ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นับว่าเป็นการท้าทาย ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับบรรดาลิ่วล้อของ นช.ทักษิณ ชินวัตร โดยพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงที่ประกาศไม่ยอมรับและต่อต้านคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีมีการขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุว่า จัดทำร่างรัฐธรรมนูญมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
และนี่ยอมหมายรวมไปถึง “อัยการสูงสุด” เพราะได้ลงทุนยกข้อกฎหมายมาว่าเป็นฉากๆ เสียยกใหญ่ แต่สุดท้ายสรุปคือจะไม่ส่งเรื่องของผู้ร้องทั้ง 5 รายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีไม่มีมูล สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกวุฒิสภาที่แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควร ทางกลุ่มพันธมิตรประชาขนเพื่อประชาธิปไตย จึงออกมาทวงถามขออัยการสูงสุดแจงเป็นลายลักษณ์อักษร หลังไม่ยอมยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยเรื่องร่างรธน.และเล็งเอาผิดข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มีโทษทางอาญา
นายปานเทพ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ ได้ไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ในกรณีที่นักการเมือง 416 คน ร่วมกันล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ตามมาตรา 68 ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสอง ส่งคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สั่งการหรือวินิจฉัยให้นักการเมืองเหล่านี้เลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจไปสู่การยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง นอกจากนี้ยังไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการทางคดีอาญา
"จนเวลาผ่านไปเนิ่นนานอัยการสูงสุดก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ ได้แต่ถ่วงเวลาเอาไว้กระทั่งจะมีการลงมติแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่สาม อัยการสูงสุดก็ยังเพิกเฉย ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 5 สำนวนเอาไว้จากการกระทำของอัยการสูงสุดที่ล่าช้า และเมื่อศาลรับธรรมนูญรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยแล้ว อัยการสูงสุดเพิ่งจะให้ความเห็นว่าไม่มีมูล แล้วจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขยายอำนาจของอัยการ ให้เหนือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งๆ ที่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยในส่วนของอัยการ"
กล่าวคือ ไม่ได้ต่างจากการทำตัวเป็นศาลเตี้ยของอัยการ เพราะไม่ได้มีการเรียกผู้ร้องมาสอบแม้แต่คนเดียว สิ่งที่อัยการทำได้ก็คือมานั่งกางหาข้ออ้างตามรัฐธรรมนูญให้ฟังดูน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่กรณีนี้ไม่ได้ให้อำนาจอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาส่งฟ้องหรือไม่เหมือนคดีอาญาอื่นๆ ยังไม่ต้องมองในข้อกฎหมายด้วยซ้ำ
ทั้งที่ความจริงแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ร้องเรียนไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ก็ไม่ทราบได้ว่าองค์กรอย่างอัยการไปมัวมุดหัวทำอะไรกันอยู่ตั้งนมนาน ถึงได้เพิ่งจะมารีบพิจารณาหลังศาลรับคำร้องแล้วแถม อ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ที่ล่าช้าเพราะสภาไม่ส่งเรื่องให้ ที่ตลกร้ายไปกันใหญ่ก็คือ แต่พอมีประเด็นที่บรรดาลิ่วล้อเพื่อไทยขับเคลื่อนเพื่อ นช.ทักษิณ ได้ไม่กี่วันจึงได้รับเรื่องและพิจารณาอย่างรวดเร็ว
แถมออกมาการันตีเข้าทางพรรคเพื่อไทยว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่นี้ จะไม่ล้มล้างระบอบการปกครองในรูปแบบเดิมและหลักการเดิม ทั้งที่เนื้อหาที่บรรดาพรรคเพื่อไทยกระสันนักหนาก็คือ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามบั่นทอนอำนาจตุลาการ เช่นอำนาจการแต่งตั้งผู้พิพากษาขึ้นอยู่กับรัฐสภา แม้แต่ลิ่วล้อเพื่อไทยยังแพลมออกมาว่าถึงกับจะแตะในหมวดของพระมหากษัตริย์ ให้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาก่อนขึ้นครองราชย์ อัยการสูงสุดยังจะมีหน้ามาแถลงรับรองให้กับผู้ถูกกล่าวหาละเอียดเสียยิ่งกว่าผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเองเสียเสร็จสรรพ
ทั้งที่ความจริงแล้ว อัยการสูงสุดไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย การกระทำครั้งนี้ละเมิดรัฐธรรมนูญชัดแจ้ง กระทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของตน แต่โดยอำนาจหน้าที่แล้วก็ไม่ควรออกมาแถลงต่อสาธารณะและต้องส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แต่ที่งามหน้าก็คือออกมาจังหวะพอเหมาะพอเจาะเป็นคุณให้แก่พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่าจะไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี หากประชาชนจะพร้อมกันตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรงเป็นธรรมของอัยการสูงสุดก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด และที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ตัวหนาๆ ก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การกระทำของอัยการสูงสุดแสดงให้เห็นว่าเอียนเอง อิงประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมืองของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้การนำของ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด
เพราะหากย้อนกลับไปดูผลงานต่างๆ ของอัยการสูงสุดก็จะเห็นภาพชัดเจนแจ่มแจ้งเลยทีเดียว ครั้งหนึ่งนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ซึ่งเคยเป็นอดีตหน้าห้อง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ถูกมอบหมายให้ดูข้อกฎหมาย โดยครั้งนั้น เป็ด เหลิมดำรงตำแหน่งเป็น รมต.สำนักนายกฯ กำกับดูแล อสมท. พร้อมถูกกล่าวหาว่าเข้าไปแทรกแซงการเสนอข่าว และมีปัญหาขัดแย้งกับกลุ่มทหาร เป็นเหตุผลหนึ่งที่ รสช.ทำรัฐประหาร ปี 2534
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานอันเอกระอุในอดีต ปี2544 ไม่สั่งฟ้องอาจหาญและวันเฉลิม อยู่บำรุงในกรณีไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารและปลอมแปลงใบ สด.43 โดยอ้างว่า ผลการตรวจสอบลายเซ็นของคณะกรรมการฯ มีลักษณะเดียวกันกับลายเซ็นของคณะกรรมการฯที่เซ็นไว้ในใบ สด.43 ใบอื่นๆ จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าใบ สด.43 ของผู้ต้องหา เป็นของจริง
และผลงาน มีคำสั่งไม่ฎีกาคดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พจมานและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน กรณีจงใจเลี่ยงภาษีบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่นจำกัด มูลค่า 546 ล้านบาท
ไม่สั่งฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กรณีออกมติ ครม.สนับสนุนการลงนาม ในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้ ปปช.ต้องยื่นฟ้อง นายนพดลเอง
นอกจากนี้ ระหว่างเป็นรองอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะทำงานติดตามตัว นช.ทักษิณ ผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในไทย แต่ผลก็รู้ๆกันอยู่ว่า ปัจจุบัน นช.ทักษิณ ก็ยังบินเป็นนายกฯผลัดถิ่น อยู่ในขณะนี้
ตามต่อมาด้วยคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกอีกหลายสิบคน อาทิ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม-ศรีสุข จันทรางศุ อดีตประธานบอร์ด ทอท.และบทม. โดย คตส.ชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จนต่อมาได้โยนไม้ต่อให้ ป.ป.ช.ทำคดีต่อ แต่แล้วอัยการสูงสุดก็เกิดขึ้นมางัดข้อว่าไม่ควรจะสั่งฟ้องอีกตามเคย
ไม่หมดแค่นั้นอัยการสูงสุดยังมีความเห็นแย้งกรมสอบสวนคดีพิเศษในยุคของนายสุนัย มโนมัยอุดม เป็นอธิบดีดีเอสไอ ที่มีหลักฐานสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ, คุณหญิงพจมาน ชินวัตร, อดีตผู้บริหารบางคนของบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในข้อหาอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ขณะเดียวกัน ล่าสุดสดๆร้อนๆ เหมือนจะเพิ่งตื่น ผีเข้าหรืออย่างไรไม่ทราบได้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มอบหมายให้พนักงานอัยการนำสำนวนพยานหลักฐานจากการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 150 แฟ้ม 17 ลัง ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1, นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวก รวม 27 ราย
สำหรับคดีนี้กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 27 คน ใช้อำนาจสั่งให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้ลูกหนี้จำนวนเงิน 9,000 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตจากสำนวนการสอบสวนของ คตส. ว่า การปล่อยกู้วงเงินดังกล่าว เป็นการปล่อยกู้ที่ผิดหลักเกณฑ์ เพราะมีหลักฐานว่า ธนาคารกรุงไทยเองก็มีการจัดเรตติ้ง ให้ลูกหนี้รายดังกล่าวให้สินเชื่อไม่ได้ จึงเชื่อได้ว่าอาจมีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อขอกู้เงิน
ทั้งยังมีการกระทำผิดขั้นตอนการรีไฟแนนซ์ ปกติที่ต้องจ่ายเงินไปที่เจ้าหนี้โดยตรง แต่กลับจ่ายเช็คไปที่ลูกหนี้ที่มีจำนวนหลายรายแทน และตามปกติการที่ธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ที่มีวงเงินสูงเกือบหลักหมื่นล้านบาทนั้น เหตุใดจึงไม่กระทำที่สาขาใหญ่ของธนาคารเพราะต้องผ่านการเห็นชอบเป็นมติฯจากบอร์ดชุดใหญ่ แต่กลับไปทำกันที่สาขาย่อยแทน ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้น่าเชื่อได้ว่า มีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง
ดังนั้น เมื่อมองการทำงานที่ผ่านมาของอัยการสูงสุดแล้ว อย่าได้แปลกใจหากประชาชนจะตั้งคำถาม ท่ามกลางคำครหาว่าเหตุใด ทำไมเพิ่งจะมาสั่งฟ้องเอาเวลานี้ แถมยังใช้เวลาพิจารณาสำนวนนานกว่า 4ปี หรือจะเป็นการเป่าคดีด้วยการทำสำนวนให้อ่อน เพื่อให้คดีตกไปด้วยหรือไม่ แต่เชื่อเถิดว่าประชาชนน่าจะมีคำตอบอยู่ในตัวเองแล้วว่ายุคนี้ใครใหญ่และอัยการสูงสุดเป็นทนายแผ่นดินหรือทนายของตระกูลใคร