xs
xsm
sm
md
lg

การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา ๖๘

เผยแพร่:   โดย: ส. ศิษย์ท่าพระจันทร์

โดย ส. ศิษย์ท่าพระจันทร์

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของ
ศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

และในส่วนที่ที่13 ของรัฐธรรมนูญ สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบออบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้” และตามมาตรา 68 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่งผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

ตามบทบัญญัติ ของ มาตรา 68 วรรค 2 สามารถจำแนกโครงสร้างของประโยค ได้ดังนี้

ประโยคที่ว่า “ และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” ประธานของประโยคคือ “ผู้ทราบการกระทำ” คำว่า ”อัยการสูงสุด” ในบทบัญญัตินี้ ไม่ใช่ประธานของประโยค แต่เป็นส่วนขยายกริยา คือเป็นผู้ถูกเสนอเรื่องให้ตรวจสอบ จึงไม่อาจแปลความว่า หมายถึงอัยการแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และถ้าหากตีความว่าจะต้องยื่นผ่านอัยการให้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่เพียงฝ่ายเดียว จะกลายเป็นเป็นบทบังคับให้อัยการสูงสุดต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสมอ ไม่ว่าจะมีมูลหรือไม่มีมูล เพราะใช้คำว่า ”และ” ซึ่งคงไม่ใช่จุดประสงค์ของกฎหมายแน่ ที่จะบังคับให้อัยการสูงสุดด้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เสมอ ไม่ว่าพิจารณาแล้วจะมีมูลหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้นตามบทบัญญัติของ มาตรา 68 วรรคสอง จึงพิจารณาได้ว่า ประธานของประโยคตามบทบัญญัตินี้ คือ “ผู้ทราบการกระทำ” สามารถดำเนินการได้ สองทาง คือ ๑. มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และ ๒. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว

หากกฎหมายมีเจตนาจะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องแค่เพียงอย่างเดียว ก็จะต้องบัญญัติให้ชัดเจน เช่น “ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อ และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว” โดยใช้คำว่า “เพื่อ” แทนคำว่า “และ” ก็จะชัดเจนว่า เสนอเรื่องต่ออัยการให้ตรวจสอบเพื่อให้อัยการเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรืออาจบัญญัติว่า เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้อาจเทียบเคียงได้จากบทบัญญัติอื่น เช่นมาตรา ๒๖๒ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินต่อไป “

ในชั้นแรกนี้ประธาน ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องไปอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดี จะยังดำเนินคดีเองโดยไม่ส่งเรื่องให้อัยการไม่ได้

นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติของมาตรา ๙๕ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป...”

บทบัญญัติ ของมาตรา 95 ดังกล่าว มีข้อความที่ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการผ่านอัยการสูงสุดหรือเฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจดำเนินการ

ตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการดำเนินการของผู้ทราบการกระทำตามมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง เพื่อใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อความใดบัญญัติอย่างชัดแจ้งให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดไว้โดยเฉพาะ หรือจะต้องดำเนินการผ่านอัยการสูงสุด เท่านั้น ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงจะตีความไปในทางที่เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น