วอชิงตัน โพสต์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯในขณะนี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี บารัค โอบามา กำลังเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงด้านยุทธศาสตร์ของตนครั้งใหญ่ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น หวังสกัดกั้นบทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในภูมิภาค และดุเหมือนความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตัน และกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมหวนคืนสู่ “สนามบินอู่ตะเภา” ในประเทศไทย อีกคำรบ หลังเคยใช้เป็นฐานสำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ดูจะเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯเป็นอย่างดี
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้หารืออย่างเข้มข้นกับทางการไทย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอใช้สนามอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค โดยพยายามหยิบยกเหตุผลด้านความเหมาะสมนานัปการของสนามบินเก่าแก่แห่งนี้ ที่สหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางใต้ราว 90 ไมล์ และเคยถูกใช้เป็น “บ้าน” ของเครื่องบินยักษ์ทิ้งระเบิดอย่าง “บี-52” ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อทศวรรษที่ 1960-1970
ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนฝ่ายสหรัฐฯจะแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการเพิ่ม “การเยี่ยมเยียนทางเรือ” มายังท่าเรือต่างๆ ของไทยให้มากขึ้น รวมถึงเสนอให้มีการตรวจตราร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ต่อความปลอดภัยของเส้นทางการค้า และความเคลื่อนไหวทางทหาร
ในอีกด้านหนึ่ง เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเดือนนี้ ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันระดับสูงสุดรายแรกที่เดินทางเยือนอ่ามคัม รานห์ ของเวียดนาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา พร้อมหยอดคำหวานถึงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของพื้นที่แห่งนี้ ในการเป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับการเยี่ยมเยือนของเรือรบอเมริกันในอนาคต ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่า ทางเพนตากอนเองก็กำลังหาทางหวนคืนสู่ฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน หลังเคยใช้ดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ณ อ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาร์ก มาแล้วในอดีต ก่อนที่สหรัฐฯจะหันหลังให้กับประเทศในแถบนี้นานหลายทศวรรษ
แม้ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการเร่งเจรจาและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาจดูเหมือนยังอยู่ในวงจำกัด เช่น การเพิ่มความถี่ในการเยี่ยมเยียนทางเรือ หรือการซ้อมรบร่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลโอบามา มีความหวังที่กิจกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การกลับเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯในภูมิภาคต่อไป หลังจาก “จุดโฟกัส” ของรัฐบาลสหรัฐฯได้หันเหไปสู่การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในหลายสมรภูมิ เช่นที่อัฟกานิสถาน และอิรัก มานาน
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีขึ้นท่ามกลางการยืนยันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันหลายคนรวมถึงพลเอก มาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯไม่มีความปรารถนาที่จะกลับเข้ามาครอบครองฐานทัพขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฝ่ายตนเคยใช้เมื่อศตวรรษที่แล้วอีก รวมถึงไม่มีแผนสร้างฐานทัพแห่งใหม่ใดๆ เพิ่มเติมในดินแดนแถบนี้ โดยเน้นย้ำว่า สหรัฐฯจะขอเข้ามาในฐานะ “แขกชั่วคราว” ที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจาก “ประเทศเจ้าบ้าน” เท่านั้น เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและพิทักษ์ผลประโยชน์ร่วมกัน
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯแทบมิได้ชายตามองเลย นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2006 การเดินทางเยือนของพลเอก เดมพ์ซีย์ จึงถือเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะถือเป็นการเดินทางมาเหยียบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ
นอกจากนั้น แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีกำหนดเดินทางเยือนไทยในเดือนหน้า ขณะที่ เลียน เพเนตตา นายใหญ่แห่งเพนตากอน ก็ตกเป็นข่าวว่า แอบพบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมของไทยมาแล้วเช่นกัน ระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปประชุมที่สิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้
ความพยายามกระชับสัมพันธ์กับไทยของฝ่ายสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยจากสาธารณชนและสื่อมวลชนของไทยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนกำลังพลสหรัฐฯ ที่อาจถูกส่งเข้ามายังสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต รวมถึง ความไม่ชัดเจนของภารกิจที่สหรัฐฯจะกระทำบนแผ่นดินไทย หากการตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รวมถึงการที่สำนักงานบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) จะขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานในการปฏิบัติภารกิจในโครงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลแก่หลายฝ่ายในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ทางการจีน ถึงความพยายามขยายบทบาทของสหรัฐฯในระยะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แม้สหรัฐฯจะยืนยันว่า ความร่วมมือใดๆ กับไทยโดยเฉพาะในด้านการทหาร จะเป็นไปอย่าง “สงบเสงี่ยม” และสหรัฐฯเอง ก็มิได้มุ่งหวังให้รัฐบาลไทยตีตัวออกห่างจีน และหันมาแนบแน่นกับสหรัฐฯ เพราะตระหนักดีถึงจุดยืนของไทยที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งกับจีนและสหรัฐฯต่อไป