ASTVผู้จัดการรายวัน -สื่อนอกแฉรัฐบาลอเมริกันรุกหนักไทย หวังใช้เป็นฐานบุกเอเชีย คานอำนาจจีน ปชป.จี้รัฐเปิดรายละเอียดหยุดความสับสน ผิดหวัง ผบ.เหล่าทัพ ไม่ทำหน้าที่ท้วงติงเพื่อชาติ ย้ำ ผบ.ทอ.เตือน ปู ระวัง ER2 เครื่องบินจารกรรมใช้นาซาบังหน้า เพื่อยุทธศาสตร์การทหาร "เสื้อหลากสี" จี้รัฐบาลเปิดประชุมสภา พิจารณาเรื่องนาซา อย่าใช้แต่กฤษฎีกา เป็นเครื่องมือ
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯในขณะนี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามากำลังเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงด้านยุทธศาสตร์ของตนครั้งใหญ่ ด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น หวังสกัดกั้นบทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในภูมิภาค และดุเหมือนความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตันและกองทัพสหรัฐฯ ที่กำลังเตรียมหวนคืนสู่ “ สนามบินอู่ตะเภา” ในประเทศไทยอีกคำรบ หลังเคยใช้เป็นฐานสำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม ดูจะเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯเป็นอย่างดี
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ได้หารืออย่างเข้มข้นกับทางการไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอใช้สนามอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติขึ้นในภูมิภาค โดยพยายามหยิบยกเหตุผลด้านความเหมาะสมนานัปการของสนามบินเก่าแก่แห่งนี้ ที่สหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นห่างจากกรุงเทพฯไปทางใต้ราว 90 ไมล์ และเคยถูกใช้เป็น “บ้าน” ของเครื่องบินยักษ์ทิ้งระเบิดอย่าง “บี-52” ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อทศวรรษที่ 1960-1970
ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนฝ่ายสหรัฐฯจะแสดงท่าทีชัดเจนว่า ต้องการเพิ่ม “การเยี่ยมเยียนทางเรือ” มายังท่าเรือต่างๆของไทยให้มากขึ้น รวมถึง เสนอให้มีการตรวจตราร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ต่อความปลอดภัยของเส้นทางการค้า และความเคลื่อนไหวทางทหาร
ในอีกด้านหนึ่ง เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเดือนนี้ด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันระดับสูงสุดรายแรกที่เดินทางเยือนอ่ามคัม รานห์ของเวียดนาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา พร้อมหยอดคำหวานถึงศักยภาพอันยอดเยี่ยมของพื้นที่แห่งนี้ ในการเป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับการเยี่ยมเยือนของเรือรบอเมริกันในอนาคต ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่า ทางเพนตากอนเองก็กำลังหาทางหวนคืนสู่ฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน หลังเคยใช้ดินแดนหมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ณ อ่าวซูบิค และฐานทัพอากาศคลาร์กมาแล้วในอดีต ก่อนที่สหรัฐฯจะหันหลังให้กับประเทศในแถบนี้นานหลายทศวรรษ
แม้ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในการเร่งเจรจาและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาค อาจดูเหมือนยังอยู่ในวงจำกัด เช่น การเพิ่มความถี่ในการเยี่ยมเยียนทางเรือ หรือการซ้อมรบร่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลโอบามามีความหวังที่กิจกรรมเหล่านี้จะนำไปสู่การกลับเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นของสหรัฐฯในภูมิภาคต่อไป หลังจาก “จุดโฟกัส” ของรัฐบาลสหรัฐฯได้หันเหไปสู่การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในหลายสมรภูมิ เช่นที่อัฟกานิสถานและอิรักมานาน
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯมีขึ้นท่ามกลางการยืนยันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกันหลายคนรวมถึงพลเอกมาร์ติน เดมพ์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ที่ระบุว่า สหรัฐฯไม่มีความปรารถนาที่จะกลับเข้ามาครอบครองฐานทัพขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ฝ่ายตนเคยใช้เมื่อศตวรรษที่แล้วอีก รวมถึงไม่มีแผนสร้างฐานทัพแห่งใหม่ใดๆเพิ่มเติมในดินแดนแถบนี้ โดยเน้นย้ำว่าสหรัฐฯจะขอเข้ามาในฐานะ “แขกชั่วคราว” ที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจาก “ประเทศเจ้าบ้าน” เท่านั้น เพื่อสร้างเสริมศักยภาพและพิทักษ์ผลประโยชน์ร่วมกัน
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งสหรัฐฯแทบมิได้ชายตามองเลย นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.2006 การเดินทางเยือนของพลเอกเดมพ์ซีย์จึงถือเป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะถือเป็นการเดินทางมาเหยียบแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ
นอกจากนั้น แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีกำหนดเดินทางเยือนไทยในเดือนหน้า ขณะที่เลียน เพเนตตา นายใหญ่แห่งเพนตากอนก็ตกเป็นข่าวว่า แอบพบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมของไทยมาแล้วเช่นกัน ระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปประชุมที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้
ความพยายามกระชับสัมพันธ์กับไทยของฝ่ายสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดความคลางแคลงสงสัยจากสาธารณชนและสื่อมวลชนของไทยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนเรื่องจำนวนกำลังพลสหรัฐฯ ที่อาจถูกส่งเข้ามายังสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต รวมถึง ความไม่ชัดเจนของภารกิจที่สหรัฐฯจะกระทำบนแผ่นดินไทย หากการตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยามเกิดภัยพิบัติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รวมถึง การที่สำนักงานบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) จะขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานในการปฏิบัติภารกิจในโครงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลแก่หลายฝ่ายในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ทางการจีน ถึงความพยายามขยายบทบาทของสหรัฐฯในระยะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แม้สหรัฐฯจะยืนยันว่า ความร่วมมือใดๆกับไทยโดยเฉพาะในด้านการทหาร จะเป็นไปอย่าง “สงบเสงี่ยม” และสหรัฐฯเองก็มิได้มุ่งหวังให้รัฐบาลไทยตีตัวออกห่างจีน และหันมาแนบแน่นกับสหรัฐฯ เพราะตระหนักดีถึงจุดยืนของไทยที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกทั้งกับจีนและสหรัฐฯต่อไป
***ปชป.จี้รัฐเปิดรายละเอียด
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการสำรวจก้อนเมฆในชั้นบรรยากาศ ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน เพราะยังมีความกังวลในเรื่องการนำข้อตกลงมาสู่การปฏิบัติใน 4 ประการ คือ
1 . การปฏิบัติภาคการบินโดยใช้สนามบินอู่ตะเภา จะใช้เครื่องบินชนิดไหนบ้าง ใช้อุปรกรณ์ตรวจวัดภูมิอากาศด้วยเทคโนโลยีอะไร รัฐบาลจะต้องกำหนดอุปกรณ์ และเงื่อนไขให้ชัดเจนกับนาซาที่จะปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น เราจะได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลในระบอบทักษิณทุกรัฐบาล มักจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และแอบแฝงผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่เสมอ
2. ให้รัฐบาลตระหนักว่า มหาอำนาจอยู่ในภาวะถ่วงดุลย์ทางด้านยุทธศาสตร์ขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย จะเห็นได้จากการจัดการกำลังทหารในภูมิภาคนี้ หรือการเปลี่ยนสถานที่ การจอดเรือ การใช้สนามบิน อย่าให้ประเทศไทย ตกเป็นเหยื่อของประเทศมหาอำนาจเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จากกรณีสัตหีบ ที่สำคัญรัฐบาลต้องรับรู้ รับทราบแผนการบิน (Airborne Missions/Flight Plan) เพราะโครงการนี้ เป็นภารกิจการบินที่ครอบคลุมในทะเลจีนใต้ ประเทศไทยเต็มพื้นที่ ทั้งบนพื้นดินและเขตน่านน้ำ การที่รัฐบาลชี้แจงว่า ประเทศเพื่อนบ้านเห็นชอบนั้น ตนขอโต้แย้งว่า กัมพูชา สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ให้บินได้เฉพาะในเขตน่านน้ำทะเล นอกอาณาเขตเท่านั้น แต่ไม่อนุญาตให้บินเหนือพื้นดินที่เป็นอาณาเขตของประเทศเหล่านั้น
3. ให้รัฐบาลตระหนักถึงเอกราช อำนาจอธิปไตย และความมั่นคงของชาติ เหนือประโยชน์ส่วนตน ต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน หรือผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องพลังงาน และการขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเสนอของหน่ยยงานความมั่นคง คือ สมช.อย่างเคร่งครัด
4 . ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามโครงการนี้ จะต้องเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส
นายถาวร ยังแสดงความผิดหวังที่ ผบ.เหล่าทัพ ไม่ได้แสดงบทบาทในการท้วงติงในโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง อย่างในกรณีนี้เท่าที่ควร โดยเท่าที่ทราบมีเพียง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ที่ฝากข้อห่วงใยต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์? ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยตรง ให้ระมัดระวัง เรื่องเครื่องบิน ER2 ที่มีพัฒนาการจากเครื่องบินจารกรรม U2 ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการนำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐอเมริกาได้ แต่น่าเสียใจว่า ผบ.เหล่าทัพท่านอื่น ไม่ได้แสดงความเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศเท่าที่ควร ทั้งนี้จากที่ได้เห็นร่างสัญญาที่สหรัฐอเมริกา ส่งไปให้ นายสุรพงษ์? โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ลงวันที่ 25 พ.ค. 55 นั้น พบว่า เป็นกรอบที่กว้างมาก จนอาจกลายเป็นช่องโหว่ในภายหลังที่จะถูกนำไปใช้ในสิ่งที่จะกระทบต่อประเทศไทยได้ จึงเห็นว่าควรมีการปรับเนื้อหากำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศมากกว่านี้ ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจควรจะคำนึงถึงข้อเสนอแนะของสมช.ด้วย
**จี้"สุรพงษ์"เคลียร์ 4 ข้อข้องใจ
ขณะที่ นายชวนนท์ อินทรโกมายล์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่หลุดออกมาล้วนมาจากฝ่ายค้านทั้งสิ้น และรัฐบาลก็ออกมายอมรับที่ละเรื่อง อีกทั้งการให้สัมภาษณ์ของนายสุรพงษ์ ก็มีความสับสน
ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขัดขวาง แต่อยากให้นายสุรพงษ์ ตอบคำถาม ว่า
1. ทำไมรัฐบาลต้องให้อเมริกาเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลฝ่ายเดียว เช่น ประเทศสิงคโปร์ กัมพูชา ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่น่านน้ำ และน่านฟ้าแล้ว แต่ทำไมประเทศไทยในฐานะเจ้าของพื้นที่กลับไม่ถามประเทศดังกล่าวเอง
2. กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมพร้อมกัน 18 หน่วยงานในประเด็นดังกล่าวดังนั้นจึงอยากทราบว่าผลการประชุมเป็นอย่างไร และหน่วยงานทั้งหมดเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับอเมริกาในประเด็นใดบ้าง
3. เมื่อมีการระบุว่า สิงคโปร์ กัมพูชา ให้ใช้น่านน้ำและน่านฟ้า แต่เหตุใดถึงไม่มีการสอบถามไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นทางผ่านการบินด้วย ยกตัวอย่าง กรณีสิงคโปร์มาไทย ต้องบินผ่านประเทศมาเลเซียก่อน เป็นต้น และประเทศมาเลเซีย จะอนุญาตหรือไม่
4. เหตุใดรัฐบาลถึงสร้างความหวังให้อเมริกาสามารถขนอุปกรณ์ลงเรือมาไทย ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งที่ยังไม่มีการลงนามใดๆ แต่คนไทยก็กลับมาทราบเรื่องนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน ดังนั้นหากนายสุรพงษ์ สามารถตอบได้ชัดเจน ก็เชื่อว่าหากมีการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งที่จะถึงนี้ ( 26มิ.ย. ) ก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ตนยังจับพิรุธกรณีอเมริกาอนุญาตให้นาซามาใช้พื้นที่ ที่ประเทศ ฮ่องกง ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่เคยมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีสอบถามด้วยตัวเอง อย่าไปเชื่อข้อมูลจากอเมริกาเพียงฝ่ายเดียว เพราะอาจจะบิดเบือนข้อมูลได้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายชวนนท์ ได้อ้างอิงจากเว็บไซต์ขององค์การนาซา ที่ระบุรายละเอียดข้อมูลเครื่องบินที่ใช้สำรวจชั้นอากาศ รุ่น นาซาอีอาร์ 2 ที่สามารถบินได้สูงถึง 21 กิโลเมตร จากพื้นดิน โดยเรดาร์ไม่สามารถจับได้ อีกทั้งเครื่องบินชนิดนี้ใช้เป็นเครื่องบินสอดแนม และยังพบว่า พื้นที่ในการสำรวจกินพื้นที่ไปยังตอนใต้ของจีน พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
**จี้เปิดสภาพิจารณากรณีนาซา
นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนอยากให้สมาชิกรัฐสภา ขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเป็นการเฉพาะ เพื่อหารือในเรื่องนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญการเข้ามาของนาซาครั้งนี้ ก็ไม่ได้มาเหมือนแค่การเช่าบ้านพักชั่วคราว อีกทั้งยังมีความสับสน และสงสัยในข้อเท็จจริงอยู่
ดังนั้น จึงต้องมีการหารือร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา อาจจะเป็นการประชุมลับก็ได้ เพื่อให้สมาชิกได้รับรู้ถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเองยังไม่เคยชี้แจงเรื่องดังกล่าวเลย
ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้รัฐบาลใช้แต่เครื่องมืออย่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงอย่างเดียว เพราะต้องให้เกียรติรัฐสภาด้วย เรื่องนี้ทางกลุ่มจะไม่คัดค้าน หากการดำเนินการมีความโปร่งใส
**ซัด ปชป.จินตนาการไปเอง
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวนนท์ ระบุว่า นาซา มีการขนอุปกรณ์เข้าไทย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมองว่ารัฐบาลปกปิดข้อมูลนั้น ล่าสุด ผู้ใหญ่ในกองทัพได้ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีการขนอุปกรณ์ใดๆ เนื่องจากหากมีการขนเข้ามา ต้องมีการแจ้งให้ทราบ ซึ่งสอดคล้องกับโฆษกกระทรวงกลาโหม ก็ออกมาชี้แจงเช่นกันว่า ไม่เป็นความจริง โดยในเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า หน่วยงานของรัฐออกมาชี้แจงในครั้งนี้ เป็นการตบหน้าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าสิ่งที่กล่าวหารัฐบาลนี้ เสมือนเป็นสิ่งที่จินตนาการไปเอง
** "ปลอด"ดันวาระนาซาเข้าครม.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตนพร้อมชี้แจงเรื่องเทคนิค ขั้นตอน ต่อที่ประชุมครม. ในวันอังคารนี้ หากกระทรวงการต่างประเทศนำเรื่องโครงการความร่วมมือองค์การนาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เข้าที่ประชุม ครม. พร้อมกันนี้ ยังปฏิเสธกรณีที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า องค์การนาซา ใช้เครื่องบินสอดแนม ในการสำรวจเมฆ โดยระบุว่า การจะบินสอดแนมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ประกอบเครื่องบิน ไม่ใช่ตัวเครื่องบินที่ใช้.