พันธมิตรฯ แถลง เสนอร่างหลักการปกครองประเทศ 15 ข้อ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” พร้อมต้าน พ.ร.บ.ปรองดองล้างผิด “นช.ทักษิณ” นัดรวมพล 9 โมงเช้า 30 พ.ค.นี้ ที่ลานพระบรมรูป ก่อนเคลื่อนขบวนยื่นหนังสือคัดค้านต่อประธานรัฐสภา จี้ถอนจากวาระ
วันที่ 26 พ.ค. ที่สวนลุมพินี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3/2555 เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย และกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป” โดยมีเนื้อหาระบุว่า
ตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประกาศจุดยืนตามฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนในการเดินหน้าปฏิรูประเทศไทยดังปรากฏตามแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2555 เรื่อง หยุดเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 นั้น
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ดำเนินการเดินสายให้องค์ความรู้และข้อมูลกับประชาชนเพื่อให้เกิดความตื่นรู้ในการรวมพลังในการปฏิรูประเทศไทย ตลอดจนได้ประชุมตลอดจนระดมความคิดเห็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน เพื่อนำมาสู่ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกำหนดให้ประกาศ “ร่างหลักการปกครองประเทศไทย” เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในแนวทางของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และให้นำร่างหลักการปกครองประเทศดังกล่าวไประดมความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์ และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ต่อไปดังนี้
ร่างหลักการปกครองประเทศ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”
1. หลักการปกครองประเทศต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ : องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
2. หลักการปกครองประเทศต่อความมั่นคงแห่งรัฐ : กองทัพมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพ แห่งเขตอำนาจรัฐ ความมั่นคงของรัฐ และผลประโยชน์แห่งชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย : อำนาจการปกครองเป็นของประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกวันเวลา ไม่ใช่เฉพาะวันหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้แทนประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงมีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจในการตรวจสอบ และมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลของรัฐ
4. หลักการถ่วงดุลและตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่ออำนาจอธิปไตยที่ต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้จริง โดยให้มีที่มาจากเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน และผู้แทนของประชาชนมีความหลากหลายทั้งในมิติทางพื้นที่ มิติทางวิชาชีพ และมิติทางสังคม
5. หลักการปกครองประเทศต่อระบบพรรคการเมือง: ขจัดเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ที่เข้ามาครอบงำประเทศในทุกรูปแบบ และผู้แทนประชาชนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง
6. หลักการปกครองประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บัง
หลวง : การทุจริตต้องไม่มีอายุความ ผู้เสียหายคือประชาชนที่ฟ้องร้องได้ในทุกคดี และการทุจริตให้มีบทลงโทษสถานหนักสูงสุดคือประหารชีวิต
7. หลักการปกครองประเทศเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : ประชาชนสามารถเข้าถึงและพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ปฏิรูปอัยการให้ปลอดจากอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ปฏิรูปตำรวจให้ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลและกระบวนการยุติธรรมต้องถูกตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
8. หลักการปกครองส่วนท้องถิ่น : กระจายการบริหาร กระจายระบบข้าราชการ กระจายการจัดการและรับผิดชอบประเทศ กระจายงบประมาณสู้ท้องถิ่นโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรมโดยปราศจากการสกัดกั้นหรือครอบงำจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจากรัฐบาลส่วนกลาง
9. หลักการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ : ประชาชนในประเทศอยู่ด้วยกันอย่างมีภราดรภาพ มีความเป็นพี่น้องกัน มีความเท่าเทียมกันทั้งในศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์
10. หลักการระบบเศรษฐกิจ : ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ
11. หลักการปกครองในโอกาสของระบบเศรษฐกิจ : ให้ประชาชนทุกระดับและทุกท้องถิ่นต้องมีโอกาสและที่ยืนในระบบเศรษฐกิจตามความสามารถและศักยภาพของตนเอง
12. หลักการปกครองเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรของประเทศ : ผู้ที่ได้ใช้ทรัพยากรมากทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมาก จำเป็นต้องจ่ายภาษีคืนกลับประเทศมากกว่าผู้ที่ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมน้อยกว่า
13. หลักการปกครองประเทศในทรัพยากรธรรมชาติ : ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นสมบัติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต้องมีไว้เพื่อประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างคุ้มค่าสูงสุด และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับประเทศอย่างโปร่งใส ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่คน
14. หลักการปกครองประเทศในด้านการศึกษา : ปฏิรูปการศึกษาให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานักเรียนให้ได้สูงสุดตามศักยภาพของเด็กโดยให้ควบคู่ไปกับคุณธรรม และรัฐมีหน้าที่สร้างมาตรฐานกลางและวัดผลมาตรฐานของทุกโรงเรียนในประเทศ
15. หลักการปกครองประเทศในด้านสื่อสารมวลชน : ดำเนินการขจัดความเท็จออกจากสังคม สร้างความจริงให้เกิดขึ้น สร้างพื้นที่และสนับสนุนทั้งนโยบายและงบประมาณให้กับสื่อมวลชนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศอย่างแท้จริง
ภายใต้หลักปกครองประเทศทั้ง 15 ประการข้างต้นนี้ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเห็นสมควรให้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องต่อไปดังนี้
ประการแรก ให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดให้จัดการประชุม เสวนา และประชาพิจารณ์และระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมในหลักปกครองประเทศ และให้หาทิศทางกำหนดหลักปกครองประจำจังหวัด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนของจังหวัดตนเองต่อไป
ประการที่สอง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าบัดนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตราพระราชบัญญัติปรองดองขึ้น โดยจะเริ่มมีการพิจารณาวาระดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวมีเนื้อหาในการล้างผลความผิดให้กับนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรและพวก ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรมีโทษต้องจำคุกไปแล้ว อันเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และนิติธรรม อีกทั้งยังละเมิดหลักการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศแล้วว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเคลื่อนไหวชุมนุมอีกประการหนึ่งด้วย
และเนื่องด้วยในการประชุมวาระที่ 1 ที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว และขอให้ผู้ที่เสนอวาระดังกล่าวถอนวาระดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยจะนัดหมายให้มีการตั้งขบวนในวันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลา 09.00 น. เพื่อเดินทางไปที่หน้ารัฐสภาต่อไป
จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง
ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ณ อาคารลุมพินีสถาน สวนลุมพินี
บนเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์ภาคพิเศษ