xs
xsm
sm
md
lg

เสวนา“เบรกนาซา”เห็นตรงกัน รบ.แจงสังคมให้เคลียร์ เชื่อมีนัยยะความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ - สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนา "เบรกนาซ่า ไทยได้หรือเสีย" ประธาน จิสด้า หนุนนาซาเข้ามาสำรวจ วอนฝ่ายค้านควรมองรอบด้าน ขณะที่รัฐบาลก็ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ด้านอาจารย์จุฬาฯ ชี้ไทยไม่สามารถทำนโยบายต่างประเทศด้วยตนเอง ควรแสดงจุดยืน และชี้แจงสังคม-ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่"กษิต" เผยสหรัฐฯ เคยเจรจาเมื่อปี 54 แต่ทำหนังสือสอบถามเพิ่ม ก่อนที่ต้นปี 55 จะปรากฏเรื่องการขอเข้ามาใช้อู่ตะเภา เชื่อมีนัยยะด้านความมั่นคงแน่

วานนี้ (1 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ..."เบรกนาซ่า ไทยได้หรือเสีย" โดยมีวิทยากรคนสำคัญ จากหลากหลายองค์กรเข้าร่วม ได้แก่ ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ( อดีตรมว.ต่างประเทศ)

ดร.สมเจตน์ ระบุว่า การสำรวจชั้นบรรยากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา นั้นมีประโยชน์ เนื่องจากจะนำไปสู่การพยากรณ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์อุทกภัยในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ทางจิสด้า ได้ใช้โปรแกรมของประเทศแคนาดา มาใช้ในการสำรวจชั้นบรรยากาศ แต่หากมีโครงการของนาซาเข้ามาเสริม ก็น่าจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะจะได้นำข้อมูลมาปรับใช้กับโปรแกรมของแคนาดา

ทั้งนี้ การที่หลายฝ่ายมองว่า การขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ของนาซา น่าจะเป็นเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ก็อยากให้มองรอบด้าน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของวิทยาศาสตร์แต่ก็ต้องไม่ทิ้งเรื่องของความมั่นคง ที่หากทางการไทยพบปัญหาในด้านความมั่นคง ก็คงต้องถอดรหัส และแก้ไขว่าหากนาซาเข้ามาแล้ว จะดำเนินการอย่างไร จะขึ้นบินเมื่อไร หรือจะใช้อุปกรณ์ใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่ารัฐบาลยังเห็นคุณค่าของโครงการนี้ และไม่น่าจะละทิ้งง่ายๆ อีกทั้งเห็นด้วยที่โครงการดังกล่าวจะต้องเดินหน้าต่อไป แต่วิธีการจะทำอย่างไรนั้น รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ด้าน รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กรณีนี้เป็นการนำทั้ง 3 เรื่องมาเชื่อมโยงกัน คือ การเมืองรอบบ้าน - การเมืองในไทยและ การศึกษาทางอากาศ ซึ่งตนไม่คิดว่าการใช้ดาวเทียมเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศนั้น จะเป็นการจารกรรมข้อมูลความมั่นคงของไทย และอยากให้ทุกฝ่ายแยกเรื่องของโอกาสทางวิทยาศาสตร์ และการจารกรรมออกจากกัน

ทั้งนี้ ดร.สุรชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นาซาเลือกสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นฐานทัพทางทหารมาใช้ในทางวิทยาศาสตร์นั้น รัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงต่อสังคมอย่างชัดเจนว่าทางนาซามีวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งการที่รัฐบาลยอมถอยเรื่องนี้ ด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภานั้น น่าจะมีนัยยะใหญ่ และเท่ากับว่าไทยได้ส่งสัญญาณว่า ไม่สามารถทำนโยบายด้านต่างประเทศได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับ การยุติโครงการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติของสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และเสียโอกาสของกองทัพไทย ที่จะมีโอกาสได้ตั้งศูนย์ดังกล่าวในพื้นที่ของตัวเอง และอาจพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ภัยพิบัติอาเซียนในอนาคตได้

ดร.สุรชาติ เห็นว่า ทางออกสำหรับเรื่องนี้ รัฐบาลต้องกล้าแสดงจุดยืนในผลประโยชน์ของชาติ และควรชี้แจงใน 3 ระดับ คือ ชี้แจงต่อสังคมไทย ชี้แจงต่อรัฐบาลในอาเซียน และทำความเข้าใจในประชาคมอาเซียน รวมถึง การชี้แจงกับทางการจีน ว่าการที่นาซาเข้ามาขอใช้พื้นที่สนามบินในไทยนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างกับการที่นาซา เคยใช้พื้นที่ของฮ่องกง และสิงคโปร์ อีกทั้ง ควรเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อสานสัมพันธ์อันดีของทั้งสหรัฐฯ และจีน ให้เป็นไปอย่างสมดุล และไม่มีสิทธิ์เลือกข้าง

ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (อดีตรมว.ต่างประเทศ) ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.54 ได้มีหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย ว่า ทางสหรัฐฯ และนาซาจะส่งผู้แทนมาเจรจากับทางการไทย เพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภา แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังนาซา เมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 เพื่อขอทราบรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ และขอรับทราบเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีนัยยะด้านความมั่นคง ซึ่งหลังจากที่ผู้แทนของนาซาและไทย ได้พบปะกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ( 2555) ก็ได้ปรากฏเรื่องของการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ออกมาอย่าชัดเจน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีการพูดถึง จึงทำให้ตนมั่นใจได้ว่า ต้องมีนัยยะด้านความมั่นคงอย่างแน่นอน เนื่องจากมีบริบทเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เข้ามาเกี่ยวข้อง

นายกษิต ย้ำว่า หากรัฐบาลมั่นใจว่าเป็นแค่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ และเห็นว่ามีประโยชน์กับประเทศจริงๆ ก็ควรชี้แจงกับสังคมให้รับทราบอย่างชัดเจน โดยการขอเลื่อนระยะเวลาจากกำหนดการของสหรัฐฯ ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการเมืองภายในประเทศ และชี้แจงให้รัฐสภาไทยรับทราบ ซึ่งตนเชื่อว่า สหรัฐฯ น่าจะเข้าใจ และไม่อยากให้ไทยมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน

** "เด็จพี่"ยังอัดฝ่ายค้านปั้นข้อมูลเท็จ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำข้อมูลของกองทัพ ที่ออกมาเตือนรัฐบาลว่า การที่นาซา ขอใช้อู่ตะเภานั้น อาจกระทบความมั่นคงว่า เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพราะผู้นำกองทัพ และโฆษกกองทัพบก ก็ออกมายืนยันแล้วว่า นาซามาศึกษาภูมิอากาศเท่านั้น และไม่กระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม่พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่เชื่อมั่นในกองทัพ และผบ.ทบ. ที่ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดสภาเดือนสิงหาคม ก็คงจะได้เห็นว่า โครงการเริ่มมาจากสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นรัฐบาล ซึ่งจะได้รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ค้านเพราะอะไร หรือเพียงเพื่อต้องการให้ประชาชนเกิดความสับสน และทำให้โครงการเดินต่อไม่ได้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น