษณ์" อาศัยจังหวะชุลมุนฝุ่นตลบในช่วงที่ข่าวต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการผนวกกับข่าวม็อบแท็กซี่รถบรรทุกประท้วงขึ้นก๊าซเอ็นจีวี ให้ ครม.เห็นชอบ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ประกอบด้วย (1) ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท (2.) ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พ.ศ. ... จำนวน 3.5 แสนล้านบาท (3.) ร่าง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัยจำนวน 5 หมื่นล้านบาท และ (4.) ร่าง พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน จำนวน 3 แสนล้านบาท
ประเด็นที่สังคมกังขา อยู่ที่การแถลงข่าว รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดของร่าง พ.ร.ก. โดยเฉพาะ "พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้แบงก์ชาติ" โดยในที่ประชุม ครม.มีการแจกเอกสาร แต่พอพิจารณาเสร็จ มีการสั่งเก็บเอกสารคืนทั้งหมด!
พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้มีอำนาจตามกฎหมายไปแล้ว แม้ว่าตามขั้นตอน ต้องเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การปกปิดข้อมูล พ.ร.ก.ที่มีผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ ทำให้เกิดความเคลือบแคลงในการหมกเม็ดข้อมูล จริงอยู่เมื่อเกิดภาวะความจำเป็นเร่งด่วน การออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ความจำเป็นในการรีบเร่งก็ควรจำเป็นที่จะต้องโปร่งใสด้วย มิใช่หรือ?
วางแผนหลอกล่อ-รวบหัวรวบหาง
พิรุธในเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ก่อนปีใหม่ รัฐบาลโดยการนำของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยน. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นัดแบงก์ชาติไปล็อบบี้ให้แบงก์ชาติยอมหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย แต่แบงก์ชาติยังไม่ยอมรับ กระแสสังคมก็ไม่เล่นด้วย
นอกจากคนแบงก์ชาติแล้วลูกศิษย์หลวงตามหาบัวได้เดินสายคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เว้นกระทั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำงานของ "รองฯ กิตติรัตน์" ปรากฏว่าเจ้าตัวไม่อยู่ไม่รับหนังสือคัดค้านอีกต่างหาก ในทางกลับกันรัฐบาล ใช้เวที "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ม.ค.ทางสถานีโทรทัศน์ NBT เหมือนกับการวางแผนไว้ล่วงหน้าโดยที่นายกฯ หนุนหลัง
เวทีดังกล่าวนายวีรพงษ์ใช้เป็นเวทีโจมตีแบงก์ชาติว่าทำตัวเป็นคนดีทำให้สังคมไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง อ้างว่าขัดหลักประชาธิปไตย ไปโน่น ส่วนนายกิตติรัตน์ช่วยกันเสริมว่า หนี้ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะที่ไหน ก็เป็นหนี้ของประเทศ ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นจากตรงไหนจึงควรอยู่ตรงนั้น และเมื่อปี 41 กระทรวงการคลังได้ออกเงินชดใช้หนี้ให้ก่อน แบงก์ชาติก็บอกเองว่าจะให้ตามมาทีหลัง "โกร่ง-โต้ง" พูดเองเออเองกันสองคน
และก่อนหน้านั้น 1 วัน หรือเมื่อเช้าวันที่ 6 ม.ค.นายกิตติรัตน์ได้เข้าพบนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ ก่อนหลบสื่ออกไปทางลานจอดรถใต้ดิน นายประสารบอกว่าการมาพบดังกล่าว นายกิตติรัตน์รับปากที่จะปรับปรุงร่าง พ.ร.ก.โอนหนี้ในมาตรา 7 ที่ ธปท.มีความกังวล ได้แก่ มาตรา 7 (1) ขอให้การนำส่งเงินกำไรของ ธปท.เพื่อชำระหนี้เงินต้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯนั้น ขอให้เพิ่มเติมว่า เป็นกำไรหลังจากหักขาดทุนสะสมที่มีอยู่ครบจำนวนแล้วขณะที่มาตรการ 7 (2) นั้น จะต้องไม่กระทบกระเทือนทุนสำรองเงินตรา และเงินบริจาคของหลวงตามหาบัว และมาตรการที่สำคัญที่สุดคือ มาตรา 7 (3) ที่เดิมกำหนดให้โอนเงินหรือทรัพย์สินของ ธปท.ไปตามจำนวนที่ ครม.กำหนด นายประสารย้ำว่า มาตรา 7 (3) ไม่ควรมีอย่างยิ่งเพราะหากเปิดไว้แล้วรัฐบาลต่อๆ ไปไม่เข้าใจจะกลายเป็นการบังคับให้ ธปท.พิมพ์เงินได้
"รองนายกฯ เข้าใจข้อกังวลของ ธปท.และรับปากว่าจะแก้ไขมาตรา 7 ให้ เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลไม่ได้ต้องการที่จะสร้างความลำบากให้กับ ธปท." นายประสารระบุ
ทว่าหลังจากเข้า ครม.นอกจากไม่เปิดร่าง พ.ร.ก.แล้ว นายกิตติรัตน์ก็ไม่เคยให้ความกระจ่างว่าได้ทำตามที่รับปากจริงหรือไม่ มีเพียงการแถลงข่าวว่าไม่มีมาตร 7 (3) ว่า ครม.ยอมแก้ไขให้เป็นอำนาจ ธปท.ในการบริหารจัดการหนี้เอง
การยอมแก้ไขมาตรา 7 (3) รัฐบาลพยายามให้ดูเสมือนเป็นความชอบธรรม ยอมถอย แก้ไขให้แล้ว แต่ทำไมไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดร่าง พ.ร.ก.ทั้งฉบับ
เป็นไปหรือไม่ที่รัฐบาลกลัวว่า หากมีการเปิดเผยข้อมูลอาจถูก ส.ว.หรือพรรคฝ่ายค้านจะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยถึงที่สุดถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ทำให้กระบวนการบังคับใช้ตามกฎหมายล่าช้าออกไป
ท่าที "ปู" ชัด ห่วงถูกฟ้องศาล รธน.
บรรยากาศในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สอบถาม นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าการที่ ส.ว.ขู่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับนั้น เขาจะทำอะไรเราได้หรือไม่
นายอัชพรได้ชี้แจงว่า เขาทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ ได้มีการศึกษาในข้อกฎหมายไว้ครบถ้วนเรียบร้อยหมดแล้วการเลือกช่องทางออกเป็น พ.ร.ก.ถูกต้องแล้วเว้นเสียแต่ว่าถ้า ส.ว.ไปยื่นตีความจริง ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ล่าช้าออกไป ซึ่งถ้าตีความว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบ เขาก็ดำเนินการยื่นถอดถอน นายกฯรองนายกฯ และ รมว.คลัง
ความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับพฤติกรรมที่มุ่งช่วย พ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นผิดตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งจะหดหายลงไปเรื่อยๆ และเมื่อ ครม.ยิ่งลักษณ์อนุมัติ พ.ร.ก.โอนหนี้ดังกล่าว เชื่อว่ารัฐบาลต้องนับเวลาถอยหลังให้ตัวเองการชี้แจงที่อ้างเรื่องน้ำท่วมมาออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ฟังไม่ขึ้น แน่นอนน้ำท่วมต้องการเงินไปฟื้นฟูด่วน แต่การให้ร้ายแบงก์ชาติกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย บวกกับอาการลุกลี้ลุกลน วิ่งเต้นมุดรั้วแบงก์ชาติแล้วหนีนักข่าวแล้วรวบรัดออก พ.ร.ก.ปล้นคลังหลวง ย่อมเป็นเปลวเพลิงเผาไหม้รัฐบาลในที่สุด