xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.ลั่น กทม.ไม่จมบาดาลแน่ ชี้น้ำเหนือมวลใหญ่ไหลลงทะเลแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก ศปภ.เผย หลังประชุมมั่นใจ น้ำไม่ท่วม กทม.แน่ ด้าน รมว.เกษตรฯ ชี้ น้ำจากทุกแหล่งที่จะไหลเข้า กทม.ในปริมาณสูงสุดระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค.ได้ผ่าน กทม.ออกทะเลไปแล้ว ชี้ น้ำเหนือมวลใหญ่จากนครสวรรค์ไหลไปทะเลแล้วเมื่อวานนี้


วันนี้ (16 ต.ค.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ศปภ.แถลงข่าวว่า เช้าวันนี้มีการประชุม ศปภ.โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.เป็นประธานเพื่อตรวจสอบวิธีผันน้ำลงสู่ทะเลตามแนวทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้ประชาชนจมกับความทุกข์อันยาวนานโดยผลการประชุมได้แจ้งนายกฯไปแล้ว แผนของ ศปภ.เดินหน้าไปตามแนวทางที่วางไว้ และ กทม.จะไม่ท่วมแน่นอน และเช้าวันนี้นายกไปให้กำลัใจการผันน้ำลงทะเล

ด้าน นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมาทำให้ปริมาณน้ำค่อนข้างมหาศาล เขื่อนทางเหนือ คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ เก็บน้ำได้ร้อยละ 99 แต่ตอนนี้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นเขื่อนภูมิพลปล่อยน้ำวันละ 50 ล้านลูกบาศ์กเมตร สิริกิติ์ ปล่อยน้ำวันละ 20 ล้านลูกบาศ์กเมตร ป่าสักชลสิทธิ์ ปล่อยน้ำวันละ 30 ล้านลูกบาศ์กเมตร เขื่อนเหล่านี้ปล่อยน้ำน้อยลงมากแล้ว แสดงว่า น้ำทางเหนือไม่มีแล้ว ข้อสังเกตว่าน้ำจะเข้ามา กทม.จากพื้นที่ใดนั้น มีจุดสังเกตและเฝ้าระวังสองจุดคืออ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณแม่น้ำปิงลดลง และ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ซึ่งแม่น้ำน่านรวมกับแม่น้ำยมนั้นปริมาณน้ำลดลง เมื่อแม่น้ำทั้งหมดรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำอยู่ที่ 4630 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำลดลงจากเมื่อวันที่15ต.ค.และทรงตัวมาหลายวันแล้ว

นายธีระ กล่าวว่า มวลน้ำสูงสุดจากจ.นครสวรรค์ที่ไหลลงมานั้นได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.ฉะนั้น การบริหารจัดการมวลน้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 3,600 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที โดยจะทรงตัวในลักษณะนี้ต่อไป และตอนนี้กำลังผลักดันน้ำออกไปทางตะวันออก ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างมีปัญหาเพราะรับน้ำได้น้อย คือ 87 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที โดยสูบน้ำออกไปได้วันละ 30ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ส่วนทางตะวันตกคือแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อยนั้น สามารถระบายน้ำได้ 710 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสูบน้ำออกไปได้วันละ 15 ล้านลูกบาศ์กเมตร และรวมกับคลองลัดโพธิ์ที่ระบายน้ำลงทะเลได้อีกวันละ 40-50 ล้านลูกบาศ์กเมตร รวมปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ทะเลได้วันละ 400-500 ล้านลูกบาศ์กเมตร

นายธีระ กล่าวว่า ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาโซนเหนือตั้งแต่จ.สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา นั้น มีแนวโน้มลดลงและทรงตัวในลักษณะนี้ หากจะเพิ่มขึ้นบ้างที่ อ.บางไทร จ.อยุธยา นั้น ก็เป็นเพราะน้ำทะเลหนุน โดยกรมชลประทานประมาณการณ์น้ำจากทุกแหล่งที่จะไหลเข้ากทม.ในปริมาณสูงสุดระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค.ย้ำว่า มวลน้ำปริมาณใหญ่ที่สุดนั้นได้ผ่าน กทม.ออกทะเลไปแล้ว ประชาชนจึงสบายใจได้ เพราะระดับน้ำสูงสุดที่สะพานพุทธยอดฟ้าเมื่อเช้าวันที่ 15 ต.ค.อยู่ที่ 2.29 เมตร ซึ่งต่ำกว่าที่กรมชลประมานคาดไว้หนึ่งเซนติเมตร ปริมาณน้ำในจังหวัดต่างๆจะทรงตัวและค่อยๆ ลดลง ยืนยันได้ว่า ปริมาณน้ำสูงสุดในรอบนี้ผ่านไปแล้ว และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่สามารถท่วมคันกั้นน้ำของ กทม.ที่สร้างไว้สองจุดแน่นอน

“สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วง คือ ปริมาณน้ำที่ผ่านนิคมอุตสาหกรรมโรจนะออกไปทางอ.วังน้อย จ.อยุธยาว่าจะไหลเข้า กทม.หรือไม่ ขอให้ประชาชนสบายใจว่า รัฐบาลเตรียมแก้ไขไว้แล้ว คือทำคันกั้นน้ำและเป็นแนวทางให้ไหลลงคลองต่างๆ หากมวลน้ำผ่านถนนพหลโยธินนั้น จะมีคลองระพีพัฒน์ที่สร้างกั้นไว้ น้ำจะไหลลงคลองต่างๆคือคลองหนึ่งถึงคลองสิบ น้ำตอนนี้ไหลเข้าคลองหนึ่งค่อนข้างเยอะจนประชาชนตกใจ แต่ขอให้ไม่ต้องเป็นห่วงว่าน้ำจะสูงขึ้นนั้น เพราะจะทยอยปล่อยน้ำไปคลองต่างๆ โดยน้ำจากคลองหนึ่งถึงคลองเจ็ด นั้น แต่สามารถรับไปตั้งเต่คลองแปดถึงคลองสิบมาลงคลองรังสิต โดยเมื่อน้ำลงคลองรังสิตจะสูบน้ำไปทางประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ที่คลองระพีพัฒน์ระบายน้ำให้เป็นแก้มลิงเพื่อสูบน้ำออกมา และใน กทม.มีคั้นกั้นน้ำจากโครงการพระราชดำริกั้นไว้ทางตะวันออก และกรมชลประทานไปกั้นเพิ่มไว้อีกชั้นหนึ่ง ยืนยันว่ารัฐบาลเตรียมแผนจัดการไว้ครบแล้ว ประชาชนมั่นใจได้”นายธีระกล่าวว่า

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงว่า สถานการณ์น้ำจากนี้ไป ระดับน้ำจะทรงตัว แม้ปริมาณน้ำมวลใหญ่จะไหลลงทะเลไปแล้ว เพราะตอนนี้น้ำจากท้องทุ่งกำลังจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างช้าๆ ขณะเดียวกันน้ำจากพื้นที่เฝ้าระวังคือนิคมฯไฮเทคและนิคมฯโรจนะจ.อยุธยาที่จะข้ามถนนมิตรภาพ อ.บางปะอิน นั้น ขอบคุณประชาชนที่ยอมให้เปิดคลองแปดถึงคลองสิบจนระบายน้ำและควบบุมทิศทางน้ำไปสู่ทางตะวันออกได้ จุดที่ตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ที่คลองหนึ่งกับประตูน้ำจุฬาลงกรณ์นั้น พยายามเพิ่มเครื่องสูบน้ำให้มากที่สุด และพยายามน้ำมวลน้ำขนาดใหญ่ในตอนนี้ออกไปทางประตูระบายน้ำเชียงรากน้อย หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำกว่าน้ำในคันกั้นน้ำก็จะเปิดประตูบานนี้เพื่อปล่อยน้ำอีกทางหนึ่ง และตอนนี้กรมชลประทานตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ 7 เครื่อง แต่ตอนนี้น้ำท่วมคันกั้นน้ำจมจึงไปเสริมคันกั้นน้ำหากเสริมได้จะเป็นช่องทางระบายน้ำได้อีกจากคลองระพีพัฒน์ไปยังคลองหนึ่ง จากนี้ไปน้ำทะเลจะหนุนอีกครั้งในช่วงปลายเดือน ต.ค.แนวคันกั้นน้ำชั่วคราวและกระสอบทรายที่วางไว้นั้น ขอร้องว่าประชานอย่าทำลาย จุดใดอ่อนก็จะเสริมความแข็งแรงเพื่อให้บรรเทาภาวะต่างๆลดลงไป

นายยงศักดิ์ ขงมาก ตัวแทน กทม.แถลงว่า การเตรียมความพร้อมของ กทม.นั้น น้ำจะท่วมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับน้ำเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝนที่จะบรรจบกัน จนทำให้ กทม.ท่วม ประชาชนสอบถามว่าน้ำที่ท่วมขังตอนนี้เป็นน้ำเหนือหรือไม่ ขอเรียนว่า ไม่ใช่ แต่มันเป็นน้ำฝน ซึ่ง กทม.จัดการไปแล้ว และ กทม.มีเขื่อนที่รองรับน้ำทะเลหนุนได้เต็มร้อย ตอนนี้น้ำที่ไหลมาทางทิศเหนือและลงคอลหนึ่งจนประชาชนไม่ยอมให้ปิดประตูระบายน้ำคลองหนึ่งและไม่ยอมเปิดประตูระบายน้ำเชียงรากนอยจนน้ำไหลบ่ามาทางตวันออกและอาจทำให้เขตดอนเมือง และสายไหม ได้รับผลกระทบ เช้าวันนี้ผู้ว่าฯ กทม.สั่งการไปว่าระดมเจ้าหน้าที่ กทม.ทั้งหมดไปสร้างแนวคันกั้นน้ำเสริมความแข็งแรงระยะทางหกกิโลเมตร และวันนี้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อไม่ให้น้ำไหลมาในสองเขตดังกล่าว ทั้งนี้ จะขอความร่วมมือประชาชนไปช่วยเจ้าหน้าที่ด้วย ยืนยันกทม.ส่วนกลางนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ท่วม ตอนนี้มีเพียงจุดเดียวที่คลองทวีวัฒนา โดยตอนนี้กองทัพเรือส่งกำลังพลมาช่วยทำคันกั้นน้ำแล้ว

“ทางตะวันออกคือเขตคลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก นั้น อาจมีน้ำสูงบ้างเพราะคลองประเวศบุรีรมย์ระบายน้ำออกไปทางประตูระบายน้ำลาดกระบังเพื่อนำน้ำลงแม่น้ำบางปะกง แต่ประชาชนแถวนี้สูบน้ำลงแม่น้ำดังกล่าวนั้นน้ำจะท่วมทันที เพราะประตูน้ำตรงนี้ไม่สามารถสูบน้ำได้ น้ำจะล้นไปสู่ประตูระบายน้ำพระโขนงต่อไป” นายยงศักดิ์ ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น