xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ยื่นถอดถอน “ค้อนปลอม” ลุแก่อำนาจ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปชป.ยื่นประธานวุฒิสภาถอดถอน “ค้อนปลอม” พ้นประธานสภาฯ ฐานลุแก่อำนาจ หักหลักนิติรัฐ ดันทุรังเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาสนอง “นายใหญ่” หลุดคดี ได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 พ.ค.) ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อส.ส.จำนวน 127 คน ต่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย 3 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย

1. เป็น ส.ส.และประธานสภาฯ มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และข้อบังคับการประชุม ต้องวางตนเป็นกลาง แต่กลับมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 มาตรา 142 วรรคสอง และ 143 วรรคสอง โดยทำการบรรจุร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทั้ง 4 ฉบับ ในระเบียบวาระการประชุม ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินที่ไม่มีการลงนามรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน จึงถือเป็นร่างที่มิชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ยังกระทำผิดข้อบังคับการประชุมข้อ 111 โดยการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่แจ้งต่อผู้เสนอญัตติให้ทราบเพื่อที่จะได้ส่งร่างไปยังนายกฯ ให้มีคำรับรอง แต่กลับเร่งรีบบรรจุเข้าวาระสภาฯ ทันที จงใจไม่แจ้งให้ผู้เสนอญัตติรับทราบว่าเป็นร่างเกี่ยวข้องกับการเงิน และจงใจไม่ให้นายกฯ มีคำรับรอง เพราะนายสมศักดิ์ทราบดีว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งมีผลผูกพันทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจ่ายเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้ เมื่อมีสมาชิกเสนอญัตติให้เลื่อนวาระการพิจารณาขึ้นมา ทั้งที่มีสมาชิกจากฝ่ายค้านพยายามทักท้วงว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่กลับจงใจวินิจฉัยเสียเองโดยไม่มีอำนาจ และบิดเบือนความจริงว่าไม่ใช่ร่างเกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อจงใจให้เลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาก่อน ซึ่งถือว่าจงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 142 วรรคสอง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง (2) (3) และมาตรา 143 วรรคสอง

2. ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 216 และมาตรา 309 สภาฯ ไม่มีอำนาจพิจารณา การที่นายสมศักดิ์ยินยอมให้สภาฯ พิจารณาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยวาระของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับในมาตรา 5 มีการล้มล้างการรับรองผลในทางกฎหมายของประกาศและคำสั่งของ คมช. และคำสั่งห้วหน้า คมช. เช่น การตรวจสอบของ คตส.ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และกฎหมายนี้ยังมีผลล้มล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ได้ตัดสินคดีไปแล้ว รวมถึงยังมีเนื้อหาลบล้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็น การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม

3. นายสมศักดิ์มีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 125 วรรค 1 ประกอบข้อบังคับการประชุมสภาฯ 42 และรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 2 เนื่องจากประธานสภาฯ ลุแก่อำนาจวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งที่ในสาระของกฎหมายไม่ใช่ประโยชน์ต่อประชาชน แต่มุ่งหวังประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวก โดยใช้เสียงข้างมากในการลงมติไม่ฟังเสียงข้างน้อยในสภาฯ ทำให้ ส.ส.หมดความอดทนเพราะเป็นพฤติกรรม “เผด็จการรัฐสภา” จนเกิดการประท้วงขับไล่ให้นายสมศักดิ์ ออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ ส.ส.ทั้งหมดจึงเข้าชื่อเพื่อให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการถอดถอนนายสมศักดิ์ ออกจากตำแหน่งเพื่อประโยชน์ในการรักษากฎหมายบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น