xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขบวนการปล้นทรัพย์ลูกหนี้คนไทย! เหตุจากพรก.บริหารสินทรัพย์ 2541

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-จากกรณีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(11มิ.ย.) บริษัท ฐมศร จำกัด มอบอำนาจให้ น.ส.กัลยาณี รุทระกาญจน์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ศิริลักษณ์ อรุณประดิษฐ์กุล ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง นายจักรพันธ์ สอนสุภาพ ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง และ นางวีรา ไวยหงส์ รินทร์ศรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานแก้ไขข้อความในเอกสารโดยไม่มีเหตุอันสมควร (รายละเอียดติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “ลูกหนี้ฟ้องอธิบดี-ผู้พิพากษา สุดทนถูก บ.ต่างชาติสูบเลือด www.manager.co.th )

คดีนี้หากมองผิวเผินดูเหมือนจะเป็นคดีความปกติทั่วไปแต่หากเจาะลึกถึงรายละเอียดแล้วจะพบว่า ไม่ใช่คดีเศรษฐกิจธรรมดา เพราะ ก่อนที่ลูกหนี้จะสวมใจสิงห์ฟ้องอธิบดีและผู้พิพากษาแล้ว ที่ไปที่มาของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของลูกหนี้รายนี้นับว่าเป็นกรณีน่าศึกษาไม่น้อย

กล่าวโดยภาพสรุปเป็นข้อพิพาทเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 ซึ่งในยุคนั้นลูกหนี้คนไทยถูกบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กันอย่างครึกโครม เป็นธุรกิจที่กฎหมายเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาทำกำไรเป็นว่าเล่น ตัวอย่างเช่น ซื้อหนี้มา 10 บาทแต่โขลกเอาจากลูกหนี้คนไทยเต็มมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยเกินกว่า 100 บาท จากวันนั้นถึงวันนี้แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ก็มีลูกหนี้และจำนวนหนี้จำนวนมหาศาลที่ถูกผ่องถ่าย สวมสิทธิ โอนกันไปทอดๆ โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2550 ที่เปรียบเสมือน “โซ่ตรวน” ของลูกหนี้ที่ยึดตรึงให้บริษัทต่างชาติใช้กระทำชำเราคนไทย!

พระราชกำหนดฉบับนี้เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ.2541 เจตนารมณ์เพื่อช่วยให้สถาบันการเงิน (ธนาคาร) ในขณะนั้นไม่ต้องล้มละลายตายจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เนื้อหาเป็นช่องทางให้สถาบันการเงินผ่อนถ่ายของเสียหรือหนี้เน่าออกไปนั่นเอง

ทั้งนี้ พรก.ให้จัดตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารสินทรัพย์เพื่อนำหนี้มาบริหาร ซื้อมาถูกๆแล้วเรียกเก็บหนี้แพงๆ ลูกหนี้แม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบแต่ก็สามารถกลับไปประกอบกิจการต่อไปได้

ทว่า แต่มีคนหัวใสเห็นช่องทางกอบโกยผลประโยชน์จากหนี้เน่าเหล่านี้ตามพรก.นี้ มาตรา 3 ที่กำหนดไว้ว่า “การซื้อหนี้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องเป็นการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเท่านั้นเพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนเท่านั้น และให้คำจำกัดความของคำว่าสถาบันการเงินไว้ว่า คือ ธนาคาร, บริษัทเงินทุน, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์, และนิติบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา” โดยอยากจะขายหนี้เน่าออกไปอีกหลายทอดคือขายกากลงไปเรื่อยๆ ปี 2544 รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ออกประกาศมาว่าให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นสถาบันการเงินด้วย

ลูกหนี้ก็รู้จนมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาว่าการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจะขายจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ไปบริษัทบริหารสินทรัพย์สองหนไม่ได้ก็เลยมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดฉบับนี้เมื่อปี 2550 โดยแก้ไขในมาตรา 3 ว่า

“การบริหารสินทรัพย์” นั้น คือการซื้อหรือรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินหรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อนำมาบริหารหรือจำหน่ายจ่ายโอนต่อไปและสามารถรับจ้างบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินหรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยเพิ่มว่าสามารถดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหรือกิจการทำนองเดียวกันตามข้อ 1, 2 หรือทั้ง 2 ประการ คือรับซื้อรับโอนหรือรับจ้างบริหารตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและแก้ไขมาตรา 4/1 ด้วยว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์จะดำเนินรับซื้อ รับโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต 2.) รับจ้างบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินหรือสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไว้ เมื่อได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นได้ว่าการดำเนินการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ไม่ถูกระงับกิจการ จะดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

จึงเป็นเรื่องที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เล็กๆ เช่น มีเงินทุนจดทะเบียนแค่ 25 ล้านบาทได้รับการยกระดับเป็นสถาบันการเงินสามารถซื้อขายหนี้ด้อยคุณภาพได้กันเป็นทอดๆไม่มีที่สิ้นสุดไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อนแต่อย่างใดต่อเมื่อซื้อขายหนี้กันแล้วค่อยแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายหลัง!

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในวงจรอุบาทว์ของเศรษฐกิจไทยกับลูกหนี้คนไทย!

หากถามว่า การซื้อขายหนี้เน่าภายใต้พระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ดีอย่างไร ผู้เกี่ยวข้อง ได้สิทธิประโยชน์อะไร?

ต้องบอกว่า ตามมาตรา 7 ของพระราชกำหนดฉบับนี้ ผู้ซื้อหนี้เน่าสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นหนี้ตามคำพิพากษาได้ สวมสิทธิเป็นคู่ความในคดีได้ ยกตัวอย่างหากลูกหนี้มีหนี้เงินต้น 10 บาท ศาลพิพากษาคิดดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ลูกหนี้ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยมานาน 12 ปี (ตั้งแต่เกิดวิกฤต) คำนวณเป็นดอกเบี้ย 23.40 บาท ซึ่งหนี้เงินต้น 10 บาทนี้อาจจะขายราคาเพียง 20% คือ 2 บาท แต่คนซื้อหนี้ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ จะมีสิทธิเรียกหนี้เงินต้น 10 บาท รวมดอกเบี้ย 23.40 บาท เป็นเงิน 33.40 บาท นั่นคือลงทุน 2 บาท จะมีสิทธิเรียกหนี้จากลูกหนี้ได้ 33.40 บาท

ลองคิดดูว่ามีการกอบโกยกำไรกันเท่าใด และ เหตุใดหนี้เน่าของคนไทยตั้งแต่เกิดวิกฤตจึงแก้กันไม่หมดเสียที เหตุใดลูกหนี้ไทยจึงไม่พ้นวิกฤตได้

นอกจากนั้นตามมาตรา 8 ของ พรก. การโอนสินทรัพย์จากสถาบันการเงิน (แก้เป็นการโอนสินทรัพย์เมื่อปี 2550) ยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีหรืออากรต่างๆ ที่เกิดจากการโอนสินทรัพย์นั้น แม้แต่ค่าอากรแสตมป์!!

ทั้งนี้ ฟากของลูกหนี้ได้อะไร และ รัฐได้อะไร

จะเห็นชัดเจนว่า ไม่มีการควบคุมว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์เงินทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาทที่เรียกตัวเองว่าสถาบันการเงินพวกนี้เมื่อซื้อหนี้มา 2 บาทจะไปตามเรียกหนี้ได้กี่บาท โดยที่ไม่เคยนำหนี้มาบริหารตามวัตถุประสงค์ของ พรก. ซื้อหนี้มาเสร็จก็ไล่ฟ้องบีบลูกหนี้ ใช้ศาลเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะศาลล้มละลาย

ประเด็นก็คือ การดำเนินธุรกิจแบบนี้ค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยสอดส่องอย่างไร เหตุใดกฎหมายจึงช่วยเหลือแต่ผู้ประกอบการซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้เดิมด้วยซ้ำ แล้วมาซ้ำเติมลูกหนี้ซึ่งก็ประสบวิกฤติเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ ผู้ประกอบการพวกนี้กลับไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล แล้วรัฐบาลไทยได้อะไร ลูกหนี้ไทยได้อะไร แล้วใครได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ

ปัจจุบันมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งสิ้น 21 บริษัท ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบดูหรือไม่ว่าเป็นกิจการของชาวต่างชาติเสียกี่บริษัท มีกี่บริษัทที่ถือหุ้นโดยนิติบุคคลไทย 51% แต่นิติบุคคลไทยนั้นก็ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติอีก ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ควรต้องถูกตั้งคำถามว่า นี่คือนิติบุคคลต่างด้าวหรือไม่อย่างไร

ด้วยความเอาหูไปนาเอาตาไปไร่นี่เอง กลุ่มทุนต่างชาติจึงพากันนอมินีเข้ามาประมูลซื้อหนี้เน่า เพื่อขูดรีดผลประโยชน์จากคนไทยเกินกว่า 10 เท่าของเงินลงทุนโดยอาศัยพระราชกำหนดบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มานานนับสิบกว่าปีมาแล้ว!

กำลังโหลดความคิดเห็น