“กษิต” กังขา “บัวแก้ว” มุบมิบข้อมูลนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จี้รัฐเปิดหนังสือสถานทูตมะกันฉบับที่ 2 และบันทึกข้อตกลงร่วมกระทบความมั่นคงหรือไม่ ยกความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ชัดขัด รธน.190 (2) เตือนซ้ำรอยแผลเก่าเอฟทีเอจีน แถลงการณ์ร่วมไทย-เขมร ด้าน “ชวนนท์” ชี้ 5 ข้อแตกต่างรัฐบาล “อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” มีประโยชน์ทับซ้อนยัดไส้ “เชฟรอน” ร่วมสำรวจนาซา ตั้งข้อสงสัย “ปึ้ง” แอบลงนามไปแล้วช่วงเยือนสหรัฐฯ ขู่ ครม.มีมติ ยื่นฟ้องศาลปกครอง-เอาผิด ครม.ทั้งคณะ อัดรัฐเจตนาละเมิดกฎหมายเพื่อพวกพ้อง ใช้อันธพาลคุกคามองค์กรอิสระ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายกษิต ภิรมย์ ให้สัมภาษณ์"
นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยหนังสือที่สหรัฐอเมริกาทำถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะหนังสือแลกเปลี่ยนฉบับที่สองที่เสนอจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการใช้สนามบินอู่ตะเภาให้องค์การนาซาสำรวจชั้นบรรยากาศ ซึ่งนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือตอบไปมากับทางสหรัฐฯ ว่าเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่กระทบความมั่นคงหรือไม่ อย่ามุบมิบทำในเรื่องนี้ และควรนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) เพราะไม่มีเหตุผลมาที่รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากจะกลัว จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการอนุมัติในเรื่องดังกล่าวออกไป และเสนอให้รัฐสภาร่วมกันพิจารณาก่อนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการซ้ำรอยแผลเก่าที่เคยเกิดขึ้น คือ กรณีการทำเอฟทีเอกับจีน ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
นอกจากนี้ยังมีคำท้วงติงจากนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เห็นว่าเรื่องนี้เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) รัฐบาลจึงไม่ควรอ้างแต่ความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ กับกฤษฎีกาเท่านั้น แต่ควรให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากดึงดันเดินหน้าจนเกิดปัญหาด้านกฎหมายตามมาก็จะเกิดความปั่นป่วนต่อสังคมไทย
“ทำไมต้องสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมด้วยการไม่ยอมมาเปิดเผยกับสภาแค่อ้างความเห็นของกรมสนธิสัญญากับมือกฏหมายระหว่างประเทศไม่พอ แลวจะมีสภาไปทำไม เพราะสภาถือว่ามีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศอยู่แล้ว และยิ่งผู้ตรวจการแผ่นดินถึงขนาดพูดเป็นการขายชาติ ยิ่งเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีต้องนำมาเสนอต่อสภาก่อน ตอนนี้ยังตัดสินไม่ได้ว่าเข้าข่ายแค่มาตรา 190 (1) หรือเลยเถิดไป (2)”
ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความแตกต่างเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5 ข้อ คือ 1. รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นเรื่องภัยพิบัติ มนุษยธรรม ดำเนินการในลักษณะพหุภาคี ไม่ใช่ทวิภาคี เช่นในกรณีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาในการใช้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภา
2. รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเวทีโลกโดยมีไทยเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้องค์การนาซาใช้ประโยชน์มีแต่สหรัฐฯที่ได้ประโยชน์เพียงประเทศเดียว 3. สาระของการดำเนินการเป็นเรื่องมนุษยธรรมชัดเจนมีการเจรจาเปิดเผยแต่โครงการของรัฐบาลชุดนี้ให้ประโยชน์สหรัฐฯ ในด้านเทคนิค ข้อมูลโดยที่ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังปกปิดข้อมูลต่อสาธารณะด้วย
4. รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความเคลือบแคลงว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรณีที่มีบริษัทเชฟรอนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากการถ่ายภาพทางอากาศจะทำให้เห็นน้ำมันในอ่าวไทย ซึ่งบริษัทเชฟรอนได้สัมปทานจากกัมพูชาในการสำรวจในอ่าวไทย แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่มีเรื่องบริษัทน้ำมันเกี่ยวข้อง 5. รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่มีข้อสงสัยจากหน่วยงานราชการมีการประชุมอย่างเปิดเผยในเวทีนานาชาติ แต่โครงการรัฐบาลมีข้อสงสัยจาก สมช.ถึง 6 ข้อ และไม่สามารถเปิดเผยบันทึกข้อตกลงได้ว่ามีรายละเอียดอย่างไร
นายชวนนท์ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า การที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11-17 มิ.ย. 55 ได้มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้วใช่หรือไม่ จึงเร่งรีบนำมาเข้าสู่ความเห็นชอบของ ครม. พร้อมกับตั้งคำถามว่ามีการแลกเปลี่ยนกับวีซ่าเข้าประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากมีการอนุมัติจาก ครม.โดยไม่เสนอรัฐสภา จะดำเนินการตามกฎหมายกับบุคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ครม. โดยอาจใช้ช่องทางแรกคือศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นาซาเข้ามาใช้ได้ เนื่องจากดำเนินการเพียงสองเดือนคือเดือนสิงหาคมและกรกฎาคมนี้ จึงต้องรีบระงับทันทีเพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสียหายจนยากแก่การเยียวยา โดยพรรคจะเอาผิดกับคนที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับนายนพดล ปัทมะ กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาด้วย
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมาย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และล่าสุดคือข้อตกลงไทย-สหรัฐฯ ตนไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทราบว่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินการตามกฎหมาย แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะทำเพื่อปกปิดประชาชน มีวาระซ่อนเร้นผลประโยชน์พรรคพวกโดยตลอด เมื่อมีปัญหาก็ใช้มวลชน อันธพาลที่เลี้ยงไว้ไปกดดันองค์กรอิสระ รัฐบาลมี น.ส.ยิ่งลักษณ์สร้างภาพสวยหรู ทำผิดกฎหมายใช้ฮาร์ดคอร์ด่าองค์กรอิสระ รัฐบาลตีสองหน้า สองมาตรฐาน ห่วงสังคมถ้ามีรัฐบาลมุ่งทำผิดกฎหมายใช้อันธพาลข้างถนนข่มขู่กฎหมาย ข่มขู่บ้านเมือง ความขัดแย้งจะไม่มีวันสิ้นสุด อยากให้รัฐบาลถอนเรื่องนี้เสนอรัฐสภาจะได้ไม่ถูกดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีความขัดแย้งในบ้านเมือง