“สุเทพ” ส่งทนายยื่น ป.ป.ช.ฟัน “ธาริต-ประเวศน์” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่สั่งฟ้องผังล้มเจ้า, “ตู่” หมิ่นสถาบัน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ยันร้องส่วนตัวไม่เกี่ยวพรรค รอดูน้ำยาอัยการสูงสุดจะเล่นต่อหรือไม่ รับกังวลรัฐจุ้นข้าราชการทำกระบวนการยุติธรรมเสียหาย วอนอย่าขายวิญญาณรับใช้นักการเมือง ลั่นสมัยนั่งรองนายกฯก็ไม่เคยแทรกแซง งงทำไมอธิบดีดีเอสไอเปลี่ยนไปถึงขนาดนี้
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ (23 พ.ค.) ตนได้ให้ทนายไปยื่นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานเจ้าหน้าที่ของดีเอสไออีกจำนวนหนึ่ง กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมายฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา หลังการประชุมของดีเอสไอเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 53 มีมติให้รับการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐโดยมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เรียกว่า “คดีล้มเจ้า” จากนั้นนายธาริตได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่ามีการกระทำเชื่อมโยงเป็นกระบวนที่มีกลุ่มทุนหนุนหลังเพื่อเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์การปกครองประเทศซึ่งตนมีหลักฐานรายละเอียดที่กล่าวออกรายการ “คนวงใน” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 NBT เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 54 ซึ่งยืนยันว่าขบวนการล้มเจ้ามีจริง
นายสุเทพกล่าวต่อว่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการเป็นรัฐบาล ซึ่งบรรดาบุคคลที่อยู่ในข่ายที่ควรเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเดียวกันกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล นายธาริตกับพวกได้สรุปสำนวนการสอบสวนและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 11 เม.ย. 55 มีความเห็นไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกคนในคดีนี้เพราะคดีไม่มีมูลหรือพยานหลักฐานที่เพียงพอจะดำเนินคดีต่อไปได้ และพฤติกรรมนี้นาย
ธาริตกับพวกแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเว้นไม่ทำการสืบสวนสอบสวนไม่รวบรวมพยานหลักฐานอย่างจริงจัง ตนคิดว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลกับเปลี่ยนจุดยืนทางความคิดและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคดีในขั้นต้นตามหน้าที่ของตนโดยมิชอบ
นายสุเทพกล่าวว่า กรณีคดีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ร่วมกันจัดรำลึกงานวันที่ 10 เม.ย. 53 ได้มีการปราศรัยบนเวทีโดยใช้ถ้อยคำและข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินีซึ่งผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 ประเด็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้นายทหารพระธรรมนูญดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ต่อมานายธาริตได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ถอนการประกันตัวนายจตุพร จนศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายจตุพร ซึ่งมีการประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ต่อมาวันที่ 10 พ.ค. 55 นายธาริตได้แถลงต่อสื่อมวลชน ว่าไม่ควรสั่งฟ้องนายจตุพรกับพวกเพราะยังไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ 2 กรณีตนเห็นว่าการกระทำของนายธาริต และ พ.ต.อ.ประเวศน์ น่าจะเข้าข่ายปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่นหรือทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 165 และมาตรา 200 ประกอบมาตรา 83 ตนจึงขอกล่าวโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อชี้มูลความผิดของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตนได้รวบรวมเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความประสงค์จะสอบปากคำตนก็ยินดีและพร้อมส่งเอกสาร พยานหลักฐานเพิ่มเติมขอให้ดำเนินการมา
“แม้ว่าดีเอสไอจะสั่งไม่ฟ้อง ก็ไม่ทำให้คดีทั้งสองยุติลง เพราะดีเอสไอต้องสรุปสำนวนส่งไปถึงสำนักอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นเราจึงต้องรอดูสำนักอัยการสูงสุดจะมีความเห็นอย่างไร โดยหวังเป็นที่พึ่งของกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ผมขอตั้งตัวเองเป็นตัวแทนประชาชนในการกล่าวโทษเพื่อให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งหากมีใครทำอย่างนี้อีกผมก็จะยื่นเรื่องเอาผิดอีก และการร้องเรียนครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพกล่าวต่อว่า ขณะนี้เรากังวลใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ ซึ่งก็มีข้าราชการบางส่วนยอมตกอยู่ใต้อิทธิพล และเอาใจรัฐบาล จนมีการกระทำผิด ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา ซึ่งเราเคยพบเห็นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ จึงขอวิงวอนข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าขายวิญญาณรับใช้นักการเมืองและพรรคการเมืองในวิธีการที่ผิด
เมื่อถามว่า หากมีการตอบโต้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็แทรกแซงดีเอสไอเหมือนกัน จะชี้แจงอย่างไร นายสุเทพกล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่หากใครมีพยานหลักฐานก็ยื่นดำเนินคดีกับตนได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ตนทำงานร่วมกับนายธาริต เห็นว่านายธาริตดูดีมาโดยตลอด แต่ไม่ทราบว่าทำไมตอนนี้ถึงเปลี่ยนไปขนาดนี้
ด้าน นายสุทัศน์ เงินหมื่นกล่าวว่า การที่นายธาริตแถลงไม่ฟ้องนายจตุพร เป็นช่วงที่มีกระแสข่าวว่านายจตุพรจะได้รับตำแหน่ง รมช.มหาดไทย จึงถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ทั้งนี้พฤติกรรมการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในรัฐบาลนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากที่ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยพูดเสมอว่าต้องมีการปรับโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม ถึงขนาดระบุว่าจะมีการตั้งประธานศาลฎีกาโดยรัฐสภา เท่ากับเป็นการสร้างความเสียหายและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม