xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลไฟเขียวสหรัฐฯ ใช้อู่ตะเภา เล็งนำเข้า ครม.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ ปู” ถกฝ่ายความมั่นคงได้ข้อสรุป ยอมให้สหรัฐฯ ใช้สนามบินอู่ตะเภา เตรียมนำเข้า ครม.ตีตรารับรองพรุ่งนี้ “สุรพงษ์” อ้างไม่เข้าข่าย ม.190 จึงไม่ต้องนำเข้าสภา เชื่อไร้ปัญหากับประเทศมหาอำนาจ เหตุทั้งจีน-รัสเซียก็เคยยอมให้นาซาใช้น่านฟ้าบินสำรวจภูมิอากาศ โวยฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุทำคนไทยและต่างประเทศเข้าใจผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มิ.ย.) นายสรุพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันแถลงข่าวภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมร่วมกับผู้นำเหล่าทัพ กรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยกระทรวงการต่างประเทศจะนำเสนอวาระการอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (องค์การนาซ่า) เข้ามาดำเนินการโครงการศึกษาก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายสุรพงษ์แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือเอชเอดีอาร์ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief) และโครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ หรือเอสอีเอซี4อาร์เอส (Southeast Asia Composition, Cloud and Climate Coupling Regional Study) โดยองค์การนาซา โดยขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการ

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เอชเอดีอาร์ถือเป็นความริเริ่มจากรัฐบาลที่แล้วที่เล็งเห็นถึงสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติค่อนข้างรุนแรง เช่น เหตุการณ์สึนามิ แผ่นดินไหว เป็นผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สิน ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ดำเนินการต่อในลักษณะโอเปอเรเตอร์ติดตามเหตุการณ์โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อหารือถึงการตั้งศูนย์เอชเอดีอาร์แบบไม่ถาวร มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอดเวลาในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติซึ่งจะคล้ายกับศูนย์ปฏิบัติการภัยพิบัติแห่งชาติ (ศปภ.) โดยนานาชาติก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการ ถือเป็นความร่วมมือในระดับสากลอยู่แล้ว ในการปฏิบัติหน้าที่จนสถานการณ์คลี่คลาย

“การช่วยเหลือด้านเอชเอดีอาร์เป็นการร่วมกันหลายประเทศ ไม่ใช่ลักษณะทวิภาคีไทยกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นลักษณะพหุภาพมีชาติอื่นๆ เช่น ประเทศจีนเข้าร่วมด้วย อาจมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทหาร ประชาชน ในการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ”

รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ส่วนกรณีองค์การนาซาที่ขอเข้ามาสำรวจสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหตุผลสำคัญเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติ เช่นใต้ฝุ่น ลมมรสุม เพื่อให้ได้ข้อมูลละเอียดขึ้นนอกจากสำรวจผ่านดาวเทียม โดยจะมีเครืองบินสำรวจ 3 ลำ ร่วมบินกับฝ่ายไทยของสำนักงานฝนหลวง

“ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมตกลงในรายละเอียดรูปแบบการดำเนินการ ตลอดจนเครื่องบินที่จะบินสำรวจ ทั้งนี้ที่ผ่านมา นาซาก็ได้รับอนุญาติบินผ่านน่านฟ้า กัมพูชา สิงคโปร์มาแล้วโดยไม่มีข้อขัดแย้งใด”

ส่วนที่กังวลว่าประเด็นดังกล่าวเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาหรือไม่ ประเด็นนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นแล้วโดยจะมีการเสนอความเห็นให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 19 มิ.ย.ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกระทรวงการต่างประเทศได้ให้กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศพิจารณามีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 แต่อยู่ในข่ายมาตรา 190 วรรค 1 ที่ต้องส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณา

นายสุรพงษ์กล่าวด้วยว่า กรณีที่ฝ่ายค้านนำเสนอข่าวโจมตีนั้นมีผลให้คนไม่เข้าใจข้อเท็จจริง และอาจทำให้ประเทศจีนเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่ประชุมได้มอบหมายให้ตนเองได้หารือชี้แจงกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พร้อมกันนั้นปลายเดือน มิ.ย.ที่จะเดินทางไปเยือนจีน ก็จะหยิบยกเรื่องนี้ชี้แจงทำความเข้าใจด้วย

“ที่มีข่าวจากฝ่ายค้านออกมา ประชาชนไปฟัง ตั้งข้อสังเกตจะทำให้จีนโกรธ เกิดความไม่เข้าใจ แต่ทางทูตจีนอ่านภาษาไทยได้ อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า จีนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะนาซาก็เคยไปสำรวจที่ฮ่องกง ซึ่งจีนไม่ได้เดือดร้อน แต่ในส่วนของพวกเราฝ่ายค้านก็ช่วยให้เลอะไปหมด”

นายปลอดประสพกล่าวเสริมว่า อย่าเพิ่งตกใจกรณีนาซาใช้พื้นที่อู่ตะเภา เพราะโครงการความร่วมมือนาซาไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ก็ไปสำรวจในจีน เกาหลีใต้ โดยเขาจะใช้เวลา 2 เดือนก็เสร็จ อีกอย่างนาซาเป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ และไปร่วมสำรวจกับรัสเซียก็มีแล้ว ประเทศต่างๆก็ให้ความร่วมมือกับนาซา

“การสำรวจของนาซานั้น ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างกรณีน้ำท่วม เราจะได้เรียนรู้เรื่องฝน เรื่องเมฆ ซึ่งไทยไม่มีความรู้ และยังได้รับความรู้เรื่องของฝุ่นละอองเล็กในประเทศไทย จากการเผาป่า เผาไร่ ซึ่งจะเป็นผลต่อทัศนวิสัย มองไม่ชัดเจน ทำให้มีผลต่อคุณภาพอากาศไม่เป็นปกติ และเป็นส่วนเกี่ยบวกับภาวะโลกร้อน จึงเป็นการได้เรียนรู้ทางวิชาการไม่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจ ทางรัฐบาลจะได้ตั้งคณะทำงานโดยผมเป็นประธานร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง”

นายปลอดประสพให้เหตุผลทำไมต้องใช้สนามบินอู่ตะเภาว่า มี 3 ประการ ได้แก่ 1. ดาวเทียมยุทธศาสตร์อยู่ใกล้บริเวณศรีราชา จึงต้องใช้สนามบินอู่ตะเภาซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน 2. การตรวจฝุ่นละออง เมฆ ส่วนใหญ่จะสำรวจพื้นที่ที่อยู่บริเวณทะเล และ 3. การใช้เครื่องบินจำเป็นต้องใช้ทางวิ่งที่ยาวมาก จึงต้องใช้สนามบินอู่ตะเภา

ด้าน พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ข้อกังวลที่เกรงว่าจะกระทบความมั่นคงนั้น กองทัพอากาศจะมีส่วนในการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำขึ้นบินสำรวจ อีกทั้งก่อนดำเนินโครงการ ก็จะมาดูในเรื่องขั้นตอนปฏิบัติ ที่ต้องมากำหนดร่วมกัน โดยองค์การนาซาต่องทำตามมีข้อห้ามตรงไหนอย่างไร ทั้งนี้ขอยืนยันไม่มีการเอาทหารเข้ามา เป็นเรื่องของภัยพิบัติโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น