ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ณ เวลานี้ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและกระชับอำนาจเผด็จการทุนสามานย์ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาชน นักการเมืองฝ่ายค้าน ตลอดจนผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตาม
แต่ด้วยระบบเผด็จการรัฐสภา พวกมากลากไปตามคำสั่งของเจ้าของพรรคตัวจริง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงผ่านการการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2
ความหมายโดยนัยก็คือ ขณะนี้ถือว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กระทำผิดสำเร็จไปแล้ว และสามารถที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ร่วมกระทำผิดได้
ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้ประกาศที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อ ส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรี รวม 416 คน ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ให้ผ่านการรับรองของรัฐสภา
โดยจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2555 เพื่อให้พิจารณาสอบสวน ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี รวม 416 คน ในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ระบุว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรณีนี้ก็คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วมีการจัดตั้งคณะบุคคลหนึ่งขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกว่า ส.ส.ร. โดย ส.ส. และสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ออกแบบผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ซึ่ง บุคคลผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ โดยมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
หลังจากนั้นในเวลา 11.00 น.วันเดียวกัน พันธมิตรฯ จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 เพื่อให้สอบสวนเอาผิดนักการเมืองทั้ง 416 คน ฐานกระทำความผิดต่อหน้าที่ ซึ่งทางพันธมิตรฯ เห็นว่าการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นกระบวนการที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นกระบวนการที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
นอกจากนั้น พันธมิตรฯ ยังเตรียมการจะใช้มาตรการที่ 3 นั่นคือการฟ้องทางอาญาโดยตรงต่อนักการเมืองทั้ง 416 คน ซึ่งคณะทนายความกำลังศึกษาแนวทาง และจะดำเนินการถัดไปโดยทันทีหลังจาก 2 แนวทางแรกได้ดำเนินการแล้ว
ทั้ง 3 มาตรการ เป็นไปตามที่พันธมิตรฯ ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง “หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญยึดอำนาจประเทศไทย” ที่เป็นการประกาศจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางกำหนดวางคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเข้าข่ายลักษณะการรัฐประหารประเทศไทยและยึดอำนาจประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเผด็จการรัฐสภาโดยกลุ่มทุนสามานย์ผูกขาดของพรรคการเมืองในที่สุด
ซึ่งตามแถลงการณ์นั้น พันธมิตรฯ ได้นัดประชุมเตรียมความพร้อมคัดค้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญไปแล้ว 1 ครั้ง ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
อาจมีหนทางอื่นที่ไม่ใช่มาตรการทางกฎหมายในการยับยั้งการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เช่น แนวทางรัฐสภา ซึ่งผู้นำพรรคเก่าแก่ของประเทศอย่างพรรคประชาธิปัตย์มักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า ปัญหาทุกอย่างต้องนำไปแก้ในรัฐสภา แต่ถึงวันนี้ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเสียงในสภาน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย ก็แพ้โหวตทุกครั้ง ขณะที่บทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลหรือการให้ปัญญาความรู้แก่ประชาชน พรรคฝ่ายค้านก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ส่วนการใช้มวลชนออกมาชุมนุมกดดัน ก็ยังเป็นคำถามว่าจะประสบความสำเร็จโดยไม่เสี่ยงต่อความรุนแรงหรือไม่ นั่นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถควบคุมกลไกตำรวจทหารไว้ในมือ โดยผ่าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของตัวเองที่เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็มีคนเสื้อแดงที่ถูกล้างสมองไว้พร้อมประทะกับมวลชนฝ่ายตรงข้ามทุกเมื่ออยู่แล้ว
ความจริงก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึงประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่ปรึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน เพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญขึ้นรวม 3 ประเด็น คือ
1.กรณีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นควรเสนอให้แก้ไขจากที่ร่างฯ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน 2.กรณีที่กำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐหรือไม่ เห็นควรเสนอให้แก้ไขเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3.กรณีประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ โดยไม่จำเป็นต้องนำรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และ 151 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภายืนยันร่างกฎหมายกรณีพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งมาบัญญัติไว้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน ไม่ได้สนใจต่อข้อสังเกตดังกล่าว โดยอ้างว่า กรรมาธิการพิจารณาอย่างถูกต้องแล้ว แต่ก็เป็นธรรมดาที่จะมีการตั้งข้อสังเกตได้
นายสามารถยังยืนยันถึงปฏิทินที่วางไว้ว่า หลังจากลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 8 พ.ค.แล้ว นายกฯ จะนำร่างฯ ที่แก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ และน่าจะทรงโปรดเกล้าฯ ลงมาภายในเดือน พ.ค. จากนั้นจะไปถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่คาดว่าเดือน ส.ค.จะมี ส.ส.ร.เกิดขึ้นได้ โดย ส.ส.ร.ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 240 วัน ซึ่งน่าจะประมาณเดือน เม.ย.56 ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ส่งให้ ก.ก.ต.จัดทำประชามติภายใน 60 วัน จะอยู่ในช่วงเดือน ก.ค. 56 หลังจากนั้น ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง ดังนั้น ประมาณเดือน ส.ค.56 จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมบูรณ์แบบ
การเมินเฉยต่อข้อท้วงติง และดันทุรังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามปฏิทินดังกล่าว ดูเหมือนว่าผู้ตรวจการเองก็ทำอะไรไม่ได้ นายศรีราชา เจริฐพาณิชย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายนว่า กรณีเสียงข้างมากไม่รับฟังข้อท้วงติงของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ไม่เป็นไร เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา แต่หากทำไม่ถูกขั้นตอน คนที่ดำเนินการก็ต้องรับผิดชอบเอง ทั้งนี้ หากมีใครเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญก็สามารถยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ถึงเวลานี้ การใช้มาตรการทางกฎหมาย ให้ศาลชี้ขาด จึงเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ ในการยับยั้งการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นได้