xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ป้อง"ปลอด"ห่วงประชาชน กทม.ส่อรอด! ศปภ.ฟัด"สุขุมพันธุ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ราชินี"พระราชทาน 5 แสนตั้งครัวกาชาด ขณะที่ "ศปภ.-กทม.-กรมชลฯ" ประสานเสียง กรุงเทพฯ ปลอดภัย แต่เฝ้าระวังน้ำ 14-19 ต.ค. นายกฯ สั่งปรับระบบเตือนภัย ศปภ. ต่อไปต้องแถลงผ่านทีวีพูล ป้อง “ปลอดประสพ” ตื่นเต้นเพราะห่วงประชาชน ควง "สุขุมพันธุ์" กลบกระแสเกาเหลาหลัง ศปภ.อัดผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยร่วมประชุม "นครสวรรค์-กรุงเก่า" ยังวิกฤติ

เมื่อเวลา 13.25น.วานนี้ (14 ต.ค.) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ นางสนองพระโอฐในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์ นำเงินพระราชทาน 500,000 บาท มอบให้สภากาชาดไทย นำไปใช้ในกิจการครัวเคลื่อนที่สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมี นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย รับพระราชทาน ณ ห้องรับรอง อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน)

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใย ในราษฎรจังหวัดต่างๆ ที่ประสบเหตุจากภัยธรรมชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทาน พร้อมน้ำดื่มไปให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน และประชาชนในจังหวัดใกล้เคียงแล้ว รวม 32 จังหวัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 180 ล้านบาท

นอกจากนี้ สภากาชาดไทยยังได้จัดส่งเรือท้องแบน รถผลิตน้ำดื่มไปให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุอุทกภัยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สภากาชาดไทยขอเชิญร่วมบริจาคเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัย ได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทยช่วยผู้ประสบอุทกภัย ประเภทบัญชี กระแสรายวัน เลขที่ 045-3-04190-6 หรือสอบถามไปที่ โทรศัพท์ 02-251-7853-6 หรือ สายด่วน 1664

**ตื่น ศปภ.ประกาศฉุกเฉิน 17 เขตกทม.

ช่วงเช้าที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.)ได้ออกแถลงการณ์แจ้งว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้ออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะหน้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 17 เขตได้แก่ เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะ เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง เนื่องจากเขตพื้นที่ดังกล่าวประสบกับเหตุอุทกภัย และได้รับผลกระทบด้านต่างๆ เป็นวงกว้างและภัยพิบัติยังไม่สิ้นสุด
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16(1) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินและจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 เดือน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกาศ

**“ประชา”รีบแจงยืนยันเอกสารมั่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ไปในบ่าย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ได้เดินตรวจเยี่ยมการทำงานภายใน ศปภ.โดยเฉพาะฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปภ.ที่รายงานสถานการณ์อุทกภัย การประชาสัมพันธ์ต่างๆ โดยจัดทำเป็นเอกสารข่าวแจกจ่ายให้สื่อมวลชนภายในศูนย์ ศปภ.ซึ่งเมื่อ พล.ต.อ.ประชา เห็นข่าวที่วางแจกให้กับสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก จึงสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานพิจารณาดูว่าข่าวใดยังมีปัญหา ไม่เหมาะสมหรือยังไม่ผ่านการตรวจกรองของ ศปภ.ก็ให้เก็บออกไป

หลังจากนั้น พล.ต.อ.ประชา ได้แถลงข่าวว่า หลังจากนี้เรื่องของการเตือนภัย เป็นหน้าที่ของตนในการเป็นผู้เแจ้งหรือประกาศด้วยตัวของตน ขณะเดียวกันทางนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ได้แสดงความห่วงใย และพูดคุยกับตนว่า ไม่สบายใจ เนื่องจากพบมีเอกสารที่อ้างว่าเป็นข่าวจาก ศปภ.วางอยู่ไปทั่วของ ศปภ.โดยเนื้อหาระบุให้พี่น้องรีบอพยพออกจากบ้านเรือนของตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งยืนยันว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารของ ศปภ.ที่มีการแจ้งเตือนออกไป ศปภ.ไม่ได้เป็นผู้จัดทำขึ้นมา และข่าวจากนี้ไปที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องชาว กทม.ต้องเป็นข่าวที่ยืนยันร่วมกัน ระหว่าง ศปภ.กับ กทม.โดยเนื้อหาเดียวกัน ไม่ให้ขัดแย้งกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 14.19 น.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศปภ.ได้ส่งอีเมล์ถึงสื่อมวลชนเพื่อขอความร่วมมือในการยุติการเผยแพร่ข่าวแจก จากศปภ.เรื่องกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะหน้าในพื้นที่17 เขต กทม.เนื่องจากเกิดความผิดพลาด
ด้านนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันว่า ไม่มีการประกาศจุดเสี่ยงใน 17 จุดของ กทม.แต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นความผิดพลาดด้านข้อมูลในการอัพขึ้นเว็บไซต์ของ กทม.เท่านั้น จึงทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

**รองผู้ว่าฯ กทม.มั่นใจรับมือน้ำได้

นายพรเทพ ให้สัมภาษณ์ถึงการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำของกรุงเทพฯว่า แผนฉุกเฉินผู้ว่าฯได้ทำมาเป็นเดือนแล้ว ขณะนี้ถือว่าเราเข้าสู่ระบบฉุกเฉินปานกลาง เพราะเราเอาอยู่ ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องมวลน้ำ แต่เป็นปัญหาเรื่อง

มวลชน เพราะคนตื่นตระหนก บางส่วนเข้าไปเอากระสอบทราย หรือมไม่พอใจพื้นที่ ที่แช่น้ำ ต้องเข้าไปชี้แจงโดยปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อให้ความมั่นใจ เพราะเมื่อมีข่าวลือแทบจะปล้นถุงทรายกลายถุงทองแล้ว

ถ้าเขื่อนพังเข้ามาคือฉุกเฉินแล้วหน่วยเบสของเรา 10 หน่วย และศูนย์ที่ผู้ว่าฯตั้งไว้ที่มีนบุรีก็จะมีอุปกรณ์ มีคนมีรถดั๊ม รถตัก ก็จะออกทำงาน ส่วนวันนี้ (15) ที่น้ำจะขึ้นสูงผู้ว่าฯจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจพื้นที่และจะมีการสั่งการในพื้นที่ที่อาจมีน้ำรั่ว เพราะหากน้ำขึ้นสูงกำแพงอาจแข็งน้อยลง อาจมีรั่วหรือพังบ้างและอาจจะต้องมีการเตรียมการเป็นพิเศษเหมือนอย่างเคย แล้วพนักงาน 5,000 คนที่จะบายน้ำก็เตรียมการไว้อยู่แล้ว ขณะนี้ก็มีการตรวจแนวเขตให้ความมั่นใจกับประชาชน

“ขณะนี้มีเรื่องข่าวลือ เราต้องมีกระบวนการบริหารข่าวลือ มีข่าวเข้ามาต้องวิ่งไปถามว่าข่าวลือหรือข่าวจริง ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวลือว่ากำแพงพัง น้ำข้ามมาแล้ว”

เมื่อถามว่าหากผ่านสถานการณ์ช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้สถานการณ์จะสามารถเบาใจได้หรือไม่ นายพรเทพ กล่าวว่า คิดว่า 15-17 ต.ค.ถ้าผ่านไปได้ก็น่าจะจบน้ำจะขึ้นอีกครั้งประมาณ 2 เมตร 10 ซม.และคิดว่าเอาอยู่

เมื่อถามว่านายกฯ บอกว่ากรุงเทพฯ ต้องทำชั้นในอีกชั้นเพื่อบล็อกไว้ นายพรเทพ กล่าวว่า ตนคิดว่าขณะนี้ระบบดีแล้ว แต่ในคูคลองต่างๆ อาจจะมีการขุดลอกเพิ่มความลึก ความกว้างมากขึ้นเท่านั้น เราคงอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว นอกจากจะเปลี่ยนระบบท่อของเรา จาก 60 มิลลิเมตร เป็น 80 มิลลิเมตร เพราะระบบเราป้องกันน้ำฝน ส่วนระบบกันน้ำหลากไม่ได้คิดไว้มาก เพราะผ่านมาและผ่านไป แต่ปีนี้อาจจะมีระดับสูงหน่อย เท่าที่มอนิเตอร์ดูไม่ได้เลวร้ายกว่าปี 38 เรามั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

เมื่อถามว่า ศปภ.กับ กทม.ต่างคนต่างแถลงนายพรเทพ กล่าวว่า วันนี้จะมีการแถลงร่วมกัน ผู้ว่าฯก็คิดว่าเป็นความตั้งใจดีของทุกคน แต่อาจจะไม่ได้สอบถามกันให้ชัดเจน เรามีหน้าที่ดูแลกรุงเทพฯอยู่แล้ว ถ้าปัญหาเกิดขึ้นเรารับผิดชอบตรง ๆ คือเรามาจากการเลือกตั้ง มันไม่มีทางที่เราจะให้ข่าวลวง หรือพูดเกินจริง อาจมีความเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจไม่ดี อาจตั้งใจดีเกินไป

**“ประชา-พรเทพ” ยัน กทม.ปลอดภัย

นายพรเทพ กล่าวอีกว่า ตนขอเรียนว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะมาในวันนี้(15) อยู่ต่ำกว่าระดับแนวเขื่อนของเราจึงไม่มีปัญหา แต่แน่นอนเมื่อมีความสูงก็อาจจะทะลักเข้ามาตามแนวที่ท่วมอยู่เล็กน้อย แต่ก็มีเครื่องปั้มน้ำและเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำกว่า 5,000 คนที่กระจายตามจุดต่าง ๆ จึงไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งช่วงเช้าของวันนี้ (15) ผู้ว่าฯ กทม.จะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปสำรวจอีกครั้งว่าถ้าน้ำมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ขอเรียนว่าทุกครั้งที่มีข่าวแต่ความจริงที่เกิดขึ้นค่อนข้างจะไม่เลวร้ายกว่าที่เป็น
ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวอีกว่า การป้องกันเขตเศรษฐกิจของประเทศ คือ กรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญขั้นสูงสุด ขณะนี้เราได้มีการะบายน้ำที่อยู่รอบกรุงเทพฯ ไม่ว่าในเขต จะเป็นอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ได้มีการระบายน้ำลงทะเลลงใน 3 ช่องทางคือระบายน้ำฝั่งตะวันออก ผ่านคลองระพีพัฒน์ ผ่านคลองต่างๆ ที่เป็นคลองเล็กคลองน้อยที่เชื่อมต่อคลองระพีพัฒน์ 7 คลองซอย ตอนกลางระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายลงสู่ทะเล และฝั่งตะวันตก ระบายน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนเพื่อระบายลงสู่ทะเล ขณะนี้การระบายน้ำทั้ง 3 ช่องทางสามารถระบายน้ำลงทะเลได้วันละ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร เปรียบเทียบกับ ปริมาณ ที่มีอยู่ในเวลานี้ กับน้ำ ที่มาจากทางเหนือ กับปริมาณน้ำที่ผลักลงทะเลน่าจะเป็นผลดี เพราะได้มีการผลักดันน้ำลงทะเลได้มากกว่าน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือ ก็คงอยู่เกิน 100 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดี

"ส่วนคำถามที่ว่าน้ำจะท่วม กทม.หรือไม่ ศปภ.เรียนยืนยัน ณ ตรงนี้เลยว่า กทม.ไม่ถูกกระทบแน่นอน ขอยืนยันจากการที่เราเอานำน้ำออกทั้ง 3 ทาง แต่อาจจะกระทบบ้างในพื้นรอบนอก กทม.ซึ่งทางศูนย์ขอแสดงความห่วงใยไม่ว่าจะเป็น สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา กทม.ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นเมืองหลวงของประเทศ ศปภ.ให้ความสำคัญขั้นสูงสุดในการที่จะป้องกัน กทม.ไว้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ไม่ท่วมแน่นอน"

**กรมอุทกฯ การันตีกรุงปลอดภัย

วันเดียวกัน กองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ เปิดเผยถึงสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือประจำวันที่ 14 ต.ค.ว่า น้ำขึ้น 2 ครั้งในเวลา 08.19 น.คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.12 เมตรและในเวลา 19.04 น.คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.05 เมตร จากปริมาณการระบายน้ำในปัจจุบัน คาดว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 15-17 ต.ค.ระดับน้ำจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางประมาณ 2.10-2.15 เมตร และในวันที่ 27-31 ต.ค.จะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางประมาณ 2.25-2.30 เมตร สรุปว่าระดับน้ำยังคงต่ำกว่าสันเขื่อนกันน้ำกรุงเทพฯ ซึ่งสันเขื่อนกันน้ำกรุงเทพฯ สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.50 เมตร

**นายกฯ ปรับระบบเตือนภัย ศปภ.ใหม่

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมศปภ.ถึงการแถลงข่าวกรณีคลองบ้านพร้าว อ.สามาโคก จ.ปทุมธานี พังที่ค่อนข้างทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า เรื่องนี้ทาง ศปภ.ได้รับรายงาน แต่ยังไม่ได้มีการสรุป ซึ่งไม่ได้เป็นการแถลงอย่างเป็นทางการของ ศปภ.เป็นเพียงการอัพเดตสถานการณ์เท่านั้น แต่โทนการพูดอาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวล ดังนั้นตนจึงให้ทาง ศปภ.ออกมาเล่าชี้แจงความชัดเจนให้กับประชาชนอีกครั้ง เพราะช่วงนั้นอยู่ในช่วงของการวิเคราะห์ ด้วยความที่ทุกท่านเป็นห่วงพี่น้องประชาชน แต่บางครั้งเราก็กังวลว่าพี่น้องประชาชนจะกังวลเกินไป ยืนยันว่าไม่มีอะไรทุกอย่างปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการปรามนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการแถลงข่าวบ้างหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้นายปลอดประสพ คงเป็นห่วงประชาชน และการพูดคนอาจจะตื่นเต้นไปด้วย แต่มีเจตนาที่ดี คือต้องการที่จะบอกว่าให้ประชาขนที่อยู่บริเวณนั้นระมัดระวัง ซึ่งมันอาจมีความเป็นไปได้ ซึ่งตนไม่อยากให้พี่น้องประชาชนตระหนกตกใจมาก เพราะหากน้ำเข้าจริง เรามีเจ้าหน้าที่ที่คอยประสานงานอยู่แล้ว

ส่วนจะต้องมีการปรับกระบวนการการแถลงข่าวหรือการแจ้งเตือนประชาชนหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนจะรับไปปรับปรุงในส่วนนี้ ซึ่งจริงๆส่วนนั้นไม่ใช่การแถลงข่าว แต่เป็นการให้ข้อมูล เพราะการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จะออกโดย พล.ต.อ.ประชา ในฐานะ ผอ.ศปภ.เมื่อย้ำถามว่าการแย่งกันแถลงข่าวส่งผลให้ประชาชนสับสน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เพิ่งจะเกิดแค่ครั้งเดียว แต่จะรับไปคุยกันภายในเพื่อให้เกิดความชัดเจน

เมื่อถามว่าการแถลงข่าวครั้งต่อไปประชาชนอาจเกิดความสับสนได้ว่าจะเชื่อได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “เชื่อได้ค่ะ ขอเรียนว่าถ้าเหตุการณ์ฉุกเฉินจริงๆ เราจะใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในการแถลงข่าว ซึ่งในช่วงต้นเป็นการพูดในลักษณะการให้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกช่อง ถ้าอะไรที่เราคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นเราจะตัดสินใจขอใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่อให้เกิดความชัดเจน”

เมื่อถามต่อว่าจุดนี้เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของ ศปภ.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่หรอก แต่ก็ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้เข้าใจ การที่น้ำมาทุกที่บางทีต้องใช้ขั้นตอนในการกลั่นกรองและใช้เจ้าหน้าที่ไปตรวจหน้าพื้นที่อีก อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เราจะพยายามทำให้เกิดความชัดเจน กับพี่น้องประชาชนมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์คงเหมือนกับที่ พล.ต.อ.ประชา ได้รายงานคือภาพรวมจากทางเหนือเริ่มทรงๆ แล้ว เพราะวันนี้ฝนไม่มาก แต่เราต้องค่อยๆ ปรับ ซึ่งน้ำในภาพรวมตั้งแต่นครสวรรค์ลงไป อยู่ในระดับคงที่จะไม่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างนี้ แต่ปัญหาเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นรอยต่อช่วง จ.ปทุมธานีมากรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะกลั้นไม่อยู่
แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรักษาตรงนี้แล้ว แม้ว่าน้ำจะลดแต่เรามีแนวคลองอยู่ข้างๆ ก็จะไม่ลามไปพื้นที่ใหญ่ และน้ำที่มากอยู่ทางเหนือตอนล่างและจะค่อยๆ ลดลง ดังนั้น น้ำภาคกลางวันนี้จะไม่สูงมากนัก เพราะมีแนวคันกั้นน้ำเป็นการปกป้องกรุงเทพฯชั้นใน แต่ในส่วนนอกแนวคันกั้นน้ำยังมีเขื่อนและคลองระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ได้ขุดสำเร็จแล้ว 2 คลอง ซึ่งจะเริ่มมีการปล่อยระบายน้ำลง จะทำให้ตรงนี้ทยอยทุเลา แต่จะยังไม่สามารถเห็นปริมาณน้ำลดมากนัก โดยสรุปคือ บริเวณที่จะมีผลกระทบของกรุงเทพฯ จะเป็นส่วนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แต่เป็นเฉพาะรอยต่อแนวกั้นคลองไม่เชื่อมต่อกันสำเร็จ แต่ไม่เป็นบริเวณกว้าง

เมื่อถามว่าทาง กทม.ชี้แจงว่าถ้าเกิดเหตุอะไร กทม.จะเป็นผู้แจ้งให้ประชาชนรับทราบ ตกลงเป็นอำนาจของของ ศปภ.หรือผู้ว่าฯ กทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อำนาจทั้งหมดภาพรวมอยู่ที่ศปภ. ซึ่งจะทำงานร่วมกับกทม.แต่บริเวณพื้นที่ชั้นใน จะมีการส่งต่อไปทางกทม.ในการชี้แจง เป็นการเตือนภาพรวม
เมื่อถามว่าเรื่องคลองระบายน้ำฝั่งตะวันตกของ กทม.ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาทาง ศปภ.ชี้แจงเรื่องคลองมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมตกลงจะใช้คลองใดบ้างในการชี้แจง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ฝั่งตะวันตกยังไม่มีความชัดเจน และจากการขึ้นเฮลิคอปเตอร์เป็นเพียงแค่การสำรวจร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผบ.ทบ.และนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แต่โดยรวมนั้นเราจะระบายน้ำลงไปยังโครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำมหาชัย สนามชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งต้องดูรายละเอียดว่ามีคลองใดบ้าง แต่ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดคลองไว้คร่าวๆแล้ว

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีการแถลงข่าว 4 คลองหลักที่จะระบายน้ำฝั่งตะวันตกของ กทม.คือ คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองพระพิมล คลองลัดโพธิ์ ยังใช้ระบายน้ำอยู่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ส่วนตะวันตก มีพื้นที่ราบและสูงไม่เท่ากัน ดังนั้นการที่จะให้น้ำลำเลียงจากอยุธยาไปยังสมุทรสาคร ต้องใช้การเชื่อมคลองหลายคลอง ที่ตนพูดไปนั้นเป็นคลองปลายทางที่จะต่อไปยังอ่าวไทย ดังนั้น ไม่ได้ผิดแต่เป็นการต่อเชื่อมคลองในลักษณะที่ต้องดูแนวทางน้ำไหล และใช้คลองที่มีอยู่ขุดลอกให้ลึกลงเพื่อให้น้ำลงสะดวกที่สุด จะมีการชี้แจงเป็นลายลักอักษรอีกครั้ง

เมื่อถามว่าแนวกั้นน้ำบล็อกที่ 2 ต่อจาก 3 จุดแรกของแนวกั้นน้ำที่จะเข้าพื้นที่กทม.จะใช้พื้นที่ใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “มีบล็อก 2 ด้วยหรือคะ” ผู้สื่อข่าวอธิบายว่าพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะมีการทำแนวกั้นน้ำบล็อก 2 เพื่อประวิงเวลาให้ประชาชนอพยพได้ทัน หากแนวกั้นน้ำ 3 จุดแรกรับไม่น้ำไม่ไหว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้สำรวจอยู่ ทั้งนี้ จะเชิญผู้ว่าฯ กทม.มาหารือต่อไป

**รัฐฯ-กทม.ผนึกกำลังกั้นน้ำทะลักกรุง

เวลา 15.00 น. ที่ประตูแนวป้องกันน้ำท่วม เทศบาลตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีพล.ต.อ.ประชา นายธีระ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ นายพีรศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ปทุธานี เดินทางร่วม

ทั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มาตรวจเพื่อให้เกิดความมั่นใจและความสบายใจต่อประชาชนในการทำงานสัมพันธ์กันระหว่างศปภ.กับกทม.และขณะนี้ตนเห็นว่าทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่อยากให้ประชาชนมีความมั่นใจเนื่องจากกรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์ว่าน้ำมีความคงที่และมีแนวโน้มที่จะลดลง
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า ตนได้ลงตรวจพื้นที่รอยต่อปทุมธานีกับกทม.หลายรอบแล้ว และมีการเสริมคันกั้นน้ำตลอดแนวคลองรังสิต คิดว่าหากเพิ่มขึ้นสูงอีก 30 ซม.จะสามารถกันได้อยู่เพราะว่ามีแนวคันดินของชาวบ้านอีกชั้นที่อยู่หลังแนวกระสอบทราย เพื่อเป็นแนวกั้นถ่วงเวลาให้เราเสริมกระสอบทรายหากมีจุดใดพังทลายลง และใช้เครื่องสูบน้ำออกได้ อย่างไรก็ตาม ตนยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถกั้นน้ำไม่ให้เข้าตัวกทม.ได้ แต่ขอให้ศปภ.จัดเวรยามดูแลแนวกระสอบทรายตลอด 24 ชั่วโมง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการไปตรวจแนวคันกั้นน้ำคลองรังสิต 1 ว่า มั่นใจว่าสามารถรับน้ำได้ โดยจะเสริมกระสอบทรายให้สูงขึ้นอีกและมอบให้กองทัพบกดำเนินการ ซึ่งดูแลและห่วงประชาชนต่างจังหวัดทุกจังหวัดที่เจอภาวะน้ำท่วม แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแนวคันกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้พื้นที่เสียหายกระจายมากไปกว่านี้ แต่ในภาพรวมได้คุยกับทุกหน่วยงานซึ่งมั่นใจว่าปริมาณน้ำยังไม่ได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งพื้นที่กทม.อยู่ด้านล่างปริมาณน้ำจึงไม่ได้สูงเหมือนจ.นครสวรรค์ และจ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้การขุดคลองแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้น้ำมีทางระบายลงสู่ทะเล

การทำแนวคันกั้นน้ำเราขอความร่วมมือจากประชาชนยืนยันว่ารัฐบาลห่วงใยประชาชนทุกจังหวัด ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลือกดูแลปกป้องจุดไหน แต่มีความจำเป็นที่ต้องปกป้องเขตเศรษฐกิจทั้งหมด ตนได้ให้แนวทางผวจ.ทั้งหมดปกป้องเขตเศรษฐกิจ เช่น อ.เมือง โดยเฉพาะกทม.ถือเป็นหัวใจกลางของเศรษฐกิจประเทศ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องช่วยกันทำงาน ขณะเดียวกันเราจะพยายามหาทางระบายน้ำไปยังส่วนอื่น เพื่อแบ่งเบาทุเลาปัญหาที่ประชาชนประสบ สำหรับกทม.ขณะนี้ได้ทำแนวป้องกันน้ำไว้อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าน้ำที่จะเข้ากทม.ไม่มาก และให้ความมั่นใจว่าไม่น่าจะมีผลกระทบมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศปภ.ออกมาแถลงมั่นใจว่าน้ำไม่ท่วมกทม.แน่นอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ได้ซ่อมแซมรอยต่อจังหวัดซึ่งกลับเข้าสู่สภาพปกติแล้วรวมทั้งกทม.สูบน้ำออก จะทำให้น้ำไม่กระทบมาก ตนอยากให้สบายใจว่าการทำงานของกทม.เราได้ป้องกันหลายอย่าง โดยเฉพาะพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดูแลเรื่องแนวน้ำ และระดับน้ำในขณะนี้ทรงตัว

เมื่อถามว่า ประชาชนที่อยุธยาร้องเรียนว่าผวจ.พระนครศรีอยุธยาไม่เข้าไปดูแลในพื้นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่จริงผู้ว่าฯดูแลตลอดแต่พื้นที่มีหลายแห่งซึ่งต้องขอความเห็นใจ"

**อัด"สุขุมพันธ์"ไม่เคยมาประชุมเลย

ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการทำงานระหว่าง ศปภ.กับ กทม.นั้นในส่วนของ กทม.ดูแลเฉพาะพื้นที่ กทม.ชั้นในแต่สำหรับรัฐบาลดูแลการแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมามีการประสานงานกันไม่ได้มีความขัดแย้ง แต่ยอมรับว่าในการประชุม ศปภ.ที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ไม่เคยมาร่วมประชุม จะส่งเพียงตัวแทนนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.มาเท่านั้น และเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่เกิดเหตุการณ์ประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าว อ.สามโคก พังก็ไม่มีตัวแทนของ กทม.ร่วมประชุมอยู่กับ ศปภ.ด้วย

**ต่อไปมติ ศปภ.ฟังประชาคนเดียว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนายปลอดประสพ ได้ไปดูสถานการณ์ที่ประตูระบายน้ำคลองบ้านพร้าวด้วยตัวเอง และเห็นว่า ศปภ.ควรจะแถลงข่าว แต่ต่อมาที่ประชุม ศปภ.ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา เห็นว่าควบคุมได้แล้ว จึงได้ออกแถลงการณ์แก้ไข แต่ต่อไปนี้ ทาง ศปภ.จะเรียกว่าความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนคืนมาโดยการแถลงข่าวนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ในส่วนแรกจะเป็นการให้ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมอุตินิยมวิทยา หรือหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา สามารถชี้แจงทำความเข้าใจผ่านการแถลงข่าวหรือเว็บไซต์ต่างๆได้ แต่สำหรับ ศปภ.การแถลงข่าวในระดับนโยบายที่จำเป็นต้องการมติในการตัดสินจะขึ้นอยู่กับ พล.ต.อ.ประชา เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้แถลงหรือมอบหมายผู้ใด โดยเฉพาะการสั่งการหรือเตรียมอพยพประชาชน

**สั่งเฝ้าระวังน้ำเข้ากรุงฯ14-19ต.ค.

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้เร่งระบายน้ำ พร้อมจัดเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำ รวมถึงการซ่อมและสร้างพนังกั้นน้ำ ทั้งนี้ กองทัพบกยังคงระดมทหารและยุทโธปกรณ์ เข้าช่วยแก้ไขวิกฤตสถานการณ์น้ำในขณะนี้ในหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำที่กำลังจะเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

อย่างไรก็ตาม จากการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 14-19 ต.ค.นี้ ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงเนื่องจาก น้ำทะเลหนุน และปริมาณน้ำจำนวนมากจากพื้นที่ตอนบนจะเข้าสู่ ภาคกลางตอนล่างรวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ดังนั้น เพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายในทุกด้านที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้ทุกหน่วยทหารเฝ้าตรวจสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดช่วง 3-5 วันนี้ โดยเน้นด้านความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

**กรมชลฯ เผยตัดยอดน้ำเหนือเข้ากรุง

ด้านนายชลิต ดำรงค์ศักดิ์ อธิบดีกรมชลประธาน กล่าวว่า ตนขอชี้แจงข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงช่วงปลายน้ำอันดับแรกช่วงวันที่ 13-18 ต.ค.นี้ เป็นช่วงน้ำทะเลสูงสุดและน้ำจากภาคเหนือมาบรรจบกัน ขั้นตอนการบริหารจัดการ คือ เราจะตัดยอดน้ำข้างบนก่อน โดยลำน้ำปิงจะมีเขื่อนภูมิพลทางกรมชลฯก็จะลดระบายน้ำในเขื่อนเพื่อให้น้ำลงมาจากนครสวรรค์ให้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกันระดับน้ำที่แม่ม้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลมอยู่ด้านบน ซึ่งตรงนี้มีปริมาณน้ำที่น้อยและไม่มีผลกระทบต่อนครสวรรค์เท่าไร มีเพียงลุ่มน้ำยมที่ตอนนี้ที่ไม่มีเขื่อนที่จะชะลอน้ำ ส่วนลุ่มน้ำน่าน เรามีถึง 2 เขื่อนทางกรมชลฯชะลอน้ำไว้ในเขื่อนโดยการปล่อยการระบายน้ำให้
น้อยที่สุด

"ผลของการปล่อยน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่น้อยลงทำให้วันนี้น้ำที่นครสวรรค์นิ่งมาประมาณ 3 วันแล้วและไม่มีน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าน้ำก้อนใหญ่ได้ถึงนครสวรรค์แล้วการบริหารจัดการอันดับสองคือจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯน้ำจะมาถึงในวันที่ 15-16 ต.ค.ระดับความสูงของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.4 เมตร แต่ขณะนี้ข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำด้านบนน้อยกว่าที่กรมชลฯได้คาดหมายไว้ แนวคั้นน้ำกรุงเทพฯระดับน้ำความสูงอาจจะอยู่ที่ 2.5 เมตร เพราฉะนั้นยืนยันสถานการณ์ที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ รอดแน่

**ชาวกรุงเก่ายังทุกข์หนัก

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวานนี้ (14 ต.ค.) พบว่าหลายครัวในพื้นที่ อ.บางปะอิน ได้อพยพหนีน้ำยึดพื้นที่ข้างถนนสายเอเชีย และสะพานลอยนอนเพราะศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบภัยน้ำท่วมไม่สามารถรองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้เพียงพอ อีกทั้งไม่มีรถที่จะเดินทางมารับอาหารและถุงยังชีพได้จึงต้องอดอยากทั้งคนและสัตว์เลี้ยง

ขณะที่ถนนสายเอเชียบางช่วงทั้งขาขึ้นและล่องน้ำท่วม 20-30 ซม.แล้ว และลามเข้าท่วมถนนสายอุดมสรยุทธ ตั้งแต่โรง

งานบริษัท อินโดไทย ถึงที่ว่าการอำเภอบางปะอินเก่า ทั้งสองฝั่งน้ำท่วมสูง รวมถึงบ้านของนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ผู้คนเริ่มอพยพออกนอกพื้นที่บางส่วนแล้ว

ขณะที่ชาวบ้านต่างบ่นกันเป็นแถวว่า ขณะนี้จักรยานยนต์และเรือรับจ้าง ฉวยโอกาสขูดรีดเก็บค่าโดยสารแพง สำหรับจักรยานยนต์รับจ้าง แค่โดยสารไม่ถึงกิโลเมตรเพื่อไปรับถุงยังชีพและหาหมอคิดค่าโดยสารตั้ง 20 บาท ส่วนเรือรับจ้างขั้นต่ำ 100 บาท ถือว่าโหดมาก ทุกคนต่างเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกันต่างหนีตายมาด้วยกัน หลายคนแทบจะหยิบอะไรมาไม่ได้สักชิ้น แถมยังต้องมาโดนขูดรีดอีก สำหรับสินค้าที่วางขายข้างทางก็ราคาขึ้นเท่าตัวเช่น ขณะที่การเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ทั่วถึง

**ปภ.นครสวรรค์วอนชาวบ้านมาอยู่ศูนย์

ที่ จ.นครสวรรค์ นายชวลิต พงศ์สิทธิ์ศักดิ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตแม้ว่าระดับน้ำจะทรงตัวเกือบทุกพื้นที่แล้วก็ตาม หลังจากที่หลายแห่งถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว ล่าสุดบริเวณศูนย์ราชการเองที่ถูกน้ำท่วมนั้นก็พบว่าระดับน้ำทรงตัวอยู่ที่ 1.20-1.50 เมตร ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้มีการตั้งศูนย์อพยพผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจำนวน 11 จุด ล่าสุดมีผู้มาอาศัยอยู่จำนวน 5,000 คน การเข้าถึงแต่ละพื้นที่ค่อนข้างจะยากลำบาก จึงอยากวอนขอให้ประชาชนที่ไม่ยอมออกจากบ้านให้ออกมาอาศัยบริเวณศูนย์อพยพ เพราะเกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง.
กำลังโหลดความคิดเห็น