ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รมว.ทรัพย์ พร้อมคณะหารือผู้ว่าฯ 8 จังหวัดภาคเหนือเดินหน้า “โครงการตามแผนฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย” หลังรัฐบาลไฟเขียวงบ 955 ล้าน เผย 4 งานหลัก “ปลูกป่า-ทำฝาย-ปลูกหญ้าแฝก-นาแลกป่า” หวังช่วยฟื้นฟูพื้นที่ป่ากับจัดการน้ำทั้งระบบ “ปรีชา” ย้ำทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน ยันโครงการต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.เชียงใหม่ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุมการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนจาก 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วม
การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับ 8 จังหวัดภาคเหนือ ในการดำเนินโครงการตามแผนฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย ซึ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เรื่องผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งที่ 2/2555 โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานโครงการตามแผนการฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 955,294,000 บาท ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้นำเสนอ หลังจากที่ กบอ.ได้อนุมัติโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าวจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานดำเนินงานใน 4 กิจกรรม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555-เมษายน 2556 โดยประกอบด้วย 1. การเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 172.60 ล้านกล้า งบประมาณ 481.554 ล้านบาท 2. การทำฝาย ประกอบด้วยฝายแบบกึ่งถาวร จำนวน 2,200 แห่ง และฝายถาวร 610 แห่ง งบประมาณรวม 143.380 ล้านบาท
3. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 218 ล้านกล้า งบประมาณ 231 ล้านบาท และ 4. การสนับสนุนให้ชุมชนร่วมปลูกป่าและดูแลรักษาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการจัดหาพื้นที่นาแลกป่า จำนวน 6,1000 ไร่ และการส่งเสริมให้ราษฎรปลูกป่าชายเลนในพื้นที่กรรมสิทธิ์ จำนวน 2,000 ไร่ งบประมาณ 99.36 ล้านบาท
ในที่ประชุมได้หารือกันถึงความร่วมมือจากแต่ละจังหวัดในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย
1. การขอความร่วมมือจากจังหวัดให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ในพื้นที่การดำเนินโครงการ
2. ขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนภาคประชาชน ภาคเอกชน ธุรกิจและบริษัทห้างร้านต่างๆ ร่วมปลูกป่าภายใต้โครงการดังกล่าว พร้อมทั้งเชิญชวนให้รับกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง
3. ขอความร่วมมือในการดำเนินงานตามแผนงาน ในแนวทางให้คนอยู่กับป่าและใช้ประโยชน์จากป่า รวมทั้งการดำเนินการตามโครงการสิทธิที่ทำกิน (สทก.) ในอนาคต
และ 4. ขอความร่วมมือในการดำเนินงานตามแนวทางด้านอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมและจะช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว
นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์แล้วว่าให้ทุกกระทรวงเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำท่วม
ในส่วนของการปลูกป่า ให้ถือเป็นวาระแห่งชาติและจะแบ่งพื้นที่ให้ทุกกระทรวงร่วมกันรับผิดชอบ รวมทั้งได้สั่งการให้มีการบูรณาการระหว่าง 9 หน่วยงานในการอนุรักษ์ ป้องกันละปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ใน 3 ระดับ คือ ระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด/ภูมิภาค และระดับพื้นที่ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ตั้งเป้าที่จะฟื้นฟูสภาพป่าไม้และแหล่งน้ำในประเทศ รวมทั้งนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ
ดังนั้น จึงต้องมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเป้าหมายซึ่งจะต้องทำงานควบคู่กันกับกรมป่าไม้ เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันนายปรีชาระบุว่า จากการที่งบประมาณใช้ในโครงการดังกล่าวมีจำนวนมาก จึงได้กำหนดแนวทางให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้จะมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดพิกัดการตรวจสอบภาคสนามว่ามีการดำเนินการทั้งการปลูกป่าและปลูกหญ้าแฝกไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบในทุกระดับ เพื่อให้โครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน