ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-มติเลิกจ้าง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ของคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นการบอกเลิกจ้างก่อนสัญญาจ้างครบ 4 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการแต่งตั้งโยกย้าย ปรับเปลี่ยนผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ หลังจากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เหล่าทายาทจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องถูกเขี่ยออกไป
นายอำพน กิตติอำพน ประธานบอร์ดการบินไทย ประดิษฐ์คำที่แสนจะฟังเข้าใจยาก ว่าเหตุผลที่นำไปสู่การบอกเลิกจ้างครั้งนี้ เพราะ...ระหว่างบอร์ดและนายปิยสวัสดิ์ การสื่อสารไม่เป็นเอกภาพ...
นายอำพนนั้นเป็นประธานบอร์ดที่อนุมัติให้ทำสัญญาจ้างนายปิยสวัสดิ์ โดยให้เริ่มทำงาน 19 ตุลาคม 2552 อายุสัญญาจ้าง 4 ปี และนายอำพน นี่แหละที่เป็นประธานบอร์ดชุดที่บอกเลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์หลังจากทำงานมาได้ 2 ปี 7 เดือน และนายอำพนอีกนั่นแหละที่ว่ากันว่าเป็นคนประคับประคองนายปิยสวัสดิ์มาตลอดหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลและคำสั่งเด็ดขาดมาว่าดีดีการบินไทยจะต้องเปลี่ยน
“แต่สุดท้ายก็แบกกันไปไม่ไหว ขอเอาตัวรอดก่อนที่จะโดดเชือดไปด้วยอีกคน”
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 บริษัท ทริสเรตติ้ง ได้ประเมินผลการทำงานของนายปิยสวัสดิ์ในปี 2554 มาแล้วโดยได้คะแนน 2.9 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ระดับพอใจที่กำหนดว่าจะต้องได้มากกว่า 3 ซึ่งครั้งนั้น นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนและประเมินผลงาน ให้ทริสกลับไปประเมินใหม่ เพราะเห็นว่าคะแนนสูงเกินไปและไม่ควรนำปัญหาน้ำท่วมมาเป็นตัวช่วยในการให้ประเมินการทำงาน
ในช่วงนั้น ข่าวการปลดปิยสวัสดิ์ดูจะซาไปพักหนึ่ง แว่วว่า มีการประสานฝ่ายการเมืองต่อรองว่า นายปิยสวัสดิ์จะลาออกเอง แบบจากกันด้วยดี ...แต่สุดท้ายนายปิยสวัสดิ์ไม่ยอม ทำให้มีการเร่งให้ทริสส่งผลประเมินในวันที่ 30 เมษายนทันที และคณะกรรมการประเมินผลงานฯชุดนายอารีพงศ์ก็ได้สรุปคะแนนที่ 4.3 ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์แม้จะต่ำกว่าปีก่อนที่ได้คะแนน 4.6ได้คะแนนเกือบเต็ม แม้จะต่ำกว่าปีก่อน ก็ต้องถือว่า...กรรมการประเมินไว้หน้า ปิยสวัสดิ์อยู่บ้าง อย่างน้อยก็ไม่ได้ดูเป็นคนไม่มีความสามารถ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ที่นายปิยสวัสดิ์เข้ารับตำแหน่งดีดี การบินไทยดูมีภาพพจน์ที่ดีระดับหนึ่ง ทั้งสายตานักลงทุน นักวิเคราะห์ จะมีกระทบบ้างช่วงน้ำท่วมที่ควบคุมอะไรได้ไม่มากนัก ส่งผลให้ปี 2554 ต้องประสบกับการขาทดทุน ถึงขาดทุน 10,197 ล้านบาท ซึ่งจะว่าเป็นความผิดของนายปิยสวัสดิ์คนเดียวก็คงไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารเบอร์ 1ไม่ได้เช่นกัน ประกอบกับการจัดทำแผนกลยุทธ์ต่างๆ ในการขับเคลื่อนบริษัท การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันที่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายของบริษัทได้มาก ก็ล้วนเกิดขึ้น ในยุคปิยสวัสดิ์ทั้งสิ้น
แต่อีกมุมหนึ่ง นายปิยสวัสดิ์กลับมีปัญหาในการทำงานร่วมกับคนในองค์กร เช่น การสอบสวนพนักงานระดับล่างจนเรื่องบานปลายเพราะมีการร้องเรียนไปถึง ประธานบอร์ด, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการธรรมาภิบาล บริษัท ซึ่งเรื่องนี้มีสาเหตุมาจากการพนักงานได้ไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะว่าไป การเรียกข้อมูลของกมธ.นั้นผู้ให้ข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองเพราะถ้าไม่ให้ถือว่าผิดกฎหมายอีกด้วย ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ก็รู้ดีว่า นี่เป็นปัญหาหนึ่ง...เพราะมีการถกเถียงกันมากจนมีคำสั่งจากประธานบอร์ดให้นายปิยสวัสดิ์จัดการแก้ไขให้เป็นธรรมกับพนักงาน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากนายปิยสวัสดิ์
หรือกรณีที่มีการสอบสวน เรื่องเครื่องยนต์ ของเครื่องบิน โบอิ้ง B 747 หายไป ซึ่งไปตามเจอที่ ประเทศอินเดีย และเอากลับคืนมาแล้ว...และการสอบสวนกรณีการจัดซื้อฐานล้อ (แลนดิ้ง เกียร์) สำหรับเครื่องบิน แอร์บัส A 380 ที่เลือกแบบที่น้ำหนักเกินจาก สเปคพืกนฐาน 300 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้น้ำหนักรวมของเครื่องบินเกินจากที่กำหนดได้ แม้บอร์ดเคลียร์กรณีการ สอบสวนเหล่านี้จบหมดแล้ว แต่มันได้กลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างนายปิยสวัสดิ์กับผู้บริหารการบินไทยระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนหนึ่ง
ส่วนกรณีการจัดหาเครื่องบินในระยะ 2 (ปี 2561-2565 ) จำนวน 38 ลำ มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท อยู่ในช่วงของการทบทวนแผน โดยบอร์ดได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงพิจารณาการจัดหาเนื่องจากเห็นว่าการลงทุนซื้อเครื่องบินอาจจะกระทบและทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับปี 2554 ผลประกอบการขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องการทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ
ซึ่งเรื่องนี้ นายปิยสวัสดิ์เองยอมรับว่า ได้มีความเห็นไม่ตรงกับบอร์ด ตรงที่นายปิยสวัสดิ์จะเดินหน้าจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ โดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีอีกเพราะครม.เคยเห็นชอบแผนรวมไปแล้ว ส่วนบอร์ดต้องการให้เสนอครม.เพราะลงทุนสูงเป็นแสนล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้สรุปแล้วว่าควรเสนอเรื่องเข้าครม.อีกครั้ง ก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร เห็นตามนั้นจึงไม่ทราบว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นปัญหา
สรุป...ได้ว่า ไม่เฉพาะการบินไทยเท่านั้น ที่ถูกการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงาน แต่ทุกหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ ก็ล้วนถูกกแทรกแซงสั่งการจากนักการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น นักการเมืองนี่แหละ! ที่เป็นถ่วงการพัฒนา ความเจริญของหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมานายปิยสวัสดิ์ เป็นคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเมืองจะเข้าไปแทรกแซง สั่งการไม่ได้ เพราะถ้าย้อนไปช่วง”โสภณ ซารัมย์”เป็นรมว.คมนาคม ยิ่งแล้วใหญ่เพราะ ปิยสวัสดิ์ ไม่เคยโผล่ไปร่วมกิจกรรมใดๆ ที่กระทรวงคมนาคมจัดเลย แต่ก็อยู่มาได้ โดยไม่มีปัญหา ...ดังนั้น เหตุผลจึงไม่มีความจำเป็น...อีกต่อไป