xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษยานุศิษย์หลวงตาบัว” บุกสภา ค้านรัฐปล้นคลังหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ยื่นหนังสือคัดค้านการออก พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ที่รัฐสภา
“ศิษย์หลวงตาบัว” บุกสภา ค้านรัฐปล้นคลังหลวง ออกพ.ร.ก.เพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู หวั่นสร้างค่านิยมที่ผิดในอนาคต ด้าน กมธ.การเงินฯ วุฒิรับลูกเชิญ กิตติรัตน์ แจงพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) ป้องแบงก์ชาติไม่มีหน้าที่หาเงิน เกรงผลกระทบลูกโซ่ถึงประชาชน ติงหากทำจริงควรดันเป็น พ.ร.บ.ผ่านความเห็นสภาฯ ก่อน


วันนี้ (9 ม.ค.) ที่รัฐสภา กลุ่มผู้แทนคณะศิษยานุศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน นำโดยพระครูอรรถกิจ นันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร ยื่นหนังสือคัดค้านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท ต่อนายวิทวัส บุญญสถิตย์ ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา

โดย พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวว่า สาเหตุที่คัดค้านแนวทางดังกล่าว เพราะต้องการรักษาเจตนารมณ์ของหลวงตาบัวที่ไม่ต้องการให้ไปยุ่งกับเงินคลังหลวง เพราะก่อนหน้านี้เคยมอบเงินและทองคำไปบริจาคเอาไว้ถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท และยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางการชำระหนี้โดยโอนดอกเบี้ยปีละ 6.5 หมื่นล้านบาทจากกระทรวงการคลัง ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชำระหนี้ดังกล่าวร่วมกับเงินต้นทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. เพราะเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดในการใช้เงินให้แก่รัฐบาลในอนาคตด้วย

ขณะที่ นายวิทวัสกล่าวว่า กมธ.การเงินฯ ได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มาชี้แจงเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายกิตติรัตน์ได้ตอบรับแล้ว รวมทั้งตัวแทนจาก ธปท.มาร่วมชี้แจงด้วยในเวลา 14.00 น. ในวันที่ 10 ม.ค.นี้

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยต่อที่รัฐบาลผลักภาระการชำระดอกเบี้ยไปให้แก่ ธปท. เนื่องจาก ธปท.ไม่มีหน้าที่ต้องหาเงิน และอาจจะกระทบต่อประชาชนในอนาคต เพราะแบงก์ชาติอาจจะต้องไปเรียกเก็บจากกองทุนประกันเงินฝาก ที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์และอาจจะส่งผลเป็นลูกโซ่มาเรียกเก็บจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะดำเนินการจริงเห็นว่าควรออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะจะมีความรอบคอบมากกว่า” นายวิทวัสระบุ



กำลังโหลดความคิดเห็น