ASTVผู้จัดการรายวัน-กมธ.ต่างประเทศ ห่วงให้สหรัฐฯ ขอใช้อู่ตะเภาให้นาซ่าตั้งสถานีตรวจอากาศและศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติกระทบความรู้สึกเพื่อนบ้าน แนะเชิญจีน-รัสเซียเข้าร่วม ส่วนคนของรัฐร่วมด้วยช่วยกันเชียร์ ยันไทยได้ประโยชน์เต็มๆ เผย ผบ.กองกำลังจีน ขอพบ "ประยุทธ์" พรุ่งนี้ คาดขอหารือกรณีประเด็นร้อนดังกล่าว "ปลอด"งัดเอกสารจิสด้า ตอกหน้า ปชป. แฉสมัยเป็นรัฐบาลก็ไม่เอาเข้าสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (20 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ,สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงกลาโหม ,กองความร่วมมือด้านความมั่นคง ,กรมยุทธการทหารเรือ ,กรมยุทธการทหารอากาศ ,กรมพระธรรมนูญ, และกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีสหรัฐอเมริกาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อดำเนินโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) และกรณีขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในอาเซียน
นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงในจุดยุทธศาสตร์ร่วมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีผลกระทบ และเห็นควรระบุเรื่องนี้ไว้ในกรอบความร่วมมืออาเซียน เพื่อทำให้โครงการนี้มีความโปร่งใส โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก รวมทั้งยังเป็นห่วงคำแถลงของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีการแถลงหลายครั้ง สรุปความว่า สหรัฐฯ จะเสริมกำลังทางทะเลและอากาศในเอเชียเพิ่มขึ้น ภายใต้ยุทธศาสาสตร์แอร์ซีแบตเทิล เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวเหมือนจะระบุให้จีนเป็นผู้ร้าย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างกลางจึงเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก จึงขอเตือนรัฐบาลให้คำนึงถึงหลายจุด เพราะเป็นยุทธศาสตร์โลกและเอเชีย โดยเฉพาะผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ
"การใช้เครื่องบินต่างชาติที่ไม่ใช่เครื่องบินไทยขึ้นบินจากสนามบินไทยใครเป็นผู้อนุมัติ และการบินออกตรวจดูสภาพภูมิอากาศซึ่งจะผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190เลยหรือ ประชาชนควรรับทราบเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญในหน่วยประสานงานภัยพิบัติของสหรัฐฯ มีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรรมาธิการฯ คงต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกเพื่อขยายผลในการติดตามเรื่องนี้"
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังเห็นว่าไม่เสียหายที่จะรายงานรัฐสภา เพราะการที่ไทยจะเพิ่มเส้นทางการบินยังต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา การที่จะมีเส้นทางการบินสำรวจภูมิอากาศที่ต้องบินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น กรรมาธิการฯ เห็นว่าควรนำเข้าพิจารณา แต่กระทรวงกลาโหมเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจในเวทีการประชุมร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กรรมาธิการฯ ขอเสนอให้เชิญผู้ชำนาญการด้านภัยพิบัติของจีนและรัสเซีย เข้ามาร่วมในศูนย์ปฏิบัติการนี้ด้วย จะทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้มีความเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น
น.พ.พรพันธุ์ บุญยรัตนพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวเสริมว่า โครงการเหล่านี้ ดูในรายละเอียดเหมือนจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจว่าจะมีการเชื่อมโยงกับการทหารหรือไม่ กรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าควรเชิญประเทศเพื่อนบ้านที่เส้นทางการบินสำรวจภูมิอากาศต้องบินผ่าน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการในโครงการนี้ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากข้อมูลอย่างครบถ้วน และเพื่อทำให้โครงการโปร่งใสและได้รับประโยชน์ร่วมกันในทุกฝ่ายจริงๆ
** ร่วมด้วยช่วยกันอ้างได้ประโยชน์
ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายสุนัย จุลพงศธร เป็นประธาน ได้หยิบยกกรณีนี้มาหารือ โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
พล.ร.ต.พังพล สิริสังข์ไชย ผู้บัญชาการกองบินทหารเรือ กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติของเครื่องบินต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศไทย ต้องขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมทุกครั้ง ซึ่งทางกลาโหมได้มอบหมายให้ทางกองทัพอากาศเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ ต่างประเทศต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการบินทั้งหมดให้ทางไทยรับทราบทั้งวันมาและวันกลับ จำนวนลูกเรือ โดยไม่สามารถมาอยู่ในไทยถาวรได้
นายพรชาต บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ เสนอว่า หากมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ต้องเป็นลักษณะความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งต้องระวังถึงผลกระทบในภายภาคหน้า ที่ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส รวมถึงขอบเขตของการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายของไทย โดยต้องสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ของไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมในการปฏิบัติการ เพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการทั้ง 2 เรื่องที่สหรัฐฯ ขอเข้ามาปฏิบัติการในไทย ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางการทหาร
นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า การใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติจะสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภูมิภาคอาเซียนได้รวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะการลำเลียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่กรอบเวลาในการดำเนินโครงการ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการหารือ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันหากมีโอกาสจะเปิดเชิญประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมโครงการด้วย
ขณะที่นายธนะชัย ศิริสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานสนามบิน ชี้แจงว่า กรณีที่มีข้อสงสัยว่าเครื่องบินสำรวจขององค์การนาซ่าจะส่งผลต่อความมั่นคงทางทหารหรือไม่นั้น ยืนยันว่า เครื่องบินทั้งหมดที่จะมาปฏิบัติการเป็นเครื่องบินที่มีคนขับ รวมทั้งมีเครื่องบินของไทย จากสำนักฝนหลวงอีก 1 ลำ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จะร่วมบินสำรวจด้วย ซึ่งจะทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนข้อกังวลว่าจะมีประเด็นแอบแฝงหรือไม่นั้น สามารถส่งผู้ปฏิบัติการในส่วนของไทยเข้าร่วมงานได้ เพื่อความโปร่งใส ส่วนแผนการบินก็มีขั้นตอนที่ชัดเจน
ด้านนางสาววารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนวยการกองกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า กฏหมายเกี่ยวกับภารกิจกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเด็นของนาซ่า ได้ส่งจดหมายมาแล้ว โดยยืนยันชัดเจนว่าดำเนินการในเรื่องวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบตามระเบียบแล้ว พบว่า ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี
นางอุษา เกียรติชัยพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาด้านสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับโครงการของนาซ่าเป็นโครงการต่อเนื่องทำงานมาแล้ว 2 ปี และมีนักวิทยาศาสตร์ไปร่วมในนามของประเทศไทยจำนวน 2 คน และเป็นโครงการที่มีประโยชน์และจะสนับสนุนของไทยในเรื่องปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งยังเป็นความเห็นที่ยังไม่เป็นทางการ เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ
**กห.รับเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ190 (1)
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมได้ส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าการที่เรื่องดังกล่าวยังไม่เข้าที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 18มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีปัจจัยภายนอกกดดัน และมีเรื่องต้องให้พิจารณาอีกหลายเรื่อง รวมทั้งจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ แต่จากที่ได้คุยกันเบื้องต้นเห็นว่า เข้าข่ายมาตรา 190 (1) เท่านั้น จึงต้องให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่าทางสหรัฐฯ คงเข้าใจ
ด้าน พล.ท. อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า ต้องให้ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาอย่างรอบคอบ และดูความเหมาะสม ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีภารกิจทางทหารเข้ามาแอบแฝงนั้น คิดว่าคงไม่มี ตนมั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้งในส่วนของรัฐบาลและของทางทหารต้องระมัดระวังเรื่องนี้อยู่แล้ว คงต้องทำกันอย่างรอบคอบ
**"ผบ.กองกำลังจีนจ่อพบ"ประยุทธ์"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 14.30 น. พล.อ.จิ้ง จื่อหยาง ผบ.กองกำลังปลดปล่อยประชาชนจีนเตรียมเข้าพบและหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่กองบัญชาการกองทัพบก คาดว่า อาจจะมีการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในการฝึกร่วมและอาจจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับกรณีที่สหรัฐฯ จะเข้ามาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการบินสำรวจชั้นบรรยากาศ เนื่องจากที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจไม่พอใจที่ประเทศไทยให้สหรัฐฯ เข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา
** ปลอด”โชว์เอกสารตอกหน้าปชป.
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 14.00 น. นายปลอดประสพ ได้นำเอกสารการลงนามความร่วมมือระหว่างประธานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กับประธานองค์การนาซา ของสหรัฐฯ ว่าด้วยความร่วมมือในการสำรวจสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ที่ทำขึ้นสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มาแถลงและแจกจ่ายต่อผู้สื่อข่าว
นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนได้ไปค้นพบเอกสารดังกล่าวที่มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการตรวจ สภาพอากาศ และการพยากรณ์อากาศ ระหว่างประธานจิสด้า กับประธานนาซ่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยลงนามกันเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2553 จึงขอถามกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไหนว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญ แต่ทำไมสมัยนั้นถึงไม่นำเข้าผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนุญมาตรา 190 วรรค 2 ก่อน ซึ่งแม้ว่าในเอกสารฉบับดังกล่าวจะไม่ได้เขียนระบุชัดว่าให้นาซ่าใช้สนามบินอู่ตะเภา แต่การไม่ระบุชัด แสดงว่านาซาสามารถจะใช้สนามบินไหนก็ได้ในประเทศไทย
**ซัดผู้ตรวจการไม่ควรวิจารณ์รัฐ
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณีให้องค์การนาซ่าใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา พร้อมทั้งตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า เป็นการขายชาติหรือไม่ ซึ่งคำพูดดังกล่าวคล้ายกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และมีความรุนแรง อีกทั้งคนที่พูดก็เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 50