xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประเคน “อู่ตะเภา” แลกวีซ่า “แม้ว”? ปริศนาที่ต้องหาข้อเท็จจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.อ.อสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนำพล.อ.มาร์ติน อี.เดมพ์ซี่ย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แม้ “พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึงกรณีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เป็นศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและมนุษยธรรม (HADR-Humanitarian Assistance and Disaster Relief) รวมทั้งใช้เป็นที่ตั้งของโครงการศึกษาชั้นบรรยากาศของโครงการศึกษาชั้นบรรยากาศโดยองค์การการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า มิได้เกี่ยวข้องกับกิจการทางการทหารแต่ประกาศใด

แต่ก็มิอาจทำให้เชื่ออย่างสนิทใจได้ตามคำรัฐประกันของขุนทหารผุ้เป็นเพื่อนสุดที่รักปานจะกลืนกินของ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ได้

หากยังจำกันได้ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ประชาชนคนใดไม่เคยรู้มาก่อน ด้วยซ้ำไปว่า รัฐบาลหน้าเหลี่ยมได้อนุญาตให้สิงคโปร์นำเครื่องบินรบมาฝึกใน ประเทศไทยที่อุดรธานี กระทั่งมีการเปิดโปง ความจริงจึงได้ปรากฏในภายหลัง

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เพราะทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่และมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ แต่ประชาชนคนไทยกลับมารู้เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ ใกล้เตรียมจดปากกาเซ็นอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาอยู่รอมร่อ

ที่สำคัญคือ การอนุญาตให้ใช้สนามบินอู่ตะเภานั้นยังมีความเชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหาในเรื่องข้อแลกเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการออกใบอนุญาตหรือวีซ่าให้ นช.ทักษิณเข้าสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย

ปริศนาประการแรกที่ต้องขบคิดก็คือ ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงเจาะจงเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งของ 2 โครงการสำคัญ

ปริศนาประการที่ 2 ที่ต้องขบคิดก็คือ โครงการทั้ง 2 โครงการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนจริงหรือไม่

ยิ่งเมื่อ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเจรจ้าต้าอ่วยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมาด้วยแล้ว ยิ่งมิอาจหยุดความกระหายใคร่รู้ของสาธารณชนได้

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับสนามบินอู่ตะเภานั้น ถือเป็นสนามบินที่มีศักยภาพค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เช่น Boeing 747 หรือ A380 ได้ โดยในอดีตที่ผ่านมาสนามบินแห่งนี้มีภารกิจสำคัญในช่วงที่เกิดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้และประเทศลาว เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆภายในประเทศ และสิ้นสุดภารกิจดั้งกล่าวในปี พ.ศ. 2519 หลังกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทย

จากข้อมูลที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกามีความคุ้นเคยกับสนามบินอู่ตะเภาเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรกับการที่สหรัฐอเมริกาจะกลับมาใช้สนามบินอู่ตะเภาอีกครั้ง

ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากลัวต่อการอนุญาตครั้งนี้มีหลายประเด็นด้วยกัน เนื่องเพราะการอนุญาตให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินได้ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีน

จริงอยู่ แม้ทั้ง 2 เปลือกนอกโครงการจะเป็นภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร แต่ก็ไม่น่าไว้วางใจต่อการรุกคืบเข้าในในภูมิภาคเอเชียได้เช่นกัน ยิ่งสำหรับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและมนุษยธรรมด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีข้อมูลและรายละเอียดแน่ชัดว่า สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาทำอะไร จะมาช่วยบรรเทาสาธารณภัยหรือช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับใคร ที่ไหน อย่างไร เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว สหรัฐอเมริกาก็มิได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐอเมริกาต้องการกลับมาเข้าในอาเซียนหลังจากที่พม่าเปิดประเทศ

เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐอเมริกาต้องการกลับเข้ามาในอาเซียนเพราะต้องการคานอำนาจกับประเทศจีน

และเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่รัฐบาลไทยมีท่าทีอันเป็นมิตรต่อการมาเยือนของ พล.อ.มาร์ติน อี.เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐอเมริกา มีความเกี่ยวพันกับนักโทษชายหนีคดีชื่อทักษิณ ชินวัตร เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สหรัฐอเมริกามิได้ทำเรื่องมาที่กระทรวงกลาโหม หากแต่ทำเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมี “นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ข้าทาสผู้ใกล้ชิดเป็นเสนาบดี

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สนามบินอู่ตะเภาเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ ดังนั้นจึงสมควรที่จะติดต่อประสานงานผ่านกระทรวงกลาโหม มิใช่กระทรวงการต่างประเทศ แต่เหตุไฉนอันใดรัฐบาลสหรัฐถึงได้ติดต่อไปที่กระทรวงต่างประเทศ

แล้วทำไมก่อนการอนุญาต พล.อ.อ.สุกำพลถึงให้สัมภาษณ์ว่า “เราจะใช้การฝึกคอบร้าโกลด์ทดสอบกันก่อนว่าเป็นอย่างไรในเรื่องของการทำงาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจยิ่ง เพราะมองไม่ออกเลยว่า การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการฝึกยุทธวิธีทางทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยและมนุษยธรรม หรือเกี่ยวข้องกับโครงการศึกษาชั้นบรรยากาศที่ตรงไหน

ที่สำคัญคือเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ มิใช่รัฐบาลสามารถกระทำโดยพละการก็เป็นได้

สำหรับกรณีของ นช.ทักษิณนั้น แม้ พล.อ.อ.สุกำพลจะปฏิเสธอย่างเสียงดังฟังชัดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกวีซ่าเข้าสหรัฐฯ แต่สิ่งที่เพื่อนรักของ นช.ทักษิณอธิบายดูเหมือนจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะถ้าหาก นช.ทักษิณสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้จริง มีหรือที่คนอย่าง นช.ทักษิณจะไม่ไปเหยียบเพื่อให้ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลกเหมือนดังเช่นการเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ

ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลปูนิ่มมีความบริสุทธิ์ใจจริง จักต้องนำรายละเอียดของข้อสัญญามาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างละเอียด มิใช่อ้างตะพึดตะพือเพียงแต่ว่า ไม่ใช่เป็นการเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนหายข้องใจได้

ยิ่งเมื่ออ้างว่า ไม่ใช่เรื่องทางทหารด้วยแล้ว ยิ่งต้องเปิดเผยให้ทราบโดยละเอียด มิใช่อ้างมั่วซั่วอย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีบอกว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่อยากเปิดเผยรายละเอียดอะไรมากนัก

นี่คือเงื่อนงำที่สังคมจำต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และมิอาจปล่อยให้ฝ่ายการเมืองงุบงิบได้เป็นอันขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น