“อภิสิทธิ์” ย้ำ พ.ร.บ.ปรองดอง สร้างความแตกแยก ทำลายอำนาจตุลาการ ล้างผิดให้คนทุจริต จี้ “นายกฯ ปู” เลิกลอยตัวต้องลงมารับผิดชอบ พ.ร.บ.ปรองดอง เผยต่างชาติยังงง นายกฯไทยอยู่เหนือรัฐสภา อัด “บัง” ขี้ขลาดไม่กล้าร่วมประชุม พร้อมแนะ “ค้อนปลอม” ทบทวนบทบาท เหลิงอำนาจเจอป่วนอีก ลั่นทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งกฎหมายที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติ เตือนประชุม ประธาน กมธ.ชี้ขาดกฎหมายการเงินต้องโปร่งใส
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... เป็นกฎหมายที่สร้างความแตกแยกแน่นอน กระทบต่อระบบของประเทศ ทำลายอำนาจของฝ่ายตุลาการ ล้างความผิดให้คนทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ควรจะเป็นกฎหมายปรองดอง จึงเกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาจึงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าอยากให้บ้านเมืองเดินทางไปในทิศทางไหน หรือจะยึดผลประโยชน์ของประเทศก็ถอนเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
“ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่ารัฐบาลซึ่งมีนโยบายว่าต้องการให้เกิดความปรองดองและขณะนี้ก็ถืออำนาจทุกอย่างสามารถบริหารประเทศได้ และที่ประชาชนมาเคลื่อนไหวชุมนุมก็ไม่มีใครมาไล่รัฐบาล ดังนั้นควรจะเอาเรื่องที่เป็นปัญหาออกไปดีกว่า เพื่อเราจะได้จัดประชุมเวิร์ลอีคอร์นอมิคฟอร์รั่มได้ เพื่อใช้โอกาสนี้ในการแสดงศักยภาพของประเทศ แต่กลับทำให้เขาเห็นว่ารัฐบาลสร้างความแตกแยกรอบใหม่ขึ้นมา”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอยู่เหนือปัญหาไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเมือง และนโยบายการสร้างความปรองดอง การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาล และกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเรื่องการเงิน ดังนั้น รัฐบาลต้องแสดงท่าทีให้ชัดว่าพร้อมที่จะคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือกรณีมีการปรับทางอาญาอื่นๆ หรือไม่ และที่สำคัญกฎหมายนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล จะพยายามใช้วิธีเอาพรรคการเมืองมาเสนอแล้วไม่ต้องรับผิดชอบมันไม่ได้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังตำหนิ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ที่ไม่ร่วมประชุม ทั้งที่เป็นตัวการต้นเรื่อง ไม่กล้าที่จะมาเผชิญเหตุและผล และการที่พยายามใช้อำนาจของประธานสภาปิดไม่ให้คนพูด แล้วสั่งคนลงมติเลยโดยไม่ต้องชี้แจง ไม่ใช่กระบวนการของสภาที่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาตรงนี้
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พวกตนก็ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเหมือนกับที่เขาทำในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน แล้วยังมาขอนิรโทษกรรมในขณะนี้อีก ทั้งนี้ ภาพที่ออกมาไม่มีใครอยากเห็น แต่ก็ยอมรับว่าภาพลักษณ์ของพรรคถูกกระทบบ้าง แต่ถ้าเราหยุดยั้งกฎหมายที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติได้ ตนคิดว่าเราก็ต้องยอมรับตรงนั้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพราะไม่เห็นความเร่งด่วนหรือความชอบธรรมใดๆ ที่จะต้องออกกฎหมายล้างผิดให้กับคนโกง และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองโดยไม่ค้นหาความจริง และหากรัฐบาลทำสำเร็จต่อไปบ้านเมืองก็ไม่มีขอบเขตใครจะทำอะไรก็ได้ถ้ามีอำนาจรัฐ ซึ่งความจริงแล้วพรรคเพื่อไทยไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกร้องว่าใครต้องทำอะไร เพราะสิ่งที่เขาทำในอดีตทั้งหมดเป็นการทำผิดและมาขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง แล้วกลับมาบอกว่าห้ามคนอื่นทำผิด อย่างไรก็ตาม การชุมนุมผ่านมาหนึ่งวันก็ไม่มีปัญหาอะไร แม้ในสภาจะมีความวุ่นวายอยู่บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้ารัฐบาลยังยืนยันเหมือนเดิมพรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าทีอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคก็จะเรียกร้องว่าการประชุมที่ประธานเรียกประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญไปประชุมต้องโปร่งใส ไม่ใช่เข้าไปถึงแล้วบอกว่าให้ลงมติว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่เป็นการเงิน ไม่ใช่วันนี้ บอกว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน นายกฯจึงไม่ต้องเซ็นต์ แต่วันข้างหน้าก็ไปจ่ายเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ไม่ให้นายกฯ เซ็นเพราะต้องการกันออกไปใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็คงทำนองนั้น เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ตนยังเจอแขกต่างประเทศที่มาประชุมเวิร์ลอีคอร์นอมิคฟอร์รั่มก็ยังสอบถามพอทราบว่าในสภานายกฯ ก็ไม่มาประชุม ตนถึงกับอึ้งเมื่อเขาถามว่ามีระบบที่นายกฯ อยู่เหนือรัฐสภาด้วยหรือ
นายอภิสิทธิ์ยังขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ เปลี่ยนท่าทีการทำหน้าที่ประธานการประชุม ถ้ายังใช้ท่าทีแบบเดิมก็ต้องเจอปัญหาแบบเดิมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สมาชิกทำหน้าที่ได้ด้วยเหตุและผล หากพยายามที่จะใช้เหตุผล แต่พอไม่อยากเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาชี้แจงก็บอกว่าขอปิดและใช้อำนาจประธาน ซึ่งหลายครั้งมักจะพูดว่าเป็นอำนาจของประธานถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่ยึดความถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ก็มีการเคลื่อนไหวถอดถอนกันอยู่ แต่ในชั้นต้นคือการทำให้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเข้ามาสู่การพิจารณา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ของ ส.ส. จะเสียงข้างมากข้างน้อยก็ต้องเป็นตัวแทนในการที่จะรักษาสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความถูกต้อง และเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เขายอมรับการมาทำลายระบบนิติธรรม นิติรัฐไม่ได้