นักวิชาการด้านความมั่นคง จี้รัฐบาลแจงสัญญา “นาซา” ขอใช้อู่ตะเภา ชี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แนะลงนามห้ามมะกันนำไปใช้ประโยชน์ทางการทหารหลังโครงการเสร็จสิ้น กระตุ้น “ปู” ออกมาแจงเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ และข้อกังขาของเพื่อนบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 มิ.ย. นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมเห็นชอบให้องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา เข้ามาใช้พื้นที่อู่ตะเภาในการศึกษาชั้นบรรยากาศว่า สำหรับตัวโครงการที่นาซาจะเข้ามาทำคิดว่าไม่น่ามีปัญหา แต่เรื่องที่เป็นปัญหาคือท่าทีของไทยที่ไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งเรื่องผลประโยชน์ที่เราจะได้จากโครงการนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้แม้รัฐบาลจะอ้างว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณออกไปนอกประเทศ เนื่องจากการตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยสามารถตกลงกันง่ายๆ ทั้งๆ ที่รายละเอียดเรื่องสัญญาต่างๆ ยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าไทยเองจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เช่น ห้องทดลอง โครงการแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่การเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนสามารถเข้าไปดูได้ โดยเราทราบกันแต่เพียงว่าเราได้รับผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
นักวิชาการด้านความมั่นคงมองว่า รัฐบาลควรออกมาชี้แจงเรื่องรูปแบบของสัญญาระหว่างนาซาและไทยในครั้งนี้ว่า เป็นแบบไหนอย่างไร มีผลผูกพันอะไรบ้าง เช่น ไทยในฐานะเจ้าของสัญญาสามารถกำหนดไปเลยว่า หลังจากการเข้ามาศึกษาชั้นบรรยากาศของนาซาครั้งนี้เสร็จสิ้น สหรัฐเองจะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการทหารได้ เพื่อความสบายใจของคนในประเทศและเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้าไม่มีเรื่องแบบนี้อยู่ในสัญญาจะถือว่าแปลกมาก และอาจเกิดความกังวลใจในภายภาคหน้าได้
“นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลควรจะออกมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ และเพื่อนบ้านได้ และจะเป็นผลดีในอนาคต เนื่องจากการเข้ามาของนาซาในครั้งนี้มีหลายประเทศที่สงสัยว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น”นายปณิธานกล่าว