ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความร้อนแรงทางการเมืองจากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง ได้ผ่อนคลายลงแล้ว เมื่อประธานรัฐ "ค้อนปลอม" รับปากกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ว่าจะพักไว้ก่อน รอไว้สมัยประชุมหน้า
แต่ในการประชุมรัฐสภาวันนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงไม่ละความพยายามที่จะหักหน้าศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ศาลฯได้รับเรื่องร้องเรียน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามา ไว้พิจารณา และมีคำสังให้รัฐสภาชะลอการโหวต ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา
เรื่องนี้รัฐบาลเป็นเดือดเป็นแค้นมาก เพราะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการร้องเรียนจากคณะบุคคล ที่ร้องเรียนเข้ามาที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ได้ผ่านมาทางอัยการสูงสุด ตามที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าจะต้องใช้ช่องทางนี้เท่านั้น
จึงมีการเสนอญัตติ เพื่อขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา เพราะเป็นการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ
แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลก็แพ้ภัยตัวเอง เมื่อฝ่ายค้าน และส.ว.ส่วนหนึ่งไม่เอาด้วย และเดินออกจากห้องประชุมไป จนทำให้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ญัตติที่หวังจะใช้เสียงข้างมาก หักศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นอันตกไป
วันรุ่งขึ้น(13 มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ ก็แถลงว่า ได้มีมติรับคำร้องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 3 ไว้พิจารณา
เรื่องนี้ นายเรืองไกร อ้างถึงกรณีที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุม และการลงมติของส.ส.ในขณะนั้น พบว่าในจำนวนเสียงที่สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 219 เสียงนั้น มี 46 เสียง ที่เป็นของ ส.ส.ที่สังกัด 3 พรรคการเมือง ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จึงถือว่า นายอภิสิทธิ์ ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด และการกระทำดังกล่าวของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
การรับคำร้องเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำว่าเป็นการรับเรื่องร้องเรียนจากนายเรืองไกร โดยตรง ไม่ได้ผ่านตามช่องทางของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด และเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เหมือนกัน
เหมือนกำลังจะบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สองมาตรฐานนะจ๊ะ
ก็คงต้องติตามดูปฏิกิริยาจากทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ แบบเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้ศาลรัฐธรรมนูญ กันอย่างไร