xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ของแพงแบบขอไปที รัฐบาล"ปู"ทำได้แค่นี้จริงๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้าชั้นวางสินค้าใน ร้านถูกใจ ที่วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปัญหาของแพง กำลังทำให้รัฐบาล "ปู" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประสบอาการกลืนไม่เข้า คลายไม่ออก เพราะวิ่งตามแก้ปัญหากันไม่เว้นแต่ละวัน ส่งรัฐมนตรีไปลงพื้นที่สร้างภาพของไม่แพงก็แล้ว อนุมัติงบประมาณตั้ง 1,320 ล้านให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำ "ร้านถูกใจ" ตั้งเป้าเปิด 10,000 ร้านทั่วประเทศก็แล้ว สั่งให้ตรึงราคาพลังงาน ตรึงค่าไฟฟ้า ก็แล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น คนยังไม่รู้สึกว่า ของไม่แพง

ไปดูกันว่า การแก้ไขปัญหาแพง ด้วยการสร้างภาพว่าของไม่แพงเป็นยังไง รัฐมนตรีแต่ละคน เมื่อไปลงพื้นที่ ก็มักจะกลับมารายงานว่า ของไม่แพง ซึ่งส่วนทางกับที่ชาวบ้านประสบด้วยตนเอง

พูดให้ตายยังไง ก็ไม่เชื่อ เพราะแทนที่จะกล้ายอมรับความจริงว่า ของมันแพง แล้วบอกว่า กำลังจะหาทางแก้ไข มันน่าจะเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า

แต่รัฐบาลนี้หน้าบางไปหน่อย ไม่ค่อยกล้ายอมรับความจริง ปัญหามันก็เลยวุ่น อิรุงตุงนังอยู่จนทุกวันนี้

ขณะที่การแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นแก้ของแพง ด้วยการขอเงินมาทำโครงการโชห่วยช่วยชาติ เปิด "ร้านถูกใจ" เพื่อนำสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพประมาณ 20 รายการ เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำตาลทราย น้ำมันพืช สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก เป็นต้น ขายราคาต่ำกว่าตลาดประมาณ 20% ตั้งเป้าไว้ตอนแรก จะเปิดร้านถูกใจในเขตกรุงเทพฯ และ 15 จังหวัดใหญ่ในเขตอำเภอเมือง 2,000 แห่งภายในเดือนเม.ย. และที่เหลืออีก 8,000 แห่งจะเปิดให้ครบภายในเดือนพ.ค.นี้

แต่ของจริง วันนี้ยังเปิดได้ไม่กี่แห่ง ทั้งๆ ที่จะสิ้นเดือนพ.ค.เข้าไปแล้ว โดยตัวเลขล่าสุด มีผู้สนใจสมัครเข้ามา 6,000 ราย เป็นกรุงเทพฯ 600 ราย ที่เหลือเป็นปริมณฑลและต่างจังหวัด แต่ในจำนวนนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะได้รับการอนุมัติทั้งหมด นั่นหมายความว่า เมื่อถึงเวลาจริง อาจจะหลุดรอดมาเป็น "ร้านถูกใจ" แค่ไม่กี่ราย

ถือได้ว่า เป็นโครงการ 7 ชั่วโคตรอีกโครงการหนึ่ง

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาอาหารปรุงสำเร็จมีราคาแพง ก็ไร้ทิศทาง มีแต่ออกมาให้ข้อมูล วัตถุดิบในการประกอบอาหารทั้งหมู เห็ด เป็ด ไก่ ราคาถูกลง แล้วออกลูกแถไปเปรียบเทียบราคารัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลชุดที่แล้วไปเลยว่าชุดนี้ถูกกว่า แต่ไม่เคยพูดถึงเลยว่า ราคาปลายทางรัฐบาลชุดนี้แพงกว่าขนาดไหน

แค่นั้นยังไม่พอ เมื่อครั้งแถลงตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนเม.ย.2555 ก็เกิดปรากฎการณ์ กระชากเงินเฟ้อ ครั้งแรก ครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเงินเฟ้อจากเดือนมี.ค.ที่ยังสูงๆ ที่ 3.45% พอมาเดือนเม.ย.ลดวูบเดียวเหลือ 2.47% หายไปเกือบ 1% ทำเอาคนทั้งประเทศตกอกตกใจ กระทรวงพาณิชย์ทำได้อย่างไร ถึงได้เสกเงินเฟ้อหายวับไปได้ทันตาเห็น จนเกิดการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบตัวเลขเงินเฟ้อกันยกใหญ่

เมื่อทั้งฝ่ายวิชาการ และฝ่ายค้าน ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบตัวเลขเงินเฟ้อ แทนที่กระทรวงพาณิชย์จะน้อมรับ หรือทำการชี้แจงแถลงไข กลับต่อกรด้วยการ "ท้าทาย" พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ด้วยวิวาทะ "ปลาบู่ชนเขื่อน" มอบฉายาให้กับนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในเรื่องสินค้าแพง ซึ่งสร้างความฮือฮาได้ในระดับหนึ่ง

จากนั้น เมื่อไม่รู้จะหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสินค้าแพงยังไง ก็หันมาใช้มุขเดิม คือ การขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้า โดยประกาศให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า 4 เดือน สิ้นสุด ก.ย.2555 ใครที่คิดจะขอปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ก็ให้รอไปก่อน พ้น 4 เดือนแล้วค่อยมาคุยกัน สร้างภาพโชว์คุมราคาสินค้าเนียนๆ ไปเลย ทั้งๆ ที่ในสภาพความเป็นจริง ประชาชนก็ยังไม่รู้สึกว่า สินค้ามีราคาลดลงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาอาหารปรุงสำเร็จมีราคาแพง ด้วยการเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้สินค้าอาหารปรุงสำเร็จเป็นสินค้าควบคุม จำนวน 10 เมนู ได้แก่ ข้าวไข่เจียว, ผัดซีอิ๊ว, ข้าวไข่พะโล้, ข้าวขาหมู, ข้าวกะเพราหมู-ไก่, ข้าวผัดหมู-ไก่, ก๋วยเตี๋ยวหมู-ไก่-ลูกชิ้นปลา, ราดหน้า, ขนมจีนน้ำยา-แกงไก่ และข้าวราดแกงกับข้าว 1 อย่าง

แต่เมื่อประชุมเสร็จ มีมติออกมาแล้วว่าให้ควบคุม แต่ก็หามีมาตรการใดๆ ออกมาบังคับใช้ไม่ มีเพียงแค่มอบหมายให้นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปเวิร์กต่อ จากนั้นได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และถูกตีตกไปในที่สุด

ในครม. เป็นห่วงกันว่า การควบคุมสินค้าอาหารปรุงสำเร็จแบบไม่มีมาตรการรองรับ จะทำให้เกิดความโกลาหลในบ้านเมือง กระทบกับพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่หาเช้ากินค่ำ

แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่เลิกความพยายาม เตรียมที่จะมาจัดทำมาตรการเพื่อยืนยันที่จะเสนอให้ ครม. พิจารณาให้อาหารปรุงสำเร็จเป็นสินค้าควบคุมให้ได้

โดยมาตรการที่นำมาใช้ในการควบคุมอาหารปรุงสำเร็จ จะเริ่มจากการกำหนดราคาแต่ละเมนูที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ราคาเดียวทุกเมนู มุ่งเน้นการควบคุมราคาจำหน่ายในศูนย์อาหารของห้างค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารในสำนักงาน และในสถานที่ราชการ รวมถึงร้านอาหารในตลาดสด และใน 7 จังหวัดนำร่องที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 300 บาท แต่จะไม่คุมร้านค้ารายย่อย รวมถึงหาบเร่ แผงลอย ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการระดับเบา ที่จะเสนอประกอบให้ ครม. เห็นชอบ

ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวถูกนำไปใช้แล้ว และสถานการณ์อาหารปรุงสำเร็จยังไม่ดีขึ้น ก็จะใช้มาตรการหนัก ด้วยการกำหนดราคาสูงสุดในแต่ละเมนู หากใครขายเกินไปกว่าราคาที่กำหนด จะมีโทษหนัก กล่าวคือ จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมา รวมถึงมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ เป็นการตามแก้ปัญหา ไม่มีมาตรการเชิงรุกที่พอทำให้ประชาชนอุ่นใจได้เลยว่าปัญหาของแพง มันจะเบาลง

สร้างภาพแก้ปัญหาแบบนี้ ระวังรัฐบาลจะพังเพราะของแพง เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน !!!
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กำลังเดินตรวจภาวะราคาสินค้าในตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น