รายงาน โดย “เสือกระดาษ”
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสบดีที่ 31 พ.ค. 2555 จะเป็นการประชุมสภาฯ ที่ต้องจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับสภาฯชุดนี้ที่มีพรรคเพื่อไทย มีเสียง ส.ส.มากเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง ส.ส.ในสภาฯ
หลังมติวิปรัฐบาลเมื่อ 30 พ.ค. 2555 เห็นชอบให้มีการเลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.… เข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระแรก
วิปรัฐบาล บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะยึดเป็นร่างหลัก ก็คือร่างพรบ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะ ส.ส.34 คน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ จึงเห็นว่าควรพิจารณาฉบับนี้ก่อน ถ้าเนื้อหารายมาตราในส่วนใดของร่างที่ไม่สมบูรณ์ยังไม่ครอบคลุม ทางสภาฯ ก็สามารถปรับแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ส่วน ส.ส.คนไหนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ก็สามารถใช้สิทธิขอสงวนคำแปรญัตติแล้วไปสู้ในชั้น กมธ.และในสภาฯ ต่อไป
จึงเท่ากับว่า สภาฯ จะใช้เสียงข้างมาก เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แน่นอนแล้วในวาระแรก ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ แต่หากอภิปรายกันไม่จบสิ้นก็ดูต่อไปว่าจะยืดเยื้อหรือไม่อย่างไร จะอภิปรายกันต่อไปถึงวันที่ 1 มิถุนายน หรือจะเลื่อนไปประชุมต่อในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันจากสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ และวิปรัฐบาลแล้วว่าจะไม่มีการรีบเร่งผลักดันร่างกฎหมายปรองดองที่มี 8 มาตรา 3 วาระรวด ด้านฝ่ายวิปรัฐบาลพยายามจะสีข้างเข้าถูว่า เมื่อเป็นกฎหมายที่จะสร้างความปรองดอง เป็นผลดีต่อประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศไทย ก็ควรต้องสนับสนุน อันเป็นการพูดที่พยายามแถไปเรื่อยว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง มีประโยชน์อย่างไร
ทั้งที่สังคมก็เห็นแล้วว่า หลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองไม่ว่าจะเป็นร่างของกลุ่มไหนในจำนวน 4 ร่างที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างกฎหมายที่ทำลายระบบกระบวนการยุติธรรม เปิดช่องล้างผิดนักการเมืองขี้ฉ้อ เอื้อประโยชน์แต่กับพวกนักการเมืองที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียในการโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จนทำให้มีประชาชนจำนวนมากพากันออกมาออกมาแสดงพลังที่ลานพระบรมรูปทรงม้าและหน้ารัฐสภา เพื่อแสดงออกให้นักการเมืองในสภาฯ ได้เห็นว่า
ประชาชนไม่ใช่ควายที่จะมาหลอกกันง่ายๆ
ทั้งนี้ แม้จะมีการเสนอร่างพรบ.ปรองดอง เข้าสู่สภาฯ ถึงสี่ฉบับ คือร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและคณะ ส.ส. 34 คนที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ร่างของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประมาณ 50 กว่าคน ที่นำโดยสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือร่างของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
ร่างของ ส.ส.เพื่อไทยที่ส่วนใหญ่เป็นส.ส.เสื้อแดง เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก่อแก้ว พิกุลทอง วรชัย เหมมะ อันมีเนื้อหาแตกต่างจากร่างของ พล.อ.สนธิและร่างของ ส.ส.เพื่อไทยกลุ่ม สามารถ แก้วมีชัย คือ การนิรโทษกรรมที่จะไม่รวมบุคคลที่ต้องคดีก่อการร้าย และคดีความผิดต่อชีวิตที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 15 ก.ย. 48 ถึง 10 พ.ค. 53 และร่างสุดท้ายคือร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย
จะพบว่าหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับล้วนร่างออกมาจากบล็อกเดียวกันหมด เช่น ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีตามคำสั่งของ คมช.และผลสืบเนื่องจากการดำเนินการตามอำนาจของ คมช. ได้คืนความเป็นธรรม โดยไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดอีกต่อไป, ให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปีให้ได้รับสิทธิการเมืองคืนและให้คดีที่ คมช.มอบอำนาจให้ คตส.ดำเนินการและได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้ว ต้องกลับไปเริ่มต้นพิจารณาคดีกันใหม่อีกครั้งตามกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้หลักการของร่างกฎหมายปรองดองจะเอื้อประโยชน์ให้กับคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการระดับสูงที่โดนสอบสวนเรื่องคดีทุจริตในชั้น ป.ป.ช.-อัยการ แต่คนที่ได้มากที่สุดและเร็วสุดก็คือ ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง
จึงเป็นที่มาของการเดินเกมเร่งของทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทย ที่พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกมาให้เร็วที่สุด ชนิดไม่รออะไรกันอีกแล้ว และมองข้ามเสียงของประชาชนที่ออกมาคัดค้าน เพราะเหลิงในอำนาจที่เชื่อว่ากุมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้แล้วจะทำทุกอย่างก็ได้ตามอำเภอใจ
แม้แต่การออกกฎหมายมาเพื่อเอื้อประโยชน์คนเพียงคนเดียว!