xs
xsm
sm
md
lg

จี้ล้มดีล“ยกอู่ตะเภา” หวั่นร่วมประเคนสมบัติชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(11 มิ.ย.55)นายคํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้หารือในที่ประชุมวุฒิสภา โดยเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงรายละเอียด กรณีที่จะให้องค์การนาซา (NASA) มาใช้สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นศูนย์ในการขึ้นสำรวจชั้นบรรยากาศเหนือหลายประเทศว่า เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวข้องควรเปิดเผยรายละเอียดให้กับประชาชนทราบ เพราะเรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศจีน มหาอำนาจในเอเชียที่มีความไม่ลงลอยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย เกิดความขัดแย้งกับประเทศจีนได้ เพราะเชื่อว่าจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องนำเรื่องเข้าขอความเห็นและชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา หารือประเด็นเดียวกันว่า กรณีนี้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา เวียดนาม ลาว รวมถึงประเทศจีน มีความหวาดระแวงไทยที่อาจอนุญาตสหรัฐอเมริกาเข้าใช้พื้นที่เพื่อตั้งฐานทัพ เหมือนครั้งที่เกิดขึ้นสมัยสงครามเวียดนามได้ ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบ
นอกจากนั้นแล้ว ตนทราบว่าขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยสั่งย้ายเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปต่อรองเพื่อแลกให้อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่งได้เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจง และนำเข้าสู่เวทีของการประชุมร่วมรัฐสภา หากไม่ทำ แสดงว่ารัฐบาลกำลังงุบงิบ และทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190
ด้านนางพรพันธ์ บุณยรัตพันธุ์ สว.สรรหา กล่าวด้วยว่า การที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่ประเทศไทย มีความกังวลว่าหากทำโดยไม่โปร่งใส อาจจะตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะขณะนี้ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคาบมหาสมุทรอินเดีย มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น
ในขณะนี้กำลังมีโครงการของสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยถึง 2 โครงการคือ1.โครงการสำรวจสภาวะอวกาศ 2. โครงการมนุษยธรรมและการช่วยเหลือในกรณีภัยพิบัติซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ดำเนินการโดยองค์กรที่แตกต่างกัน ซึ่งโครงการแรกเป็นของนาซ่า ส่วนโครงการที่สองเป็นของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจอยู่ว่าทั้งสองโครงการเข้ามาในประเทศไทยในเวลาที่ใกล้เคียงกันภายเดือนสิงหาคมหรือเดือนกันยายน ปีนี้ ในการดำเนินการในส่วนของนาซานั้นจะมีเครื่องบินเข้ามา 4 ลำและบุคลากรประมาณ 100 คนใช้ระยะเวลา 2เดือน แต่โครงการภัยพิบัติ ยังไม่มีรายละเอียดซึ่งในสภาวะการเมืองที่กำลังแข่งขันกันโดยเฉพาะการแข่งขันทางแสงยานุภาพทางด้านการทหารประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในการดำเนินงาน
นางพรพันธุ์ กล่าวต่อว่าขอฝากไปยังรัฐบาลว่าควรกระทำเรื่องดังกล่าวให้โปร่งใสและชัดเจนโดยเร็วโดยเฉพาะเอ็มโอยูที่ได้ตกลงกันไว้และเรื่องดังกล่าวจะเข้ามาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
อีกด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ( นาซ่า ) เข้ามาดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาวะภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย โดยขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานการวิจัย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้นเรื่องนั้น ตนในฐานะ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พบว่า นาซ่าจะเก็บข้อมูลประเทศไทยทั้งบนพื้นดินและในน้ำ พร้อมกับนำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่นาซ่าจะสำรวจมาแสดงต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่าเป็นพื้นที่ที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างใหญ่หลวง
ประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายคนติดตามการทำธุรกิจของนักการเมืองที่หนีคดีไปทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานด้วยทุนมหาศาล ตนจึงมีข้อสังเกตว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ดังนั้นตนจะยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีให้ยับยั้งเรื่องนี้เพื่อไม่ให้มีการพิจารณาใน ครม. เพราะเรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เนื่องจากการสำรวจพื้นที่ของประเทศไทยย่อมมีผลต่อความมั่นคงของไทย เพราะสหรัฐอเมริกาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการทหาร และเศรษฐกิจได้ และจะยื่นหนังสือถึงนายการุณ โหสกุล ประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐในวันนี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าจะมีผลกระทบต่อไทย 7 ข้อ
1. ผลกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามมาตรา 190 ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน 2. สหรัฐอเมริกาสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปใช้ประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ทางทหารหรือเศรษฐกิจ
3. เป็นการสร้างความหวาดระแวงแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งจีน 4. เป็นการบินผ่านพื้นที่ชายแดนและการลงจอดฉุกเฉินในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่รับอนุญาต และต้องเป็นความรับผิดชอบในหน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทย 5. เป็นการบินผ่านเขตหวงห้ามของไทย เช่น พื้นที่การฝึกฝ่ายทหาร เขตพระราชฐาน
6. อาจมีการซ่อนเร้นอุปกรณ์ที่เป็นยุทโธปกรณ์นอกเหนือจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนเครื่องบินสำรวจ โดยไม่มีการแจ้งให้ทางการไทยทราบมาก่อน และ 7. เป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านสหรัฐอเมริกาก่อการร้ายในไทยได้ ถือเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งแม้แต่เตรียมทหารรุ่น 10 ที่อยู่พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ยังติงเรื่องนี้ ตนยืนยันว่าไม่ได้หวาดระแวงหรือจินตนาการ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะพื้นที่ปฏิบัติการของนาซ่าที่จะเข้ามาดำเนินการมีผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของชาติอย่างแน่นอน
นายถาวร กล่าวว่า การขอเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐอเมริกา แตกต่างไปจากโครงการที่กระทรวงการต่างประเทศในยุครัฐบาลที่แล้วเคยเสนอให้สหประชาชาติใช้สนามบินอู่ตะเภาในเรื่องการใช้เพื่อกิจการด้านการกู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติใช้ประโยชน์ โดยไม่มีส่วนใดกระทบกับความมั่นคง เพราะมีภารกิจชัดเจนในเรื่องของมนุษยธรรม ไม่ใช่ให้สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเข้ามาสำรวจพื้นที่ในประเทศไทย และตนทราบว่าในกรณีนี้ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกองทัพอากาศ จึงขอให้ออกมาระงับเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ผบ.ทอ.ก็ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่เป็นการดำเนินการของนายสุรพงษ์โตวิจักษ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโดยการผลักดันของ นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิคใต้ เป็นผู้ขับเคลื่อน
“มีการจับตามองเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะหากอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ยอมยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้นักโทษหนีคดีเข้าประเทศได้นั้น ย่อมต้องมีผลประโยชน์มหาศาลต่ออเมริกาเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งผมเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับทรัพยากรใต้ท้องทะเลที่บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับสามมารับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน และแก๊สอยู่”
นายถาวรกล่าวว่าในเรื่องของพลังงานทางเครือข่ายป้องกันปราบปรามการทุจริตของ จ.สงขลา ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้ยกเลิกสัมปทานเนื่องจากมีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญและทุจริต โดยจะหาโจทก์ร่วมให้ได้ 1000 คนเพื่อเพิ่มน้ำหนักในคดีด้วย และตนคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อให้มีการบอกเลิกสัมปทานบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญ โดยอดีตทูตของประเทศอาเจนติน่าที่เคยบอกเลิกสัมปทานกับบริษัทน้ำมันมาแล้ว จะขึ้นเวทีเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านด้วย ซึ่งหากทำได้จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ราคาน้ำมันและแก๊สถูกลง ทั้งนี้ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ดำเนินการเรื่องนี้ เป็นเพราะรัฐบาลควบคุมราคาแก๊สธรรมชาติให้เป็นธรรมกับคนไทย ด้วยการตรึงราคาเอ็นจีวีและแอลพีจี แต่ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายลอยตัวปล่อยให้ ปตท.แสวงประโยชน์จนประชาชนเดือดร้อนจากการขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี ซึ่งจะทำให้ภายในสิ้นปีนี้คนไทยจะต้องจ่ายค่าแก๊สเพิ่ม 70 %.

**บัวแก้วลั่นไม่ต้องขอรัฐสภา
ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงกรณีโครงการ "การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ" หรือ เอชเอดีอาร์ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief) และโครงการ "การศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพอากาศ" หรือ เอสอีเอซี4อาร์เอส (Southeast Asia Composition, Cloud and Climate Coupling Regional Study) โดยองค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐ (นาซ่า) ซึ่งได้ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ว่า เป็นคนละโครงการกันโดยสิ้นเชิง สำหรับโครงการเอชเอดีอาร์ ได้รับการริเริ่มโดยรัฐบาลไทย ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอแนวคิดนี้ในการประชุมอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อ 29 ต.ค.2553 เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มการประสบภัยพิบัติเพิ่มขึ้น และประเทศไทยมักถูกขอใช้เป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือบ่อยครั้ง เพราะมีตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการหารือระหว่างทางการไทยและสหรัฐ ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้จะต้องมีการใช้สนามบินอู่ตะเภาด้วย
ส่วนการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การนาซ่านั้น เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและเก็บตัวอย่างอากาศในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นฤดูมรสุม ภายใต้โครงการเอสอีเอซี4อาร์เอส โดยนาซ่าจะต้องขออนุญาตบินผ่านน่านฟ้าของไทยทุกครั้ง โดยขอบเขตน่านฟ้าที่นาซ่าระบุไว้ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพชา และสิงคโปร์ ซึ่งทั้งสองประเทศไม่ได้คัดค้าน ทั้งนี้เมื่อปี 2544 นาซ่าเคยใช้สนามบินในฮ่องกง และญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว และไม่ได้มีการถ่ายภาพใดๆ
นาซ่าได้เสนอเรื่องขอใช้สนามบินอู่ตะเภามาให้ฝ่ายไทยพิจารณาตั้งแต่เดือนมี.ค. 54 เพราะเป็นสนามบินที่มีความเพรียบพร้อม และไทยตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงร่วมประชุมกับหน่วยงานความมั่นคงและด้านวิทยาศาสตร์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ 4 ครั้ง และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 1 ครั้ง โดยเห็นพ้องกันว่า การวิจัยดังกล่าวจะยังประโยชน์ให้กับวงการอุตุนิยมวิทยาและการพยากรณ์อากาศ ถือเป็นการลดตวามเสี่ยงต่อภัยพิบัติในภูมิภาคระยะยาว โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าวควบคู่ไปกับนาซ่า นอกจากนี้ จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบินเกษตร และสำนักฝนหลวง เพราะว่า ทั้งเครื่องบินและนักวิจัย จะมีทั้งฝ่ายสหรัฐและไทย ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวถูกเสนอเข้าที่ประชุมครม.แล้ว อยู่ในช่วงรอบรรจุวาระ
"หากได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว จะต้องมีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างกัน ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนหนังสือ ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศได้พิจารณาแล้วว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากครม. แต่ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะไม่เกี่ยวข้องต่ออธิปไตยของไทย" นายธานี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น