xs
xsm
sm
md
lg

โละคดี คตส. เพื่อทักษิณ เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า โดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดูเหมือนว่า สูตรปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งพลเอกสนธิ บุณยรัตนกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 ผู้ซึ่งผันเปลี่ยนมานั่งเป็นประธาน กมธ.ปรองดองฯ เชียร์อยู่ตอนนี้นั้น จะยังมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย ไม่นับจุดยืนและบทบาทของอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่สร้างความสับสนต่อสังคมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เพราะก่อนหน้าจะลงมือทำรัฐประหารก็อ้างการทุจริตคดโกงของอดีตผู้นำประเทศ จนเป็นเหตุให้มีการยึดอำนาจ และแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหานต่อรัฐ หรือ คตส.ขึ้นมาตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ กระทั่งนำไปสู่การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่มาวันนี้ คดีความต่างๆ ที่ คตส. ทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับจะถูกลบล้างด้วยข้ออ้างเพื่อความปรองดอง

ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ประเด็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนการดำเนินดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากการตรวจสอบของ คตส. มีข้อเสนอ 3 ทางเลือก คือ

ทางเลือกที่ 1 ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติโดยให้พิจารณาเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว

ทางเลือกที่ 2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ

ทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใดจะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส.ในเวลาต่อมา

หากติดตามการทำงานของ คตส. และการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมในคดีที่ คตส. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จะพบว่า ทั้ง 3 แนวทางข้างต้น ล้วนแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องทั้งสิ้น

กล่าวคือ ทางเลือกแรก ให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติ โดยให้พิจารณาเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งข้อเสนอนี้ดูเหมือนว่าจะดูดีที่สุดในบรรดาข้อเสนอทั้งหมด แต่เงื่อนไขที่ให้ “โอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่” นั้นเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียง

เพราะขณะนี้คดีที่คตส.โอนไปยัง ป.ป.ช. หลังจาก คตส. ถูกยุบตามวาระ และคดีบางส่วนถูกส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบฟ้องร้องดำเนินการในฐานะผู้เสียหายนั้น ทาง ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งบางคดีหลัง ป.ป.ช.รับโอนมาจาก คตส. มีการตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายคณะกรรมการป.ป.ช. และฝ่ายอัยการสูงสุด ได้ร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานตามข้อไม่สมบูรณ์ที่อัยการสูงสุดแจ้งให้ทราบ และส่งพยานหลักฐานซึ่งรวบรวมแล้วเสร็จไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาสั่งคดียื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในบางคดีดังกล่าว สุดท้าย อัยการสูงสุด กลับมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีโดยอ้างความไม่สมบูรณ์ของคดี ซึ่งเป็นปัญหาทับซ้อนขึ้นมาอีก กระทั่ง ป.ป.ช. มีมติส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ เอง ดังเช่น คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย และคดีซีทีเอ็กซ์

คดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย มีการกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คณะกรรมการบริหารและพนักงานธนาคารกรุงไทย กับพวก ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งบอร์ดกรุงไทย ให้ปล่อยกู้แก่กลุ่มกฤษฎานคร วงเงิน 8,000 กว่าล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหนี้จากธนาคารกรุงเทพที่มีมูลหนี้เพียง 4,000 ล้านบาท ส่วนต่างจากการทุจริต 4,000 กว่าล้านบาท พบว่ามีเงินไหลเข้าบัญชี พานทองแท้ ชินวัตร และบริวารทักษิณ ซึ่งถูกตั้งข้อหารับของโจร

ส่วนคดีทุจริตซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ มีบุคคลที่ถูกชี้มูลความผิดรวมกันเกือบ 30 ราย ทั้งนักการเมือง อดีตกรรมการ หรือบอร์ดท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ( ทอท.) และบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ ( บทม.) ที่รับผิดชอบการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และตัวแทนบริษัทเอกชน ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม รวมอยู่ด้วย

คำถามที่ต้องตอบให้ชัด ก็คือ คดีที่ ป.ป.ช. รับโอนมาจาก คตส. แล้วดำเนินการมาไกลถึงขั้น ป.ป.ช. จะดำเนินฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ นั้น จะถูกตีความให้นำกลับไปให้ ป.ป.ช. “ดำเนินการใหม่” หรือไม่ แล้วหลังจากนั้น จะให้ป.ป.ช. ส่งสำนวนคดีผ่านมายัง อัยการสูงสุด เพื่อสั่งคดีใหม่ หากอัยการสูงสุด มีความเห็นไม่สั่งฟ้องเหมือนที่ผ่านมา จะถือว่า คดีสิ้นสุดไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติหรือไม่

ส่วนทางเลือกที่ 2 ที่ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติโดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ และทางเลือกที่ 3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้งนั้น มีความหมายเท่ากับการล้มล้างหรือนิรโทษกรรมผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาในคดี

นัยของทางเลือกที่ 2 นั้น เท่ากับว่า คดีความต่างๆ ที่ คตส. ยกขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบและสรุปสำนวนคดีส่งให้กับ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เป็นผู้เสียหายฟ้องร้องคดี ได้ถูกล้มล้างหรือเพิกถอนผลทางกฎหมาย หมายความว่า หากยังต้องการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาตามสำนวนคดีของ คตส. ก็ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่โดยกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ตำรวจ อัยการ หรือ ป.ป.ช. อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับว่า กระบวนการยุติธรรมตามปกติ จะหยิบยกเอาคดีของ คตส. ขึ้นมาดำเนินการหรือไม่ หรือจะมีความเห็นต่างดังที่อัยการสูงสุดเคยมีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช.ในคดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทยและคดีซีทีเอ็กซ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คือการปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตลอยนวล

ส่วนทางเลือกที่ 3 คือเพิกถอนผลทางกฎหมายในคดีที่ดำเนินการโดยคตส. ทั้งหมด แล้วยังมีเงื่อนไขไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและการตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกนั้น เท่ากับว่า คดีความต่างๆ ที่คตส.ดำเนินการมานั้นถูกล้มล้างไปทั้งหมด และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นผลมาจากการดำเนินการของ คตส. ถูกเพิกถอนให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ทางเลือกนี้ ทรัพย์สินที่ยึดไปจากพ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน ก็ให้คืนแก่เจ้าของ คดีความต่างๆ ที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกหรืออยู่ระหว่างการติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดี ก็ถูกล้างไปทั้งหมดเช่นกัน

ทางเลือกสุดท้าย จะปูทางให้อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศอย่างสง่าผ่าเผย ทรัพย์สินที่ถูกยึดจะได้รับคืน คดีที่อยู่ในชั้นศาลฎีกาฯ จะถูกล้มล้างไปด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น