xs
xsm
sm
md
lg

เสวนา “เบรกนาซา” เห็นตรงกัน รัฐบาลควรชี้แจงสังคม “กษิต” เชื่อมีนัยความมั่นคงแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย” ประธานจิสด้าหนุนนาซาเข้ามาเสริม วอนฝ่ายที่หยิบเป็นเรื่องการเมืองควรมองรอบด้าน แต่รัฐบาลควรพิจารณารอบคอบ ด้านอาจารย์จุฬาฯ ชี้ไทยไม่สามารถทำนโยบายต่างประเทศด้วยตนเอง ควรแสดงจุดยืน และชี้แจงสังคม-ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วน “กษิต” เผยสหรัฐฯ เคยเจรจาเมื่อปี 54 แต่ทำหนังสือสอบถามเพิ่ม ก่อนที่ต้นปี 55 ปรากฎเรื่อง เชื่อมีนัยความมั่นคงแน่

วันนี้ (1 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “เบรกนาซา ไทยได้หรือเสีย” โดยมีวิทยากรคนสำคัญจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วม ได้แก่ ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ

โดย ดร.สมเจตน์ ระบุว่า การสำรวจชั้นบรรยากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา นั้นมีประโยชน์ เนื่องจากจะนำไปสู่การพยากรณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์อุทกภัยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนั้น ทางจิสด้าได้ใช้โปรแกรมของประเทศแคนาดามาใช้ในการสำรวจชั้นบรรยากาศ แต่หากมีโครงการของนาซาเข้ามาเสริม ก็น่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะจะได้นำข้อมูลมาปรับใช้กับโปรแกรมของแคนาดา ทั้งนี้ การที่หลายฝ่ายมองว่า การขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาของนาซา น่าจะเป็นเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ก็อยากให้มองรอบด้าน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องไม่ทิ้งเรื่องของความมั่นคง ที่หากทางการไทยพบปัญหาในด้านความมั่นคง ก็คงต้องถอดรหัส และแก้ไขว่าหากนาซาเข้ามาแล้วจะดำเนินการอย่างไร จะขึ้นบินเมื่อไหร่ หรือจะใช้อุปกรณ์ใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ารัฐบาลยังเห็นคุณค่าของโครงการนี้และไม่น่าจะละทิ้งง่ายๆ อีกทั้งยังเห็นด้วยที่โครงการดังกล่าวจะต้องเดินหน้าต่อไป แต่วิธีการจะทำอย่างไรนั้น รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ด้าน รศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า กรณีนี้เป็นการนำทั้งสามเรื่องมาเชื่อมโยงกัน คือ การเมืองรอบบ้าน การเมืองในไทย และการศึกษาทางอากาศ ซึ่งตนไม่คิดว่าการใช้ดาวเทียมเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศนั้น จะเป็นการจารกรรมข้อมูลความมั่นคงของไทย และอยากให้ทุกฝ่ายแยกเรื่องของโอกาสทางวิทยาศาสตร์ และการจารกรรมออกจากกัน พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สุรชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นาซาเลือกสนามบินอู่ตะเภาซึ่งเป็นฐานทัพทางทหารมาใช้ในทางวิทยาศาสตร์นั้น รัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงต่อสังคมอย่างชัดเจน ว่าทางนาซามีวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งการที่รัฐบาลยอมถอยเรื่องนี้ด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภานั้น น่าจะมีนัยใหญ่ และเท่ากับว่าไทยได้ส่งสัญญาณว่า ไม่สามารถทำนโยบายด้านต่างประเทศได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการยุติโครงการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติของสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และเสียโอกาสของกองทัพไทย ที่จะมีโอกาสได้ตั้งศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่ของตัวเอง และอาจพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ภัยพิบัติอาเซียนในอนาคตได้ ทั้งนี้ ดร.สุรชาติเห็นว่า ทางออกสำหรับเรื่องนี้รัฐบาลต้องกล้าแสดงจุดยืนในผลประโยชน์ของชาติ และควรชี้แจงใน 3 ระดับ คือ ชี้แจงต่อสังคมไทย ชี้แจงต่อรัฐบาลในอาเซียน และทำความเข้าใจในประชาคมอาเซียน รวมถึงการชี้แจงกับทางการจีน ว่าการที่นาซาเข้ามาขอใช้พื้นที่สนามบินในไทยนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกับการที่นาซาเคยใช้พื้นที่ของฮ่องกง และสิงคโปร์ อีกทั้งควรเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อสานสัมพันธ์อันดีของทั้งสหรัฐฯ และจีนให้เป็นไปอย่างสมดุล และไม่มีสิทธิ์เลือกข้าง

ขณะที่นายกษิต ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2554 ได้มีหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย ว่าทางสหรัฐฯ และนาซาจะส่งผู้แทนมาเจรจากับทางการไทยเพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภา แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังนาซ่าเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2554 เพื่อขอทราบรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ และขอรับทราบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีนัยด้านความมั่นคง ซึ่งหลังจากที่ผู้แทนของนาซาและไทยได้พบปะกันเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้ปรากฎเรื่องของการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาออกมาอย่างชัดเจน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการพูดถึง จึงทำให้ตนมั่นใจได้ว่า ต้องมีนัยด้านความมั่นคงอย่างแน่นอน เนื่องจากมีบริบทเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมั่นใจว่าเป็นแค่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ และเห็นว่ามีประโยชน์กับประเทศจริงๆ ก็ควรชี้แจงกับสังคมให้รับทราบอย่างชัดเจน โดยการขอเลื่อนระยะเวลาจากกำหนดการของสหรัฐฯ ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการเมืองภายในประเทศ และชี้แจงให้รัฐสภาไทยรับทราบ ซึ่งตนเชื่อว่า สหรัฐฯ น่าจะเข้าใจและไม่อยากให้ไทยมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น