xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ต่างประเทศวุฒิฯ ห่วงมะกันขอใช้อู่ตะเภา ส่อแฝงยุทธศาสตร์ “แอร์ซีแบตเทิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.กมธ.ต่างประเทศ วุฒิสภา ห่วงกรณีสหรัฐฯ ขอใช้พื้นที่อู่ตะเภาให้นาซ่าศึกษาภูมิอากาศ ชี้คำแถลง รมต.กห.สหรัฐฯ ใช้ยุทธศาสตร์ “แอร์-ซีแบตเทิล” เสมือนให้จีนเป็นผู้ร้าย กังขาใครอนุมัติเครื่องบินต่างชาติบินขึ้นสนามบินไทย ชี้ประชาชนควรรับทราบแม้จะอ้างไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แนะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติจากจีน-รัสเซียเพื่อความโปร่งใส


วันนี้ (20 มิ.ย.) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา แถลงภายหลังการพิจารณารับทราบกรณีสหรัฐอเมริกาขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และกรณีขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติกรมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติอาเซียน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงกลาโหม, กองความร่วมมือด้านความมั่นคง, กรมยุทธการทหารเรือ, กรมยุทธการทหารอากาศ, กรมพระธรรมนูญ และกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ว่ากรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงในจุดยุทธศาสตร่วมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีผลกระทบ

นายพิกุลแก้วกล่าวต่อว่า กรรมาธิการฯ เห็นควรระบุเรื่องนี้ไว้ในกรอบความร่วมมืออาเซียน เพื่อทำให้โครงการนี้มีความโปร่งใส โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ทั้งนี้กรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงหลายประเด็นอาทิ คำแถลงของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีการแถลงหลายครั้ง สรุปความว่าสหรัฐฯ จะเสริมกำลังทางทะเลและอากาศในเอเชียเพิ่มขึ้นภายใต้ยุทธศาสาสตร์แอร์ซีแบตเทิล (Air-Sea Battle) ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเหมือนจะระบุให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ร้าย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างกลาง จึงเป็นสถานการณ์ที่ลำบาก จึงขอเตือนรัฐบาลให้คำนึงถึงหลายจุด เพราะเป็นยุทธศาสตร์โลกและเอเชีย โดยเฉพาะผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ การใช้เครื่องบินต่างชาติที่ไม่ใช่เครื่องบินไทยขึ้นบินจากสนามบินไทย ใครเป็นผู้อนุมัติ และการบินออกตรวจดูสภาพภูมิอากาศซึ่งจะผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เลยหรือ ประชาชนควรรับทราบเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญในหน่วยประสานงานภัยพิบัติของสหรัฐฯ มีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กรรมาธิการฯ คงต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกเพื่อขยายผลในการติดตามเรื่องนี้

“กรรมาธิการเห็นว่าไม่เสียหายที่จะรายงานรัฐสภา เพราะการที่ไทยจะเพิ่มเส้นทางการบิน ยังต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภา การที่จะมีเส้นทางการบินสำรวจภูมิอากาศที่ต้องบินผ่านน่านฟ้าของหลายประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่กรรมาธิการเห็นว่าควรนำเข้าพิจารณา แต่กระทรวงกลาโหมเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์“ นางพิกุลแก้วกล่าว และว่า เพื่อความโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจในเวทีการประชุมร่วมของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กรรมาธิการฯ ขอเสนอให้เชิญผู้ชำนาญการด้านภัยพิบัติของจีนและรัสเซียเข้ามาร่วมในศูนย์ปฏิบัติการนี้ด้วย จะทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้มีความเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น

ด้าน นพ.พรพันธุ์ บุญยรัตนพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวเสริมว่า โครงการเหล่านี้ดูในรายละเอียดเหมือนจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่อาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจว่าจะมีการเชื่อมโยงกับการทหารหรือไม่ กรรมาธิการฯจึงเห็นว่าควรเชิญประเทศเพื่อนบ้านที่เส้นทางการบินสำรวจภูมิอากาศต้องบินผ่านโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนให้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการในโครงการนี้เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อทำให้โครงการโปร่งใสและได้รับประโยชน์ร่วมกันในทุกฝ่ายจริงๆ

เมื่อถามว่ากรรมาธิการฯ มีการเรียกดูเอกสารหรือไม่ นางพิกุลแก้วกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า เริ่มติดต่อจากนาซาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 โดยตัวแทนนาซ่ามาพบกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อต้องการตรวจสอบภูมิอากาศ จึงอยากขอให้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อย่างไรก็ดีในสัญญาความร่วมมือยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดในกรอบความร่วมมือซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำกรอบ ส่วนที่เลือกสนามบินอยู่ตะเภาเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม มีความพร้อม รันเวย์ยาว มีที่เก็บอุปกรณ์อาคารที่ใช้ทำงานมีความทันสมัยและการจราจรทางอากาศไม่คับคั่ง ในส่วนรายละเอียดยังไม่มีความชัดเจน อยู่ระหว่างการยกร่างความร่วมมือ ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่ามีความละเอียดอ่อนมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น