xs
xsm
sm
md
lg

เก็บค่าต๋งเต็มสูบหนี้FIDFจบ18ปี สบน.หนุนเพิ่มอำนาจแบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สบน.ชะลอกู้เงินเตรียมชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 8 พันล้าน รอดูความชัดเจนการรับภาระดอกเบี้ยและเงินต้นของธปท.หลังเสนอแผนเข้าครม.อีกรอบ แจงกู้เพิ่ม 3.5 แสนล้านบาท จะไม่กระทบแผนออกพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เหตุมีเครื่องมือทางการเงินอื่นกู้ได้อีกหลายแสนล้านบาท พร้อมระบุ หากโยนอำนาจแบงก์ชาติ เรียกเก็บเงินนำส่งของสถาบันการเงินได้เต็มเพดานที่ 1% ของฐานเงินฝาก จำทำให้ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้หมดใน 18 ปี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยถึงแผนการกู้เงินไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2555ว่า ยังเป็นไปตามตารางการออกพันธบัตรเดิมที่ 161,500 ล้านบาท แต่หากจำเป็นต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคตจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อตารางการออกพันธบัตรที่เป็นอัตราอ้างอิงตลาดวงเงินรวมทั้งปี 5.25 แสนล้านบาทที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า เพราะวงเงินกู้ที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นยังมีช่องทางอื่นๆที่จะกู้ได้อีกหลายแสนล้านบาท เช่น การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(พีเอ็น) เงินกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือตั๋วแลกเงิน(บีอี) และยังไม่กระทบต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่ปัจจุบันอยู่ที่ 41% คาดว่าสิ้นปีน่าจะเพิ่มเป็น 44% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวต่อว่า สบน.ต้องเลื่อนการประมูลพันธบัตร เพื่อเตรียมการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)ในวันที่ 11 มกราคม วงเงิน 8 พันล้านบาทและงวดวันที่ 18 มกราคม วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าจะมีมติเกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูอย่างไรบ้าง ทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ย หากมีความชัดเจนจึงจะนำกลับมาพิจารณาว่ายังสามารถเดินหน้าตามตารางที่กำหนดไว้หรือไม่ เพราะการกู้เงินตามการขาดดุลงบประมาณน่าจะเริ่มได้ในเดือนกุมภาพันธ์

“แผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2555 วงเงินรวมทั้งสิ้น 8.5 แสนล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4 แสนล้านบาท กู้เพื่อการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ 3.4 แสนล้านบาท และที่เหลือจะเป็นการออกตั๋วเงินคลังในการบริหารเงินระยะสั้น โดยยังไม่รวมกับเงินกู้ตามพรก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ซึ่งหากครม.มีมติเห็นชอบในเรื่องนี้ไปแล้วก็คงจะบริหารจัดการเงินกู้คล้ายกับเงินกู้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ที่ใช้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก เพราะจะทยอยเบิกเงินตามวงเงินที่ต้องการได้ หากต้องกู้ทั้งก้อนจำนวนมาก จะเสียต้นทุนไปเปล่าๆ แม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 4% เหลือ 3% ก็ตาม”นายจักรกฤศฏิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางการบริการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูที่รัฐบาลนำเสนอต่อครม.นั้น นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า หากให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถเรียกเก็บเงินนำส่งของสถาบันการเงินได้เต็มเพดานที่ 1% ของฐานเงินฝาก จะทำให้มีรายได้ในแต่ละปีสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาท หากนำมาชำระคืนดอกเบี้ยปีละ 5 หมื่นล้านบาท ก็จะเหลือเงินถึง 2.6 หมื่นล้านบาทที่จะไปชำระคืนเงินต้นได้ด้วย และหากธปท.สามารถบริหารจัดการให้มีกำไร แทนที่จะมีผลขาดทุนต่อเนื่องเหมือนในอดีต รวมถึงมีกำไรจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ก็จะช่วยให้สามารถชำระคืนเงินต้นได้เร็วขึ้น เชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูใด้หมดใน 18 ปีได้

“ในอดีตเราเคยจ่ายดอกเบี้ยของหนี้กองทุนฟื้นฟูปีละ 6.5 หมื่นล้านบาท และลดเหลือ 5.4 - 5.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และหากตามแผนการชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยจะลดเหลือเฉลี่ย 4% จะทำให้ภาระจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีลดเหลือ 4-4.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และหากแต่ละปีธปท.สามารถบริหารในการลดเงินต้นลงได้อีกปีละ 3 หมื่นล้านบาทหรือรวมปีละ 8 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้สามารถชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้หมดใน 30 ปี ซึ่งแม้ว่าจะนาน แต่ก็ถือว่ามีทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวที่ค้างมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่หากสามารถบริหารให้ได้กำไรมากขึ้น ก็เชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่านั้น เพราะเมื่อเงินต้นลดลง ภาระดอกเบี้ยก็จะลดลงด้วย”นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น