xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ห่วงรัฐออก พ.ร.ก.โอนหนี้ให้ ธปท.หวั่นขัด รธน. ชี้ส่อ 3 ปล้น 1 ทำลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.อนุรักษ์” ห่วงรัฐออก พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้าน ให้ ธปท.เพื่อกู้ 7 แสนล้าน จี้ดูให้รอบคอบสอดคล้องรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้กู้นอกงบแก้น้ำท่วมต้องดูเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ถามโอนหรือผลักภาระ หวั่นแบงก์ชาติขาดอิสระทางการเงิน ขู่ระวังขัด กม. ด้าน “ส.ว.คำนูณ” ฉะรัฐเอา 3 เรื่องผูกปม ส่อเข้า 3 ปล้น 1 ทำลาย แนะแยกเป็นเรื่อง จัดทำเป็น พ.ร.บ.ให้ผ่านสภา



วันนี้ (9 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา ได้หารือว่า เป็นห่วงแนวทางรัฐบาลที่จะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มาบริหารจัดการระบบน้ำและวางโครงสร้างประเทศไทยใหม่ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนประกันภัย อีก 5 หมื่นล้านบาท และกรอบการแก้ไขเพิ่มเติมที่ ธปท.สามารถออกเงินกู้หรือซอฟโลนอีก 3 แสนล้านบาท รวมทั้งหมด 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เป็นภาระหนี้นอกงบประมาณ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 อีก 4 แสนล้านบาท เป็นห่วงว่ารัฐบาลควรดูให้รอบคอบว่าการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องรัฐธรรมนูญมาตรา 284 หรือไม่ เพราะการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

นายอนุรักษ์กล่าวต่อว่า การจะออก พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้นอกงบประมาณ รัฐบาลไม่มีรายละเอียดการดำเนินการของโครงการ ทำให้รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลสามารถออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีได้ ดังนั้นต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.ก.ได้หรือไม่ รวมถึงการออกซอฟต์โลนที่ให้ ธปท.สามารถอนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ คิดว่าโดยหลักการรัฐบาลสามารถใช้กลไกโดยธนาคารของรัฐเพื่อดำเนินการดังกล่าวได้ การผลักภาระให้ ธปท.จะกลายเป็นภาระของ ธปท. อีกประการการโอนหนี้จากระทรวงการคลังไปให้ ธปท.จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทต้องถามว่าเป็นการโอนหนี้จริงหรือไม่ หรือเป็นการผลักภาระในการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท.อาจผลักภาระต่อไปให้ประชาชนในอนาคต ทำให้ ธปท.อาจขาดอิสระในการดำเนินการ จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมือง

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเอา 3 เรื่องมาผูกรวมกัน คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วม รัฐบาลกำลังเอาอนาคต คือการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาผนวก กำลังเอาเรื่องอดีตหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท ตนไม่เห็นด้วย เนื้อหาใน พ.ร.ก.การโอนหนี้ที่เผยแพร่ออกมา ในมาตรา 7 มีลักษณะอยากเรียกว่า 3 ปล้น 1 ทำลาย 1.ปล้น ธปท. ในมาตรา 7 (1) และ (3) 2.ปล้นสถาบันการเงิน ซึ่งจะผลักภาระไปให้ประชาชนในมาตรา 8-10 และ 3.ปล้นทางอ้อมไปยังคลังหลวง คือทุนสำรองพิเศษในฝ่ายออกบัตร ธปท. ในมาตรา 7 (2) เมื่อมีข่าวออกมาก็มีกระแสข่าวออกมาคัดค้านมาก ในที่สุดจึงมีการหารือกันหลายฝ่ายและเชื่อว่าจะมีการปรับปรุงมาตรา 7 จึงอยากฝากรัฐบาลว่าเมื่อแค่มีข่าวยังมีความขัดแย้งมากมายขนาดนี้ เพื่อความรอบคอบควรแยกเรื่องโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูออกมาเป็นเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และจัดทำเป็น พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการรัฐสภาตามปกติ เพื่อความรอบคอบ เพราะประเด็นสำคัญที่สุดคือการทำลายระบบธนาคารกลาง การให้ ธปท. เข้ามารับผิดชอบภาระหนี้สินมีความเสี่ยงใหญ่หลวง เพราะ ธปท.ไม่เหมือนรัฐบาลที่เก็บภาษีได้เอง มีหน้าที่พิมพ์ธนบัตร ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมีหน้าที่แทรกแซงค่าเงินบาท ถ้า ธปท.ถูกใช้อย่างผิดหน้าที่แล้ว เกรงว่าความเสียหายในอนาคตจะใหญ่หลวงเกินที่จะเยียวยา
กำลังโหลดความคิดเห็น