xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนยอมตรึงสินค้า 4 เดือน แต่ขอให้เป็นครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกชนยอมตรึงราคาสินค้า 4 เดือนตามคำขอถึงสิ้นกันยายนนี้ หอการค้าไทยลั่นขอให้เป็นครั้งสุดท้ายหลังใช้มาแล้ว 41 ครั้ง “ยรรยง” เดินหน้าคุมจานด่วน เร่งกำหนดราคาแนะนำ

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 200 รายว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในชีวิตประจำวัน วัสดุก่อสร้าง กระดาษ และบริภัณฑ์ขนส่ง ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมตลาดกว่า 90% พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการจำหน่ายสินค้าราคาเดิมต่อไปอีก 4 เดือน หรือจนถึงเดือนกันยายน 2555 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน

“ผู้ประกอบการบอกเองว่า ถึงไม่ขอก็จะไม่ขึ้นราคาสินค้าอยู่แล้ว เพราะตอนนี้การแข่งขันกันสูง หากมีการปรับราคาขึ้นไปก็อาจจะเสียส่วนแบ่งการตลาดได้” นายบุญทรงกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการดูแลราคาสินค้าเพิ่มเติม โดยเอกชนเสนอให้เพิ่มเงินเหรียญหมุนเวียนในระบบตลาดให้มากขึ้นเพื่อช่วยชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะที่ผ่านมาสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นครั้งละ 5-10 บาท ซึ่งสูงเกินต้นทุนที่แท้จริง เช่น ข้าวไข่เจียวจาก 5 บาท เป็น 10 บาท ทั้งที่ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นไม่กี่สตางค์ โดยอ้างว่าไม่มีเงินเหรียญทอนให้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเสนอไปยังกระทรวงการคลังให้พิจารณาต่อไป รวมทั้งจะรณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าคุ้มค่า ราคาประหยัดมากขึ้น

นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า ทุกรัฐบาลใช้วิธีการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง โดยขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนตรึงราคามาโดยตลอด นับตั้งแต่ขอความร่วมมือตรึงราคาจนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 41 แล้ว ซึ่งเอกชนที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ก็พร้อมที่จะช่วย แต่ที่ตรึงไม่ได้ รัฐต้องเปิดทางให้มีการหารือ โดยเฉพาะหลังจากพ้นระยะ 4 เดือนไปแล้วก็ต้องไม่มาขอให้ตรึงราคาอีก ควรจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน สินค้าตัวไหนต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าแรง ค่าพลังงาน และค่าไฟ ก็ต้องให้ปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นต้องไม่เกินไปกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแล ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติให้เป็นสินค้าควบคุมอีกครั้ง โดยหลักเกณฑ์จะพิจารณาถึงการกำหนดราคาในแต่ละเมนูที่แตกต่างกัน ไม่ใช่กำหนดราคาขายเดียวกันทุกเมนู รวมถึงมุ่งเน้นไปยังผู้ประกอบการที่อยู่ในศูนย์อาหาร (ฟูดคอร์ต) ของห้างค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหารในสำนักงาน และในสถานที่ราชการ รวมถึงร้านอาหารในตลาดสด และกำหนดใน 7 จังหวัดนำร่องที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 300 บาท แต่จะไม่คุมร้านค้ารายย่อย รวมถึงหาบเร่ แผงลอย
กำลังโหลดความคิดเห็น