"ยิ่งลักษณ์" เข้าเฝ้าฯ ในหลวงถวายรายงานสถานการณ์อุทกภัย ทรงรับสั่งห่วงประชาชนให้เร่งระบายน้ำด้านตะวันออก หาพื้นที่ระบายน้ำเพิ่มด้านตะวันตก นายกฯเรียกผู้ว่าฯพื้นที่เสี่ยงถกรับมือ ถ้าไม่ไหวต้องเตรียมแผนอพยพ ระวังมวลน้ำหลากเข้ากรุงเก่า 14 ต.ค. ถึงกรุงเทพฯ 15 ต.ค. "สุขุมพันธ์"เร่งเสริมกระสอบทรายกันกทม. แนะชาวบ้านเฝ้าระวัง 14-17 ต.ค.น้ำทะเลหนุนสูง ก.อุตฯสั่งนิคมไฮเทคหยุดประกอบกิจการ 143 แห่ง อพยพแรงงาน 5.1 หมื่นคนหนีน้ำ ขณะที่บางปะอินทะยอยปิดโรงงานตามหลังก่อนหน้าสหรัตนะและโรจนะท่วมแล้วทำให้โรงงานกว่า 384 แห่งในพื้นที่ดังกล่าวแรงงานกระทบกว่า 2 แสนคน ระทึกนิคมฯลาดกระบัง ก.อุตฯเฝ้าระวังอีกแห่งเป็นพิเศษ
เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 12 ต.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นการส่วนพระองค์ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่
เมื่อเวลา 19.55 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า พระองค์ทรงรับสั่งเรื่องของน้ำครั้งนี้ก็มากจริงๆ และกระทบความเสียหายเป็นจำนวนมาก และพระองค์ทรงเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์นี้
พระองค์ท่านได้ให้ความสำคัญในการเร่งระบายในด้านตะวันออก อย่างที่เราได้เร่งระบายน้ำและมีการขุดคลอง ซึ่งต้องเร่งรัดการขุดคลองเพื่อให้เกิดการระบายน้ำ ให้เต็มที่ ส่วนด้านตะวันตกต้องดูการหาพื้นที่หรือคลองในการระบายน้ำ
"วันนี้พระองค์ห่วงประชาชนอย่างมาก จึงได้นำกราบบังคมทูลเรื่องการดูแลประชาชน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้( 13 ต.ค.)จะไปสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวการระบายน้ำ โดยหลักการการระบายน้ำที่ดีที่สุดคือการระบายน้ำสู่ทะเล ดังนั้นการทำงานในส่วนการปิดเปิดการระบายน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ต้องบริหารจัดการให้สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเล ระดับน้ำทะเลหนุน หรือน้ำทะเลขึ้นลง ต้องใช้หลักการนี้ อย่างเต็มที่
** "ปู"ยอมรับน้ำมามาก สู้ไม่ไหว
เมื่อเวลา 08.45 น.วานนี้ (12 ต.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ( ศปภ. ) ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม
เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปถึง นางสา ไม่ทราบนามสกุล พร้อมกับลูกสาววัย 6 เดือน ที่ได้ติดต่อเข้ามาทางสายด่วน 1111 กด 5 เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี ช่วยติดตามหาลูกสาววัย 6 เดือน ที่ติดอยู่กลางเกาะ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มาขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ได้ช่วยตามหาลูกสาวให้จนได้พบกัน โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบกระเช้า สิ่งของจำเป็นเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด ก่อนที่จะอุ้มเด็กหญิงวัย 6 เดือน ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ พร้อมกล่าวว่า " ดีใจมาก ใครที่เป็นแม่ คงดีใจมากที่ตามหาลูกจนเจอ"
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า ว่า เราต้องดูแลเรื่องการอพยพผู้คนให้ปลอดภัย เพราะจากการบินสำรวจพบว่ายังมีประชาชนต้องการให้ความช่วยเหลือและติดอยู่ในน้ำอีกมาก ขณะเดียวกันต้องเร่งกู้ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมด้วย ดังนั้นจึงได้เชิญจังหวัดที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องเตรียมรองรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อปรับปรุง แต่หากคิดว่าจะสู้น้ำไม่ไหวคงต้องมีแผนสำรองในการเตรียมอพยพผู้คนโดยเน้นเรื่องความปลอดภัยให้มากที่สุด
เมื่อถามว่ารัฐบาลเลือกที่จะป้องกัน และปล่อยจุดไหนบ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงเราไม่ปล่อย เป็นห่วงทุกจังหวัด การทำงานเราจะกระจายกำลังโดยไม่ให้ซ้ำซ้อน สิ่งสำคัญคือต้องให้ความปลอดภัยกับชีวิต ส่วนทรัพย์สินเป็นอันดับสอง เพราะเราไม่สามารถทำสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด จะต้องนำประสบการณ์จากจังหวัดอื่นๆ ที่ถูกน้ำท่วมมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ว่าราชการเตรียมทำงาน หากโซนไหนที่คิดว่าปลอดภัย ต้องกั้นไว้ก่อน ไม่ควรกั้นช่วงที่น้ำกำลังจะมา เพราะจะสู้น้ำไม่ไหว เนื่องจากวันนี้น้ำทั้งประเทศเยอะมาก แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ก่อปูนสูง 2 เมตร วันนี้น้ำเริ่มซึม ซึ่งรัฐบาลได้เตือนให้ขนย้ายแล้ว และเวลานี้กำลังดูแลเรื่องของพนักงาน
** สั่งพณ.ดูแลพ่อค้าฉวยโอกาสโก่งราคา
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการโก่งราคาสินค้าโดยเฉพาะกระสอบทราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จะกำชับให้ทางกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแล แต่คงต้องขอร้อง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกราย เพราะวันนี้ประชาชนเดือดร้อนมาก ดังนั้นอยากให้ขายในปริมาณที่เพียงพอต่อต้นทุน หากปรับราคาสูง คนก็ยิ่งจะเก็บสต็อกของ ส่งผลให้ผู้เดือดร้อนไม่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้
เบื้องต้นรัฐบาลพยามจะล็อคสินค้าบางส่วนที่ขาดตลาดมาเอง เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยประสานตรงกับทุกหน่วยงาน ส่วนความต้องการกระสอบทราย 1.7 ล้านกระสอบนั้น เวลานี้น่าจะได้ครบแล้ว ซึ่งทางกทม.เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนแนวกั้นน้ำ 3 จุด ที่ป้องกันน้ำทะลึกเข้าพื้นที่ กทม.นั้น เวลานี้จะเร่งรัดให้เสร็จภายในสองวัน คือวันนี้ (13 ต.ค.) คงจะเสร็จ
** คุมเข้มแนวกั้นน้ำตะวันออกกทม.
เมื่อถามว่าฝั่งตะวันออกที่เป็นปัญหาแนวกั้นน้ำพังบางส่วน จะป้องกันน้ำได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องทำให้ดีที่สุด แต่ยอมรับมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น เมื่อมีการนำกระสอบทรายตั้งเป็นแนวกั้นน้ำ แต่ถูกประชาชนดึงออก บวกกับความไม่แข็งแรงและความเปื่อยของกระสอบทราย ดังนั้นวันนี้จะใช้สรรพกำลังตรวจสอบคุณภาพให้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมอุตินิยมวิทยา รายงานว่า พายุลูกใหม่ยังไม่พัดผ่านเข้าไทย หากไม่มีตัวนี้ จากการวางแผนที่ดำเนินการมา คิดว่าน่าจะรับมือได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราจะทำล่วงหน้าให้ครอบคลุมมากที่สุด
**ระดม ฮ.ลำเลียงของช่วยเหลือ
ต่อมาเวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานปล่อยคาราวานเฮลิคอปเตอร์ รุ่นฮิวอี้ จำนวน 10 ลำ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำมาช่วยเหลือในภารกิจการลำเลียงเครื่อง อุปโภค บริโภค และสิ่งของที่จำเป็นไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ชั้นในของ จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ต.อ.ยงยุทธ ไชยเดช รองผู้การกองบินสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่น ฮิวอี้ แต่ละลำบรรจุน้ำหนักได้ 1,800 ปอนด์ การที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนส่งเสบียงไปให้ประชาชน เนื่องจากบริเวณฝั่งตะวันออก บ้านแพรก เขาหลวง และ มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา กับฝั่งตะวันตกบริเวณเกาะที่อยู่ด้านบน และล่าง ที่ไม่สามารถใช้เรือขนส่งสิ่งของเข้าไปได้
ทั้งนี้วิธีการขนส่ง ฮ. ทั้ง 10 ลำ จะใช้เวลาเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปถึงศูนย์ราชการ บริเวณห้างโลตัส ประมาณ 25 นาที แล้ว ฮ.ทั้งหมด จะกระจายไปตามจุดต่างๆโดยจะมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กับนักบิน และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำจุดรับของด้านล่าง แล้วเจ้าหน้าที่จะหย่อนเสบียงลงไป บินในระดับต่ำที่สุด เพื่อไม่ให้เสบียงเสียหาย
**ช่วยเหลือผู้ป่วยมารักษาในกทม.
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ไปตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์บูรณาการประสานงานการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้ภัยพิบัติระดับชาติ ( ศูนย์ดอนเมือง 84 ) บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นจุดลำเลียงรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศจากพื้นที่ต่างจังหวัด เข้ามาในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วยเฮลิคอปเตอร์ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลต่างๆในกทม. ร่วมสนับสนุน พร้อมทั้งรถพยาบาลจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลต่างๆ และรถดับเพลิงร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย
** ผนึกกำลังกทม.สกัดน้ำท่วมกรุง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวถึงความร่วมมือกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ในการแก้ไขวิกฤตน้ำที่จะทะลักเข้าท่วมกทม. ว่า เราพยายามที่จะใช้กลไกของการทำงานภาพรวมในการประสานทุกจังหวัด รวมถึงในกทม. แต่เนื่องจากการดูแลในส่วนของกทม. แยกจากกัน ซึ่งการดูแลพื้นที่กทม.นั้น เราต้องให้ ผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในความร่วมมือที่จะเป็นความร่วมมือระหว่างกัน เราก็จะพยามแลกเปลี่ยน ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือจาก กทม.ให้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำงาน เพื่อรับประสานงานกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง กทม.ให้ความร่วมมือกับศปภ. มากน้อยแค่ไหน ในการแก้ไขปัญหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราพยายามทำงานสัมพันธ์กันอยู่ รวมก็คุยกันดี แต่จะมีงานบางส่วนที่ต้องแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ
ส่วนการประเมินสถานการณ์อุทกภัยในกทม.นั้น มี 2 ส่วนที่จะได้รับผลกระทบ คือ 1. จากรอยต่อของจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้นจุดสำคัญจุดแรกของกทม.คือ รอยต่อที่ต้องรักษาให้ดี โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานี เรามีปัญหาในเรื่องของการทำผนังกั้นน้ำ ซึ่งการขอความร่วมมือจากประชาชนทำได้ยาก เนื่องจากประชาชนคงอยู่ในภาวะที่เครียด ไม่สามารถทำการกั้นน้ำได้อย่างเต็มที่
2. แนวกั้นน้ำของอีกฝั่ง ที่อยู่ในการดูแลของกทม. ซึ่งเบื้องต้นผู้ว่าฯกทม.ได้รับปากว่า จะทำ แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ของกทม.เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้มีปัญหากับการระบายน้ำ เราจะมีการเร่งขุดคลองให้เร็วที่สุด แม้ทำได้ยาก เพราะมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปตรวจงาน พร้อมหาพื้นที่ เพื่อเร่งรัดในการขุดคลอง
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัญหาการระบายน้ำออกสู่ทะเลทำได้ยาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมแผนสำรองไว้ คือการเร่งเตรียมสถานที่ศูนย์อพยพต่างๆ การดูแลชีวิตประชาชน
** แม้ท่วมกทม.ระดับน้ำคงไม่สูง
เมื่อถามว่าวันนี้พูดได้หรือไม่ว่า กทม.มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมหนัก เหมือนจังหวัดอื่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนของกทม.ที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน้ำท่วม แต่อาจจะไม่สูงมากนัก
ส่วนพื้นที่ชั้นใน วันนี้ตนเชื่อว่ายังปลอดภัยอยู่ อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์ และดูปริมาณน้ำในทุกวันอย่างต่อเนื่อง ตนขอให้ประชาชนอยู่ด้วยความระมัดระวัง ขอความกรุณา อย่าตื่นตระหนก แต่หากมีการเตรียมตัวส่วนของทรัพย์สิน และสิ่งของต่างๆ ที่อยู่บริเวณชั้นล่าง ที่คิดว่ามีความเสี่ยงที่น้ำจะเข้ามาถึง ขอความกรุณาให้ย้ายของขึ้นชั้นบน ส่วนระบบไฟหากน้ำท่วมชั้นล่างแล้วควรจะมีการแยกระบบไฟ ระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง เพื่อให้มีน้ำไฟใช้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้กทม.ถึงแม้จะมีน้ำเข้ามา แต่คงเป็นน้ำในปริมาณที่ไม่สูง เชื่อว่าการคมนาคมต่างๆ คงดำเนินต่อไปได้
** ป้องกันน้ำเข้าคลองเปรมฯ-คลองประปา
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่เทศบาลตำบลหลักหก อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 และนายทหารระดับสูง ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจแนวพนังกั้นน้ำ และมอบสิ่งของให้กับผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์จาก พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผู้บัญชาการหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ (ผบ.นปอ.) และนายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ปทุมธานี
พล.ท.ยอดยุทธ ได้สรุปสถานการณ์ว่า พื้นที่หลักหกเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เพราะถ้าหากน้ำผ่านจุดนี้ไปได้ น้ำจะไหลเข้าคลองเปรมประชากร น้ำจะเข้าสู่เขตดอนเมือง และอีกจุดหนึ่งที่จะมีปัญหาคือ คลองประปา ถ้าหากน้ำทะลักเข้าไป ขณะนี้ได้มีการเสริมแนวพนังกั้นน้ำตลอดพื้นที่ 1.6 กม. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราจะพยายามเสริมให้สูงถึง 1.90 เมตร เพื่อรองรับน้ำที่จะมา
ขณะนี้น้ำในคลองแปรมประชากร ต่ำกว่าที่คลองรังสิตประมาณ 2.5 เมตร หากน้ำท่วมคลองรังสิต หมายความว่า กรุงเทพฯ ชั้นในจะท่วมหมด ทั้งนี้การทำงานร่วมกันระหว่างทหารกับประชาชนที่ผ่านมาไม่มีปัญหา ขอให้ผบ.ทบ.สบายใจ แต่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนทราย แต่จากการที่ ผบ.ทบ.ช่วยประสานงานนำทรายจากพื้นที่อื่นมา ทำให้พื้นที่มีกระสอบทรายเพิ่มขึ้น
** ปัญหาชาวบ้านขัดขวาง
นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เราต้องสละพื้นที่บางส่วน คือ ต.ตะแคง ต.สามโคก แล้วทำแนวคันกั้นน้ำ โดยใช้แนวถนนสายสามโคก-ปทุมธานี รวม 6 กม. และใช้ถนนสายปทุมธานี -รังสิตระยะทาง 1 กม. ทั้งนี้เรามีคลองอยู่ 3 คลอง โดยแม่ทัพภาคที่ 1 จะปิด 1 คลอง ส่วนอีก 2 คลองให้ส่วนราชการดำเนินการ โดยจะเร่งทำให้แล้วเสร็จ หากทำได้ตามแผนน้ำจะมาไม่ถึงเมือง ซึ่งระดับน้ำในขณะนี้แค่ปริ่มตัวเมือง
"แต่ปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะประชาชนส่วนหนึ่งประท้วงไม่ยอมให้ทำ โดยมีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ยุแยงประชาชนของผู้สมัครฝั่งตรงข้าม ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ตนเห็นด้วยกับ ผบ.ทบ.ที่ไม่ควรให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้เราสามารถรักษาพื้นที่ จ.ปทุมธานี และประชาชนไม่ให้เดือดร้อนได้ 90 % โดยมีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมตามแนวคลองแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 1.7 หมื่นครอบครัว คิดเป็นคนจำนวน 4 หมื่นคน สำหรับพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่เดือดร้อน คือ คลอง 13 เป็นพื้นที่ไร่นา ชุมชน ประชาชนเดือดร้อนประมาณ 1 หมื่นครอบครัว รวม 3 หมื่นคน ถ้าวันนี้ไม่สามารถหยุดการไหลของน้ำตรงนี้ ทุกพื้นที่จะท่วมหมดตั้งแต่ชุมชนบางคูวัดบางพะแยง ชุมชนชวนชม แล้วจะลงไปถึงปากเกร็ด และบางบัวทอง อยากขอไปยัง ผบ.ทบ.ว่า หากเป็นไปได้อยากให้ทหารเข้ามาอำนวยการในการป้องกัน อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี โดยผมขอเป็นผู้ช่วย เพราะศักยภาพผมในวันนี้โดนกระแสทางการเมืองต่อต้าน ทำให้ความมั่นใจของผมลดลง 50 %" ผู้ว่าฯปทุมธานี กล่าว
นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์วันนี้ ต้องการความเด็ดขาด คือถ้าภายใน 6 ชั่วโมง ทำแนวคันกั้นถนนในจุดที่ประชาชนต่อต้านได้ ก็จะทำให้น้ำหยุดไหล บ้านเมืองอยู่รอด ซึ่งตนจะเข้าไปเจรจากับประชาชนอีกรอบ จะให้กราบเท้าวิงวอนอย่างไรก็ยอม อีกปัญหาหนึ่งคือ กระสอบทรายที่ขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 5 หมื่นกระสอบ ซึ่งเรารอไม่ได้ วันนี้ต้องรวบรวมกระสอบทรายให้ได้ 1.5 แสนกระสอบ และวางเป็นแนวคันกั้นน้ำทันที ซึ่งเตรียมคนไว้ 300 คน แต่ตอนนี้ขาดทราย จึงอยากให้ ผบ.ทบ.รับจ.ปทุมธานีไว้ในอุปถัมภ์ด้วย และทำอย่างไรก็ได้ ที่ให้มีการสร้างแนวคันกั้นน้ำด้วยกระสอบทราย 1.5 ใบให้เสร็จภายในเที่ยงวันนี้ หากทำได้ ปทุมธานี ส่วนใหญ่จะอยู่รอด ความหวังของชาวปทุมธานีอยู่ที่ ผบ.ทบ. วันนี้ผมใกล้จะหมดหวังแล้ว แต่ ผบ.ทบ.ลงมา และเติมความหวังให้ เชื่อว่า ปทุมธานีจะอยู่รอดด้วยการดำเนินการและบารมีของ ผบ.ทบ. ความหวังชาวปทุมธานี อยู่ที่ผบ.ทบ.และทหาร ถือว่า เราโชคดีที่พล.อ.ประยุทธ์มาได้ทันเวลา วันนี้ผู้ว่าฯปทุมธานียกเมืองนี้ให้ผบ.ทบ. ดูแล"
** วอนชาวปทุมฯเสียสละเพื่อส่วนรวม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงพื้นที่ ต.สามโคก ที่ประชาชนไม่ยอมให้สร้างแนวคันกั้นน้ำ ว่า อยากขอร้องให้เสียสละ อย่าตีกัน เพราะไม่เกิดประโยชน์ เพราะอย่างไรมันท่วมอยู่แล้ว แต่จะกันให้ท่วมอย่างไร แค่ไหน ซึ่งคงต้องไปทำความเข้าใจกันต่อ เราต้องไปพูดกับเขาว่า ต้องเสียสละ และช่วยกันไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ เขาจะได้บุญกุศล เพื่อจะได้พื้นที่เอาไว้ความช่วยเหลือและเป็นที่พักของผู้ประสบภัย แต่ถ้าท่วมกันหมด ก็คงได้แต่นั่งมองหน้ากัน และคนเดือดร้อนในกรุงเทพฯเป็น 10 ล้านคน ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพ ประเทศไทยก็หมดกัน แต่ความจำเป็นที่ต้องป้องกันกรุงเทพไว้ เพราะเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของราชการ เศรษฐกิจ หากท่วมประเทศไทยหมดกัน อยากให้เสียสละบ้างเล็กน้อย เดี๋ยวรัฐบาลจะเข้ามาดูแลภายหลัง เราต้องชี้แจงถึงความสำคัญตรงนี้ให้เขารับทราบ ไม่ใช่ว่า บ้านเขาไม่สำคัญ แต่สิ่งไหนสำคัญกว่า ต้องดูที่ตรงนั้น ซึ่งจะส่งทหารไปพูดคุย แต่ห้ามทะเลาะกับชาวบ้าน พูดกับเขาดีๆ ในส่วน จ.ปทุมธานี จะมีกำลังพลจาก นปอ.รับผิดชอบหลัก แต่จะโยกกำลังพลบางส่วนไปดูแล จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
** ทอ.ส่งเครื่องบินช่วยค้นหาประชาชน
พล.อ.ต.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) กล่าวว่า ทอ.ได้จัดอากาศยานสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีเครื่องบินลาดตระเวนแบบ AU-23 จำนวน 2 เครื่อง โดยเครื่องแรกจะติดเครื่องกระจายเสียง เพื่อแจ้งเตือน หรือนัดหมายประชาชนหากจะมีการช่วยเหลือจากรัฐในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนเครื่องบินลำที่สอง จะติดกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว( วีดีโอ แบบเรียลไทม์ ) โดยจะส่งภาพมาที่ ศปภ. เพื่อให้ทางศูนย์ฯ สามารถรับรู้สถานการณ์ และประเมินสถานการณ์จริง พร้อมทั้งตรวจสอบสภาพน้ำเพื่อวิเคราะห์แผนรับมือ
"ทอ.ได้เตรียมเครื่องบินตรวจการณ์ และฝึก (บตฝ.20) แบบไดมอน 2 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินถ่ายภาพทางอากาศ แบบอินฟาเรด สามารถค้นหาประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยกล้องอินฟาเรด สามารถสแกนหาสัญญาณบ่งบอกสิ่งมีชีวิตได้ และภาพมีความคมชัด สูง ทั้งนี้ ทอ.พร้อมปฏิบัติการทันที เมื่อได้รับคำสั่ง" โฆษกทอ. ระบุ
** ทร. ดูแลกทม.ฝั่งตะวันตก
ด้านพล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ได้เดินทางไปดูระดับน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา พุทธมณฑลสาย 4 อ.ศาลายา จ.นครปฐม พร้อมตรวจเยี่ยมกำลังพลของกองทัพเรือ ที่ช่วยก่อกระสอบทรายเพื่อทำเป็นคันกั้นน้ำ เนื่องจากเกรงว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงจากฝั่งตะวันตก ที่ไหลเข้ามาจะทะลักเข้าท่วมเข้ามาในพื้นที่กทม. ฝั่งธนบุรี
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ดูแลคันกั้นน้ำบริเวณคูคลองฝั่งติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาฝั่งตะวันตกของกทม. โดยให้กำลังพลดูแลคั้นกั้นน้ำไม่ให้พังทลาย เพราะกระแสน้ำค่อนข้างแรง
ในส่วนของการส่งกำลังพลไปช่วยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ จ.อยุธยานั้น กองทัพเรือได้ส่งชุดประดาน้ำ จากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ หรือ หน่วยซีล ไปกู้แท่นพิมพ์ของโรงงาน ตามที่ทางจังหวัดได้มีการประสานงานมา
** เลื่อนซ้อมขบวนเรือพยุหยาตราฯ
สำหรับกำหนดการซ้อมขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมาค ในวันที่ 13 ต.ค. และ 18 ต.ค.นี้ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า คงต้องเลื่อนกำหนดการซ้อมออกไป เพราะกระแสน้ำค่อนข้างแรง และที่ผ่านมาเราได้ซ้อมมาแล้ว 6-7 ครั้ง และพิธีในวันจริง ยังคงต้องรอทางสำนักพระราชวัง ในการยืนยันว่า จะเป็นวันใดอีกครั้ง
** ทส.มั่นใจกทม.ยังป้องกันได้
ด้านคณะทำงานกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สรุปการประเมินสถานการณ์รายวันว่า ขณะนี้ สถานการณ์โดยรวมยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจาก
1. ยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนภูมิพล จึงทำให้น้ำที่เหลืออยู่เป็นน้ำค้างเก่า ที่ภาครัฐต้องเร่งระบาย
2.ไม่มีปริมาณฝนตกซ้ำต่อเนื่อง 3.โครงการประชาอาสาเรือดันน้ำ จำนวน 300 ลำ เริ่มดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลแล้ว จึงทำให้สถานการณ์ในวันนี้ดีขึ้น
ทั้งนี้พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ บริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีน้ำขังและอาจมีน้ำที่ไหลจากจ.อยุธยา มาสมทบบริเวณรังสิตคลอง 1 ไปจนถึงองครักษ์ ที่อาจจะทำให้เพิ่มระดับน้ำท่วมขังสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน การเสริมคันกั้นน้ำตามนโยบายของรัฐบาล สั่งหน่วยงานลงพื้นที่เสริมคันกั้นน้ำ ตั้งแต่คลอง 8 มายังคลอง 1 ยังไม่แล้วเสร็จ หากหัวน้ำจาก จ.อยุธยาที่ไหลมาจากประตูบางไทร ไหลมาสมทบ อาจจะต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังน้ำที่จะท่วมสูง เป็นพื้นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 17 ต.ค.
** ระวัง14-17 ต.ค.น้ำทะเลหนุนสูง
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริม 2 ฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ เตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดจากระดับน้ำเหนือที่ไหลหลากเข้าสู่กรุงเทพฯ ในช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และน้ำทะเลหนุนสูงในคราวเดียวกัน
สำหรับช่วงที่ต้องระวังอย่างใกล้ชิด ที่มีระดับน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 14-17 และ 28-31 ต.ค. นี้ โดยระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำจ้ำพระยา บริเวณกองบัญชาการทหารเรือ ถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีปริมาณสูงประมาณ 1.95-2.30 เมตร และอาจสูงกว่านั้น หากในช่วงดังกล่าว มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
**เตือน 6 จังหวัดเสี่ยงดินถล่ม
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีพื้นที่ประสบภัย 26 จังหวัด ได้แก่ จ.สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร ตาก และจ.ราชบุรี จำนวน 187 อำเภอ 1,364 ตำบล 10,344 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 766,267 ครัวเรือน 2,230,016 คน และ มีผู้เสียชีวิต 281 ราย สูญหาย 2 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 9,670,726 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่าจะเสียหาย บ่อปลา 128,429 บ่อ ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,956,723 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 223 สาย แยกเป็น ทางหลวง 62 สาย ใน 16 จังหวัด ทางหลวงชนบท 161 สาย ใน 34 จังหวัด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99 % เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 98 % เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 100 % เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 130 %
นายวิบูลย์ กล่าวเตือนว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยทำให้บริเวณดังกล่าว มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะ จ.ระนอง (อ.สุขสำราญ) พังงา (อ.กะปง อ.ตะกั่วป่า) ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต อ.ถลาง อ.กะทู้) กระบี่ (อ.เมืองฯ อ.เขาพนม) ตรัง และ สตูล ระมัดระวังจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ โดยบางพื้นที่น้ำในคลองเริ่มเอ่อล้นตลิ่งแล้ว และวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มม. รวมถึงเริ่มมีดินไหลในบางพื้นที่ ทำให้ดินบนภูเขาซึ่งชุ่มน้ำ อาจพังถล่มลงมาได้
ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากน้ำในลำห้วยเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินบนภูเขา มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลมากับน้ำ มีเสียงดังผิดปกติจากป่าต้นน้ำ ให้อพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยและพ้นจากแนวการไหลของน้ำ
***ระวังมวลน้ำหลากกรุงเก่า 14 ต.ค.นี้
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำใหญ่ทางภาคเหนือได้ผ่านจ.นครสวรรค์มาแล้ว คาดว่าจะถึง จ.พระนครศรีอยุธยาประมาณวันที่ 14 ต.ค. โดยขณะนี้ที่จ.พระนครศรีอยุธยามีปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทางรัฐบาลได้พยายามผันน้ำลงทะเลใน 2 ทิศทาง คือ ทางตะวันออกจะผันลงทางคลองรพีพัฒน์ ทางคลองแสนแสบ ลงทะเลทางแม่น้ำบางปะกง อีกเส้นทางจะผันลงแม่น้ำท่าจีน ทางคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ อีกส่วนจะมีการผลักดันน้ำลงที่บริเวณคลองลัดโพธิ์ โดยใช้เรือนับพันลำ ผลักน้ำลงทะเล สำหรับน้ำทางตะวันออกจะไปทางจ.ฉะเชิงเทรา จ.สมุทรปราการ จึงเกิดน้ำหลากท่วม สายไหม มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ผ่านทางรังสิตลงไป
ส่วนทางซีกตะวันตกน้ำจำนวนมากจะไหลเอ่อไปที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และเชื่อว่าคงกระทบถึง จ.นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการครั้งนี้เราจะพยายามผันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพราะมวลน้ำขนาดใหญ่จากนครสวรรค์จะลงมาสมทบอีก ก็ต้องเรียนให้ทราบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ โดยคาดว่าน้ำจะถึงกทม.ประมาณวันที่ 15 ต.ค.
***"เสริมกระสอบทรายกั้นรอยต่อกทม.**
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เดินทางมายังโรงเรียนมัธยม วัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำ พร้อมเยี่ยมเจ้าหน้าที่ และกำลังพลจากกองทัพบก กองทัพเรือ ที่เข้ามาช่วยเร่งเสริมกระสอบทราย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้เขตทวีวัฒนาได้รับความร่วมมือ จากกองทัพเรือ เพื่อมาสร้างแนวป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาท่วมในพื้นที่ กทม. ซึ่งในวันนี้ระดับน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาวัดได้ 2.01 เมตร จากแนวป้องกัน 2.50 เมตร ส่วนที่อำเภอบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ 3,460 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำในคลองกทม.ยังมีปริมาณจำนวนมาก แต่ยังสามารถควบคุมได้ ไม่ถึงขึ้นวิกฤติ ซึ่งตนได้สั่งให้มีการเสริมแนวคันกั้นน้ำ พื้นที่ จ.ปทุมธานี รอยต่อกรุงเทพฯ และฝั่งตะวันตกของกทม.พร้อมสั่งให้มีการเตรียมแผนอพยพ หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมสูง ซึ่งที่โรงเรียนมัธยม วัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา ได้เปิดเป็นศูนย์อพยพผู้ประสพภัยน้ำท่วมเพิ่มกระสอบทราย
กทม. ได้ประสานการทำงานกับกรมชลประทานและรัฐบาล โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำอะไรโดยไม่ปรึกษากัน เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ตนไม่ประมาทสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะได้ลงตรวจพื้นที่ทุกวัน ซึ่งตนได้สั่งให้มีการเสริมกระสอบทรายด้วยความสูง 20 เซนติเมตร และความหนาอีก 1 กระสอบ ที่ตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อป้องกันน้ำที่จะทะลักเข้ามากรุงเทพฯได้
**คาดน้ำเหนือ-ทะเลหนุนสูง**
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การพยากรณ์อากาศยังไม่มีหน่วยงานใดพยากรณ์อากาศได้แม่นยำ เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ตนอยากพยากรณ์อากาศให้แม่นยำ แต่ตนไม่ใช่ขงเบ้งที่จะทำอย่างนี้ได้ แต่ในช่วงวันที่ 16 - 18 ต.ค.นี้ จะมีตัวแปร ซึ่งเป็นฝนเข้ามาเพิ่มหรือไม่ กทม.ก็ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะคาดว่าจะมีน้ำเหนือไหลลงมา พร้อมกับมีน้ำทะเลหนุนสูงค่อนข้างแน่
**เร่งผันน้ำจากแสนแสบเข้าอุโมงค์ยักษ์**
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คลองเขตทวีวัฒนา ยังมีระดับน้ำที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งพบว่า ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อปี 2538 ซึ่งขณะนี้อาจจะมีการระบายน้ำเพิ่มเข้ามาในระบบคลองมากขึ้นได้ แต่ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์ทุกระยะ โดยในอีก 2 วันนี้จะมีการเร่งระบายน้ำ ซึ่งจะต้องการหยุดเดินเรือในบางจุด เพื่อระบายน้ำจากคลองแสนแสบ เพื่อผันเข้าอุโมงค์ยักษ์พระโขนง เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจจะเพิ่มขึ้น ตนจึงขออภัยกับประชาชนที่โดยสารทางเรือ เพราะอยากให้เข้าใจสถานการณ์ ในขณะนี้
**เสริมกระสอบทรายต.หลักหก
จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เดินทางต่อไปยังตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานีเพื่อลงพื้นที่ตรวจการสร้างแนวคันกั้นน้ำ คลองรังสิต-ประยูรศักดิ์ โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เร่งดำเนินการวางกระสอบทรายเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยจะทำการเร่งเรียงกระสอบทรายริมคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์ความยาว 4 กิโลเมตรทั้ง 2 ฝั่งคลองจำนวนกว่า 2 แสนกระสอบ เพื่อเสริมกระสอบทรายให้สูงขึ้นให้ได้ก่อนที่มวลน้ำก้อนใหญ่รวมถึงปริมาณฝนที่มีการคาดการว่าจะเข้ากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 16 - 18 ต.ต.นี้ นอกจากนี้ทางกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับเทศบาลตำบลหลักหกตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัยในพื้นที่ โดยได้เตรียมในเรื่องสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเบื้องต้น อาทิ น้ำดื่ม อาหาร ยารักษาโรค เป็นต้นเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับพวามเดือดร้อน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังสามารถรับมือปริมาณน้ำจากคลองรังสิตที่จะไหลทะลักเข้าสู่หมู่บ้านเมืองเอก และมหาวิทยาลัยรังสิตได้ ซึ่งได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ของกรุงเมพมหานคร และจังหวัดปทุมธานีได้เฝ้าระวังในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่กทม.ประเมินไว้นั้น คงไม่รุนแรงเหมือนกับจ.พระนครศรีอยุธยา แต่หากกรุงเทพมหานคร อยู่ในสถานการณ์วิกฤติจะรีบแจ้งเตือนประชาชนทันที ส่วนการจุดพลุแจ้งเตือนนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะจะแตกตื่นกันทั้งเมือง เนื่องจากแต่ละเขตมีระบบการแจ้งเตือน โดยใช้รถประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขตออกแจ้งข่าวพื้นที่รับผิดชอบออกกระจายข่าวให้ประชาชนได้รับทราบ
**เผย คลองแสนแสบยังสามารถรับน้ำได้อีก 50ซ.ม.**
นายสิน นิติธาดากุล ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในคลองแสนแสบ ช่วงพื้นที่ วัดศรีบุญเรือง - เขตลาดพร้าว สามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก ประมาณ 50 ซ.ม. ซึ่งหากฝนตกในช่วง 2 - 3 วันนี้ คลองแสนแสบ สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 15 - 17 ต.ค. ที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำทะเลหนุน และน้ำเหนือไหลเข้ามาสมทบ ทางสำนักงานเขตบางกะปิ ได้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับปริมาณน้ำในคลอง ที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการเตรียมกระสอบทราย เพื่อแจกให้กับชาวบ้าน ทำเป็นแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง และเครื่องสูบน้ำ ซึ่งหากกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำไม่พอ สามารถเบิกอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาสมทบได้ จากศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ กรุงเทพตะวันออก
**เขตลาดกระบังได้จัดตั้งศูนย์ป้องกัน-แก้น้ำท่วม**
นายประวิช ศรีวิลัย ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวว่า สำนักงานเขตลาดกระบังได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตลาดกระบัง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน และศูนย์ข้อมูลข่าวสารในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเขตลาดกระบัง สามารถติดต่อสอบถามและประสานงานได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 327 0952, 02 326 9149 (ในเวลาราชการ) และ 02 326 7708 , 02 326 7709 (ตลอด 24 ชั่วโมง) อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพทั้ง 21 แห่ง ในพื้นที่ โดยใช้สถานที่โรงเรียน กทม.ในสังกัด จำนวน 20 แห่ง และโดยความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังอีก 1 แห่ง เพื่อสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นกรณีฉุกเฉินโดยจัดรถบริการรับ-ส่งฟรี ในเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังสูง รถเล็กไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนรถยีเอ็มซี (รถทหาร) จำนวน 3 คัน จาก ปตอ.พัน 4 วิ่งรับ-ส่งประชาชนใน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ตลาดหัวตะเข้-สถานีตำรวจภูธรเปร็ง (ถนนหลวงแพ่ง) 2. ตลาดหัวตะเข้ - วัดขุมทอง (ถนนหลวงแพ่ง-ถนนขุมทองลำต้อยติ่ง) และ 3. สถาบันเทคโนฯ ลาดกระบัง-ถนนคุ้มเกล้าใต้ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก ขสมก. อีก 4 คัน วิ่งรับส่งประชาชนจากตลาดหัวตะเข้-หมู่บ้านบาหลีบีช (ถนนหลวงแพ่ง)
**“ปลอดประสพ” แนะปูพูดความจริง อย่ากั๊ก **
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี ในฐานะประธานฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทักภัย (ศปภ.) กล่าวว่า เห็นด้วยว่าสถานการณ์ในขณะนี้จะต้องพูดความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และปริมาณน้ำในขณะนี้ เนื่องจาก ที่ผ่านมาคำนวณน้ำเฉพาะแม่น้ำสายหลัก แต่ไม่ได้คิดจากน้ำบนบกหรือโอเวอร์แลนด์ ซึ่งเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง ถือว่าเป็นการคำนวณที่ผิดพลาดไป แต่ก็ไม่ได้ไปตำหนิใคร เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ขณะนี้จะต้องบอกให้ประชาชนได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อที่จะได้ตั้งรับได้
**ยัน กทม.ชั้นใน ยังปลอดภัย
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า กทม.ชั้นในนั้นปลอดภัยแน่ แต่พื้นที่รอบๆกทม.โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตะวันออก ตะวันตกและด้านเหนือจากรังสิตจะต้องได้รับความเดือดร้อน เพราะจะต้องผันน้ำออกไปเพื่อรักษากรุงเทพ และรักษาคนส่วนใหญ่ ซึ่งได้ดำเนินการผันน้ำผ่านไปทางคลองรพีพัฒน์ ลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต และคลองรังสิตไปทางฝั่งตะวันออก ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีข้อจำกัดในการสร้างคลองส่งน้ำซึ่งไม่ใช่คลองระบายน้ำ เมื่ออัดน้ำมากจึงล้นขึ้นมาได้ ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบจะต้องได้รีบผลกระทบจากน้ำ ส่วนฝั่งตะ วันตกจะผันน้ำจากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีข้อจำกัดทางลงของน้ำมีน้อย อาจทำเอ่อล้นได้ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นแอ่งกระทะ น้ำจะขังนาน ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบคือ นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณ จึงต้องขออภัยคนในพื้นที่ต้องรับความเดือดร้อน และขอความร่วมมือประชาชนยต้องเสียสละและอดทน แต่จะต้องบอกความจริงกับประชาชนเพื่อจะได้เตรียมตัวไว้ก่อน
นายปลอดประสพ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น ตนได้บอกล่วงหน้าแล้วว่าการก่อ สร้างเขื่อนสูงมาก 3-4 เมตร ซึ่งเป็นเขื่อนที่ไม่ได้ทำไว้กันน้ำ เมื่อต้องแช่น้ำนานๆก็เสียหายได้ จึงได้สั่งการไว้ล่วง หน้าว่าให้เตรียมอพยพผู้คนไว้ก่อนแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีพระนครศรีอยุธยาที่พยายามจะสู้ เพื่อป้องกันไปสร้างเขื่อนป้องกัน เมื่อไม่ได้เตรียมล่วงหน้าทำให้เกิดความเสียหายมาก กรณีของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากบอกให้ชัดเจนไปตั้งแต่แรกอาจไม่เสียหายมากเท่านี้
นายปลอดประสพ กล่าวว่า การเสริมคันดินหากสามารถป้องกันน้ำได้ก็ควรทำ แต่หากเสริมเพื่อต่อสู้กับน้ำอย่างกรณีของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่ทำเขื่อนดินขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์ สถานการณ์ขณะนี้จะต้องตั้งรับเพื่อถอยแล้ว
** สพฐ.กำหนด 35 จุดเสี่ยงใน กทม.ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ**
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.ศึกษาธิการ ให้ดูแลพื้นที่ กทม.จึงได้หารือและกำหนด 35 จุดเสี่ยงเพื่อให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมอบให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาในพื้นที่ กทม.ดูแลช่วยเหลือสถานศึกษาและนักเรียนที่ประสบภัย ได้แก่ 1.ถนนจันทร เซ็นหลุยส์ สาธุประดิษฐ์ 2.ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 3.ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง ถึงซอยลาซาล 4.ถนนสุขุมวิท ซอย 39 และ ซอย 49 และเขตคลองเตย 5.ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์ เขตบางกะปิ และเขตวังทองหลาง
6.ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา ถึงแยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง 7.ถนนรัชดา หน้าห้างโรบินสัน และเขตห้วยขวาง 8.ถนนรัชดาภิเษก บริเวณแยกลาดพร้าว 9.ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี และเขตราชเทวี 10.ถนนนิคมมักกะสัน 11.ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน 12.ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง) และเขตบางแค 13.ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่-ซอยศรีบำเพ็ญ 14.ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาซ้าย เขตสวนหลวง และเขตประเวศ 15.ถนนสนามไชยและถนนมหาราช และเขตพระนคร16.ถนนหทัยราษฎร์ (คลองสามวา) และเขตคลองสามวา 17.ถนนเลียบวารี ถนนคลอง 14 เขตหนองจอก 18.ถนนฉลองกรุง และเขตลาดกระบัง 19.ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน และเขตจตุจักร 20.เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง
21.ถนนวิภาวดี ถนนเสาวภา ถนนเลียบคลอง เขตดอนเมือง และเขตหลักสี่ 22.ถนนสายไหม เขตสายไหม 23.ถนนคุ้มเกล้า ถนนเลียบวารี 79 เขตมีนบุรี 24.ถนนแคราย ถนนบางบัวทอง เขตหลักสี่ 25.ถนนราชสีมา เขตราชเทวี 26. ถนนพญาไท เขตราชเทวี 27.-28. ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย 29.ถนนประชาธิปก เขตธนบุรี 30.ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ 31.ถนนวุฒากาศ เขตจอมทอง 32.ถนนสามเสน เขตดุสิต 33.ถนนวัชรพล เขตสายไหม 34.ถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ และ35.ถนนสาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา
**สั่งนิคมไฮเทคปิดโรงงาน
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือใกล้ชิดที่จะดูแลผลกระทบภาวะน้ำท่วมในเขตประกอบการและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงซึ่งวานนี้(12ต.ค.)ได้ประกาศให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) จำนวน 143 แห่งหยุดประกอบการและอพยพแรงงาน 5.1 หมื่น คนมูลค่าลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาทแล้ว พร้อมกับได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมฯบางปะอิน 111 แห่ง แรงงาน 6 หมื่นคนหยุดดำเนินกิจการซึ่งมีผู้ประกอบการกำลังทะยอยปิดดำเนินการอยู่แม้ว่าคันดินยังรองรับน้ำได้อีกถึง 1.3 เมตรก็ตาม
“น้ำที่เข้าท่วมเขตประกอบการและนิคมฯในจ.อยุธยาและปิดโรงงานทั้งหมดไปก่อนหน้านี้คือนิคมฯสหรัตนนครจำนวน 43 แห่งแรงงาน 1.4 หมื่นคน ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท และเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ 198 แห่งแรงงาน 9 หมื่นคนลงทุน 5.8 หมื่นล้านบาท และล่าสุดไฮเทคแม้ว่าน้ำจะยังไม่ได้ท่วมเข้ามาโดยเราได้ขอกำลังทหารไปดูแลช่วงวันที่ 12 ต.ค. 150 นายร่วมกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ อุดรอยซึมทางด้านเหนืออยู่แต่เพื่อความไม่ประมาทเพราะระดับเหลือ 50 เซนติเมตรก็จะเข้าท่วมได้”รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
สำหรับเขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อยที่มีโรงงาน 99 แห่ง ยังปกติเขื่อนดินยังรองรับน้ำได้ 70 เซนติเมตร ล่าสุดมีรายงานกรมชลประทานระบุว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลดการปล่อยน้ำลงมทำให้ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้ามาสมทบลดลงแต่ก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามใกล้ชิด นอกเหนือจาก 3 นิคมฯในจ.อยุธยาดังกล่าวแล้วยังต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษในส่วนของนิคมฯลาดกระบังในเขตกทม. ที่หากเกิดปัญหาจะลามไปยังนิคมฯบางชันที่ใกล้กัน โดยระดับน้ำเหลือ 50 เซนติเมตรจะเลยคันกั้นดิน นอกจากนี้ยังมีนิคมฯบางพลี นิคมฯบางปู จ.สมุทรปราการ และเขตประกอบการนวนคร และนิคมฯบางกระดี ในจ.ปทุมธานีที่จะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรม รง.ได้รับผลกระทบน้ำท่วม27จ.พุ่งเป็น951แห่ง
ปัจจุบันศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สรุปผลกระทบจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว 951 แห่งในพื้นที่ 27 จังหวัด แรงงาน 1.2 แสนคน คิดเป็นมูลค่าทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เสียหายรวม 2.6 หมื่นล้านบาทโดยไม่ได้รวมมูลค่าเสียหายของโรงงานในโรจนะเนื่องจากไม่สามาถรประเมินได้ในขณะนี้
นายสุภาพ คลี่กระจาย ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตาหกรรมมีความเป็นห่วงนิคมฯลาดกระบัง และบางชันที่ต้องระวังเป็นกรณีพิเศษอีกแห่งเนื่องจากระดับน้ำทรงตัวในระดับสูงและอยู่เหนือเขื่อนคันดินเพียง 50 เซนติเมตร โดยทุกส่วนกำลังระดมกำลังที่จะป้องกันอยู่โดยได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแล้วหากเห็นว่าระดับน้ำเสี่ยงอันตรายก็พร้อมจะแจ้งขอให้โรงงานหยุดประกอบกิจการและอพยพแรงงานทันที ซึ่งนิคมฯดังกล่าวมีโรงงาน 231 แห่ง ลงทุน 8.9 หมื่นล้านบาทแรงงาน4.8 หมื่นคน
**เตือน!นิคมฯบางปะอินเร่งอพยพพนง.
การประชุมศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา วันนี้ มี พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธาน พร้อมด้วยนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมให้ความสำคัญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำที่เข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า ไฮเทค มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นล่าสุด 60 เซนติเมตร ในพื้นที่รอบนอก ยังไม่เข้าท่วมพื้นที่ตอนใน และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เป็นศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัยซึ่งขณะนี้มีกว่า 500 คน โดยนายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด ว่า วันนี้จะเร่งเก็บกู้สารเคมีอันตรายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ สหรัตนนคร พยายามขนเครื่องซอฟแวร์ ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าไฮเทค และเขตประกอบการแฟคทอรี่แลนด์ วังน้อย ต้องเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินออกประกาศเตือน พร้อมให้ประเมินสถานการณ์ตัวเองว่าควรจะปิดโรงงานหรือไม่อย่างไร หรืออพยพพนักงานออกมา เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ เขตประกอบการแฟคทอรี่แลนด์ วังน้อย ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากแนวกั้นน้ำที่ทำไว้เริ่มมีปัญหา
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขตเทศบาลยังคงวิกฤตหนัก โดยเฉพาะโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ขนย้ายคนไข้ออกจากพื้นที่แล้ว 85 คน ยังคงเหลือผู้ป่วยเล็กน้อยอีก 10 คน