xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรดาร์หอบังคับบินขัดข้อง “สุวรรณภูมิ” ป่วน...อีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เปิดให้บริการมาจนเข้าปีที่ 6 แล้วแต่สนามบินสุวรรณภูมิยังมีเรื่องฉาวอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2555 หอบังคับการบินเกิดเหตุขัดข้อง ไฟฟ้าดับ เรดาร์ควบคุมการบินใช้การไม่ได้ ระบบจ่ายไฟฟ้ามีปัญหา การขึ้นลงของเครื่องบินต้องใช้คนแทนเรดาร์ การลงของเครื่องบินจึงทำได้อย่างล่าช้า ทำให้เครื่องบินหลายลำต้องบินวนรอเหนือสนามบินสุวรรณภูมิ ลำไหนประเมินว่าน้ำมันสำรองที่มีจะไม่พอ นักบินต้องตัดสินใจนำเครื่องบินไป ลงจอดที่สนามบินอื่นแทน ทั้งอู่ตะเภา เชียงใหม่ บางลำต้องไปลงจอดไกลถึงมาเลเซีย

จากการตรวจสอบ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) แจ้งว่า การที่กระแสไฟฟ้าขัดข้องกะทันหัน จนไม่สามารถจ่ายไฟส่งไปยังเรดาร์รับส่งสัญญาณให้เครื่องบินขึ้นหรือลงจอดได้นั้น เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สั่งจ่ายไฟไปยังเรดาร์ระเบิด ระบบจ่ายไฟฟ้าจะตัดไฟกะทันหัน ทำให้ต้องรีบูทเครื่องใหม่ และทำให้เรดาร์ดับไปเกือบ 50 นาที

ทั้งนี้ เหตุระบบไฟฟ้าขัดข้องจนทำให้เครื่องบิน 50 ลำ ได้รับผลกระทบต้องเปลี่ยนไปลงสนามบินอื่นๆ จำนวน 13 ลำนั้น แบ่งเป็นสนามบินอู่ตะเภา 6 ลำ สนามบินเชียงใหม่ 2 ลำ สนามบินภูเก็ต 2 ลำ สนามบินกัวลาลัมเปอร์ 2 ลำ และสนามบินเสียมเรียบ 1 ลำ ขณะที่มีเที่ยวบินรอขึ้นบินจำนวน 21 ลำ รอนานที่สุด 105 นาที ส่วนเครื่องบินที่ต้องบินวนรอลงจอด มี 15 ลำ โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาบินวน 30 นาที สูงสุด 71 นาที

นาวาอากาศตรี ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. ยอมรับว่า ปี 2551 เคยเกิดปัญหาที่กระทบต่อการควบคุมอากาศยานขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง แต่เหตุครั้งนี้เป็นปัญหาจากระบบจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องอัตโนมัติ (UPS) ช็อตทำให้ไฟฟ้ากำลังที่จ่ายให้ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศขาดหายไป ซึ่งอุปกรณ์ที่เกิดความเสียหายขึ้นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม และระบบจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่องอัตโนมัติและระบบไฟฟ้าสำรองที่เกิดปัญหาขัดข้องนั้นใช้งานมาแล้ว 6 ปี ขณะที่ระบบดังกล่าวมีอายุการใช้งาน 7 ปี และ ปกติจะซ่อมบำรุงทุกๆ 3 เดือนโดยการซ่อมล่าสุดคือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนก่อนหน้าที่เกิดเหตุเพียง 3 วัน ดังนั้นบริษัทที่รับผิดชอบการซ่อมบำรุงจึงต้องนำอุปกรณ์ไปวิเคราะห์ที่ฝรั่งเศสเพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทันที เพื่อหาสาเหตุของปัญหา โดยมีนายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบหาสาเหตุว่ากรณีนี้เกิดการขัดข้องจากอุปกรณ์ หรือเป็นอุบัติเหตุ หรือจากบุคลากร และหาทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาวด้วย โดยให้สรุปภายใน 15 วัน

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล บวท. สั่งให้ วิเคราะห์รายละเอียดการปฏิบัติงาน โดยให้บวท.จัดทำแผนปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และหาผู้เชี่ยวชาญ (Third Party) เข้ามาช่วยวิเคราะห์อีกทางเพราะที่ผ่านมาบวท.อาจจะเคยชินกับระบบ จนอาจจะมองไม่เห็นจุดอ่อนของตัวเอง

และยอมรับว่าและการที่หอบังคับการบินสนามบินสุวรรณภูมิไม่สามารถควบคุมการขึ้น-ลงของเครื่องบินได้ การควบคุมการขึ้น-ลงที่สนามบินดอนเมืองก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะเป็นหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศหน่วยเดียวกัน เนื่องจากมีระยะทางที่ใกล้กันมาก (มีระยะห่างกันประมาณ 15ไมล์ทะเล)ทางเจ้าหน้าที่ได้แก้ปัญหาโดยใช้วิธีการใช้ระบบวิทยุสื่อสารในการควบคุมจราจรทางอากาศแทนซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติฉุกเฉิน

ส่วนบวท.ได้เชิญคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน( AOC) และตัวแทน 30 สายการบิน มาชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อไป ซึ่งทางสายการบินและAOC พอใจและยังคงเชื่อมั่นในระบบควบคุมการบิน โดยเน้นที่ความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งบวท.ยืนยันว่าได้ ปรับปรุงระบบไฟฟ้ากำลัง โดยการติดตั้ง breaker เพิ่มเติม เพื่อแยก input UPS เพื่อป้องกันปัญหาในกรณีที่ UPS ตัวใดตัวหนึ่งเสียหาย แล้วจะไม่ส่งผลต่อระบบทั้งหมดซ้ำอีก ซึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อ 24 มิถุนายนและการปรับปรุงระบบ monitor สถานะของระบบ UPS ให้สามารถส่งสัญญาณเสียงแจ้งเหตุขัดข้องเพิ่มเติม และเพิ่มระบบติดตั้ง UPS สำรองสำหรับระบบการเดินอากาศ100% แบบ 3 ชั้น จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้

ผู้ประกอบการสายการบินรายหนึ่งให้ความเห็นว่า ในต่างประเทศก็มีปัญหาระบบควบคุมการขึ้น-ลงเครื่องบินเช่นกัน เพราะอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มีเสื่อมมีเสียชำรุดแบบกะทันหันได้ แต่หัวใจคือ เมื่อเกิดปัญหาระบบสำรองต้องทำงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องวิเคราะห์ว่าเหตุใดระบบสำรองจึงไม่ทำงานไปด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่สายการบินต้องการคือความปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

บวท.ลงทุน 751 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารหอบังคับการบินของสนามบินสุวรรณภูมิ (ATC: Air traffic control ) และเป็นหอบังคับการบินที่ทันสมัยและเป็นหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลกโดยสูงถึง 132 เมตร นอกจากนี้หอบังคับการบินยังใช้ระบบเรดาร์ทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิเพื่อควบคุมจราจรทางอากาศที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในโลกเช่นเดียวกับสนามบินในสหรัฐอเมริกา สุวรรณภูมิก่อสร้างให้เป็นสนามบินระดับเวิร์ดคลาส...แต่บริหารระดับโลว์คลาส...จึงมีปัญหาตั้งแต่ ห้องน้ำไม่พอ รันเวย์ร้าว ตม.แน่น แอร์ไม่เย็น รถเข็นกระเป๋าไม่พอ ที่จอดรถไม่ปลอดภัย ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น