xs
xsm
sm
md
lg

สมองนักวิชาการแดงและผลพวงของการใช้อำนาจนิติบัญญัติล้มล้างประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

แม้ว่าผู้รู้หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า คณะรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลกำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่นักวิชาการและสื่อมวลชนแดงบางกลุ่มกลับมีความเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง ในบทความนี้จะมาดูกันว่าบรรดานักวิชาการและสื่อมวลชนเสื้อแดงคิดอย่างไรเกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้น รวมทั้งการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการวินิจฉัยของศาลและผลพวงที่ตามมาต่อคณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.ในทัศนะของผู้เขียนเอง

ในมุมมองของคนลัทธิแดง การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของประชาชนเพื่อวินิจฉัยว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ถูกมองว่าเป็นรัฐประหารตุลาการ โดยพวกเขาตีความว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องจากประชาชนโดยตรง การรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยจึงเป็นการปฏิบัติเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่

นักวิชาการและสื่อมวลชนในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยและลัทธิแดงบางส่วนไปไกลถึงขนาดกล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญใหม่เองโดยพลการ และอ้างว่า มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มองว่าการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคือการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเท่านั้น

บรรดาคนเหล่านี้คงลืมคิดไปถึงหลักการที่สำคัญสองประการ ประการแรก คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์การที่มีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับองค์การของรัฐทุกองค์การ และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นที่ยุติ ไม่มีการอุทธรณ์ใดๆทั้งสิ้น ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีเจตจำนงค์ในการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นหลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มาตรา 68 อยู่ในส่วนที่ 13 ซึ่งว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อันอยู่ภายใต้หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

น่าแปลกใจว่าทำไมนักวิชาการและสื่อมวลชนเครือข่ายลัทธิแดงทั้งหลายที่ร่ำร้องเรียกหา ประชาธิปไตยนักหนา สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมก่อการร้ายเผาเมืองของสาวกลัทธิแดงมาแล้ว จึงไม่เห็นด้วยกับการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบการกระทำของนักการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายให้ หรือว่านักวิชาการและสื่อมวลชนเครือข่ายลัทธิแดงสนับสนุนเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของสาวกลัทธิแดง และไม่สนใจแยแสกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่นๆในสังคมที่ไม่ใช่สาวกลัทธิแดง

นักวิชาการและสื่อมวลชนเครือข่ายลัทธิแดงมีความเชื่อว่าประชาชนมีสิทธิเพียงการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ผ่านอัยการสูงสุดช่องทางเดียวเท่านั้น และเห็นว่าอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งว่าควรจะส่งคำร้องของประชาชนไปสู่ศาลรัฐนูญหรือไม่ แต่พวกนักวิชาการเหล่านั้นละเลยอย่างจงใจหรือมีเจตนาบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 68 ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ของอัยการในการสั่งว่าควรส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้กระทั่งการตีความแบบเข้าข้างแบบสุดๆแล้วก็จะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดในมาตรานี้มีเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อตรวจสอบแล้วก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมกับแนบความเห็นที่ตนเองไปตรวจสอบมาแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไปเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอีกทีเท่านั้น มิใช่อัยการสูงสุดบังอาจใช้อำนาจตามอำเภอใจในการวินิจฉัยเสียเองและยกคำร้องของประชาชนดังที่อัยการสูงสุดได้กระทำลงไป เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ส่วนการที่พวกเขาเข้าใจว่า การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นการกระทำโดยการใช้กองกำลังทหารเท่านั้น ก็นับว่าเป็นการเข้าใจแบบคับแคบเนื่องจากมีข้อจำกัดทางปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นจริง และมิได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองให้รอบด้าน หรืออาจจะเนื่องมาจากถูกอำนาจบางอย่างมาบดบังปัญญาให้มืดมิด มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงให้เห็นว่าการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยกระทำได้หลากหลายแบบ หลายวิธีการ และผู้กระทำก็มีหลากหลายกลุ่ม มิใช่เฉพาะทหารเพียงกลุ่มเดียว

ในบางประเทศเช่น ประเทศเยอรมัน ฮิตเลอร์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โดยใช้พรรคนาซีและส.ส.พรรคนาซีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวเยอรมัน เพื่อเปลี่ยนประเทศเยอรมันให้เป็นระบอบเผด็จการอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของเยอรมันในยุคนั้น ส่วนในประเทศไทยพรรคไทยรักไทยเคยมีความพยายามเข้าสู่อำนาจรัฐโดยไม่ใช้วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จนถูกศาลวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันก็กำลังดำเนินรอยตามพรรคการเมืองเหล่านั้น คือกำลังใช้อำนาจนิติบัญญัติล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

สำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจากประชาชน นักวิชาการและสื่อมวลชนเครือข่ายลัทธิแดงมีความคิดแตกออกเป็นสองส่วน บางส่วนมีความเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในกระบวนการโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเกิดจากการประสานงานหรือสั่งการของบุคคลที่อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาเชื่อมโยงเหตุการณ์จากการดำเนินงานขององค์การอิสระทั้งหลายเป็นหลักฐานในการวิเคราะห์ เช่น กรณี ปปช.มีมติชี้มูลความผิดนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบเกี่ยวกับที่ดินธรณีสงฆ์ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลที่มีปัญหาทางจริยธรรมเป็นรัฐมนตรีของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ กรณีการยื่นถอนประกันจตุพร พรหมพันธุ์

พวกนี้ประเมินว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมาตรา 291 ขัดกับมาตรา 68 และจะสั่งให้มีการยุบพรรคเพื่อไทย ตัดสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมทั้ง ส.ส. ที่ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยในฐานะสมคบกันกระทำความผิด อันทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพังทลายลงไปด้วยเพราะแทบจะไม่มีส.ส.เพื่อไทยหลงเหลืออยู่ในสภาเลย พวกเขายังประเมินต่อไปว่าหลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยใช้มติ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและ ส.ว.ที่เหลืออยู่ลงมติงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

หากเหตุการณ์เกิดขึ้นดังที่กล่าวมา พวกเขามองต่อไปว่า ทักษิณ และแกนนำเสื้อแดง คงระดมสาวกลัทธิแดงจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงและการถูกกวาดล้างในที่สุด

ส่วนนักวิชาการและสื่อมวลชนเครือข่ายลัทธิแดงกลุ่มที่สองมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญและองค์การอิสระต่างๆปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองโดยไม่มีใครสั่งหรือประสานงาน ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีเจตนาไปไกลถึงขนาดตั้งธงโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดังที่กลุ่มแรกเชื่อ แต่เป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมาตรา 291 ขัดกับมาตรา 68 และสั่งให้คณะรัฐมนตรีและ ส.ส.ผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญยุติการกระทำ แต่อาจไม่สั่งยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลก็ยังปฏิบัติงานต่อไปได้

ในทรรศนะของผม ผมคิดว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่ชอบธรรม กระทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองตามอำเภอใจ ใช้จำนวนเสียงข้างมากในรัฐสภาเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจแก่กลุ่มตนเอง และลิดรอนอำนาจประชาชนอย่างชัดเจน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาองค์อำนาจใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ส.ส.ร. และให้อำนาจ ส.ส.ร.กำหนดโครงสร้างและเนื้อหาในการปกครองประเทศใหม่ ทำลายโครงสร้างและเนื้อหาทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ของ คณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นการสร้างองค์การขึ้นมาองค์การหนึ่ง เพื่อให้องค์การนั้นทำหน้าที่ในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และหากพิจารณาการพูดในหลายที่หลายแห่งของแกนนำเสื้อแดงที่เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคน ก็ยิ่งทำให้สังคมทราบอย่างชัดเจนว่า พวกเขามีเจตนาล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองอันเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการแสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการตรวจสอบขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทำลายระบบการตรวจสอบอันเป็นกลไกที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุผลและหลักฐานต่างๆที่ปรากฏผมคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องวินิจฉัยตามข้อกฎหมายและตามหลักฐานที่บ่งบอกถึงการกระทำต่างๆของคณะรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งผมประเมินว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดกับมาตรา 68 และสั่งให้บุคคล และคณะบุคคลที่กระทำการดังกล่าวยุติการกระทำ อันเป็นการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ต้องตกไป ซึ่งผลที่ตามมาก็จะทำให้วิกฤติการณ์ของบ้านเมืองบรรเทาเบาบางลงไป เพราะหากปล่อยให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ต่อไป ก็จะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงของความขัดแย้งอย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมันช่วงที่ฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ

หากผลการวินิจฉัยของศาลระบุว่า การแก้ไขร่างมาตรา 291 ขัดกับมาตรา 68 ก็จะมีผลกระทบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์บ้างแต่ไม่มากนักในระยะสั้น ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก มีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่สั่งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งยังไม่สั่งตัดสิทธิการเลือกตั้งของ ส.ส. ที่สมรู้ร่วมคิด ทำให้บุคคลเหล่านั้นยังรักษาสถานภาพเอาไว้ได้ แต่ในระยะยาวอาจมีประชาชนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปฟ้องเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองเหล่านั้นก็ได้

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่สั่งตัดสิทธิของ ส.ส. ผู้สมรู้ร่วมคิด กรณีนี้รัฐบาลอาจมีผลกระทบบ้างเพราะมีรัฐมนตรีบางคนเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ยังคงอยู่เพราะยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมิได้เป็นกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทย แต่ในระยะยาวก็อาจมีภาคประชาชนนำชื่อของผู้ที่ลงนามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปยื่นฟ้องเพื่อนำไปสู่การตัดสิทธิการเลือกตั้งก็ได้

ผลการวินิจฉัยที่จะนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างฉับพลัน น่าจะมีกรณีเดียวคือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคร่วมรัฐบาล และสั่งตัดสิทธิการเลือกตั้งของ ส.ส. ทั้งหมดที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที แต่การวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้อาจมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แม้ว่าประชาชนจำนวนมากประสงค์จะให้เกิดก็ตาม

ผลพวงของการพยายามใช้อำนาจนิติบัญญัติล้มล้างระบอบประชาธิปไตยโดยคณะรัฐมนตรีและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นอกจากจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสั่นคลอนแล้ว ยังอาจนำไปสู่การสร้างความรุนแรงทางสังคมครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วย ที่น่าสลดคือ ความสูญเสียทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลเพียงคนเดียวที่มีอำนาจบงการรัฐบาลและรัฐสภาอยู่ในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น