xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ซัด อสส.เป่าคดีล้มล้าง รธน.ไร้กฎหมายรองรับ-แฉพฤติกรรมอัยการไม่น่าไว้ใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประพันธ์” ชี้ อสส.ยุติคดีล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ส่งต่อให้ศาล รธน. โดยไร้กฎหมายรองรับ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบยื่นฟ้อง-ถอดถอนอัยการได้ เตือนเสื้อแดง-เพื่อไทยโห่ร้องหนุนอัยการจะพากันเข้ารกเข้าพง แฉอัยการชุดนี้พฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ สมคบคิดคนในรัฐบาลทำมาหากิน และต้องคดีร่วมกัน จึงพยายามกระโดดออกมาช่วยทักษิณ

นายประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 กล่าวในรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ถึงกรณีที่อัยการไม่ส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายการล้มล้างรัฐธรรมนูญว่า อัยการสูงสุดได้ใช้วิธีการตามประมวลกฎหมายอาญาในการวินิจฉัยและตัดสินใจที่จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่อัยการไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้น เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ได้เขียนบทบัญญัติใดให้อัยการสูงสุดไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้ในการพิจารณาสั่งคำร้องนี้

รายละเอียดคำต่อคำ นายประพันธ์ คูณมี กล่าวในรายการ“สภาท่าพระอาทิตย์”มีดังนี้

“...ทีนี้มาถึงประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นใหญ่ ประเด็นสำคัญ คือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้รับคำฟ้องของคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีลักษณะเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และเมื่อได้เสนอคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยอาศัยมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ให้รับคำร้อง และได้มีคำสั่งให้สภาได้ชะลอการดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ซึ่งกระบวนการตรงนี้ได้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันหลากหลาย ทั้งในทางวิชาการ ในทางกฎหมาย แต่ที่ร้ายแรงและที่สำคัญที่สุดก็คือว่า พรรคและกลุ่มขบวนการทางการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะพรรครัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มมวลชนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกำลังมวลชนจัดตั้งของพรรครัฐบาลนั้น กำลังดำเนินการในวิถีทางที่ส่อเจตนาให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญจริงๆ และไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ โดยพยายามที่จะใช้เครือข่ายของมวลชนมาชุมนุมกดดันทางการเมือง และจะลากถูไปตามทิศทางที่ตัวเองต้องการ แต่นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องของวิถีทางทางการเมือง และเป็นพฤติกรรมปกติของคนพวกนี้อยู่แล้ว ที่เมื่อใดที่คำวินิจฉัยของศาลไม่เป็นที่ถูกใจของตัวเอง พวกนี้ก็จะออกมาด้วยวิธีการแบบนี้

แต่ถ้าศาลตัดสินคดีใดให้ตัวเองได้ประโยชน์ เช่น ก่อนหน้านี้พรรครัฐบาล พรรคเพื่อไทย ได้เสนอพระราชกำหนด ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่จะนำเงินคงคลังมาใช้บ้าง ที่จะผลักภาระหนี้สาธารณะให้กับประชาชน ให้กับเงินคงคลังของประเทศบ้าง กู้เงินโดยไม่มีรายละเอียดทั้งหลายทั้งปวง สมาชิกวุฒิสภา ส.ส. เข้าชื่อกันยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะออกพระราชกำหนดดังกล่าวนี้ได้ เมื่อไม่มีพฤติกรรมที่จะส่อไปในทางทุจริต หรืออย่างใด ศาลก็เลยเห็นว่ายกคำร้อง คนพวกนี้ก็ดีใจว่าศาลยุติธรรม ขอบคุณศาลใหญ่ ขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญใหญ่

แต่มาวันนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีขบวนการที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ และแสวงหาอำนาจ หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแบบนี้ มันก็เท่ากับล้มล้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงประชามติมา รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่จะยุบ ลดอำนาจ ครอบงำ บรรดาศาลและองค์กรอิสระทั้งหลาย ตามท่าที ตามพฤติกรรม การกระทำของคนพวกนี้ที่แสดงออกมาโดยตลอด

เมื่อมันมีเหตุและมีการกระทำแบบนี้ ประชาชนที่เขาเห็นว่าการกระทำแบบนี้ของฝ่ายการเมือง หรือสมาชิกรัฐสภานั้น น่าจะไม่ใช่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ อันมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เขาก็ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่ออัยการด้วย และก็ยื่นคำร้อง เมื่ออัยการไม่ส่ง เขาก็ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

บัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย โดยสั่งให้รับคำร้องไว้แล้ว และสั่งให้สภาชะลอการประชุม ปัญหาก็คือคนพวกนี้ออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะอย่างนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีสิทธิ์ที่จะชุมนุม กระทำได้หรือไม่ เพื่อที่จะล้มล้างคำวินิจฉัยของศาลนั้น ผมก็คิดว่าอันนี้ 1. ทำไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องถือว่ามีผลผูกพันองค์กร บุคคล เพื่อให้ปฏิบัติตาม และถือว่าถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องถือว่าเป็นที่สุด และศาลรัฐธรรมนูญนั้นเขาวินิจฉัยคดีเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของศาล

ทีนี้มีปัญหาว่าพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล และสมาชิกพวกเสื้อแดง กำลังกระทำการในลักษณะที่จะไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาล และก็ใช้การประชุม การชุมนุมทางการเมือง และการประชุมวันนี้ดูว่าจะดึงดันไปหรือไม่ อย่างไร

ดูว่ายังไม่มีน้ำหนัก ก็เลยไปดึงเอาอัยการสูงสุดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในการที่จะสนับสนุนเหตุผลของตัวเองในการใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะเคลื่อนไหว หรือในการที่จะประชุมลงมติโดยไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาว่า คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของอัยการสูงสุดในกรณีนี้ อัยการสูงสุดกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผมคิดว่านักวิชาการกฎหมาย ผู้รู้ทางกฎหมาย ควรจะออกมาแสดงความคิดเห็นในการออกคำสั่งของอัยการครั้งนี้ เหมือนอย่างที่ท่านวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผมอยากจะรู้ว่าภูมิปัญญาความรู้ และนักกฎหมายของประเทศนี้ มันยังมีนักกฎหมายที่รักชาติ รักความถูกต้อง รักความยุติธรรมอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกัน สำหรับความเห็นของผมนะ เราพูดในประเด็นข้อกฎหมายก่อน ความเห็นของอัยการสูงสุดที่ได้สั่งคดีนี้และให้คุณวินัย ดำรงมงคลกุล โฆษกอัยการ ออกมาแถลงว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นอำนาจ มี 2 ประเด็น ถือว่า 1. การที่อัยการจะสั่งฟ้อง หรือส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือว่าเป็นอำนาจของอัยการที่จะกระทำได้ และยังวินิจฉัยไปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้เป็นการใช้สิทธิ์เสรีภาพ หากแต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งมีการแยกหมวดในรัฐธรรมนูญชัดเจน และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอำนาจรัฐ ไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่เป็นการกระทำซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงให้ยกคำร้อง

ประเด็นนี้มันมีปัญหาว่า 1. อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งคำร้องนี้หรือไม่ 2. มีอำนาจจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคำร้องที่ประชาชนมายื่นนี้หรือไม่ และ 3. อัยการมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเพื่อทำให้เรื่องนี้ยุติโดยไม่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ซึ่งความเห็นของผมแล้ว ตามมาตรา 68 อัยการสูงสุดไม่มีอำนาจที่จะมีคำสั่งเช่นนี้ได้ เหตุผลก็คือว่า กรณีที่จะให้อัยการมีอำนาจ กฎหมายจะเขียนไว้ ให้อำนาจอัยการ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เวลาประชาชนไปแจ้งความกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน สอบสวนสรุปข้อเท็จจริง และสรุปสำนวน ทำความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งความเห็นนี้มาให้พนักงานอัยการ และอัยการตรวจสำนวนเห็นแล้วจะสั่งให้สอบเพิ่มเติม หรือจะสั่งเห็นชอบด้วยกับพนักงานสอบสวน กฎหมายก็จะเขียนบัญญัติเอาไว้ว่าให้อัยการมีอำนาจสั่งอย่างไร สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง ถ้าสั่งฟ้องก็นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลและดำเนินคดี ถ้าสั่งไม่ฟ้องก็ส่งความเห็นกลับไปที่พนักงานสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นยืนยันว่าความเห็นนี้ควรจะสั่งฟ้อง และความเห็นแย้งกับพนักงานอัยการ เขาก็ส่งเรื่องไปให้อธิบดีตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็น ถ้าอธิบดีตำรวจมีความเห็น ก็จะส่งมาที่อัยการ แต่ให้ถือความเห็นของอัยการสูงสุด ตอนนี้จะเป็นอัยการสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยและมีคำสั่งชี้ขาดให้เป็นที่สุด

นี่เป็นกระบวนการพิจารณากฎหมายความผิดคดีอาญาทั่วไป ซึ่งกฎหมายได้เขียนให้อำนาจอัยการไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นี่เขียนไว้ชัดเจน

เพราะฉะนั้นในเรื่องคดีดังกล่าวจึงเกิดเรื่องอย่างที่คุณโสภณพูด หลายเรื่องอัยการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เช่น คดีไอ้ปื๊ด มันก็เป็นอย่างนี้ คดีเรื่องตู่ล้มเจ้า ตู่หมิ่น ก็สั่งไม่ฟ้อง หลายเรื่องที่คนเห็นว่าคดีฆ่าหมอผัสพร ก็สั่งไม่ฟ้อง การสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง ในกรณีนั้นมันเป็นคดีอาญา ทั้งๆ ที่สั่งโดยขัดต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก ประชาชนก็ยังไม่ได้ตรวจสอบและดำเนินการกับอัยการ เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อย่างไรก็ดี ผู้เสียหาย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะฟ้องอัยการในกรณีที่เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบก็ได้ หรือจะยื่นเรื่องถอดถอนตามรัฐธรรมนูญก็ได้ ถ้าเห็นว่าคำสั่งนั้นทำให้เขาได้รับความเสียหาย กฎหมายก็ออกแบบนี้ไว้ และอัยการก็เคยถูกสั่งฟ้องในเรื่องการใช้ดุลพินิจแบบนี้

คือเคยมีเรื่องกรณีที่รถชนกัน แล้วอัยการไปมีคำสั่งไม่ฟ้องอีกฝ่ายหนึ่งโดยเจตนาช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้เสียหายเขาไปฟ้องศาล ศาลลงโทษอัยการ ตัดสินจำคุกนะครับ ถึงศาลฎีกาเลย มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฉะนั้นหลายเรื่องที่อัยการใช้ดุลพินิจไปในทางที่ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้เสียหาย เขาฟ้องได้

ทีนี้มาถึงกรณีของคดีนี้ คดีศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผมบอกว่าอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจนั้น เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ได้เขียนบทบัญญัติใดให้อัยการสูงสุดไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้ในการพิจารณาสั่งคำร้องนี้ นี่ประการที่ 1 ไม่เหมือนกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เขาให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดในการพิจารณาคดีได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงออกข้อกำหนดในการพิจารณาคดีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า เวลารับดำเนินคดี จะไต่สวนคดียังไง จะสั่งคดียังไง กระทำอย่างไรบ้าง ก็จะมีออกข้อกำหนด และกรณีใดไม่มีในบัญญัติไว้ในข้อกำหนด ก็ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ประกอบในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากอัยการ

ทีนี้อัยการ ในมาตรา 68 จะเห็นได้ว่า เขาให้อัยการ มาอ่านมาตรา 68 ก่อนเราจะได้เข้าใจว่าเขาบัญญัติไว้ว่าอย่างไร แล้วทำไมผมถึงบอกว่ามันไม่มีกฎหมายที่บัญญัติให้คุณมาใช้คำสั่งแบบเดียวกับคดีอาญาแผ่นดิน เพราะมาตรา 68 เขาเขียนไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิ์และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

วรรค 2 ในกรณีที่มีบุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรค 1 ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว


เห็นไหมครับในวรรค 2 บอกว่า ในกรณีที่มีบุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทำการแบบนั้น ผู้ทราบการกระทำ ใครก็ได้ที่เป็นผู้ทราบการกระทำนี้ สามารถมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้อง ให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้อง ให้ศาลมีคำวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ด้วยวรรค 2 นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า อัยการมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นส่งศาลเท่านั้น ขณะเดียวกัน ผู้ยื่นคำร้องก็มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน เพราะในบทบัญญัติวรรค 2 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอัยการว่าสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง จะยื่นก็ได้ หรือไม่ยื่นก็ได้ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาล และไม่มีหมวดวรรคไหนเลยที่บอกให้คุณมีอำนาจในการสั่ง ว่าเห็นสมควรว่าจะยื่นคำร้องหรือไม่ หรือไม่ยื่นคำร้อง เพราะในการที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจ ตามวิถีทางที่มิได้บัญญัติตราไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะมีการกระทำอย่างนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่อัยการมาสรุปและวินิจฉัยเอาเอง เพราะศาลจะสั่งและวินิจฉัยเช่นนั้น ศาลจะมีกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายเสียก่อน

กรณีนี้อัยการยังไม่ได้ไต่สวนอะไรเลย ยังไม่ได้สอบสวนอะไรเลย และเขาไม่ได้ให้อำนาจอัยการมาไต่สวนข้อเท็จจริง ให้รวบรวมข้อเท็จจริงตามที่มีผู้มาร้องนั้น เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ ในวรรคที่ 2 และวรรคที่ 3 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลว่า ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นก็ได้ นี่เป็นวรรคที่ 2 หรือในกรณีที่มีการสั่งยุบพรรคนั้น ก็จะเพิกถอนสิทธิ์หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารได้

ขณะที่การกระทำความผิดตามวรรค 1 เป็นระยะเวลา 5 ปี ฉะนั้นศาลมีสิทธิ์ที่จะสั่งให้ระงับ หรือเลิกการกระทำนั้นได้

ทีนี้ นอกจากกฎหมายมาตรา 68 นี้ มันแตกต่างจากหมวดอื่นๆ ถ้าเราจำได้ หมวดอื่นๆ ว่าด้วยเรื่องคดียุบพรรค ถ้าพรรคการเมืองกระทำความผิด มีการทุจริต หรือกระทำผิดกฎหมาย กกต. นายทะเบียนเห็นว่าสมควรยุบพรรคการเมือง ก็จะส่งเรื่องมาที่อัยการเหมือนกัน ถ้าเรื่องใดเขาจะให้อัยการ เขาจะเขียนไว้ว่า ถ้าอัยการมีความเห็นแตกต่างจาก กกต.ก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม เห็นไหมครับ เขาจะเขียนไว้ในกฎหมายว่าให้ตั้งกรรมการร่วม และถ้าหากว่ากรรมการร่วม 2 ฝ่าย ไปทำงานร่วมกันภายใน 30 วัน แล้วมีความเห็นตรงกัน ก็ยื่นฟ้อง แต่ถ้ามีความเห็นต่างกัน กกต.เห็นว่าควรยุบพรรคนี้ แต่อัยการบอกว่าไม่ควรยุบ เขาก็ถือเอาคำชี้ขาดของ กกต.ยื่นเองได้เลย

กรณีทุจริตก็เช่นกัน ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุจริต ป.ป.ช.ยื่นเรื่องมาที่อัยการ ให้อัยการดำเนินการฟ้องต่อศาลคดีอาญาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหมือนคดีหวย คดีกล้ายาง คดีซีทีเอ็กซ์ คดีอะไรก็แล้ว คดียึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน ก็แล้วแต่ ถ้า ป.ป.ช.เขาส่งเรื่องมา แล้วอัยการมาตรวจสอบสำนวนแล้วเห็นว่าไม่ควรสั่งฟ้อง กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี เขาจะเขียนไว้ว่าให้ตั้งกรรมการร่วม แล้วถ้าหากว่าคณะกรรมการร่วมไปทำงานแล้ว โต้แย้งกันแล้ว ป.ป.ช.เห็นอย่างหนึ่ง อัยการเห็นอย่างหนึ่ง อัยการเห็นไม่ฟ้อง ป.ป.ช.เขาก็ไปตั้งทนายยื่นฟ้องได้เอง เขาจะเขียนไว้แบบนี้ กฎหมายบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญก็จะบัญญัติไว้ แม้กระทั่งเรื่องพระราชกำหนด เมื่อไปยื่นคำร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญ ให้อัยการยื่น อัยการไม่ยื่น เขาก็ไปยื่นเองได้

พิธีกร- ในมาตรานี้ยังมีเพิ่มเติมอีกไหม

แต่มาตรา 68 ไม่มีบทบัญญัติแบบนั้นไว้เลย ไม่มีบทบัญญัติว่าให้อัยการไปตั้งกรรมการร่วม หรือให้อัยการมีอำนาจสั่ง และในกรณีปฏิบัติตามมาตรา 68 ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าให้อัยการไปออกข้อกำหนด หรือออกระเบียบในการพิจารณาเรื่องนี้ ตามอำนาจของอัยการ

เพราะฉะนั้นกรณีมาตรา 68 นี้ จึงเป็นมาตราที่เขียนไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ผู้มีสิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และสิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี่เป็นสิทธิที่สูงกว่าอำนาจของอัยการที่จะมาสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องยับยั้ง เพราะสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญสูงกว่าดุลพินิจของอัยการที่จะมาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เขาจึงไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอัยการไว้ อัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งเพื่อปิดกั้นสิทธิประชาชน เพราะสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิทธิของมหาชน เพื่อปกป้องกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ จะให้อัยการเพียงคนเดียวมาสั่งเพื่อตัดสิทธิ์ประชาชนนั้นไม่ได้ แตกต่างจากกรณีที่อัยการมีอำนาจสั่งคดีในคดีอาญา อัยการจะไปเอากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือเอาอำนาจของตัวเองที่เคยปฏิบัติในคดีอาญาทั่วไป มาใช้กับกรณีคดีล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้

ด้วยเหตุประการฉะนี้ ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ผมพูดมา การที่อัยการมามีคำสั่งว่าการกระทำนี้มันไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น เป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ใช่ แต่เมื่อสิทธิ์นั้นเป็นการกระทำโดยล้มล้างรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง กระทบกระเทือนต่อสิทธิมหาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิที่จะพิทักษ์การล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้ และผู้จะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตัวอัยการ

เพราะฉะนั้นการกระทำหน้าที่ของอัยการในเรื่องนี้ จึงเป็นการกระทำหน้าที่โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจเอาไว้ เป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเขามีสิทธิ์ที่จะยื่นฟ้องและดำเนินคดีกับอัยการได้ ว่าคำร้องที่เขายื่นไปนี้ คุณไม่มีอำนาจที่จะมาสั่งกัก ไม่ให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการที่คุณใช้อำนาจสั่งเช่นนี้ เป็นการสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนอกอำนาจ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจคุณไว้ ถ้าคุณยังดึงดันที่จะทำเช่นนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบย่อมสามารถที่จะกล่าวโทษ ฟ้องร้อง และยื่นถอดถอนอัยการได้

สุดท้ายก็คือว่า ประเด็นนี้ การที่สังคมทั้งหลาย กลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยทั้งหลาย จะอ้างเอาคำวินิจฉัยของอัยการมาเป็นข้ออ้างของตัวเองในการเดินหน้าการประชุมก็ดี ในการเดินหน้าที่จะชุมนุม ไม่ฟังเสียงศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และคำวินิจฉัยของอัยการนั้น ไม่สามารถเป็นยันต์กันผี หรือเป็นหลักกฎหมายรองรับได้ เพราะอัยการเป็นเพียงความเห็น แล้วในเรื่องนี้คนที่มีความเห็น และมีผลทางกฎหมายนั้นคือศาล เพราะฉะนั้นหากรัฐสภาจะเดินหน้าในการประชุม กลุ่มคนเสื้อแดงจะดึงดันในลักษณะที่จะสนับสนุนการกระทำของสมาชิกรัฐสภาในลักษณะอย่างนี้ มันก็เท่ากับสมคบกันเพื่อกระทำการอันเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเจือสมกับพฤติกรรมที่จะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นั่นเอง เพราะอัยการ ไม่ว่าในคดีอาญา หรือคดีใดก็ตาม เป็นเพียงความเห็น คนที่จะมีอำนาจชี้ขาด อยู่ที่ศาลเป็นผู้ตัดสิน และกรณีคดีเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นี้ เป็นเรื่องของคดีทางการเมืองที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิมหาชน ไม่ใช่เรื่องคดีอาญาทั่วไป ที่จะทำให้อัยการมีอำนาจ

เพราะฉะนั้นด้วยเหตุผลที่ผมอธิบายมาทั้งหมด เดี๋ยวจะไปเรียบเรียงให้เห็นว่ามีบทรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง มาอธิบายให้ฟังว่า กรณีที่เขาให้อำนาจอัยการ เขาจะเขียนเอาไว้ ทุกบทที่ผมพูดมา ถ้าผู้ใด ผู้รู้ นักกฎหมายที่เก่งกว่าผม ผมขออัญเชิญให้มาโต้แย้งกับผมได้ว่า ท่านช่วยกรุณาเอาบทกฎหมายมาให้ผมดูหน่อยว่าอัยการมีอำนาจสั่งเรื่องนี้ได้เพราะเหตุใด

ฉะนั้นการที่จะไปไชโยโห่ร้องสนับสนุนอัยการนั้น เท่ากับไปสนับสนุนผู้กระทำความผิด สนับสนุนคนที่ไม่มีอำนาจ แล้วก็จะพากันเข้ารกเข้าพง กลายเป็นว่าบ้านเมืองนี้ไม่ยึดกฎหมาย อัยการก็พลอยเป็นกับเขาไปด้วย นี่ยังไม่นับเรื่องส่วนตัวนะ ว่าอัยการชุดนี้มีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างไร ซึ่งเดี๋ยวค่อยพูดกันก็ได้ เบรคตรงนี้ไว้ก่อนว่า บรรดาอัยการสูงสุดอย่างนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ก็ดี นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ได้ไปนั่งเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพฤติการณ์ที่สมคบคิดกับบรรดาพวกพรรครัฐบาลนี้ ทำมาหากิน และต้องคดีร่วมกันมาอย่างไรบ้าง มันจึงมีพฤติกรรมแบบนี้ จึงพยายามกระโดดออกมาเพื่อจะช่วยทักษิณ และช่วยพวกเสื้อแดงด้วยพฤติกรรมแบบนี้

พิธีกร- ถ้าดูตามมาตรา 68 แล้ว มันก็เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอัยการก็ต้องอ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 68 นั่นก็แสดงว่ามีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ประยูร อัครบวร- ถ้าเราดูพฤติกรรม เราถือเป็นมรดกของทัศนคติของกลุ่มนักกฎหมายที่ถูกเรียกว่าอัยการ เป็นนักกฎหมายก็เสียงเดียว สมองเดียว ความคิดเดียว พฤติกรรมต่อเนื่องมาเราเห็นแพตเทิร์นชัดเจนว่าเขาเหล่านี้มีแนวคิด ทัศนคติอย่างไรบ้าง เราต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างไรบ้าง และเขามีพฤติกรรมอย่างไรบ้างในการช่วยกลุ่มที่ละเมิดกฎหมาย กระทำความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่ติดตาม ไม่สนใจติดตามเอาตัวคุณทักษิณมา ก็ตาม เพิกเฉยนะ ไม่สนใจนะ อัยการฝ่ายต่างประเทศอะไรก็แล้วแต่ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แม้จะมาในลาว กัมพูชา ก็ตาม เพราะฉะนั้นโดยรวมองค์กรนี้ โดยพฤติกรรมจะเป็นมรดกสืบทอดกันมา ทั้งด้านทัศนคติ และพฤติกรรมมาโดยตลอด ไม่มีความน่าเชื่อถือในแง่ของการกระทำที่ช่วยเหลือผลประโยชน์ของประชาชนแม้แต่น้อย

พิธีกร- เดี๋ยวในด้านพฤติกรรมเรากลับมาพูดกันต่อนะคะ เพราแต่ละคนสิ่งที่แสดงออกมา ผลที่ออกมา มันก็คือส่อให้เห็นถึงเจตนาและสิ่งที่เขาต้องการ ว่าเขามีเป้าหมายไปทางไหน

ประยูร อัครบวร- คือหลายครั้งเขาอธิบาย ให้เหตุผล เพื่อที่จะไม่ทำอะไรบางอย่าง หรือทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ใช่ผลประโยชน์ประชาชนโดยรวม อัยการก็พอมีดีอยู่บ้างหลายคนนะ แต่คนเหล่านี้ไม่มีโอกาส ไม่มีวาสนาได้ขึ้นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนั้น และการดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนี้เป็นมรดกบาปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกระหน่ำซ้ำเติมเคราะห์กรรมของบ้านเมืองนี้ คนดีๆ แทบไม่มีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุดเลย หรือพอจะมีดูดี ก็กลายเป็นเปลี่ยนสี เปลี่ยนท่าทีไป เหมือนกันหมด ทุกวันนี้กลายเป็นว่าสังคมโดยทั่วไปต้องยอมแม้กระทั่งว่า คนดีไม่มีโอกาสได้นั่งตำแหน่งสำคัญที่สามารถที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองให้รอดพ้นจากการคุกคามของกลุ่มอาชญากรทั้งเสื้อนอก และสารพัดกลุ่มหลากประเภทที่กำลังคุกคามบ้านเมืองตอนนี้

พิธีกร- หลายท่านคงอยากร่วมแสดงความคิดเห็น ก็กด N1 เว้นวรรค ตามด้วยข้อความ ส่งมาที่ 4850770 พักกันก่อนสักครู่ ช่วงหน้าเราฟังมุมการวิเคราะห์จาก อ.ประยูร รวมถึงคุณประพันธ์ด้วย

ช่วงที่ 2

พิธีกร- คุยกันต่อช่วงที่ 2 ของสภาท่าพระอาทิตย์ คุณประพันธ์ คูณมี ดร.ประยูร อัครบวร คุณโสภณ โองการ เมื่อสักครู่เราคุยกันถึงว่า อะไรที่อัยการสูงสุดทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าเขาให้ทำอะไรบ้าง จะบัญญัติมา

ประพันธ์- เพื่อความสมบูรณ์ในเรื่องนี้ ท่านผู้ชมจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไปด้วยพร้อมกัน ก็ขอรบกวนเวลา อ.ประยูร ก่อนที่เราจะไปพูดเรื่องประเด็นทางการเมือง

เมื่อสักครู่ผมได้ยกตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า กรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 นั้น เป็นเรื่องของการให้สิทธิ์ประชาชนเจ้าของประเทศ มีอำนาจในการที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันผู้ใดผู้หนึ่ง พรรคการเมืองใด ที่จะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือมาแสวงหาอำนาจทางการเมืองการปกครอง โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฉะนั้นเขาจึงถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ และเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของคนทั้งแผ่นดิน บุคคลใด หรือพรรคการเมืองใด จะมาล้มล้างเจตนาของเขาโดยง่ายๆ นั้นมันไม่ได้ ถ้าให้อำนาจอัยการมาสั่งอย่างนี้ อัยการก็อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเลย อยู่เหนืออำนาจของประชาชนเลย อัยการก็เป็นพ่อเทวดาเลย เป็นมนุษย์ทองคำเลย ทั้งๆ ที่อัยการเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง เป็นนาย ก. นาย ข. นาย ค. คนหนึ่งเท่านั้น คุณจะมาล้มล้างสิทธิ์ของมหาชนไม่ได้ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงบัญญัติไว้ในหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน หมวดว่าด้วยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ทีนี้ เมื่อกี้ผมยกตัวอย่างแล้วว่า ถ้าเขาจะให้อำนาจอัยการสั่งคดี หรือมีความเห็นในเรื่องคดี เฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทั้งหมดจะเขียนบัญญัติให้อำนาจเอาไว้ แต่ถ้าเขาไม่เขียนเอาไว้ แล้วเขาเขียนไว้อย่างมาตรา 68 ไม่ได้เขียนไว้ให้อำนาจอัยการเลย คุณจะไปตะแบง ไปดึงเอากฎหมายที่คุณมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้เหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ ศักดิ์มันต่ำกว่า และไม่ได้ให้อำนาจคุณนำมาใช้โดยอนุโลมอีกต่างหาก นี่คือในทางกฎหมาย

เพราะฉะนั้นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า กรณีใดถ้าเขาจะให้อำนาจอัยการ เขาจะเขียนเอาไว้ เขาเขียนไว้ในหมวดว่าด้วยการที่จะถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น มาตรา 270 คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้แทน อัยการสูงสุด ประธานศาลฎีกา คนเหล่านี้ถูกถอดถอนได้หมด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริต ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอัยการสูงสุดก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี พวกนี้ถูกถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ถ้ามีพฤติกรรมอย่างที่ผมว่า

ทีนี้ เมื่อมีผู้มายื่นคำร้อง จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันยื่นคำร้องได้ หรือว่าเมื่อมีผู้มายื่นคำร้องเขาก็จะเขียนเอาไว้ว่าใครบ้างที่จะมายื่นคำร้องได้ เมื่อได้รับคำร้องแล้ว มาตรา 272 เขียนไว้ว่า ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา โดยในรายงานดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาตามคำร้องข้อใดมีมูล หรือไม่ เพียงใด มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อถือได้เพียงใด พร้อมทั้งระบุข้อยุติว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

ทีนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องข้อใดเป็นเรื่องสำคัญ จะแยกทำรายงานเฉพาะข้อนั้นส่งไปให้ประธานวุฒิสภา ตามวรรค 1 เพื่อให้พิจารณาก่อนก็ได้ จะเขียนไว้ละเอียดเลย ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็น ไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และอัยการสูงสุดจะส่งไปทั้งประธานวุฒิสภา และส่งไปที่อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

แต่ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป คือถ้าให้อำนาจ ป.ป.ช.ว่าไม่มีมูล ยุติเรื่อง ก็จบ

ทีนี้ ถ้าในกรณีที่มีมูล มีรายงานส่งมาที่ประธานวุฒิสภา และส่งไปอัยการแล้ว จะดำเนินขั้นตอนอย่างไร กฎหมายก็จะเขียนไว้ นี่รัฐธรรมนูญนะครับ ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่ารายงานเอกสารและความเห็นที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งให้ ตามวรรค 4 ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้อัยการสูงสุดแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ในกรณีนี้ ก็หมายความว่าถ้าอัยการสูงสุดได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช.แล้ว ถ้าเห็นว่าไม่มีข้อสมบูรณ์ พูดง่ายๆ ภาษากฎหมายก็คือ ขอให้ ป.ป.ช.สอบเพิ่มเติมในข้อที่ไม่สมบูรณ์ 1..2..3.. นี้ ส่งกลับไป ฉะนั้นในกรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอัยการสูงสุด ก็จะตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง คือกรณีนี้ความเห็น ป.ป.ช.เขาส่งมา เขาบอกมีมูลคนส่งฟ้องแล้ว อัยการบอก เห็นว่าไม่สมบูรณ์ ควรสอบเพิ่มเติม ก็ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายเท่ากัน เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติได้ เกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีเอง หรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนก็ได้

นี่เรื่องทุจริตนะครับ เพราะฉะนั้นอัยการจะไม่มีอำนาจที่จะไปตัดอำนาจของ ป.ป.ช. เมื่อเขาสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงเห็นว่าการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นาย ก. นาย ข. นาย ค. มีพฤติกรรม 3-4 อย่างที่ผมว่า ส่อไปในทางทุจริต ส่อว่าผิดกฎหมาย ประพฤติมิชอบ ขัดรัฐธรรมนูญ คุณต้องยื่น ถ้าคุณไม่ยื่น ป.ป.ช.เขาก็แต่งทนายยื่นเองได้ เห็นไหมครับ ถ้าเขาจะให้อำนาจอัยการ เขาจะเขียนไว้อย่างนี้ แต่กรณีมาตรา 68 เขาไม่ได้ให้อำนาจคุณเลย นายจุลสิงห์ วสันต์สิงห์ คุณตะแบงมา เอากฎหมายฉบับไหน คุณช่วยมาอธิบายประชาชนหน่อยสิว่าคุณเอากฎหมายฉบับไหนมาอธิบายให้คุณมีอำนาจสั่ง ว่ากรณีการกระทำของพวกเสื้อแดง ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่เป็นพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มล้างรัฐบาล แสวงหาอำนาจในวิถีทางอันไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คุณเอาอำนาจกฎหมายฉบับไหนมาสั่ง แล้วใครให้อำนาจคุณ

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เขียนไว้เพียงเท่านี้ ให้คุณรวบรวมข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บอกว่าให้คุณสั่งคดีว่าถ้าเห็นว่าไม่มีมูล ให้ยุติคดี ไม่มี คุณจะมาตะแบงเอาสีข้างถู เอาหลักกูมาตัดสินคดี ซึ่งเป็นความสำคัญของชาติบ้านเมือง ผมว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรประณามอย่างยิ่งว่าบรรดาอัยการปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะตัวอัยการสูงสุด และอดีตอัยการสูงสุด มีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างไร ไม่ปฏิบัติโดยเคารพต่อกฎหมายอย่างไร มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองอย่างไร ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่คุณโสภณยกขึ้นมา และอยากให้ อ.ประยูร ได้มีส่วนในการออกความเห็นในประเด็นนี้ด้วย ส่วนในประเด็นกฎหมาย ผมคิดว่าผมได้พูดชัดเจนแล้ว ผมอยากให้บรรดากูรู ปรมาจารย์กฎหมายของประเทศไทยมาพูด ว่าอัยการเอากฎหมายไหนมารองรับการกระทำของตัวเอง ถ้ามันไม่มี อย่านั่งดูดาย ปล่อยให้นักกฎหมายพวกนี้แสวงหาประโยชน์ รับใช้นักการเมือง และมาเหยียบย่ำหลักการของประเทศ และทำให้สังคมเกิดความไม่สงบ วุ่นวาย โดยไปป่วนให้พวกคนเสื้อแดงหรือบรรดาพรรคเพื่อไทยเหิมเกริมในเรื่องที่เป็นอวิชชา แล้วทำให้สังคมหาความสงบสุขไม่ได้ ทำแต่ในสิ่งที่ผิดกฎหมาย บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อแปที่จะหาความสงบสุขได้

พิธีกร- การแถลงของอัยการสูงสุด ถ้าหากคนไม่ตามดูต่อว่าเขามีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 68 หรือไม่ ก็จะกลายเป็นว่า มันเกิดความขัดแย้งกันนะ มันต้องเชื่อทางนี้ด้วยสิ กลายเป็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่ทำเกินหน้าที่ของตัวเองไป ทำเกินหน้าที่ของตัวเองไป ช่วงหน้าเราจะกลับมาคุยกันต่อว่า พวกที่ถูกเรียกว่าอัยการ หรือเป็นทนายของแผ่นดิน กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เป็นทนายของแผ่นดินแล้ว ช่วงหน้าเรากลับมาคุยกันต่อ รวมถึงฟังการวิเคราะห์จาก อ.ประยูร ด้วย พักกันก่อนสักครู่ค่ะ

ช่วงที่ 3

พิธีกร- กลับมาช่วงที่ 3 ของสภาท่าพระอาทิตย์ โดยสนทนากับคุณประพันธ์ คูณมี ดร.ประยูร อัครบวร คุณโสภณ โองการ นะคะ ก่อนจะฟังการวิเคราะห์กันต่อ มีข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งสำหรับพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ มีผู้แจ้งว่า นัดหมายกันในเวลา 11.00 น. ประชาชนท่านใดที่จะไปร่วมให้กำลังใจ ก็ไปกันที่ศาลรัฐธรรมนูญเวลา 11.00 น. และมีหนังสือดีๆ ที่จะมาแนะนำให้คุณผู้ชม และคุณผู้ฟัง ได้เลือกซื้อเลือกหา ทั้งอ่านเอง รวมถึงเป็นสมาชิกอุปถัมภ์ นี่คือนิตยสารธรรมลีลา ในเล่มล่าสุดนี้หน้าปกคือเจมี่ บูเฮอร์ คนนี้เคยเป็นทูตพุทธชยันตี และมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทำบุญแบบไหนที่ได้อานิสงส์แรง และอย่ามองข้าม 9 อาการเจ็บปวด คือนอกจากดูแลทางด้านจิตใจแล้ว สุขภาพกายเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่ง รับมือใบโพลาร์ โรคของคนอารมณ์สองขั้ว คุ้นๆ นะคะ ผู้นำหญิงบางประเทศบอกเคยรักษาโรคนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของธรรมะที่พลิกชีวิตอดีตเด็กเกเร สู่การเป็นยอดนักวิทยาศาสตร์ ธรรมะช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง สมัครสมาชิกได้นะคะ สมัครสมาชิกธรรมลีลาปีละ 550 บาท จะสมัครให้กับตัวเองและครอบครัว หรือจะเป็นสมาชิกอุปถัมภ์ให้กับพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี วัด สำนักสงฆ์ สถานปฏิบัติธรรม โรงเรียน ห้องสมุด เรือนจำทั่วประเทศ และผู้เคารพนับถือได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-629-2211 ต่อ 2122 และ 2123

มาถึงตอนนี้ เมื่อสักครู่เราคุยกันถึงการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุด มีความเห็นที่ผ่านเข้ามาทางเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และมีผู้ที่เห็นด้วยจำนวนมาก บอกว่าอัยการสูงสุดเปรียบไปก็คือกาฝาก หรือไส้ติ่งของสังคมไทยโดยแท้ คือไม่มีประโยชน์อะไรต่อองคาพยพ นอกจากจะใช้เงินภาษีของคนส่วนรวมทั้งหมดไปกับการจุนเจือพวกเขากันเอง หน้าที่ที่แท้จริงที่กำหนดไว้สวยหรู ว่าเป็นทนายของแผ่นดิน ไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างแท้จริง นอกจากการอำนวยความสะดวกด้านกฎหมายให้นักการเมือง หรือไม่ก็ไปเป็นกรรมการบริษัทร่วมทุน หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็เป็นการหาเงินเข้าพกเข้าห่อ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไม่รู้จักละอายใจ เดี๋ยวให้ อ.ประยูร ร่วมกันวิเคราะห์กันต่อ นี่คือปัญหา เป็นอีกกลุ่มคนปัญหาของสังคม และสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย เชิญ อ.ประยูร

ประยูร- ประเด็นแบบที่คุณประพันธ์พูด ผมว่า ถ้าจะบอกว่าทำลายล้างระบอบการปกครอง อัยการกำลังทำ โดยละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพราะว่าที่บอกว่ามาตรา 68 ที่คุณประพันธ์อธิบาย อัยการมีหน้าที่รวบรวมและไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้บอกว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ยื่น คือถ้าบอกว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ยื่น มันก็ต้องบอกชัดเจนว่า คำว่าและ กับเพื่อ ก็เพื่ออัยการไปฟ้อง หรือเพื่ออัยการไปยื่นศาล แต่เมื่อใช้คำว่า และ ภาษาไทยมันตีความอย่างนี้ได้ และที่สำคัญที่สุดวันนี้ผมว่าเราต้องสวนทางกลับ เพราะเมื่อวานพรรคเพื่อไทย เมื่อคุณโภคินก็ดี วันนอร์ก็ดี หรือสุชน ชาลีเครือ ก็ดี มานั่งแถลงและก็โจมตีศาลรัฐธรรมนูญว่าใช้ฉบับภาษาอังกฤษ มีประเด็นตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญไทย ที่แปลไทยเป็นอังกฤษแล้ว เพื่อให้สากลยอมรับใช่มั้ย เพื่อให้สากลรับรู้ใช่มั้ย แล้วข้อสำคัญคือ ตราเป็นเอกสารทางราชการไทย ในเมื่อวันนี้เขาอ่านภาษาอังกฤษ มันก็ตีความได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือเจตจำนงของคนร่างรัฐธรรมนูญ และวันนี้กลายเป็นว่า เป็นศาลไทย ไปใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างไร นี่เป็นการทำให้ภาพชัดขึ้น

แต่ประเด็นสำคัญวันนี้ ผมมองว่าสังคมไทยอย่าหลงทาง วันนี้ผมว่าเราสู้กับทักษิณ สิ่งที่ระบบของเสื้อแดงทำคืออะไร 1. ทำลายระบบศาล 2. ทำลายระบบทหาร 3. ทำลายสถาบัน ซึ่งวันนี้คือหนึ่งในกระบวนการเท่านั้น ลองดูนะว่าพอศาลตัดสินว่าชะลอ ศาลเองก็ไม่ได้ตัดสินว่าให้ยุตินะ ก็ต้องมีการไต่สวน ที่คุณประพันธ์อธิบาย เมื่อไต่สวนแล้ว ก็ฟังความทั้งสองฝ่าย ก็ยังมีเวลา ถามว่ารัฐธรรมนูญนี้คุณต้องร่างให้จบ ให้เสร็จ ตามคำสั่งของทักษิณหรือเปล่า หรือถ้าชะลอไปอีกปี ถามว่าคนไทยทั้งประเทศจะตายหรือเปล่า เพราะรัฐธรรมนูญนี้ถ้าบอกว่ามันชั่ว ก็คือผลิต ส.ส.ชั่วๆ ในสภา วันนี้คุณฟังประชาชนหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุดเห็นไหมว่ามีกระบวนการ พอศาลตัดสินปั๊บ มีกลุ่มรัฐศาสตร์จากเกษตรฯ สมาคมรัฐศาสตร์ ชื่อธนพร นี่ก็คือเลขาฯ คือที่ปรึกษาของสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ฟ้องร้องหัวหน้าพรรค กับคุณประชัย มาเลย ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เลย ซึ่งสมาคมพวกนี้ ถามว่าคุณมายุ่งกับการเมืองได้หรือเปล่า

จากนั้น พิทูร เลขาฯ รัฐสภา ถามว่าหน้าที่คุณหรือเปล่าที่จะไปบอกว่าสภามีหน้าที่ที่จะรับหรือไม่รับ คุณมีหน้าที่คือเอกสารส่งไปทางสภา แล้วคุณจะบอกคุณเป็นนักการเมือง หรือคุณจะเป็นประธานสภาในยุคต่อไป อีกเรื่องหนึ่ง พิทูร พุ่มหิรัญ นี่คือแม่ทัพเรือ ซึ่งเป็นเตรียมทหารรุ่น 10 กับทักษิณ และเป็นเพื่อนโภคิน

ถามวันนี้ ประเด็นวันนี้ ทุกกระบวนมาทิ่มแทงศาล คือแทงอย่างมีกระบวนการ แทงให้คนเชื่อว่าศาลล้ำเส้นหลักของคนอื่น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ ซึ่งคุณวสันต์มาถามว่าใครเป็นอำมาตย์ ก็นายกรัฐมนตรีไง ซึ่งผมก็เห็นด้วย หัวหน้าอำมาตย์คือนายกรัฐมนตรี เพราะคุณสั่งการได้ทั้งประเทศ ถ้าคุณบอกว่าเป็น พล.อ.เปรม พล.อ.เปรม สั่งการได้ทั้งประเทศมั้ย มาสั่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มั้ย สั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่ได้เลย นี่คือข้อเท็จจริง ซึ่งวันนี้สังคมมันถูกบิดเบือน อัยการวันนี้เขายื่นอัยการมาตั้งกี่เดือนแล้ว อัยการก็ไม่ทำหน้าที่ แต่วันนี้กลัวตกขบวนไง เลยมาแสดงเสียหน่อย แสดงเพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่ นี่หน้าที่ของตัวเอง ตัวเองคิดอย่างนี้ แต่การที่ตัวเองคิดอย่างนี้ แบบที่คุณประพันธ์บอก คุณไปละเมิดสิทธิประชาชนหรือเปล่า คุณเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมว่าสังคมไทยต้องกลับไปตรวจสอบทั้งระบบแล้วว่า ถ้าขืนให้ระบบอยู่อย่างนี้ ประเทศไทยก็ไม่มีพื้นที่ให้เสรีชนหายใจ

คุณดูสิแต่ละคนมา พฤติกรรมแบบนี้ ผมบอกได้เลยว่าอดีตประธานสภาของประเทศไทย โภคิน พลกุล เป็นประธานสภาคนแรกใช่มั้ยที่ลงจากตำแหน่ง ทักษิณ สมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่ารัฐมนตรีที่ไหนเขาทำ

วันนอร์ นักเรียนทุนจุฬาลงกรณ์ โดย พล.อ.ประภาส ให้ไปเรียนที่จุฬาฯ ถามว่าวันนี้สำหรับแผ่นดิน 3 จังหวัดภาคใต้ วันนอร์เคยรณรงค์ให้ใช้ภาษาไทยมั้ย ถามกันชัดๆ เลย สุชน ชาลีเครือ ถามว่าคนพวกนี้อยู่ในกระบวนการของการ นี่เป็นคนหนึ่งในที่กู้เงินแบงก์บีบีซีด้วย ประเด็นคือว่า วันนี้คนเหล่านี้มา เมื่ออยู่ในกระบวนการของทักษิณ มันเลยกลายเป็นว่าคุณผิดเล็กผิดน้อย มันก็กลายเป็นเหมือนอยู่ในวงล้อม ฉะนั้นวันนี้ในการต่อสู้ เห็นมั้ยทักษิณออกมาเลย ทักษิณออกมาด่าเลย ว่าระเบียบมันเสนอรัฐธรรมนูญได้ยังไง ทักษิณเป็นนักกฎหมายขึ้นมาทันทีเลย มาด่าศาลรัฐธรรมนูญเลย ประเด็นตรงนี้ผมคิดว่าคนไทยวันนี้ 11.00 น.ถ้าไปได้ ไป ต้องให้กำลังใจคนกล้าที่มาต่อสู้และปะทะกับสิ่งเหล่านี้ เพราะวันนี้ถ้าทุกคนเฉยเมย อำนาจ เวลามันทำมันไม่ได้บอกว่ามันทำแบบนี้หรอก กรณีที่รัฐสภาของเนปาล เขาให้ ส.ส.ร.ร่างก่อน ส.ส.ร.ร่างก่อน โอเค ลดอำนาจกษัตริย์ได้ พอลดเท่ากับ 0 ก็คือล้มเลย คำว่าลดไม่ได้บอกนี่ว่าลดแค่ไหน ลด 100% ลด 1 ลด 2 มันก็ทำกันมาแล้ว ถามว่ารัฐสภาไทยจำเป็นหรือต้องหา ส.ส.ร.ตั้ง 71 จังหวัด และ ส.ส.ร.มีความรู้มากกว่า ส.ส.หรือเปล่า คุณตอบได้มั้ย คุณไม่ได้มีหลักประกัน

ที่สำคัญที่ผมบอกว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัว ตรงที่ว่าประเทศไทยวันนี้มันซื้อ ครอบอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และตอนนี้กำลังทำลายอำนาจตุลาการ ที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้มั้ย แก้ได้ ประชาธิปัตย์เขาทำให้ ส.ส.เป็นสภาโจร สภา 500 ถามว่าทำไมวันนี้คุณมีเสียงข้างมาก ทำไมคุณไม่ทำ ทำไมคุณต้องเอา ส.ส.ร.มา เพราะ ส.ส.ร.คือบัมพ์เปอร์ใหม่ ถ้า ส.ส.ร.เสนอกฎหมายอะไรมา ก็ ส.ส.ร.เสนอมา ผมมีหน้าที่โหวตอย่างเดียว ความแตกแยกในสังคมจะเกิดมากขึ้นยิ่งขึ้น คุณลองดูสิ ส.ส.ร.หาหน้าใหม่มาเลย ไปเตรียมมา 1..2..3..4..5.. อย่างน้อยวันนี้คุณเลิก ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลนี้มันเกิดทีหลัง เหมือนติ่งเหมือนกันนะ แต่ว่าตอนที่พิจารณาคดีทักษิณ คดีซุกหุ้น คุณไม่บอกว่ามันเลว นี่คือประเทศไทย วันนี้มันกลายเป็นว่าสังคมไทยอยู่ระหว่างเขาควาย สังคมนี้เขาเรียกว่าสังคมศรีธนญชัย

วันนี้การที่อัยการออกมา ทำให้เสื้อแดงฮึกเหิม ออกมา และที่สำคัญที่สุด ความชั่วร้ายที่สุดที่สื่อออกมาชี้แจง คุณเอาเจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้างรัฐ มาชุมนุม โดยเงินเดือนรัฐบาล ภาษีประชาชน แล้วก็เตรียมอาวุธ นี่คือสิ่งที่ผมว่าสังคมไทย ถ้าคุณไม่ได้กลับมาตรวจสอบนะ วันนี้สังคมไทยจะไม่เหลือพื้นที่ยืนให้เสรีชน พื้นที่ยืนให้ความถูกต้อง และประเด็นนะ ผมว่าไม่ต้องเป็นนักกฎหมายแบบคุณประพันธ์ ผมเรียนแค่วิชากฎหมาย ผมว่าแค่อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ผมว่า เหมือนเมื่อวาน อ.นิด้า อ.พิชาย ภาษานี่ จริงๆ แล้ว ภาษาไทยนะ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง ก็อย่างนี้ก็คือว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ก็คือประชาชน ก็คือประธาน ถูกมั้ย อัยการคือกรรม คือรับแมสเสจจากประชาชน แต่ท่านไม่ทำก็คือประชาชนยื่นเอง ไม่ต้องไปอ่านภาษากฎหมายหรอก เอาแบบภาษาชาวบ้าน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มันก็อยู่ในสิทธิของประชาชนชาวไทย นี่คือสิ่งที่ผมว่าคนไทยวันนี้ คุณไม่ต้องไปอ่านให้ซับซ้อน ประเด็นวันนี้คุณต้องการจะยื่นอะไร แมสเสจอะไรไปให้ประชาชน แต่ประเด็นวันนี้สิ่งที่รัฐกำลังทำ ผมว่ามันเหมือนกลลวง วันนี้เห็นมั้ยว่ามันป่วน แล้วก็ถือโอกาสทำลายเลย วันนี้ถ้าเขายื่นมาปั๊บ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นทันที และวันนี้เหมือนกัน ผมว่าในแง่ของประชาชน โดยเฉพาะนักกฎหมาย โดยเฉพาะตุลาการ คุณต้องมานั่งดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายปรองดอง คุณไปเลิกคดีได้ยังไง แล้วสมมุติว่า ถ้าแบบที่เฉลิมบอก ทักษิณไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทักษิณทำสิ่งที่กฎหมายห้าม ก็เหมือนกัน ผมไม่ได้บอกว่านิรโทษกรรม เมื่อคุณนิรโทษกรรม กรรมหนึ่งมันถูกมาแล้ว กรรมอื่นก็คืนเขาสิ แล้วทักษิณวันนี้ การโกหก โกหกนานๆ เข้าตัวเองเชื่อนะ วันนี้กลายเป็นว่าทักษิณเชื่อว่าตัวเองมีเงิน 6 หมื่นกว่าล้าน ถูกยึดไป 4 หมื่นล้าน ไปอ้าง พล.ต.จำลอง พล.ต.จำลองบอกผมไม่เคยรู้เรื่อง เห็นมั้ย นี่คือผมบอกว่าวันนี้เราอยู่สู้กับคนป่วย เมื่อคนป่วยอธิบายยังไง เราก็ต้องไปอย่างนั้น เหมือนที่คุณประพันธ์อธิบายวันนี้ ผมว่าอัยการถ้าไม่ทำตัวแบบเข้าใจกฎหมาย ก็คือทำตัวเป็นนักการเมือง

โดยในหลายๆ ประเด็นวันนี้ ประเทศเสียหายเพราะอัยการ ถ้าประเทศจะเปลี่ยนแปลงใหม่ อัยการต้องไม่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่ร่วมทำชั่วกับนักการเมือง แต่คุณเป็นอัยการแผ่นดิน คุณชนะคดี คุณกินคอมมิชชั่นไปเลย ประเทศนี้จะแก้ได้ถ้าวันนี้อัยการยังเป็นอย่างนี้ คดีอยู่ในศาลแล้ว อย่างที่คุณประพันธ์บอก คุณก็ดึงออกมาได้ โดยทำให้ทักษิณมีบุญคุณกับเจ้าอาวาสวัดธรรมกาย แล้วก็ไม่สิ้นสุด ธรรมกายเป็นที่อบรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่สารพัดกลุ่ม แล้วพวกนี้เอาเงินหลวงมาอ้างว่ามาอบรม แล้วก็มาทำชั่ว นี่คือวังวนซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นบทเรียนที่คนไทยต้องเอามาเป็นตัวอย่าง

พิธีกร- เราพักกันอีกสักแป๊บนะคะ เดี๋ยวกลับมาคุยกันต่อว่าคราวนี้จะไปอย่างไร ถ้าอัยการว่าอย่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกต้องรอไต่สวนกันก่อน แล้วจะไปอย่างไร เสื้อแดงก็ยังชุมนุมกันอยู่ แล้วเขาบอกว่ายังไงอยากจะดันเพื่อให้ผ่านวาระ 3 ไปให้ได้ พักกันก่อนสักครู่ช่วงหน้าคุยกันต่อช่วงท้ายค่ะ

ช่วงที่ 4

พิธีกร- ช่วงสุดท้ายสภาท่าพระอาทิตย์ สนทนากับคุณประพันธ์ คูณมี ดร.ประยูร อัครบวร คุณโสภณ โองการ มีข่าวประชาสัมพันธ์สำหรับหนังสือดีๆ การ์ตูนชีวประวัติพระสงฆ์ในเดือนวิสาขบูชา ลดราคา 50% จากราคาปกติ รวมแล้ว 1,052 บาท ลดเหลือเพียง 531 บาทเท่านั้น ที่ร้านเอเอสทีวีช็อป บ้านเจ้าพระยา หรือจะร่วมทำบุญจัดส่งมอบให้กับน้องๆ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือโรงเรียนถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-629-2211 ต่อ 1117 หรือ 1151 มีพุทธทาสภิกขุฉบับการ์ตูน หลวงพ่อปัญญานันทาภิกขุฉบับการ์ตูน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ฉบับการ์ตูน หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระอาจารย์มิตซูโอะ ควิสโก ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้ติดปีกให้ธรรมะ พระมหาสมปอง ธรรมะเดลิเวอรี และมีพระมหาสมปอง ธรรมะออนแอร์ เป็นการ์ตูนที่ลดราคาพิเศษ ลด 50% ซื้อเป็นของขวัญ ของฝาก ให้กับลูกหลาน หรือจะให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร หาซื้อได้ที่ร้านเอเอสทีวีช็อป

อีกหนึ่งข่าวประชาสัมพันธ์ที่แจ้ง หลายๆ ท่านก็ถามกันมาและจะเดินทางไปให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มประชาชนที่เดินทางไปก็ฝากข่าวประชาสัมพันธ์มาบอกว่า 11.00 น. หรือ 5 โมงเช้านี้ พบกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ถ้าหากว่าใครที่เคยไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด นั่นล่ะค่ะ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ทีนี้ ช่วงสุดท้าย พี่ประพันธ์ และ อ.ประยูร จะไปยังไงต่อคะ อัยการสูงสุดก็ว่าอย่างนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัย

ประพันธ์- ที่ผมกราบเรียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ความเห็นของอัยการในเรื่องนี้เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายรองรับให้อำนาจอัยการได้เลย จะสังเกตว่าในการแถลงของโฆษกอัยการสูงสุด ไม่ได้อ้างบทบัญญัติกฎหมายใดที่ให้อำนาจตัวเองในการสั่งคดีนี้เลย เป็นแต่เพียงความเห็น ความเห็นส่วนตัว ความเห็นของอัยการเท่านั้น ว่าอัยการมีความเห็นว่าอย่างนี้ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอ และไม่ใช่หลักการวินิจฉัยที่จะยึดถือเป็นบรรทัดฐานได้ และถ้าจะดูจากอำนาจของอัยการที่มีอยู่นั้น อัยการจะมีอำนาจสั่งคดีนั้น จะบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าด้วยเรื่องการสอบสวน ลักษณะที่ 2 การสอบสวนหมวดที่ 1 ว่าด้วยเรื่องการสอบสวนแบบสามัญ คือประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 ถึงมาตรา 147 จะระบุอำนาจอัยการในการสั่งคดี ระบุอำนาจของพนักงานสอบสวนในการสอบสวนคดี และทำความเห็นเสนออัยการ และอัยการจะสั่งคดีอย่างไร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะเขียนเอาไว้

เช่นเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญไม่ใช่คดีอาญาทั่วไป ที่อัยการจะมามีอำนาจสั่ง และไม่ได้อนุโลมให้อัยการเอาอำนาจของตัวเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้สั่งในคดีที่มีผู้ร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องการล้มล้างรัฐธรรมนูญก็ดี เรื่องการกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี ผู้มีอำนาจวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้ากรณีใดจะให้อำนาจอัยการสั่ง หรือสอบ หรือทำความเห็น จะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างที่ผมได้กราบเรียนท่านผู้ชมไปแล้วว่าในมาตราไหนเขาจะเขียนเอาไว้ ไม่ว่าเรื่องคดียุบพรรค คดีเรื่องตรวจสอบการทุจริต ก็จะมี

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้โดยสรุปว่า ความเห็นของอัยการในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของความเห็นที่ต้องการที่จะเสนอมา เพื่อแสดงการรับใช้นักการเมือง เพื่อที่จะผสมโรงกับพวกเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย ในการทำลายกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะดิสเครดิตและทำลายศาล มันเจือสมกับเจตนารมณ์ หรือสิ่งที่ประชาชนกล่าวหาว่าพวกนี้มีพฤติกรรมในการที่จะล้มล้างการปกครอง ล้มล้างศาล ล้มล้างองค์กรอิสระ และขณะนี้ที่จัดปราศรัย จัดชุมนุม และโจมตีกล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ล้วนแต่เป็นพฤติกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในการที่จะทำลายศาล ทำลายกระบวนการยุติธรรม ให้เสื่อมคลายความน่าเชื่อถือ เว้นแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน หรือศาลอื่นใดจะตัดสินคดีใด ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น

พฤติกรรมแบบนี้คือต้องการที่จะใช้อำนาจทางการเมืองอยู่เหนือศาล ครอบงำศาล ทำลายความเป็นอิสระของศาล ทำลายกระบวนการยุติธรม ถ้าทำลายศาล ทำลายกระบวนการยุติธรรมได้ ก็ทำลายประชาชนได้ ทำลายประเทศได้ ทำลายสิทธิประโยชน์ของสาธารณชนได้ พฤติกรรมอย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะส่งเสริม สมควรที่จะประณามการกระทำของอัยการสูงสุดที่ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ และอัยการที่ดีๆ ที่ยังรักษาชื่อเสียง สถาบันและวิชาชีพของตนเองอยู่ ควรจะต้องออกมาแสดงการปกป้องสถาบันของตัวเอง ไม่ควรจะยอมให้สำนักงานอัยการสูงสุดไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างที่บรรดาอดีตอัยการสูงสุดของพวกคุณกำลังกระทำอยู่

เพราะฉะนั้นกรณีที่นายชัยเกษม นิติสิริ สมัยเป็นอัยการสูงสุดนั้น ไปเป็นกรรมการบอร์ดการท่า และเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตซีทีเอ็กซ์ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว พวกคุณก็เตะถ่วงไปเตะถ่วงมา หาทางช่วยเหลือกัน ถ้าเป็นพวกคุณ พออัยการสูงสุด ชัยเกษม พ้นอำนาจ ก็สร้างนายจุลสิงห์ขึ้นมาเป็นทายาท ให้นายจุลสิงห์มาเป็นอัยการสูงสุดแทน อัยการสูงสุดจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ก็รับใช้กลุ่มผลประโยชน์ และเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ ไปเป็นกรรมการบอร์ดการบินไทย ไปเป็นกรรมการบอร์ดการท่า บอร์ดรัฐวิสาหกิจไหนที่มีแหล่งผลประโยชน์ ก็จะเอาสมุนบริวารของตัวเองในสำนักงานอัยการ ไปเป็นกรรมการ บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บอร์ดการไฟฟ้าภูมิภาค พวกนี้ได้ประโยชน์ทางการเมือง

การสั่งคดีโดยมีพฤติกรรมแบบนี้ ทำมาโดยตลอด แม้กระทั่งคดีภาษีอากรของแผ่นดิน คุณก็ยังมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ในกรณีของนางพจมาน ชินวัตร พฤติกรรมของพวกคุณ โดยเฉพาะตัวอัยการสูงสุด และผู้มีอำนาจในการพิจารณาสั่งคดีทั้งหลาย เป็นที่น่าอิดหนาระอาใจ และเป็นที่น่าประณาม ไม่ยึดหลักกฎหมาย ไม่ยึดหลักคุณธรรม ไม่ยึดความถูกต้องของบ้านเมือง ผมจึงเห็นว่าอัยการสูงสุดที่ดีควรที่จะต้องออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองอย่ายอมอยู่ใต้อำนาจของอัยการพวกนี้ และประชาชนทั้งหลายก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะฟ้องอัยการ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในเรื่องนี้ หรือยื่นเรื่องให้ถอดถอนได้ กรณีนี้มีเหตุผล แต่กรณีที่พวกนั้นพยายามที่จะไปกล่าวหาโจมตี ทำร้าย ทำลาย คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุและไม่มีผล ถ้าอัยการและตุลาการเขาตัดสินคดีความโดยไม่ยึดอยู่บนหลักกฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่สามารถวิจารณ์หรือถอดถอนได้ แต่กรณีนี้ผมเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี วินิจฉัยคดี โดยยึดอยู่บนหลักของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดในการพิจารณาคดี ไม่มีเหตุอันใดที่คนพวกนี้จะมากล่าวปราศรัยโจมตี ใส่ร้าย คุกคาม อย่างที่กระทำอยู่ ซึ่งมันเป็นการกระทำที่สร้างวัฒนธรรมแห่งความเลวทรามต่ำช้าในทางการเมืองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ในช่วงสุดท้ายก็อยากจะกราบเรียนท่านผู้ชมว่า ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของบ้านเมืองที่มันมีคนเลวปกครองบ้านเมือง หรือคนชั่วที่ชักใยอยู่ข้างหลัง จึงทำให้กระบวนการทั้งหลายของบ้านเมืองตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเราไม่มาช่วยกันหยุดความชั่วนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยังเห็นดีเห็นงาม ยังปล่อยให้พวกนี้เหิมเกริมอยู่อย่างนี้ ประเทศนี้ก็จะไม่มีวันสงบสุข

พิธีกร- ขอย้ำเมื่อสักครู่นี้ว่า พี่น้องที่จะไปให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีกลุ่มพี่น้องประชาชนที่เดินทางไปกันแล้ว ฝากแจ้งข่าวมาว่า ถ้าจะเดินทางไปให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ไปที่อาคาร A ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่อาคาร A อ.ประยูร มีฝากทิ้งท้ายไหมคะ

ประยูร- ผมว่าวันนี้การเมืองมันอยู่ขั้นที่เรียกว่า ขั้นแตกหัก ผมว่าทักษิณคิดทุกเรื่องตอนนี้ เหมือนการที่จะร่าง พ.ร.บ.หรือผลักอะไร ผมว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แล้วการที่วันนี้ที่เขาหักดิบ ผมคิดว่าเป็นการหักดิบศาลรัฐธรรมนูญ หรือตัดหน้าศาลรัฐธรรมนูญ แล้วอธิบายให้คนเข้าใจไปอีกทางหนึ่งเลย ซึ่งวันนี้ถ้าฟังคุณประพันธ์ก็จะเข้าใจว่า อัยการ คุณไม่มีหน้าที่ ในรัฐธรรมนูญบอกไว้ หรือกฎหมายบอกไว้ ถ้าคุณเป็นนักกฎหมายถูกต้อง คุณก็ยื่นให้ศาล ก็จบ แล้วศาลไปวินิจฉัยเอง ไปไต่สวนเอง แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ศาลปกติที่เขาเห็นอยู่ ก็ให้ทั้งสองฝ่าย อย่างกรณีงบประมาณ ระหว่างประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย ก็ชัดเจน ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายค้านด้วย ผมเลยบอกว่าวันนี้ถ้าคนไทยปล่อยให้พวกมากลากไป อธิบายข้างๆ คูๆ โดยใช้กฎหมายศรีธนญชัย และความเข้าใจที่ละเมิดสิทธิประชาชน ผมถือว่าอัยการละเมิดสิทธิประชาชนสมบูรณ์แบบเลยนะ

คน 5 กลุ่ม ซึ่งมีวุฒิภาวะ เป็น ส.ส.ก็มี ส.ว.ก็มี กลุ่มประชาชนก็มี คุณคิดว่าคนพวกนี้บ้าบอหรือไง ถึงจะไปแจ้งฟ้องเขา ถ้าคุณกลัวอย่างนั้นคุณไปร่างกฎหมายฟ้องแบบแกล้งเขาติดคุกสิ แล้ววันนี้ประเทศไทยต้องตั้งคำถามใหม่าเลยนะว่า รัฐธรรมนูญ 300 กว่ามาตรา ถ้าจะต้องตีความกันทุกมาตรา รัฐธรรมนูญไทยจะยาวที่สุดในโลกเลย และถ้าไม่อยากให้ประเทศไทยอายมากกว่านี้นะ อย่าอ้างทีเดียวว่าศาลรัฐธรรมนูญไปอ้างฉบับภาษาอังกฤษ เพราะฉบับอังกฤษนี่คือแปลเพื่อให้ชาวโลกรู้ และถ้าผิดตั้งแต่ต้น คุณก็ต้องคัดค้านตั้งแต่ต้น ถูกมั้ย ไม่ใช่พอคุณแปลรัฐธรรมนูญเป็นอังกฤษให้ฝรั่งอ่าน แล้วคุณบอกฉบับภาษาอังกฤษแปลผิดแปลถูก คุณจะเป็นด็อกเตอร์นักเรียนนอก คุณจะจบจากมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม คุณอย่าทำอย่างนี้ เพราะไม่งั้นคุณกำลังตบหน้าคนไทยทั้งประเทศ และคนไทยวันนี้ผมมอง อย่ายอม ถ้าคุณยอม คุณจะไม่มีพื้นที่เสรีภาพไว้ให้หายใจ

พิธีกร- เหมือนอย่างที่คุณประพันธ์บอกว่า นักกฎหมายอย่านิ่งดูดาย คุณต้องออกมาชี้ ชี้ไปที่อัยการว่าคุณไม่มีอำนาจ คุณไม่มีหน้าที่ อย่างที่พี่ประพันธ์อธิบายไปช่วงแรก อย่างล่าสุดตอนนี้ในเฟซบุ๊กของคุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ก็ได้พูดถึงกรณีที่ว่าอัยการไม่มีหน้าที่วินิจฉัย ก็คือไม่ใช่ศาล และถ้าไปดูตามมาตรา 68 กฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะเป็นอย่างที่คุณประพันธ์บอก และยกกรณีตัวอย่างของหมอผัสพรขึ้นมา อย่างที่พี่โสภณและคุณประพันธ์บอกว่า กรณีของที่ว่าประชาชนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว และที่ออกมาถกเถียงกันว่าต้องให้อัยการเป็นผู้รับและส่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาจทำให้เกิดการตัดตอนคดีได้ ดูอย่างคดีของหมอผัสพรที่ถูกฆาตกรรม ก็เป็นคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง จนพ่อแม่ของผู้ตายต้องใช้สิทธิ์ฟ้องเอง พอคดีนี้ศาลรับฟ้องเท่านั้นล่ะ อัยการก็รีบแจ้นออกมาขอเป็นโจทก์ร่วม คดีนี้ศาลสั่งประหารชีวิตผู้ฆ่าหมอผัสพร ถ้าสิทธิของประชาชนต้องขึ้นอยู่กับอัยการเท่านั้น แล้วใครจะถ่วงดุลอัยการ ตามกันต่อนะคะสำหรับประเด็นนี้ วันนี้ขอบคุณคุณประพันธ์ คูณมี ดร.ประยูร อัครบวร ขอบคุณทั้งสองท่าน คุณโสภณ และดิฉัน รัตติกร ลาไปก่อน พรุ่งนี้พบ อ.ปานเทพ พัวพงษ์ พันธ์ สวัสดีค่ะ





กำลังโหลดความคิดเห็น