xs
xsm
sm
md
lg

ทำสงครามด้วย“ภัยพิบัติ”ไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ต้องรู้ว่าใครหวาดระแวงใคร !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การตัดสินใจครั้งสำคัญของประเทศไทยที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะให้สหรัฐอเมริกามาตั้งศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรมที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งสานต่อมาจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่แอบดำเนินการอย่างเงียบๆ แต่คราวนี้มาต่อยอดเพิ่มขึ้นไปด้วยการให้องค์การการบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA ของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะเข้ามาสำรวจ “ชั้นบรรยากาศ” เบื้องต้นจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration – NASA)ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ตามพระราชบัญญัติการบินและอวกาศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานส่วนราชการ รับผิดชอบในโครงการอวกาศและงานวิจัยห้วงอากาศอวกาศระยะยาวของสหรัฐอเมริกา คอยจัดการหรือควบคุมระบบงานวิจัยทั้งกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร

และเพราะองค์การนาซามีการบริหารจัดการควบคุมงานวิจัยทั้งกับฝ่ายทหารด้วยนี้เอง ทำให้ภารกิจขององค์การนาซา ย่อมถูกจับตาอย่างแน่นอนหากมีการตั้งฐานปฏิบัติงานอยู่ในสนามบินอู่ตะเภา ถึงแม้ว่าจะอ้างว่าเป็นเพียงการสำรวจชั้นบรรยากาศ แต่เพียงแค่การสำรวจชั้นบรรยากาศประเทศไทยจะไม่สามารถล่วงรู้เทคโนโลยีได้ว่าจะมีภารกิจแฝงเร้นทางการทหารหรือไม่?

ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ต้องพูดถึงความ “หวาดระแวง”ของต่างชาติว่าจะมองไทย หากยอมรับข้อตกลงนี้กับสหรัฐอเมริกา

เพราะความจริงจะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่หากสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเกิดการตรวจสอบให้มีความโปร่งใสและอิสระ แล้วจะให้นานาชาติที่เป็นคู่เผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาจะมองประเทศไทยในแง่ร้ายเพียงใด แล้วเหตุใดสหรัฐอเมริกาจึงไม่ไปตั้งหน่วยกิจกรรมที่ว่านี้ในสถานที่อื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ หรือเวียดนาม?

แม้จะไม่มีประเทศไหนยอมรับว่าประเทศตัวเองอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่จะปิดล้อมจีน แต่ความจริงก็ได้ปรากฏอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีเป้าประสงค์ที่จะโยกย้ายกองทัพเรือมาประจำการที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกันมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 50% จะเพิ่มเป็น 60% ในปี พ.ศ.2563

ความชัดเจนจากจุดนี้เมื่อรวมกับการวางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาทำให้ทั่วโลกต่างเล็งเห็นอยู่แล้วถึงพฤติกรรมว่าสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายในการปิดล้อมจีน และต้องการมีส่วนแบ่งทางทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่งคั่งจากภูมิภาคเอเชียให้มากขึ้น

และแน่นอนว่าเชฟรอนที่มีการสำรวจขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยและในประเทศไทยจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งนั้น ได้รับทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปในราคาภาคหลวงต่ำๆและทำกำไรอย่างมหาศาล ดังนั้นการมีความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกาที่จะมาใช้พื้นที่ในประเทศไทยนั้นจึงเสมือนเป็นการเข้ามาคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งพลังงานปิโตรเลียมของประเทศไทยครั้งที่ 21 กำลังจะเริ่มต้นอย่างเงียบๆในเดือนกรกฎาคม 2555 นี้ อันเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาจะขอเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยในจังหวะที่ใกล้เคียงกัน


ความหวาดระแวงที่น่าจับตาเหล่านี้ ยังรวมไปถึง ศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซาที่จะมาสำรวจชั้นบรรยากาศนั้น ยังอาจถูกหวาดระแวงจากนานาชาติได้ถึงการเชื่อมโยงกับข้อสงสัยในเรื่องการสร้างภัยพิบัติเป็นอาวุธสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ได้หรือไม่?

โครงการ H.A.A.R.P หรือมีชื่อเต็มว่า High Frequency Active Aurora Research Program) ซึ่งเป็นโครงการที่อ้าวว่าได้ดำเนินการใช้การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ High Frequency ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ เพื่อให้สะท้อนกลับมาส่งคลื่นไปยังพื้นที่ระยะทางไกล อันจะสร้างประโยชน์และคุณูปการอย่างมหาศาลในคุณภาพด้านการสื่อสารข้ามทวีป

แต่สิ่งที่นานาชาติมีความหวาดระแวงก็เพราะ…

ประการแรก มีหน่วยงานความมั่นคงและการทหารถึง 3 หน่วยงาน เข้าลงทุนและจัดการโครงการนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งอลาสก้า อันได้แก่ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และ สำนักงานความก้าวหน้ากลาโหม ของสหรัฐอเมริกา เพียงเฉพาะหน่วยงานเหล่านี้ ก็น่าสงสัยแล้วว่าเป็นเรื่องภารกิจที่น่าจะเกี่ยวกับอาวุธสงคราม และเมื่อรวมกับการดำเนินการที่เป็นภารกิจลับและไม่เปิดเผยก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นจากประเทศที่เป็นคู่เผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา

ประการที่สองมีความเคลือบแคลงสงสัยว่าการดำเนินการด้วยการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หากส่งด้วยกำลังที่สูงมากไปยังชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศและเปลี่ยนแปลงทิศทางกระแสลมได้หรือไม่ และเมื่อสะท้อนกลับมาบนเป้าหมายผิวโลกหรือใต้ท้องทะเลจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติจนเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิได้หรือไม่?

ฝ่ายที่เชื่อว่าเรื่องการใช้ภัยพิบัติเป็นอาวุธสงครามเป็นความจริงนั้นก็อยู่ในระดับเพียงแค่การรวบรวมพยานหลักฐานแวดล้อม+ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นความจริง ในขณะเดียวกันฝ่ายที่เชื่อว่าไม่มีทางเป็นความจริงก็ยังพิสูจน์ไม่ได้เช่นกันว่าจะไม่มีทางมีเรื่องดังกล่าวจริงอยู่ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภารกิจในโครงการ H.A.A.R.P นั้น ไม่เปิดให้เกิดการตรวจสอบได้จากองค์กรอิสระนานาชาติ

ฝ่ายคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้ก็จะมองว่าคนที่เชื่อเรื่องนี้เพี้ยนและเพ้อเจ้อ ส่วนฝ่ายคนที่เชื่อเรื่องนี้ก็จะมองว่าคนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้เพราะไม่รู้เท่าทันโลก ดังนั้นการเชื่อว่ามีจริงหรือไม่มีจริงก็ไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติแต่อย่างใด

ประเด็นสาระสำคัญของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า โครงการ H.A.A.R.P นั้น มีเป้าหมายในการใช้ภัยพิบัติเป็นอาวุธสงครามจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าหากประเทศไทยให้ตั้งศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรม และให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสำรวจชั้นบรรยากาศที่สนามบินอู่ตะเภา นั้นจะสร้างความหวาดระแวงกับนานาชาติในการเชื่อมโยงกับโครงการ H.A.A.R.P ได้หรือไม่? เมื่อ “ศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรม” กับ “การสำรวจชั้นบรรยากาศขององค์การนาซา” มาเป็นคำที่ใช้สำหรับภารกิจที่สนามบินอู่ตะเภาครั้งนี้


ต่อไปนี้เป็นการรวบรวมหลักฐานและปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายประเทศมีความวิตกกังวลต่อโครงการ H.A.A.R.P ดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2539 กองทัพสหรัฐอเมริกาออกประกาศเป็นเอกสารชื่อ “กองทัพอากาศสหรัฐ 2025” ได้ระบุเป้าหมายในอนาคตของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาความตอนหนึ่งว่า:

“การเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศ จะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคง ทั้งในและระหว่างประเทศและสามารถกระทำได้แบบเอกภาคี...มันเป็นไปได้ทั้งเชิงการรุกและรับหรือกระทั่งในการข่มขู่ศัตรู.. ความสามารถในการทำฝน หมอกและพายุหรือเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนอกโลก... และการสร้างดินฟ้าอากาศต่างๆนี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีแบบบูรณาการ ซึ่งสร้างเสริมศักยภาพให้กับสหรัฐหรือลดทอนศักยภาพของสหรัฐ”

พ.ศ. 2539 นายวิลเลียม โคเฮน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา
ได้กล่าวถึงการก่อการร้าย ณ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ตอนหนึ่งมีใจความว่า:

“การป้องกันเกี่ยวกับอาวุธที่ไม่ธรรมดาจะต้องเพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายพัฒนาอาวุธเคมีและเชื้อโรค และกรรมวิธีทางพลังงานแม่เหล็กที่สามารถเปิดรูโหว่ ในชั้นโอโซนหรือกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดได้”

พ.ศ. 2540
มีการลงนามในอนุสัญญา “การห้ามใช้เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนดินฟ้าอากาศเพื่อการทหารและการรุกราน ที่สร้างผลกระทบที่กว้างขวางยาวนานและรุนแรง” ทั้งนี้นิยามของ “เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนดินฟ้าอากาศ”หมายถึง “เทคโนโลยีที่จงใจเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธรรมชาติ การเคลื่อนไหวองค์ประกอบโครงสร้างของโลกรวมถึงชั้นบรรยากาศต่างๆหรืออวกาศ”

พ.ศ. 2542
สหภาพยุโรปได้ออกรายงานเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2542 โดยในรายงานมีการระบุภัยต่ออาวุธหลายชนิด และมีการระบุถึง โครงการ H.A.A.R.P. คือระบบอาวุธชนิดหนึ่งซึ่งสามารถทำให้ภูมิอากาศแปรปรวน

พ.ศ. 2544 นายเดนิช คูชินิช วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ได้เสนอร่างกฎหมายที่ HR2977 ว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธในอวกาศ ตอนหนึ่งของร่างนี้กล่าวถึง “อาวุธทางภูมิอากาศหรือาวุธทางรอยเลื่อนของชั้นแผ่นดิน”

พ.ศ. 2546 สมาชิกของคณะกรรมาธิการถึงสี่คณะของสภาสูงสุดรัสเซียหรือสภาดูม่า และสมาชิกสภาทั้งหมด 90 คน ได้ร่วมกันลงชื่อในรายงานเสนอต่อประธานาธิบดีวลาดิเมีย ปูติน องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิก
องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ผู้นำและรัฐสภาทุกประเทศ องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและสื่อมวลชนชั้นน้ำของโลก เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีมติห้ามสหรัฐทดลองอาวุธที่มีแสนยานุภาพสูงนี้ ในรายงานนี้ปรากฏข้อความบางตอนว่า:

“ภายใต้โครงการ H.A.A.R.P. สหรัฐอเมริกากำลังสร้างอาวุธใหม่ทางธรณีฟิกส์ ซึ่งอาจสามารถส่งอิทธิพลต่อชั้นบรรยากาศใกล้โลกด้วยเคลื่อนวิทยุความถี่สูง”

พ.ศ. 2553 นายฮิวโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า
ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงว่าเล่นบทพระเจ้า ภายหลังจากการเกิดเหตุแผ่นดินไหวภัยพิบัติที่เกิดขึ้นที่เฮตินั้น เป็นฝีมือการทดลองของสหรัฐอเมริกาที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหว และยังระบุอีกด้วยว่าการทำครั้งนี้เป็นเพียงแค่การฝึกฝนเท่านั้น และเป้าหมายก็คือการทำลายและการยึดอิหร่าน

ตัวอย่างข้างต้นนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศใดมีความขัดแย้งและระแวงบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเรื่องภัยพิบัติที่ไม่ธรรมชาติ และการใช้เทคโนโลยีอวกาศและการใช้ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นหากประเทศไทยให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาก็เท่ากับเรากำลังสร้างความหวาดระแวงนี้ให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ถ้ารัสเซียไม่พอใจโครงการ H.A.A.R.P ของสหรัฐอเมริกา, สภาสหภาพยุโรปประชุมรับทราบอาวุธนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว, เวเนซูเอล่าระแวงและกล่าวหาอเมริกากับโครงการนี้ ลองคิดดูว่าหากไทยปล่อยให้สหรัฐอเมริกาตั้ง ศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรม และ องค์การนาซ่าที่เข้ามาสำรวจชั้นบรรยากาศ ความหวาดระแวงต่อประเทศไทยจะมีประเทศใดบ้างจากแนวร่วมที่แตกออกไปจากความหวาดระแวงเช่นนี้?

ประชาชนชาวไทยไม่พร้อมที่จะทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นสมรภูมิแห่งความขัดแย้ง ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย หรือสร้างความหวาดระแวงให้กับรัสเซีย อิหร่าน จีน หรือประเทศมุสลิมอื่นที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐอเมริกา จริงหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น