xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ให้สหรัฐฯใช้อู่ตะเภา ความพ่ายแพ้ครั้งที่ 3 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- นับเป็นความพ่ายแพ้อีกครั้งของรัฐบาลเพื่อไทยที่ต้องถอยไปตั้งหลัก ไม่สามารถอนุมัติให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาดำเนินโครงการใหญ่ 2 โครงการ นั่นคือ “โครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ" หรือ เอชเอดีอาร์ (HADR- Humanitarian Assistance and Disaster Relief )ที่ดำเนินการโดยกองทัพสหรัฐ และการตั้งสถานีวิจัยและเก็บตัวอย่างอากาศ ภายใต้โครงการเอสอีเอซี 4 อาร์เอส (Southeast Asia Composition, Cloud and Climate Coupling Regional Study) ของสำนักงานบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา หลังจากที่พ่ายแพ้มาแล้ว 2 ครั้ง กับการออก พ.ร.บ.ปรองดอง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องใส่เกียร์ถอยไม่กล้านำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะเจอกับกระแสต้านอย่างหนัก

**นาซาเจอกระแสต้านหนัก สั่งถอนโครงการ

การอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาได้เกิดแรงต้านและมีกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งจากนักวิชาการ ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้คนในโลกไซเบอร์ กระทั่งฝ่ายรัฐบาลที่เคยประกาศกร้าวว่าจะเร่งเดินหน้าโครงการนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อย่างที่ฝ่ายค้านท้วงติง ก็จำต้องยอมอ่อนข้อนำเรื่องเข้าสภา โดยอ้างว่าแม้จะไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าควรให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยไม่ลงมติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 179 โดยนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการพิจารณาโครงการดังกล่าวในการเปิดประชุมสภาสามัญ ที่จะเปิดในวันที่ 1 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ล่าสุดในส่วนของโครงการศึกษาความสัมพันธ์ของเมฆที่มีผลกระทบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEAC4RS ขององค์การนาซานั้นทางนาซาได้แจ้งยกเลิกโครงการที่จะขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการดำเนินการแล้ว โดย ดอกเตอร์ Hal Maring ผู้จัดการโครงการ SEAC4RS ระบุว่า เนื่องจากเงื่อนเวลาที่จำกัด
ในการขนส่งอุปกรณ์และเครื่องบินมายังประเทศไทย รวมทั้งระยะเวลาในการศึกษาวิจัยสภาพอากาศในโครงการ SEAC4RS นี้สั้นเกินไปจึงจำเป็นต้องระงับโครงการนี้ พร้อมแสดงความเสียใจ และคาดไม่ถึงกับการตัดสินใจของรัฐบาลไทย

ขณะที่ วอลเตอร์ บราวโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การนาซาไม่สามารถรอคำตอบจากรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับการขออนญาตใช้สนามบินอู่ตะเภาได้อีกต่อไป เนื่องจากการศึกษารูปแบบของสภาพอากาศในภูมิภาคที่ทางนาซาให้ความสนใจนั้นจำเป็นต้องรีบดำเนินการเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัจจัยแวดล้อมด้านสภาพอากาศเอื้ออำนวยที่สุด

นายบราวโนห์เลอร์ยังระบุว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าองค์การนาซาจะกลับมาขอทำโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวในประเทศไทยในปีหน้าอีกหรือไม่ หลังจากต้องเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนักจากหลายภาคส่วนในไทยที่เกรงว่าการเข้ามาของนาซาอาจมีวัตถุประสงค์ทางทหารแอบแฝง

ทั้งนี้ ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันอังคารที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีมติให้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การหารือในรัฐสภา ในทันทีที่รัฐสภาของไทยกลับมาเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งกำหนดการล่าช้ากว่าเส้นตายที่ทางนาซากำหนดไว้ถึง 1 เดือน

อย่างไรก็ดี การยกเลิกโครงการ SEAC4RS ของนาซานั้น ส่งผลให้รัฐบาลเพื่อไทยสั่งถอยอีกครั้ง โดยล่าสุด รัฐบาลตัดสินใจว่าจะไม่มีการนำทั้ง 2 โครงการเข้าสู่การพิจารณาของสภาซึ่งจะมีการเปิดประชุมในสมัยสามัญอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้

**หวั่นใช้โครงการนาซาจารกรรมข้อมูล
วอชิงตันโพสต์แฉ ใช้อู่ตะเภาคานอำนาจจีน

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวของนาซานั้นได้สร้างความงงงวยและเคลือบแคลงให้แก่ประชาชนคนไทยอยู่ไม่น้อย ว่าเหตุใดนาซาจึงต้องรีบร้อนให้ไทยอนุมัติโครงการดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่สหรัฐฯ เพิ่งยื่นข้อเสนอเข้ามา ทั้งๆที่โครงการนี้เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการสำรวจชั้นบรรยากาศ หาใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการฉับพลันทันทีชนิดที่ไม่สามารถรอได้มิฉะนั้นจะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงต่อมวลมนุษยชาติ ที่สำคัญยังเป็นโครงการที่คนไทยเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เพราะแม้แต่ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยังท้วงติงว่าการที่นาซาจะใช้เครื่อง ER2 ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องบินจารกรรม U2 ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐอเมริกาได้ อีกทั้งเครื่องบินรุ่นนี้ยังบินสูงจากพื้นดินถึง 21 กิโลเมตร ทำให้เรดาร์ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้อีกด้วย

ขณะที่ฝ่ายค้านอย่าง ' นายถาวร เสนเนียม' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ท้วงติงว่าโครงการนี้ เป็นภารกิจการบินที่ครอบคลุมในทะเลจีนใต้ และประเทศไทยเต็มพื้นที่ ทั้งบนพื้นดินและเขตน่านน้ำ และการที่รัฐบาลชี้แจงว่า ประเทศเพื่อนบ้านเห็นชอบนั้น จริงๆแล้ว กัมพูชา สิงคโปร์ และ มาเลเซีย อนุญาตให้บินได้เฉพาะในเขตน่านน้ำทะเล นอกอาณาเขตเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้บินเหนือพื้นดินที่เป็นอาณาเขตของประเทศเหล่านั้นเหมือนอย่างที่รัฐบาลไทยอนุญาต

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมารัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของ 'นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นั้นร้อนรนเร่งรีบที่จะเดินหน้าโครงการนี้ให้จงได้ โดยอ้างความจำเป็นต่างๆนานา แต่กลับงุบงิบไม่ยอมชี้แจงรายละเอียดของโครงการนี้ให้ประชาชนคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศรับรู้แต่อย่างใด จึงมีคำถามตามมามากมาย ทั้งเรื่องแผนการดำเนินงาน ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความผูกพันของโครงการ รวมทั้งความกังวลในเรื่องผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติที่หลายฝ่ายหวั่นวิตก

นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญเรื่องผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งจากบรรดานักวิชาการและคนไทยที่มีความห่วงใยประเทศ โดยต่างเห็นตรงกันว่าการที่สหรัฐฯจะเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการดำเนินยุทธศาสตร์ทางทหารเพื่อหวังจะ กลับเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้งเพื่อคานอำนาจกับยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่กำลังเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารนั้นย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่จีนอย่างแน่นอน

ความเห็นดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ 'หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์' ซึ่งระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงด้านยุทธศาสตร์ของตนครั้งใหญ่ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น หวังสกัดกั้นบทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคนี้ และดุเหมือนความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตันและกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมหวนคืนสู่ “ สนามบินอู่ตะเภา” ในประเทศไทยอีกคำรบ หลังเคยใช้เป็นฐานสำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ดูจะเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯเป็นอย่างดี

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้หารืออย่างเข้มข้นกับทางการไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอใช้สนามอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค โดยพยายามหยิบยกเหตุผลด้านความเหมาะสมนานัปการของสนามบินเก่าแก่แห่งนี้ ที่สหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นห่างจากกรุงเทพฯไปทางใต้ราว 90 ไมล์ และเคยถูกใช้เป็น “บ้าน” ของเครื่องบินยักษ์ทิ้งระเบิดอย่าง “บี-52” ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อทศวรรษที่ 1960-1970

**อเมริกาเตรียมขยายอิทธิพลทางทะเล

ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนฝ่ายสหรัฐฯจะแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการเพิ่ม “การเยี่ยมเยียนทางเรือ” มายังท่าเรือต่างๆของไทยให้มากขึ้น รวมถึง เสนอให้มีการตรวจตราร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ต่อความปลอดภัยของเส้นทางการค้า และความเคลื่อนไหวทางทหาร

ในขณะที่ เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเดือนนี้ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันระดับสูงสุดรายแรกที่เดินทางเยือนอ่าวคัม รานห์ของเวียดนาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา พร้อมหยอดคำหวานถึงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของพื้นที่แห่งนี้ ในการเป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับการเยี่ยมเยือนของเรือรบอเมริกันในอนาคต ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่า ทางเพนตากอนเองก็กำลังหาทางหวนคืนสู่ฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน หลังเคยใช้ดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ณ อ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาร์กมาแล้วในอดีต ก่อนที่สหรัฐฯจะหันหลังให้กับประเทศในแถบนี้นานหลายทศวรรษ

เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯได้ส่งนายทหารระดับสูงเข้ามาลอบบี้รัฐบาลไทยอยู่หลายครั้ง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่ากับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย ก็เดินทางมาเยือนประเทศไทย การเดินทางเยือนของพลเอกเดมพ์ซีย์จึงถือเป็นไฮไลต์สำคัญเพราะถือเป็นการเดินทางมาเหยียบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกของบุคคลระดับผู้นำกองทัพสหรัฐฯในรอบหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีกำหนดเดินทางเยือนไทยในเดือนหน้า ขณะที่เลียน เพเนตตา นายใหญ่แห่งเพนตากอนก็ตกเป็นข่าวว่าเขาแอบพบปะหารือกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมของไทย มาแล้วเช่นกัน ในระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปประชุมที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้ ความพยายามกระชับสัมพันธ์กับไทยของฝ่ายสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยจากสาธารณชนและสื่อมวลชนของไทยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนกำลังพลสหรัฐฯ ที่อาจถูกส่งเข้ามายังสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต รวมถึง ความไม่ชัดเจนของภารกิจที่สหรัฐฯจะกระทำบนแผ่นดินไทย หากการตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รวมถึงการที่องค์การนาซาจะขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานในการปฏิบัติภารกิจในโครงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลแก่หลายฝ่ายในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ทางการจีนที่กังวลต่อความพยายามขยายบทบาทของสหรัฐฯ

ทันทีที่สหรัฐพยายามเดินหน้าในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวกับไทย ด้านรัฐบาลจีนก็มิอาจอยู่นิ่งเฉย จึงได้ส่ง พล.อ.จิ้ง จื้อหยวน ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ 2 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ของไทย ตามด้วย นางฟู่หยิง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีน ซึ่งเดินทางมามาเยือนไทยในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

กล่าวสำหรับรัฐบาลไทยนั้น การจะออกมาผลักดันการขอเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐฯก็อาจจะไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีฝ่ายวิชาการออกมาให้ข้อมูลยืนยันเพื่อสร้างน้ำหนักและความน่าเชื่อถือ ซึ่งแม้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโครงการสำรวจชั้นบรรยากาศของนาซานั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการพยากรอากาศและการแก้ปัญหามลภาวะของไทย แต่หลายฝ่ายก็มองว่าทัศนะของนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวนั้นอาจเป็นการมองเฉพาะด้านพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว ขณะที่การอนุญาตให้ต่างชาติเข้าทำการวิจัยใดๆในไทยนั้นจะต้องพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน

**กองทัพไทยไร้น้ำยา

ขณะที่ทั้งฝ่ายวิชาการ นักกฎหมาย พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ต่างระดมสอง ค้นคว้าหาข้อมูล และช่วยกันส่งเสียงท้วงติงต่อความไม่ชอบมาพากลของโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กระทั่งรัฐบาลสหรัฐต้องตัดสินใจยุติโครงการเพราะไม่สามารถต้านทานต่อกระแสต่อต้านของคนไทยได้ แต่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นความคงอย่างกองทัพไทยกลับนิ่งเฉย มิได้ออกมาแสดงท่าทีใดๆ ที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารใหญ่ที่คนไทยฝากความหวังไว้ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก จะมีก็แต่ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่แสดงความเห็นท้วงติงถึงความสุ่มเสี่ยงต่อถูกจารกรรมข้อมูลของกองทัพ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกแต่เพียงว่าขอให้คนไทยเชื่อมั่นทหารว่าได้พิจารณากรณีนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาอย่างรอบคอบ

“ ข้อห่วงใยของหลายฝ่าย กรณีนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อดำเนินโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศ นั้น เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนแสดงความห่วงใยประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านความมั่นคง แต่ขอให้ให้เกียรติและไว้ใจฝ่ายความมั่นคงของไทย โดยเฉพาะทหารจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างดีที่สุด และมั่นใจไทยยังไม่เสียอธิปไตยในการทำข้อตกลงใดๆ กับใคร ในส่วนที่ออกมาคัดค้านต่อต้าน ก็ขอให้เอาเหตุผลเป็นที่ตั้งและเคลื่อนไหวตามระบอบประชาธิปไตย

การคบกับต่างประเทศต้องให้เกิดความเท่าเทียม ไว้ใจ และให้เกียรติทุกฝ่าย การกระทำใดๆ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ตกลงกันระหว่างไทยกับนาซ่า โดยจะต้องมีการประชุมร่วม อะไรที่เห็นว่าไม่สบายใจ หรือ ห่วงใย ก็ให้นำใส่ไว้ในข้อตกลงที่จะทำร่วมกัน เช่น การจอดลงฉุกเฉินของเครื่องบิน และการให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขึ้นไปกับเครื่องบินนาซ่าด้วยทุกครั้ง และหากพบว่ามีการกระทำที่นอกเหนือข้อตกลง ไทยก็ต้องยกเลิกทันที โดยต้องมีคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด” พล.อ.ประยุทธ กล่าว

ขณะที่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ออกมาสนับการที่สหรัฐฯขอใช้อู่ตะเภาในการดำเนินโครงการดังกล่าว และไม่เชื่อว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ

“ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการรับมือภัยพิบัติ การช่วยเหลือประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญต้องพิจารณาถึงขอบเขตและวัตถุประสงค์ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ยังไม่มีประเทศใดท้วงติงในการขอใช้พื้นที่ด้านมนุษยธรรม และการตรวจสภาพอากาศขององค์การนาซา และในส่วนของทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขอใช้พื้นที่เพื่อการตรวจสภาพอากาศ เพราะเป็นเรื่องของกรมอุตุนิยมวิทยา

“ส่วนการที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่สหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา อาจจะมีการสอดแนม หรือจารกรรมข้อมูลด้านทรัพยากรแหล่งก๊าซธรรมชาติ และเป็นภัยต่อความมั่นคงประเทศนั้น ขอยืนยันว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะองค์การนาซา เป็นคนละหน่วยงานกับทหารของสหรัฐฯ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.มาติน อี.เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา หรือ ผบ.ทหารสูงสุด ของสหรัฐฯได้ชี้แจงตรงกันแล้ว และเชื่อว่าทุกคนรักประเทศชาติ จึงไม่อยากให้กังวลในเรื่องดังกล่าวมากนัก และทหารจะไม่ยอมให้เกิดปัญหาใดๆกับประเทศอย่างแน่นอน”

สิ่งที่ปรากฏบอกได้คำเดียวว่า เพลียใจกับการทำหน้าที่ของฝ่ายความั่นคงของไทย ที่ดูจะเออออกับรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง โดยไม่ได้สนอกสนใจอะไร ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าความมั่นคงของชาติอาจจะสำคัญน้อยกว่าความมั่นคงของเก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพ !

เห็นทีบ้านนี้เมืองนี้คงหวังพึ่งอะไรไม่ได้ แม้ในยามที่มีภัยคุกคามจากต่างชาติที่หมายมาดเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการแสวงประโยชน์ ก็หาได้มีผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ออกมาแสดงท่าทีปกป้องบ้านเมืองแต่อย่างใด จะมีก็แต่พลังของประชาชนคนไทยที่แม้ไร้ซึ่งเขี้ยวเล็บแต่ก็พร้อมจะลุกขึ้นมาคัดง้างกับอำนาจที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งจะนำภัยพิบัติมาสู่ผืนแผ่นดินเกิดของพวกเขา กระทั่งมหาอำนาจอย่าง 'สหรัฐอเมริกา' ยังต้องล่าถอยแพ้ภัยไปในที่สุด !!
กำลังโหลดความคิดเห็น