xs
xsm
sm
md
lg

ชักศึกเข้าบ้าน !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกาเจรจากับฝ่ายไทยได้สำเร็จอีกครั้งในการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติและมนุษยธรรมตลอดจนให้องค์การการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA)

แม้ชื่อจะอ้างว่าเป็นศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติและมนุษยธรรม และไม่ใช่เป็นการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา แต่ความเป็นจริงแล้วหน่วยงานลักษณะเช่นนี้ก็เป็นหน่วยงานทางทหารของสหรัฐอเมริกาอยู่ดี และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานเหล่านี้ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบได้จริงในทางปฏิบัติ

พลเอกมาร์ติน เดมซีย์ ผู้แทนการเจรจาของฝ่ายสหรัฐอเมริกา แจ้งว่ายังไม่ได้ใช้เป็นฐานทัพทางการทหาร และอ้างว่าหากจะดำเนินการมากไปกว่าที่ขอเช่นนี้ก็จะต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลไทยก่อน

แต่ประวัติศาสตร์สอนให้เราได้รู้ว่า เมื่อสหรัฐอเมริกาได้คืบแล้วก็จะเอาศอก ลุแก่อำนาจในการใช้สนามบินแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 37 ปีที่แล้ว


นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเคยได้ให้สหรัฐอเมริกาได้ใช้สนามบินอู่ตะเภาในปี พ.ศ. 2509 และสนามบินแห่งนี้ได้ทำให้ประเทศไทยได้กลายเป็นแนวร่วมสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยการใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานทัพเครื่องบิน บี 12 ของสหรัฐอเมริกา บินขึ้นทิ้งระเบิดปูพรมถล่มเวียดนาม กัมพูชา และลาว เสียหายอย่างมหาศาล ผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก

ต่อมาสหรัฐอเมริกาก็ลุแก่อำนาจ สหรัฐอเมริกาต้องการช่วยเหลือเรือสินค้ามายาเกวซ ที่ถูกเขมรแดงจับ โดยอ้างว่าการกระทำของเขมรแดงไม่ถูกต้อง เพราะเรือมายาเกวซถูกจับในน่านน้ำสากล ห่างจากฝั่งกัมพูชากว่า 60 ไมล์ทะเล และสิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้ทำลงไปก็คือทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของอธิปไตยเหนือน่านน้ำในอ่าวไทย โดยดำเนินการจมเรือปืนกัมพูชาไป 3 ลำ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากฝ่ายไทย

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้นำนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากเดินขบวนไปประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารตามอำเภอใจ
การกดดันของนิสิตนักศึกษาและประชาชนครั้งนั้น ได้ส่งผลทำให้รัฐบาลไทยต้องขอให้สหรัฐอเมริกาทำหนังสือขอโทษประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีการแจ้งให้ฝ่ายไทยได้รับรู้

พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้เรียกตัวนายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับประเทศไทยอันเป็นการประท้วงในระหว่างที่รอให้สหรัฐอเมริกาขอโทษประเทศไทย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ร่วมบรรยายในงานสัมมนา “ปราชญ์สยาม นามคึกฤทธิ์” โดยได้กล่าวความตอนหนึ่งถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า:

“มีเหตุการณ์หนึ่ง ตอนนั้นผมเป็นทูตอยู่ที่วอชิงตัน สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นมีการสู้กันของเขมรหลายฝ่าย ไทยและอเมริกาสนับสนุนเขมรฝ่ายหนึ่งตอนนั้นมีกรณีที่เรือรบขนาดใหญ่ของอเมริกาใช้น่านน้ำไทยผ่านไปสู่น่านน้ำเขมรและแผ่นดินเขมรเมื่อมีการใช้ไทยเป็นฐาน รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ประกาศนโยบายว่าต่อไปถ้าอเมริกาใช้น่านน้ำไทยหรือแผ่นดินไทยผ่านจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อนรวมทั้งได้เรียกทูตกลับประเทศ เพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจ”

ในที่สุดสหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งสาสน์แสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการ แต่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในยุคนั้นก็ยังชุมนุมต่อเพื่อให้สหรัฐอเมริกาย้ายฐานทัพออกจากประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงได้ขีดเส้นตายให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารให้หมดจากประเทศไทย และเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 เครื่องบินลำสุดท้ายก็บินออกจากประเทศไทย และเป็นการยุติการใช้ฐานทัพในประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บทเรียนข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการใช้ฐานทัพไทยให้กลายเป็นจุดล่อแหลมต่อความมั่นคงในประเทศไทยนั้น จะต้องจัดฐานะของสหรัฐอเมริกาอยู่ “บัญชีดำ”ที่เคยมีประวัติด่างพร้อย ลุแก่อำนาจทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งละเมิดอธิปไตยและน่านน้ำไทย จนถึงทำให้ประชาชนชาวไทยต้องออกมาชุมนุมขับไล่มาแล้ว

บทเรียนข้างต้นแสดงให้เห็นว่าหากไม่เกิดเหตุที่สหรัฐอเมริกาพลาดเพราะลุแก่อำนาจใช้น่านน้ำในการจัดการกับเขมร และดำเนินการขออำนาจจากประเทศไทย ไทยอาจจะไม่มีมูลเหตุในการออกมาอ้างในการให้สหรัฐอเมริกาย้ายฐานทัพออกจากประเทศไทยได้เลย

หรืออีกนัยหนึ่งในยุคนั้นหากไม่เกิดเหตุการณ์จมเรือปืนไป 3 ลำ จนปรากฏเป็นข่าว ไทยอาจไม่ได้มีโอกาสตรวจสอบได้เลยว่า สหรัฐอเมริกาทำอะไรละเมิดข้อตกลงไปบ้างหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

เช่นเดียวกันหากสหรัฐอเมริกามาตั้งหน่วยบรรเทาภัยพิบัติและมนุษยธรรม และองค์การการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA) แล้วถามว่าจะมีใครเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบได้ในความเป็นจริงอย่างมีอิสระบ้าง และถ้าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปตรวจสอบแล้วก็ต้องมีคำถามว่า นานาชาติที่กำลังเฝ้ากำลังการแผ่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาก็ย่อมจะมีความหวาดระแวงเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้นหากสหรัฐอเมริกาเข้ามาโดยง่ายแล้ว ในความเป็นจริงแล้วจะออกยากมาก เพราะการจะให้ออกจากประเทศไทยในวันข้างหน้าจะถูกมองว่าเป็นการลดระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือต่อกันที่ดีระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย

การมาขอตั้งศูนย์รับภัยพิบัติและมนุษยธรรมนั้นไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่นานแค่ไหนและอยู่นานเท่าไหร่ รู้แต่เพียงเบื้องต้นว่าความคิดในเรื่องข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพียงแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาสานต่อแล้วเพิ่มการเจรจาให้มีการสำรวจชั้นบรรยากาศขององค์การการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA) ประมาณ 2 เดือน ในการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยเมื่อวันที่ 1-3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารที่เผยแพร่นโยบายของสหรัฐอเมริกานั้น ชัดเจนว่าในปี ค.ศ. 2020 สหรัฐอเมริกาจะย้ายกองทัพเรือมาประจำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึง 60%

ลำพังการประกาศกร้าวของสหรัฐอเมริกาเท่านี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า สหรัฐอเมริกาต้องการขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้มากขึ้น

ด้านหนึ่งเป็นการปิดล้อมอิทธิพลของจีนที่กำลังมีบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

อีกด้านหนึ่งคือการปกป้องผลประโยชน์แหล่งพลังงานที่สหรัฐอเมริกาที่จ่ายค่าภาคหลวงต่ำที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงอ่าวไทย ซึ่งค้นพบว่ามีแหล่งพลังงานคุณภาพที่ดีที่สุดในโลก และมีปริมาณมากและยังค้นพบอีกมาก


แค่ลองคิดเล่นๆว่าหากย้ายมาประจำการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แล้ววันหนึ่งประเทศไทยขอขึ้นค่าภาคหลวงเหมือนในหลายประเทศแถบละติดอเมริกา แต่สหรัฐอเมริกาไม่เลิกขุดเจาะ ไม่ยินยอม และไม่จ่ายและเรียกคืนสัมปทานก็ไม่คืนให้ ประเทศไทยจะทำไรได้บ้างในวันที่กองทัพเรืออยู่น่านน้ำในพื้นที่และมีทหารสหรัฐอเมริกาอยู่จำนวนมากในสนามบินอู่ตะเภา

แม้ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติและมนุษยธรรม แต่เมื่อมารวมกับการสำรวจชั้นบรรยากาศขององค์การการบินอวกาศ (NASA) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ต้องนึกถึงโครงการ H.A.A.R.P. (High Frequency Active Aurora Research Program) หรือโครงการวิจัยพลังงานลำแสงออโรร่าจากความถี่สูง ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง ส่วนห้องทดลองวิจัยของกองทัพอากาศและกองทัพเรือของสหรัฐอเมริการ่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งอลาสก้า และสำนักงานโครงการวิจัยความก้าวหน้าของกองทัพของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2551 เพียงปีเดียวนั้น โครงการนี้ได้มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการดำเนินงานโดยใช้ภาษีสนับสนุนถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,500 ล้านบาทต่อปี
ภาพ 1: แสดงการทำงานโครงการ H.A.A.R.P. ของสหรัฐอเมริกา
โครงการนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคือการสร้างและควบคุมภูมิอากาศโดยการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงและความแรงกว่า 1 พันล้านวัตต์ไปที่ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ แล้วสะท้อนกลับมายังพื้นผิวโลกไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้ทั้งบนบกและในทะเล เพื่อส่งพลังงานนั้นลงไปสู่ชั้นหินใต้ดินเพื่อก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหรือเกิดแผ่นดินไหว โดยการใช้เครื่องดังกล่าวนี้ต้องประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีร่วมกับดาวเทียมคู่ขนานกันไปด้วย จึงไม่แปลกใจที่โครงการนี้จะต้องมีการสำรวจชั้นบรรยากาศจากองค์การการบินอวกาศ (NASA) ของสหรัฐอเมริการ่วมทำงานด้วย โดยสหรัฐอเมริกาอ้างว่าเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการศึกษาลักษณะทางฟิสิกส์ในเรื่องชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ และวิทยาศาสตร์ด้านคลื่นวิทยุเท่านั้น

แต่วัตถุประสงค์ในการดำเนินการโครงการนี้ที่คลุมเครือและไม่เปิดเผยให้ และดำเนินการโดยฝ่ายความมั่นคงและการทหารของสหรัฐอเมริกาหลายหน่วยงาน จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้และเชื่อในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดก็มองเห็นว่าโครงการนี้แท้ที่จริงแล้วคือเครื่องมืออาวุธสงครามประเภทใหม่ที่สามารถสร้างภัยพิบัติหลายแห่งทั่วโลก ทั้งสึนามิ อุทกภัย เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และแผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในภูมิภาคเอเชียช่วงหลังๆ เพื่อให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีบทบาทในการแสวงหาผลประโยชน์ เข้าครอบงำความมั่งคั่ง สูบทรัพยากร ตลอดจนทำลายประเทศที่คิดว่าจะเป็นปรปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา หรือทำลายบางสิ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเอง

และถ้าเรื่องนี้เป็นความจริงก็หมายความว่าอาวุธทำลายล้างเพื่อแบ่งแยกและปกครองต่อไปก็คือ “ภัยพิบัติ” ที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นและกำลังจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลโดยมีประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญหลังจากนี้

แต่ไม่ว่าทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดในการดำเนินการโครงการ H.A.A.R.P. จะมีส่วนร่วมกับการตั้งศูนย์ภัยพิบัติและมนุษยธรรม + องค์การการบินอวกาศ (NASA) ที่สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นความจริง หรือเป็นเพียงแค่การจินตนาการของนักทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดก็ตามที แต่การที่ประเทศไทยตัดสินใจเป็นเครื่องมือของสหรัฐอเมริกานั้น ถือเป็นการชักศึกเข้าบ้านอย่างชัดเจน และสร้างความหวาดระแวงให้กับจีนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

คำถามที่สำคัญตามมาก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยืนข้างมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา และยอมให้มหาอำนาจจีนเกิดความหวาดระแวงเช่นนี้ รัฐบาลไทยและประเทศไทยได้อะไรกลับมาเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือได้ประโยชน์อะไรเป็นการส่วนตัว หรือนักโทษชายทักษิณจะได้ประโยชน์อันใดเป็นการส่วนตัวหรือไม่?

และถ้าไม่มีอะไรลับลมคมใน รัฐบาลควรแสดงความจริงใจควรเปิดเผยข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาให้ประชาชนได้รับทราบในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร?


ประการสำคัญ สหรัฐอเมริกาเป็นมิตรประเทศกับไทย และจีนก็เป็นมิตรประเทศกับไทย จึงไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ประเทศไทยต้องเลือกข้างให้สหรัฐอเมริกาผูกขาดการใช้สนามบินอู่ตะเภาแต่เพียงประเทศเดียวเช่นนี้

เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐอเมริกากระทำการอะไรบางอย่างที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่? อย่างไร?
กำลังโหลดความคิดเห็น