รายงานการเมือง
การที่ ครม.เหยียบเบรกสับเกียร์ถอยล้อหมุนกลับลำ 360 องศา กรณีให้องค์การนาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาสำรวจชั้นบรรยากาศ ทั้งๆ ที่อุตส่าห์สร้างภาพให้นางพญาหารือร่วมกับ 3 เหล่าทัพ พร้อมด้วยฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกันแบบเอิกเกริก
จน “อ้ายปึ้ง” สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ออกมาเสนอหน้าพร้อมกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทย์ ยืนยันเสียงหนักแน่นว่าได้บทสรุปตรงกัน ที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 19 มิ.ย. 55
โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงว่าจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) อ้างว่ามีการปรึกษากฤษฎีกาและกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้รัฐสภาพิจารณา โดย “ปลอดประสพ” ยังไปไกลถึงขั้นว่านายกรัฐมนตรีตั้งให้เขาเป็นประธานดูแลโครงการนี้
ผ่านไปเพียงข้ามคืน การณ์กลับตารปัตรไม่มีวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ซะงั้น ทำเอาสื่อไม่ได้เห็นหัวเหม่งของ “สุรพงษ์” มาแถลงข่าวอีก หลังหน้าแหกจนหมอไม่รับเย็บ
ข้ออ้างข้างๆ คูๆ ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าต้องศึกษารายละเอียดก่อนยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะการแถลงของ “สุรพงษ์” นั้น เกิดขึ้นหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงแล้ว!
อะไรทำให้รัฐบาลกลับหลังหัน เป็นเรื่องที่น่าคิด
แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะมีสำนึกดีกลัวว่าจะกลายเป็นมติ ครม.ขายชาติ แต่น่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เล็งเห็นแล้วว่าจะเกิดปัญหาติดคุกหัวโตตามมามากกว่า
“เรื่องนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลทำอะไรไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ จึงไม่อยากให้คน 30 กว่าคน ตัดสินในเรื่องนี้ เพื่อผลประโยชน์ของใครบางคนที่จะได้รับ จึงต้องเข้าสภาเพื่อพิจารณา แต่ถ้าหากว่าสภามีเสียงข้างมากอีก คนเหล่านี้ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต
แม้ว่าเสียงโหวตในสภาจะชนะผ่านไป ขอให้สังวรไว้ว่าประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ท่านกำลังขายชาติหรือไม่ ที่จะให้สหรัฐฯ มามีอิทธิพลต่อไทยอีกครั้งในรอบ 40 ปีที่แล้วมา ยังไม่เป็นบทเรียนอีกหรือ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยทำประโยชน์ให้ใคร มีแต่แสวงหาทรัพยากร ดังนั้น ประเทศเล็กๆ อย่างเราจึงต้องระมัดระวัง หากไม่มีอะไรอยู่เบื้องลึกเบื้องหลัง ผมคิดว่ารัฐบาล รัฐสภา ควรคิดให้ดีและรอบคอบ ก่อนที่จะเอาประโยชน์ของประเทศไปอยู่บนความเสี่ยง ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ให้เกิดความเสียหาย”
ข้างต้นนี้เป็นคำเตือนที่หนักหน่วง รุนแรง และทรงพลังยิ่ง จาก ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน และน่าจะเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้ ครม.ยังไม่กล้าผลีผลามประเคนสนามบินอู่ตะเภาให้กับสหรัฐอเมริกา ประกอบกับท่าทีขึงขังเอาจริงของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขุดข้อมูลแฉให้สังคมเห็นว่า การสำรวจชั้นบรรยากาศของนาซา ดันลงลึกไปถึงพลังงานใต้ทะเล เพราะมีบริษัทเชฟรอนที่ได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ทับซ้อนจากฝั่งกัมพูชาเข้ามามีเอี่ยวโดยไร้คำอธิบาย
หาก ครม.ผลีผลามเดินหน้าเข้ากองไฟก็อาจมีจุดจบไม่ต่างกับกรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่นายนพดล ปัทมะ ในสมัยเป็น รมว.ต่างประเทศไปลงนามอัปยศจนเป็นเหตุให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว และบานปลายกลายเป็นเรื่องที่กัมพูชาฟ้องศาลโลกที่ยังคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้
ย้อนเหตุการณ์ ครม.ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 51 มีมติเห็นชอบกับแถลงการณ์ร่วมฯ โดยไม่มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 (2) ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการใช้ประโยชน์จากแถลงการณ์อันจะนำไปสู่ความเสียหายที่ยากจะเยียวยาได้ โดยศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการใช้ประโยชน์จากแถลงการณ์ในวันที่ 28 มิ.ย. 51
หลังจากนั้น 8 ก.ค. 51 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8:1 มีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
ต่อมาวันที่ 29 ก.ย. 52 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ มีความผิดทั้งคดีอาญาและส่งวุฒิสภาลงมติถอดถอน
12 มี.ค. 53 วุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนนายนพดล โดยมีเสียงให้ถอดถอน 57 ต่อ 55 ไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ 90 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่การลงมติดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำลังพิจารณาอยู่
ที่น่าจะทำให้ ยิ่งลักษณ์ ร้อนๆ หนาวๆ ไม่กล้าทำตาม “ใบสั่งพี่ชายนักโทษ” อีกประการหนึ่งคือ คำพูดของ “ศรีราชา” ผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ไม่ได้เป็นแค่เสียงที่ไร้ความหมาย แต่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (2) ว่า
กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
จะไม่ให้ ครม.ขนลุกขนพองได้ยังไง ในเมื่อ “ศรีราชา” ประกาศชัดว่า เรื่องนี้ต้องผ่านรัฐสภา ไม่อย่างนั้นระวังเข้าข่ายขายชาติ ความเห็นชัดเจนเช่นนี้ หาก ครม.มีมติอนุมัติให้นาซ่าเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา ก็เชื่อได้เลยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินชอบที่จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 245 (2) ส่งเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัย
ผลที่ตามมาอาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์ “แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา” ที่ นพดล ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ลุ้นระทึกว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร
เมื่อกำแพงหนาหนักชัดขนาดนี้ ให้เฮียสั่งลุยยังไง นกแก้วก็ไม่ขอไปส่องกระจกในห้องกรงแน่ๆ