โฆษก ปชป.เห็นด้วยครม.ตีตกประกาศควบคุมอาหารสำเร็จรูป 10 รายการ เสนอ “บุญทรง-ยรรยง” โชว์สปิริตรับผิดชอบ ชี้ปัญหาต้นทุนเกิดจากพลังงาน-ต้นทุนและค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ชี้มาตรการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แค่ประคับประคองเพื่อรอคลื่นลูกใหญ่
วันนี้ (15 พ.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมครม.ตีตกประกาศควบคุมอาหารสำเร็จรูป 10 รายการตามข้อเสนอของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ว่า เรื่องนี้พรรคเห็นด้วย เพราะเห็นว่าไม่ควรใช้กฎหมายมากดขี่ข่มเหงประชาชน เพราะทางเลือกของรัฐบาลเป็นทางเลือกที่ผิด ถือว่าโชคดีที่ ครม.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ขอเรียกร้องว่าต้องเลิกแนวคิดการโยนภาระให้กับประชาชน เพราะขณะนี้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์พยายามปฏิเสธความรับผิดชอบ และพยายามคิดนโยบายแก้ไขปัญหาของแพงโดยการผลักภาระให้กับประชาชนผู้บริโภค ขณะนี้ผู้ประกอบการยืนยันว่าต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากพลังงานและค่าขนส่ง รวมทั้งค่าแรง 300 บาท
“ถ้ายังแกล้งโง่ไปแก้ไขจุดอ่อน เชื่อว่าปัญหาไม่มีวันจบ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องค่าขนส่ง และพลังงาน รวมทั้งค่าแรง 300 บาทที่ปรับขึ้นส่งผลต่อราคาสินค้าให้สูงขึ้นในขณะนี้ หากยังไปแก้ประเด็นอื่นก็จะเป็นลิงแก้แห ความจริงเมื่อเสนอนโยบายไปแล้ว ครม.ตีตก ทั้งสองคนต้องรับผิดชอบ เพื่อแสดงสปิริต เพราะประชาชนต้องทนอยู่กับรัฐมนตรีและปลัดคนนี้ต่อไป” นายชวนนท์กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า เมื่อครม.ตีตกไปแล้วก็ยังคงพยายามออกมาแก้ตัว โดยพยายามควบคุมอาหารในพื้นที่ที่ประกาศค่าแรง 300 บาท ซึ่งตนอยากทราบว่าใช้อะไรคิด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีค่าแรงสูงกว่าจังหวัดอื่น แต่กลับจะทำให้อาหารปรุงสำเร็จมีราคาถูกกว่าที่อื่น ไม่ทราบว่านายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้คำแนะนำในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม คงต้องให้สองคนนี้ออกมาขายอาหารเอง เพราะเชื่อว่าคงไม่มีขายตามคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์อย่างแน่นอน
นายชวนนท์กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ต้นทุนพลังงานยังเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด แต่การที่รัฐบาลชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันดีเซล 60 สตางค์ เบนซิล 91, 95 ลิตรละ 1 บาท ไม่ใช่มาตรการที่จะช่วยได้ในระยะยาว เพราะรัฐบาลประกาสตรึงราคาเอ็นจีวี แอลพีจีไป 3 เดือนเป็นเพียงแค่การชะลอคลื่นลูกใหญ่ที่จะซัดเข้ามาเท่านั้น จึงอยากถามไปยัง รมว.พลังงานว่า เมื่อครบ 3 เดือนจะพิจารณาขายในราคาหน้าโรงกลั่นนั้น ขอให้เปิดเผยว่าต้นทุนหน้าโรงกลั่นของเอ็นจีวีและแอลพีจีของไทยอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ เพราะคาดเดาได้ว่าอีก 3 เดือนต่อมาแอลพีจีและเอ็นจีวีสามารถกระโดดขึ้นไป 2-3 บาท ดังนั้น ควรพูดให้ชัดว่าทิศทางการกำหนดนโยบายพลังงานของชาติเป็นอย่างไร เพราะไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าและบริหารลดลงได้อย่างแน่นอน