xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โต้ “ปลอด-โอ๋-ปึ้ง” บิดเบือน แฉประโยชน์ทับซ้อน เครือข่าย “แม้ว” เอี่ยวเชฟรอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต (แฟ้มภาพ)
โฆษก ปชป.โต้ “ปลอด-บิ๊กโอ๋-ปึ้ง” บิดเบือนข้อมูล ระบุข้อตกลง จิสด้าของไทย กับ นาซา ของสหรัฐฯ ยุค “มาร์ค” เป็นความร่วมมือด้านวิทยศาสตร์ และป้องกันดินถล่ม ไม่มีเครื่องบินเข้ามาสำรวจ เป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่รัฐต่อรัฐ แต่มาถึงรัฐบาลนี้ “สุรพงษ์” กลับไปเพิ่มเติมให้สหรัฐฯ ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อรัฐ เข้าข่าย ม.190 เชื่อเจ้ากระทรวงบัวแก้ว ลงนามกับมะกันเรียบร้อยแล้ว ย้ำเล่นงานทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องแน่ แฉมีผลประโยชน์ทับซ้อนชัด พบข้อมูล เชฟรอน ซึ่งมีเอี่ยวกับการสำรวจครั้งนี้ เชื่อมโยงคนในเครือข่าย “นช.แม้ว”


วันที่ 22 มิ.ย.นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการบิดเบือนการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐฯ เริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วว่า รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ของไทยกับหน่วยงายขององค์การนาซา ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ผู้เริ่มต้น และไม่ได้คัดค้านหากโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ ออกมาระบุ แต่แปลกใจว่าหากเป็นประโยชน์จริงเหตุใดจึงไม่มีการเปิดเผยข้อบันทึกของแถลงการณ์ร่วมระหวางไทย-สหรัฐฯ ที่เข้ามาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาให้คนไทยได้รับทราบ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนอยากถามอีกว่า ช่วงระยะเวลาที่นายสุรพงษ์อ้างว่ารัฐบาลที่แล้วมีการทำข้อตกลงลงนามในวันที่ 28 ก.ย.53 ยืนยันว่าเป็นการลงนามระหว่างหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่เข้าข่ายที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 190 (2) ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการลงนามร่วมมือในด้านทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ และป้องกันการถล่มของดิน โดยไม่มีส่วนใดในบันทึกข้อตกลงระบุถึงการให้เครื่องบินเข้ามาบินสำรวจ หรือใช้สนามบินอู่ตะเภา การลงนามในระดับ ผอ.ไม่สามารถอนุญาตให้ตัวแทนของรัฐเข้ามาใช้สนามบินได้ แต่กลับเป็นรัฐบาลนี้เองที่ยอมรับว่า มีการติดต่อจากสถานทูตสหรัฐฯ โดยเมื่อเดือน มิ.ย.54 และได้ร่วมประชุมกับทางสหรัฐฯ ถึง 5 ครั้ง โดยได้ยกเรื่องการทำสัญญาระหว่างจิสด้ากับนาซาขึ้นมาบังหน้า และการให้ใช้สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีผลกระทบต่อรัฐ ยืนยันว่าจำเป็นที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่การลงนามในระดับรัฐมนตรี ตัวแทนของรัฐ โดยนำเข้า ครม.และนายกฯ ได้รับทราบต่างหากที่สามารถอนุญาตให้เข้ามาใช้สนามบินได้ จึงไม่เข้าใจว่าระดับสติปัญญาของรัฐมนตรีหลักทั้ง 3 กระทรวงเหตุใดจึงไม่อธิบายชี้แจงต่อสาธารณชน

“กระทรวงการต่างประเทศต่างหากที่ไปเพิ่มเติมให้ทางสหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาได้ ดังนั้น อย่าอ้างโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะเป็นการผูกพันในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หากเทียบการลงนามของ ผอ.จิสดากับตัวแทนขององค์การนาซา ไม่มีสิทธิ์ และไม่สามารถให้ประเทศใดมาใช้อู่ตะเภาเป็นสนามบินได้ ผมมั่นใจว่า รัฐมนตรีต่างประเทศที่บินไปสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมเรียบร้อยแล้ว เพราะตัวแทนองตค์การนาซาได้มีการเปิดปฏิทินการทำงานต่อสาธาณชนแล้ว หากไม่มีการตกลงร่วมกันเขาคงไม่ทำเช่นนี้”

นายชวนนนท์ กล่าวว่า กรณีนี้เทียบเคียงแล้วก็จะเหมือนกรณีที่นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศที่ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเรื่องนี้ หากมีการดำเนินการจริง พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และประเทศชาตติคือ จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว จากนั้นจะดูในรายละเอียดเพื่อดำเนินการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ามีบุคคใดที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร รวมถึง ครม. รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ข้าราชการ หน่วยงานของรัฐด้วย เพราะขณะนี้รัฐบาล และสื่อบางส่วนได้มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่ามีแต่ประโยชน์ แต่กลับไม่มองถึงผลกระทบเสถียรภาพความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสมดุลของภูมิภาค”

นายชวนนท์ กล่าวว่า จึงเป็นคำถามในสังคมว่า ที่รัฐบาลทำไปเป็นการแลกเปลี่ยนกับวีซ่าเพื่อขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเดินทางเข้มสหรัฐฯ ได้ใช่หรือไม่ ซึ่งหากไม่เกี่ยวข้องขอให้รัฐบาล และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อเท็จจริงแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งหากไม่เปิดแผย พรรคฝ่ายค้านและสังคมก็มีสิทธิตั้งข้อสังเกตในความสงสัยในเรื่องนี้ หรือว่าจะมีข้อแลกเปลี่ยนที่มากไปกว่านั้น ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยืนยันว่า ข้อตกลงของสมัยพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการพูดถึงการใช้สนามบินอู่ตะเภาแต่อย่างใด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศยุครัฐบาลนี้ทั้งหมด ดังนั้น อยากถามว่าในเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เหตุใดไม่ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพ แต่ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เจรจาตลอด 5 ครั้งกับทางสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ที่มีการเรียก 18 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือ งุบงิบกันในกระทรวงการต่างประเทศ นี่ต่างหากเป็นการบิดเบือนอ้างเหตุผลมาต่อยอดจากโครงการของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งไม่มีการพูดถึงการใช้สนามบินแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างแถลงข่าว ที่น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมบริเวณทั่วประเทศไทยตลอดจนถึงอ่าวไทย และบางส่วนของประเทศเพื่อนบ้านว่า เป็นพื้นที่ที่องค์การนาซาเปิดเผยว่า จะทำการบินสำรวจมาแสดงต่อสื่อมวลชน พร้อมตั้งข้อสังเกตไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ว่า 1.นายกฯ ทราบและเห็นพื้นที่ที่ทางองค์การนาซาของสหรัฐฯ จะบินสำรวจในประเทศไทยแล้วหรือไม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งเป็นส่วนแผ่นดิน และท้องทะเลอ่าวไทย อันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยาการธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังงานน้ำมัน

2.ทราบหรือไม่ว่า มีบริษัทขุดเจาะน้ำมันยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐฯ อย่างเชฟรอนเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีการสำรวจครั้งนี้ด้วย 3.ก่อนหน้านี้พ.ต.ท.ทักษิณได้เคยพบปะกับ พล.อ.Martin E.Dempsey ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ที่ประเทศสิงคโปร์ และ 4.นายกฯ รู้เห็น หรือทราบหรือไม่ว่า คนใกล้ชิดและเครือข่ายเพื่อนฝูงของพี่ชายตัวเองเพิ่งโอนหุ้น-เปลี่ยนกรรมการหลังจากได้ตั้งบริษัทด้านพลังงานเกี่ยวโยงกลุ่มเชฟรอน ทั้งนายไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง และอดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า นายทนงเคยเป็นกรรมการ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด และรมว.คลัง สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนนายวิกรม คุ้มไพโรจน์ เคยเป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นแคนดิเดต รมว.การต่างประเทศในช่วงที่จัดตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเคยมีรายงานข่าวตอน พ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี นายวิกรม และนายไพโรจน์ก็เป็นบอร์ดสโมสรด้วยกัน

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขออ้างอิงข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2554 นายยุทธพงศ์ อินทรพาณิชย์ น.ส.สุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ และ นายจักรา สะอาดเทียม กรรมการบริษัทในกลุ่มบ้านฉาง กรุ๊ป ของนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ (นักธุรกิจที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท เอ็มไพร์ เอเซีย เอนเนอร์ยี่ กรุ๊ป จำกัด ประกอบกิจการค้าเกี่ยวกับด้านพลังงานทุกชนิด ด้วยทุน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 43/112 ซอยทองหล่อ 2 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (ต่อมา แจ้งย้ายเป็นเลขที่ 496-502 ชั้น 18 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร) ในช่วงแรก นายยุทธพงศ์ อินทรพาณิชย์ ถือหุ้น 99.98% และเป็นกรรมการร่วมกับนายจักรา สอาดเทียม

จากนั้น วันที่ 6 ก.ย.2554 (หลังพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล) บริษัทฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 ส.ค.2554 ถึงสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า เขต 3 เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2554 โดยบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 99,997 หุ้น ขณะที่ นายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ นายจักรา สะอาดเทียม นางสุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ ถือหุ้นไว้คนละ 1 หุ้น ต่อมา วันที่ 8 ก.ย.2554 บริษัทฯ ได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทใหม่ โดยนายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ และนายจักรา สะอาดเทียม ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และมีกรรมการเข้าใหม่ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายพละ สุขเวช นายทนง พิทยะ นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ นายสุวิทย์ ปิตรชาต

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ ระบุว่า บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2549 (เดิมชื่อบริษัท เอ็มไพร์โฮลดิ้ง จำกัด) ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ที่ตั้ง 496-502 ชั้น 18 ห้อง 2.1 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีนายวิเชียร เจนสวัสดิชัย นายภูเบศร์พิชญ์ เปี่ยมพงษ์สานต์ น.ส.สุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ นายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 4 รายคือ นายนที แสงคำ ถือหุ้นใหญ่ 9,499,994 หุ้น จากจำนวน 10,000,000 หุ้นๆ ละ 10 บาท นายทวีศักดิ์ ศรีสัมฤทธิ์ 500,000 หุ้น นายยุทธพงษ์ อินทรพาณิชย์ 3 หุ้น และน.ส.สุวรรณทิพย์ ชัยสำเร็จ 3 หุ้น ก่อนหน้านี้นายจักรกริช บุญประกาศิต ถือหุ้นใหญ่ ส่วนนายพละ สุขเวช เป็นกรรมการ บริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ จำกัด และ บมจ.บางกอกโพลีเอททีลีน ซึ่งมีกลุ่ม ปตท.ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำหน่ายเคมีภัณฑ์ นางกาญจนา สุวรรณนภาศรี ถือหุ้นใหญ่ และยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ซียูอีแอล จำกัด

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ซียูอีแอล จำกัด จดทะเบียนวันที่ 20 มิ.ย.2543 ทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ปัจจุบัน 60 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ การออกแบบ ติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล ที่ตั้งเลขที่ 18 อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า ทาวเวอร์ 2 เวสท์ ชั้น 9 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 27 เม.ย.2555 บริษัท เชฟรอน อี แอนด์ ซี โฮลดิ้ง จำกัด สัญชาติเบอร์มิวด้า ถือหุ้น 33.33% บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด 41.6% และ บริษัท ยูไนเต็ด ไทย ชิปปิ้ง จำกัด 25% นายอาทิตย์ ประทุมสุวรรณ นายคิม เคียง ซู นายพละ สุขเวช นายเดวิด ชาร์ป เบรดี้ นายเอ็ดเวิร์ด จอห์น เมเซอร์ นายยูลิน ที ยาง นายชาญวุฒิ นิติกิจไพบูลย์ นายทิโมธี แมคคาร์ธี นายปิแอร์ ริชาร์ด เบร็บเบอร์ นายชุย ยวน อัง เป็นกรรมการ

“ปัจจุบัน กลุ่มเชฟรอนมีบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย 8 บริษัท ในจำนวนนี้ ร่วมทุนกลุ่ม ปตท. 1 บริษัท คือ บริษัท บี 8/32 พาร์ทเนอร์ จำกัด (พีทีทีอีพี ออฟชอร์ อินเวสเมนต์ คัมปะนีลิมิเต็ด สัญชาติ ไอซ์แลนด์) และ โรงไฟฟ้าราชบุรี (กฟผ.) 1 บริษัท คือ บริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด ผลประกอบ ปี 2553 กลุ่มเชฟรอนมีรายได้ 54,736.3 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,229.7 ล้านบาท”
กำลังโหลดความคิดเห็น