ASTVผู้จัดการ - ผ่าปมร้าวลึกปลดฟ้าผ่า “ปิยสวัสดิ์” พ้นบินไทย ย้อนสมัย รบ.อภิสิทธิ์ พบอนุมัติเร็วโครงการเช่าฝูงบิน 12 ปี 4.5 แสนล้าน คาด ฟันคอมมิชชันอื้อ แถมเซ็นทิ้งทวนพร้อมกับวาระที่ถูกเสนอถึง 244 วาระ มูลค่านับแสนล้านก่อนยุบสภา
หลังจากที่ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเผยแพร่ว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีมติปลด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ซึ่ง นายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการ บมจ.การบินไทย อ้างว่า การทำงานระหว่างบอร์ดกับ นายปิยสวัสดิ์ มีการสื่อสารที่ไม่เป็นเอกภาพ อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของบริษัท
ขณะเดียวกัน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เปิดเผยกับสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ว่า สาเหตุที่บอร์ดการบินไทย มีมติเลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ เกิดจากการที่นายปิยสวัสดิ์ ได้เสนอความเห็นในที่ประชุม ว่า แผนการเช่าหรือจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ จำนวน 38 ลำ ในปี 2018 หรือ พ.ศ.2561 ของการบินไทย เป็นอำนาจการตัดสินใจของบอร์ดและดีดีที่จะเสนอแผนดำเนินการได้ทันที ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก ขณะที่ทางบอร์ดการบินไทย ได้แย้งว่า เงินลงทุนจำนวนหลายแสนล้านบาทนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องจะคุยกับ ครม.บ้าง ทั้งหมดคือที่มาของคำว่า การสื่อสารไม่ตรงกัน ซึ่ง นายจารุพงศ์ เห็นว่า เรื่องนี้ความจริงไม่มีใครผิดหรือถูก แต่ถ้าถามว่าเรื่องการจัดหาเครื่องบินนี้ ครม.ควรทราบหรือไม่ เพราะ ครม.ถูกตั้งโดยประชาชน ถ้าการบินไทยจะทำอะไรด้วยเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท แล้วมาบอกว่าทำไปได้เลย เพราะมีคนเคยเห็นชอบไว้แล้ว แบบนี้มันก็คุยกันบ้าง ก็แล้วแต่ใครจะคิดว่ามันผิดหรือไม่
ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ได้ตรวจสอบแผนการเช่าหรือจัดซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ ซึ่งเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้นายปิยสวัสดิ์ ถูกปลดในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 เม.ย.54 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2554-2565 จำนวน 75 ลำ วงเงินทั้งสิ้น 457,000 ล้านบาท ของ บมจ.การบินไทย
โดยโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การจัดหาเครื่องบินระยะแรกปี 2554-2560 จำนวน 37 ลำ วงเงิน 210,602 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรองวงเงินลงทุน 5,473 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 216,750 ล้านบาท และการจัดหาเครื่องบินระยะที่ 2 ปี 2561-2565 จำนวน 38 ลำ โดยแบ่งเป็นการจัดหาเครื่องบินแบบ เฟิร์ม ออเดอร์ จำนวน 21 ลำ วงเงินลงทุน 125,992 ล้านบาท และจัดหาแบบ ออปชัน ออเดอร์ จำนวน 17 ลำ วงเงินลงทุน 103,081 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรองวงเงินลงทุน 1,979 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุน 241,052 ล้านบาท โดย บมจ.การบินไทย จะดำเนินการตามแผนการการเงินและการกู้เงินตามที่ กระทรวงคมนาคมเสนอ
นอกจากนี้ การประชุม ครม.นัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2554 ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก่อนการยุบสภา ถูกวิจารณ์ว่า เสนอวาระเข้าพิจารณามากผิดปกติถึง 244 วาระ และมีการอนุมัติโครงการต่างๆ จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ การอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2554-2565 จำนวน 75 ลำ มูลค่า 457,000 ล้านบาท ตามที่ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จากพรรคภูมิใจไทย ในเวลานั้นเสนอ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการอนุมัติจัดซื้อเครื่องบินจำนวนมากที่สุด และราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น
โดยสาระสำคัญของโครงการดังกล่าว คือ ครม.ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย จัดซื้อหรือจัดหาเครื่องบินโดยสารล่วงหน้าระยะยาว 12 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปี 2565 โดยกระทรวงคมนาคม เห็นชอบให้แบ่งการจัดซื้อเครื่องบิน 75 ลำ เป็น 2 ช่วง ช่วงละ 6 ปี โดยได้ส่งให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณารายละเอียดตามระเบียบราชการ และสภาพัฒน์ ได้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ และให้ความเห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบินทั้ง 75 ลำ ก่อนเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม.ดังกล่าว
มีการตั้งข้อสังเกตภายหลังจาก ครม.ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว ได้แก่ เหตุใดรัฐบาลถึงอนุมัติโครงการยาวถึง 12 ปี และอนุมัติให้ซื้อเครื่องบิน 75 ลำ ในคราวเดียว ซึ่งจะมีผลไปถึงค่าคอมมิชชันที่อาจจะมีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของมูลค่าโครงการ หรืออย่างน้อย 45,700 ล้านบาท อีกประการหนึ่ง บมจ.การบินไทย เพิ่งเสนอแผนขออนุมัติเช่าเครื่องบิน 37 ลำ ระยะเวลา 5 ปี ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2554 แต่ถูก นายโสภณ ตีกลับให้ บมจ.การบินไทย กลับไปทบทวน
แต่ในทางกลับกัน บมจ.การบินไทย จัดทำแผนรายละเอียดโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2554-2565 จำนวน 75 ลำ ระยะเวลา 12 ปี โดยใช้ระยะเวลารวดเร็วไม่ถึง 1 เดือน จากนั้นสภาพัฒน์ใช้เวลาศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว แล้วให้ความเห็นชอบเรียบร้อยในระยะเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่บรรจุเรื่องเข้า ครม.คือ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการสนองนโยบายของฝ่ายการเมืองหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ดังกล่าว ถือเป็นการประชุม ครม.ที่ใช้เวลามากที่สุด 15 ชั่วโมง ทำลายสถิติครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากสมัยรัฐบาลของ นายอานันท์ ปันยารชุน ประชุมนานถึง 24.00 น.โดย ครม.นัดสุดท้ายของนายอภิสิทธิ์ ได้พิจารณาวาระทั้งหมด 244 เรื่อง แบ่งเป็นวาระพิจารณาปกติ 102 เรื่อง วาระพิจารณาจร 53 เรื่อง วาระเพื่อทราบ 58 เรื่อง วาระเพื่อทราบจร 31 เรื่อง โดยอนุมัติงบไป 557,517 ล้านบาท หากคิดโดยเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 3 นาทีต่อ 1 เรื่อง
ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดังกล่าว ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรารายงานว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีการอนุมัติโครงการต่างๆ จำนวนมาก โดยมีมูลค่านับแสนล้านบาท อาทิ กระทรวงคมนาคม อนุมัติโครงการลงทุนรถจักรและล้อเลื่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 1.48 หมื่นล้านบาท, โครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมสำหรับการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 752.15 ล้านบาท และมาตรการในการนำเทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (จีพีอาร์เอส) มาใช้กับรถสาธารณะ 10 ล้านบาท
กระทรวงมหาดไทย อนุมัติโครงการเช่ารถยนต์ตรวจการณ์ขับเคลื่อน 4 ล้อ จำนวน 18 คัน 22 ล้านบาท, โครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นค่าซ่อมแซมที่ทำการเทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี 212 ล้านบาท, โครงการจัดตั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยอำเภอ รวม 877 อำเภอ ข้าราชการอำเภอละ 3 อัตรา จำนวน 877 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 2,631 อัตรา และเห็นชอบให้จ่ายเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนให้พนักงานการประปาส่วนภูมิภาค ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากคนละ 2,500 บาทต่อเดือน เป็น 5,000 บาทต่อเดือน
โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ของ กฟภ.ส่วนที่ 1 วงเงินลงทุน 7,060 ล้านบาท ส่วนที่ 2 วงเงินลงทุน 4,540 ล้านบาท ส่วนที่ 3 วงเงินลงทุน 15,085 ล้านบาท ส่วนที่ 4 วงเงินลงทุน 4,485 ล้านบาท รวม 31,170 ล้านบาท โดยใช้การกู้เงินในประเทศจำนวน 23,374 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ.7,796 ล้านบาท, อนุมัติงบประมาณจ่ายงบกลาง 530,562,000 ให้กับ จ.บึงกาฬ ดำเนินการค่าครุภัณฑ์ 14 รายการ และสิ่งก่อสร้าง 5 รายการ, อนุมัติโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ตามโครงการประชาวิวัฒน์จะระเบียบหาบเร่แผงลอยและมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร 197 ล้านบาท เป็นต้น