“อำพน” เผยนายกฯ กำชับยึดแผนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเป็นหลัก จี้ขุดคลอง-ซ่อมประตูระบายน้ำ-เสริมคันกั้นน้ำ-ติดปั๊ม เตรียมพร้อมระบายน้ำ เร่งยกระดับถนนเรียบคลองหลักป้องน้ำท่วม สั่งรักษาระดับน้ำในเขื่อน พร้อมรายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ คาดแผนรับมือเสร็จทันน้ำมา 75-80 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 30 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อติดตามรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยว่า หลักการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามในการดำเนินงานวันนี้ คือเรื่องงบประมาณ 1.2 แสนล้าน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินในโครงการเร่งด่วนที่อยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยแผนบริหารจัดการน้ำหลักๆที่นายกฯได้ติดตามอย่างใกล้ชิด แผนที่ 1 คือ แผนที่อยู่เหนือน้ำ คือแผนที่เกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การปลูกป่า ซึ่งนายกฯให้มีการเพาะต้นกล้า แต่หลักการต้องยึดตามพระราชดำริ คือ ไม้เนื้อแข็ง 50 ไม้โตเร็ว 50 โดยชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา 2. เรื่องของฝายชุ่มชื้น ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานมาแล้วว่าฝายชุมชื้นนั้นจะทำตรงไหน มีพิกัดเท่าไหร่ ในช่วงของต้นน้ำ และบางส่วนจะมีการเสริมแฝกกันดินสไลด์ ทั้งนี้โครงการทั้งหมดที่ได้เสนอมาต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และไม่เกินเดือนสิงหาคม เพราะน้ำขณะนี้ทางภาคเหนือตอนบนจากอัตราฝนตกที่คาดการณ์ในเดือนพฤษภาคม จะเริ่มมีฝนกระจายร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และน้ำจะเริ่มไหลลง
นายอำพนกล่าวต่อว่า น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีน้ำลงมา แต่ขณะนี้เริ่มมีลงมาบ้างแล้ว นายกฯจึงปรารภให้บริเวณต้นน้ำทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการชะลอน้ำ ให้อยู่ในพื้นที่กักเก็บน้ำบนเขา และได้มีการไล่ดูแต่ละโครงการกับกระทรวงทรัพย์ฯว่าจะทำฝายต้นน้ำตรงไหนบ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเสนอเข้ามา แผนที่ 2 คืองานที่อยู่กลางน้ำ แบ่งเป็น 3-4 เรื่อง เรื่องแรกที่นายกฯเน้นเป็นหลักคือ การดูแลเรื่องการปลูกแหล่งน้ำธรรมชาติ เท่าที่นายกฯ ติดตามขณะนี้งานได้เดินหน้า โดยเฉพาะแต่ละจังหวัดที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไล่ตั้งแต่ จ.พิษณุโลกลงมา เช่น พื้นที่บึงสะเดา ขณะนี้มีความก้าวหน้า ซึ่งเวลานายกฯตรวจดูการรายงานนั้น ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรายงานจากหน่วยงาน แต่จะมีหน่วยตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและเช็คออกมาว่าตามที่หน่วยงานนั้นรายงานออกมาจริงหรือไม่
นายอำพนกล่าวต่อว่า ในส่วนของงานโยธาที่สำคัญคืองานที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมประตูน้ำ คันกั้นน้ำ ซึ่งไล่ลงมาตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชำรุด ซึ่งวันนี้ได้มีการกำกับ 17 จุด ที่ทาง กทม.ได้เคยมีการซ่อมแซม โดยมีการเสริมแนวคันที่ชำรุด โดยในที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการดูเรื่องแนวถนนทั้งสองข้างที่ทำเป็นคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะด้านตะวันตกจะเป็นแนวถนนเรียบคลองพระยาบันลือ ส่วนทางด้านตะวันออกจะอยู่เหนือคลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต และจะใช้แนวถนนของถนนเอเชียส่วนหนึ่งที่มีการยกระดับขึ้นมา เพื่อเป็นคันกั้นน้ำด้านบน ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม 4-5 นิคมบริเวณนั้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจน์ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้มีมติว่า หากยกระดับถนนทั้งหมดไม่ทันใน 6 เดือน ก็จะต้องเสริมแนวกั้นน้ำให้ทันภายในเดือนสิงหาคม และกันยายน และจะให้ทางทางวิศวกรรมดูด้วยว่าหากไม่ทันจะให้ยกแนวถนนข้างหนึ่งเป็นการชั่วคราวก่อนได้หรือไม่ เพื่อเป็นการกั้นน้ำ ทั้งนี้จะไม่ใช้ถุงทรายหรือบิ๊กแบ็ก แต่จะใช้เป็นแนวคอนกรีต เพื่อป้องกันน้ำตามแนวถนนสายเอเชีย
นายอำพนกล่าวต่อว่า สำหรับการขุดลอกคลองต่างๆนายกฯได้มีการจี้ในแต่ละจุด เนื่องจากคลองต่างๆ คือ พื้นที่ในการไล่น้ำทั้งหมด โดยจะค่อยๆทยอยทำ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ใหม่ของการรับน้ำครั้งนี้ไม่ใช่แค่การกันน้ำอย่างเดียว แต่ต้องมีการซ่อมประตูน้ำ ติดตั้งปั๊มน้ำ เพื่อทยอยน้ำให้ไหลเข้า และดึงปลายน้ำเข้ามา โดยให้ความสำคัญที่สุดคือแนวต้านด้านเหนือทั้งหมด เพื่อจะได้ทยอยน้ำให้กระจายออกแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง
นายอำพนกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 ที่ได้มีการพูดคุยกัน คือระบบการคาดการณ์ในอนาคต หลักวันนี้ยึดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เราต้องค่อยๆ พร่องน้ำตามสถานการณ์ เมื่อเราเห็นการณ์คาดการณ์เมื่อน้ำค่อยๆ ทยอยเข้ามา การรักษาระดับน้ำที่พอเพียงในเขื่อนต่อการใช้น้ำที่เหมาะสมคืออะไร วันนี้นายกฯ ได้สั่งการให้มีการรายงานตัวเลขนี้ทุกสัปดาห์ในส่วนของเขื่อนหลัก ขณะนี้เรายังสามารถเก็บกักน้ำเข้าเขื่อนหลักด้านบนได้เกือบ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระดับน้ำอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถ้าน้ำช่วงนี้เข้ามาเยอะก็จะปล่อยน้ำลงมาปลายน้ำมากหน่อย แต่ถ้าฝนคาดการณ์แล้วแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปล่อยน้ำแล้วมีปัญหาเราก็จะทยอยพร่อง โดยจะปล่อยน้ำตามสถานการณ์จริงทุกวันและรายงานให้นายกฯ ทราบ โดยดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) จะเป็นผู้รับผิดชอบและเสนอต่อนายกฯ ว่าควรจะปล่อยน้ำเท่าไหร่
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการประมาณการทั้งหมดจะเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์ นายอำพนกล่าวว่า ส่วนตัวที่ออกไปดูในพื้นที่ก็เป็นไปได้เยอะ หากเอาตามกำหนดของนายกฯ ตนคิดว่าเราพร้อม ณ วันที่น้ำมาจริงจากที่ระบบได้ดีไซด์ไว้น่าจะเสร็จประมาณ 75-80 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่น้ำเท่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม วันนี้นายกฯ ได้มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ เร่งน้ำ บังคับน้ำ และการเผชิญ