xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ซัด “โต้ง” ลดภาษีเอื้อนายทุน ทำรัฐเสียรายได้ จี้ทบทวนจำนำข้าว ชี้ขาดทุนยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปชป.อัดรัฐเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า เหตุลดภาษีให้นายทุน ถามจะรีดภาษีจากใครให้รายได้เข้าเป้า ชี้จัดงบไร้วินัยการเงินการคลัง เตรียมก่อหนี้เพิ่มนอก พ.ร.บ.งบหนีการตรวจสอบ ทวงสัญญา “กิตติรัตน์” เคยบอกจำนำข้าวเสียหายเกิน 6 หมื่นล้านรัฐบาลอยู่ไม่ได้ แต่เจ๊งแสนล้านแล้วยังเฉย แนะรับผิดชอบทบทวนนโยบายด่วน ด้าน “กิตติรัตน์” ตอบแค่เรื่องเดียว อ้างลดภาษีนิติบุคคลเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายกรณ์ จาติกวณิช"ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (15 ส.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธาน กมธ.งบประมาณปี 56 จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ในวาระ 2 ได้รายงานผลการพิจารณาของกรรมาธิการว่า กมธ.ใช้เวลาพิจารณางบประมาณรวม 46 วัน ปรับลดงบประมาณลงจำนวน 22,003,385,300 บาท โดยพิจารณาจากผลการดำเนินการจริงระยะเวลาและความสามารถในการใช้งบประมาณ โดยให้ความสำคัญต่อการนำผลการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา รวมถึงความพร้อมในการดำเนินงาน เช่น โครงการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยใช้งบประมาณจากการโอนเปลี่ยนแปลงหรือการปรับแผนการปฏิบัติ หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2555 โครงการที่มีการกันเงินไว้เหลื่อมปี, โครงการหรือรายการที่มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจนมีความจำเป็นน้อย มีการใช้จ่ายที่ไม่ประหยัดให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานความประหยัดโดยคงเป้าหมายเดิมไว้

นายกิตติรัตน์รายงานต่อว่า ทั้งนี้รวมถึงโครงการที่มีผลการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันในปี 2556 หรือโครงการผูกพันที่มีการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่างบประมาณที่กำหนดไว้ และโครงการที่เห็นว่าจะปรับลดงบประมาณให้ประหยัดได้ตามราคาการตลาดที่ลดลง โครงการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่น หรือเงินนอกงบประมาณ เงินสะสมที่มีอยู่หรือเงินหมุนเวียน

สำหรับการเพิ่มงบประมาณนั้น กรรมาธิการได้ร่วมกันเพิ่มงบประมาณในส่วนต่างๆ ที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบและรายงานที่หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ เสนอแปรญัตติเพิ่มเติม จำนวน 22,003,385,300 บาท โดยจำแนกเป็น การจัดสรรเพิ่มให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทุนฯ จำนวน 16,921 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ยกระดับราคาสินค้าเกษตร การแก้ปัญหาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแก้ปัญหายาเสพติด การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้คมนาคม การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาด้านการศึกษาและการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จำนวน 4,751 ล้านบาท การจัดสรรเพิ่มให้หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 330 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีกรรมาธิการฯ ยังได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 3 รายการ คือ งบประมาณของมหาวิทยาลัยศิลปากร 65 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ตาม พ.ร.บ.สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ. 2555, งบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของหน่วยงานที่จะดูแลกองทุนตั้งตัวได้ การพิจารณารายละเอียดของงบประมาณกรรมาธิการได้ให้ความสำคัญกับรายการงบประมาณ ความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณ

ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลได้ส่งสัญญาณในการเพิ่มตัวเลขหนี้สาธารณะอย่างชัดเจนแม้ว่าตัวเลขหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 42% โดยยังไม่ถึงขั้นเสียวินัยการเงินการคลังก็ตาม ซึ่งปัจจัยการกู้เงินมาจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลงหลังจากแต่ละประเทศได้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีปริมาณเงินเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ดอกเบี้ยลดลง จึงเอื้อต่อการเป็นหนี้ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตบริบทเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาระหนี้ต่องบประมาณก็จะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนเกินเพดานวินัยการเงินการคลังที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ที่ 15% แน่นอน

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การประมาณการณ์รายได้ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนเรียกเก็บภาษีจากประชาชนมากขนาดนี้ ส่วนตัวคิดกรมสรรพากรจะทำได้ตามเป้าอย่างแน่นอน แต่การจัดเก็บรายได้ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมและนำเงินมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. กรมสรรพากรก็ออกมายอมรับถึงการจัดเก็บรายได้แล้วว่าอาจต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากการลดการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลและผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วม” นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า นโยบายการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% จนกระทั่งมาอยู่ที่ 20% ทำให้รัฐสูญรายได้ไปแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งการปรับลดภาษีจะไม่ต้องทำเลยหากรัฐบาลทบทวนลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องลดการจัดเก็บภาษี แต่การปรับลดภาษีดังกล่าวเป็นช่วยเหลือนายทุนแบบไม่เงื่อนไขถึง 1.5 แสนล้านบาท เมื่อนายทุนไม่ต้องเสียภาษีประชาชนโดยรวมและผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองต้องต้องมารับภาระแทน การจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำเป็นเรื่องที่ดีเป็นการสะท้อนประสิทธิภาพการบริหารราชการแต่เมื่อรัฐบาลยังเพิ่มค่าใช้จ่ายอยู่รัฐบาลก็ต้องจัดเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น

สำหรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 3.5แสนล้านบาท นายกรณ์กล่าวว่า เดิมรัฐบาลได้ประกาศต่อสาธารณะและศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณส่วนนี้เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้มีรายงานออกมาว่ามีการจัดสรรเพียง 1 หมื่นล้านบาทจาก 3.5 แสนล้านบาท แต่ใช้แค่ 1 พันล้านบาทเท่านั้นทั้งที่รัฐบาลมีภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงินก้อนนี้แล้วถึง 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายถึงปัญหานโยบายจำนำข้าวว่า โครงการจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายต่อประเทศในทุกระดับชั้นโดยเฉพาะเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องใช้รัฐบาลต้องรับภาระขาดทุนและทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าวถึง 1 แสนล้านบาท ถึงเวลาที่ต้องทบทวนโดยเร็ว น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ เกษตรกรไม่ได้รับรายได้อย่างที่ควรจะเป็น หลังจากมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลและวิเคราะห์ว่าในทุกๆ 100 บาทที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณนั้นมีเม็ดเงินถึงมือเกษตรกร 30 บาทเท่านั้น

“รมว.คลังเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 18 ส.ค. 2554 ว่ารัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวไทยเพิ่มมากขึ้นและไม่มีการทุจริตในโครงการ ปรากฏว่า ผ่านมา 1 ปี วันที่ 10 ส.ค. 2555 ท่านให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าการทุจริตโครงการจำนำข้าวยังมีหลายจุด และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีการทุจริต นอกจากนี้ มีการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์จัดสรรงบประมาณสำหรับข้าวในฤดูกาล 2555/2556 เพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเม็ดเงินเท่ากับที่รัฐบาลใช้ในฤดูกาลที่ผ่านมาทั้งที่ต่างทราบดีว่าฤดูกาลเพาะปลูกข้าวที่ผ่านมามีผลผลิตต่ำเพราะเกิดปัญหาน้ำท่วม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้พยากรณ์ไว้ว่าข้าวในฤดูกาลนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5 ล้านตัน ดังนั้น เม็ดเงินดังกล่าวไม่พอแน่นอน

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ยังเคยให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ 6 ต.ค. 2554 ว่า “ถ้ารัฐบาลทำโครงการรับจำนำข้าวแล้วทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณสำหรับการประกันรายได้เกษตรของรัฐบาลในอดีต รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องคำถามเลยว่าในฐานะรองนายกฯ เศรษฐกิจจะรับผิดชอบอย่างไร” นี่คือสิ่งที่พูดเอาไว้ วันนี้รัฐบาลขาดทุนไปแล้ว 1 แสนล้านบาท แต่ผมขออย่าให้ท่านลาออกแต่ขอให้ทบทวนนโยบายก็พอ” นายกรณ์กล่าว

ด้าน นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ชี้แจงว่า อัตราภาษีที่ห่วงใยว่าเป็นการเอื้อนายทุน ความจริงแล้วอัตราภาษีที่ประเทศไทยเก็บมาถือเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศ การลดภาษีให้เอกชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แข่งขันได้ ไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยนายทุน และเห็นว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร การเก็บภาษีแม้จะเก็บมากขึ้นแต่รัฐบาลได้ขยายฐานภาษีซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การลดภาษีของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น