ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ข้อเสนอคณะผู้วิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเนื้อในงานวิจัย ขัดแย้งกับข้อเสนอ
รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บอกแนวทางปรองดองว่า แนวทางการปรองดองแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น เพื่อให้การใช้ความรุนแรงยุติลง และทำให้ความขัดแย้งความบาดหมาง และบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคม และปัจเจกบุคคลกลับสู่ภาวะปกติจะต้องมีการพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
1. การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย
2. การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย
3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา จากกระบวนการตรวจสอบของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
4.การกำหนดกติกาทางการเมือง รวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลักและรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของระยะยาว สังคมต้องมีการพิจารณาร่วมกัน ในประเด็นที่เป็นปมปัญหา ได้แก่ คุณลักษณะของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อแสวงหาสาระร่วมกัน ของอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แตกต่าง ตลอดจนมีการกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกันผ่านการแก้ไข หรือร่างรัฐธรรมนูญ
**ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับ “ความต้องการของทักษิณ”ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา นายเมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล และ น.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง แถลงข่าวเรื่อง “การสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน กมธ. อ้างอิงผลงานวิจัยของสถาบันมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
แนวทางศึกษาเพื่อสร้างความปรองดองของคณะผู้วิจัยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. การศึกษาจากข้อมูลต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการปรองดองมาแล้ว เพื่อนำเอามาปรับใช้กับประเทศไทย
2. ศึกษาถึงที่มาของความขัดแย้งในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เราได้มาจากเอกสารและเป็นข้อมูลที่นำมาอ้างอิงได้
3. เป็นการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกัน จากนั้นเราจะนำความคิดเห็นต่างๆ ไปจัดทำข้อสรุปโดยผู้ที่ให้สัมภาษณ์มีทั้งหมด 47 คน ประกอบด้วย กลุ่มแกนนำทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประธาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ใช้อำนาจในเหตุการณ์นักการเมือง ที่มีส่วนได้เสียในเหตุการณ์ความขัดแย้งทั้งหมด
"ในผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ไปสัมภาษณ์ มีความเห็นตรงกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือผู้ขัดแย้ง โดยขัดแย้งกับรัฐไทย ซึ่งหมายถึง กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมถึงสถาบันทางการเมือง ประชาชนไทย และหลักนิติธรรม และยังขัดแย้งกับพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับตัวเอง รวมถึงกลุ่มที่อยู่นอกระบอบประชาธิปไตย หรือที่เรียกว่า อำมาตย์ หรือเผด็จการทหาร” น.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร ในฐานะผู้ทำวิจัยอธิบายเนื้อหาการวิจัย
" การที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และอยู่เหนือการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และเป็นพื้นฐานของความขัดแย้งในสังคมไทย" นี่คือต้นเหตุของความขัดแย้ง ที่ได้จากการวิจัย
ผู้วิจัยคนที่สัมภาษณ์ทักษิณ อธิบายเนื้อหาจากการวิจัยว่า "สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการสร้างบรรยากาศปรองดองยังไม่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายมีจุดยืนเป็นของตัวเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้เสียสละ ทำอย่างที่พูดไว้ ที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องเลิกยึดติดกับสิ่งที่ทำ เช่น การตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง เว็บไซต์ ที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ หากเราไม่สามารถหยุดการกระทำที่จะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจได้ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะสร้างความปรองดอง"
แต่ผลจากการทำวิจัย กับตรงกันข้ามแนวทางการปรองดอง โดยเฉพาะการเพิกถอนผลทางกฎหมายคดีทั้งหมดของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.)
แก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ตอบโต้แนวทางปรองดองของคณะผู้วิจัยว่า “ในระหว่างที่ คตส.ปฏิบัติงาน เราได้ทำตามกระบวนการและกฎหมายปกติทุกอย่าง ไม่ใช่การตั้งกลุ่มเฉพาะขึ้นมา เพื่อจะเร่งรัด หรือเรื่องให้มันเสร็จเร็วแต่อย่างใด กระบวนการแทบไม่ได้แตกต่างจากป.ป.ช.”
"นี่เป็นคดีคอร์รัปชัน มันไม่เกี่ยวกับนิรโทษกรรม ถามว่านี่คือการปรองดอง ใช่หรือไม่ ตกลงประเทศนี้ ผู้นำติดคุกไม่ได้ ใช่หรือไม่ ผมว่าสถาบันพระปกเกล้า ควรจะไปเปิดเป็นบริษัทที่ปรึกษาอะไรสักอย่างดีกว่า" นายแก้วสรร วิจารณ์สถาบันพระปกเกล้า อย่างรุนแรง
ความเสียหายที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นภายใต้ งานวิจัยเรื่องการปรองดอง ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต
นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.3 บอกว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คน ที่คณะผู้ทำวิจัยไปสัมภาษณ์ ไม่มีกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิตในส่วนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารเลย
" คณะผู้วิจัยออกมาพยายามบอกว่า ต้องให้อภัย หมายถึงกลุ่มญาติของทหารที่เสียชีวิตด้วยหรือไม่ อ่านรายงานฉบับนี้แล้ว ยอมรับได้ยาก แต่ถ้าเป็นคนอ่านที่เป็นคนที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากความผิด รายงานฉบับนี้ ตอบโจทย์ มีหลายประเด็นที่ขัดแย้งกันเอง ในเรื่องตรรกะหรือความจริง”
"ในรายงานผลวิจัยระบุเขียนไว้ว่า ต้องให้อภัย ซึ่งดูเหมือนเป็นการบังคับ ฝืนใจกันได้หรือ การบังคับ การฝืนใจ มันจะนำไปสู่การปรองดองกันได้หรือ เท่ากับเป็นคลื่นใต้น้ำ ที่จะรอวันปะทุขึ้นมาในวันข้างหน้าเท่านั้นเอง ความรู้สึกที่เก็บไว้ ก็จะระเบิดขึ้นมา ก็ไม่ใช่การปรองดองที่ยั่งยืน" ภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า กล่าว
นั่นหมายความว่า ความยุติธรรมกำลังถูกขายให้เศรษฐี ภายใต้การแอบอ้างงานวิจัย จนทำให้ภรรยาผู้เสียชีวิตจากการ “ฆ่า” ในเหตุการณ์ต้องออกมาทวงถามความยุติธรรม แทนร่างไม่มีลมหายใจ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา นางนิชา ได้เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊ก ถึงความคืบหน้าคดี พล.อ.ร่มเกล้าว่า “ไม่ได้ทวงถามความคืบหน้าของคดี เพราะเชื่อมั่นในการทำคดีของ ดีเอสไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองในวันนี้อยู่ในสภาวะไม่ปกติ มีอุปสรรคขัดขวางทำลายความยุติธรรม จึงต้องเป็นฝ่ายเดินเข้ามาทวงถามหาความยุติธรรม ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ก็ได้รับโทรสารเอกสารสรุปข้อเท็จจริง คดีพิเศษที่ 61/2553 จาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า สั้นๆ ว่า คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้"
" ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ได้นั่งเครื่องบินกลับจากราชการภาคใต้ บังเอิญอ่านพบในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ว่า DSI รับไม่คืบชุดดำยิงร่มเกล้า ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานชี้ชัดถึงตัวผู้กระทำผิด หรือดำเนินคดีทางกฎหมายได้ โดยนายธาริต ยังกล่าวว่า DSI ได้จัดให้การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มของการเสียชีวิตที่น่าเชื่อว่า มาจากการกระทำของผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม คือกลุ่มชายชุดดำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน"
"เพื่อนพี่น้องที่รักทุกท่าน สรุปสั้นๆ ก็คือว่า ปี 2553 จับคนร้ายได้ และต่อมามีการประกันตัวไป ต้นปี 2554 DSI สรุปว่า คดีพี่ร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ เสียชีวิตจากการกระทำของ นปช. แต่พอถึงต้นปี 2555 DSI กลับบอกว่ายังไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้ แค่นี้ดิฉันก็งงจะแย่แล้ว พอเห็นข่าวเมื่อคืน ยิ่งเศร้าใจ มีการเปลี่ยนตัวผู้กระทำผิดว่า ไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นชายชุดดำไปแล้ว"
" ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข การจัดกลุ่มตั้งแต่เมื่อไหร่คะ ทำไมทิศทางคดีจึงเปลี่ยนแปลงได้มากขนาดนี้ อยากให้ DSI และท่านผู้เกี่ยวข้อง ได้ทบทวนอ่านสิ่งที่เคยแถลงไว้เองเมื่อ 20 มกราคม 2554 แล้วช่วยอธิบายแก่สังคมด้วยค่ะ” นางนิชาระบุ
นางนิชา เขียนข้อความย้ำว่า "ต้องพูดอีกกี่ครั้งก็จะพูดว่า การเยียวยาและการนิรโทษกรรม มิอาจนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติได้ แต่ต้องเดินไปควบคู่กับการค้นหาข้อเท็จจริง และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม"
หากย้อนเวลากลับไปเมิ่อเมื่อวันที่ 16 พ.ย.54 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี ดีเอสไอ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดี ดีเอสไอ ได้แถลงความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ที่มีจำนวนรวม 89 ศพว่า ขณะนั้นมีคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบรวม 254 คดี
นายธาริต บอกว่า คดีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เกี่ยวพันกัน เช่น กลุ่มชายชุดดำ ประกอบด้วย 8 คดี ได้แก่
1. กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. บริเวณถนนดินสอ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม, ส.อ.อนุพนธ์ หอมมาลี , ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน, พลทหารสิงหา อ่อนทรง และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
2. คดีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง มีผู้เสียชีวิตคือ น.ส.ธัญนันท์ แถบทอง ผู้บาดเจ็บ 37 คน
3. คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจเจ้าหน้าที่รัฐ หน้าธนาคารกรุงไทย อาคารซิลลิค สีลม ส่งผลให้ ส.ต.ท.กานต์พัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
4. คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจบริเวณตรงข้ามอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระรามที่ 4 จ.ส.ต.วิทยา พรมสำลี เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
5. คดีรถยนต์เจ้าหน้าที่ทหารถูกดักซุ่มโจมตี บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม จ.ส.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิต
6. คดีคนร้ายยิงอาวุธเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจเจ้าหน้าที่บริเวณข้างสวนลุมพินี ด้านแยกสารสิน ถนนราชดำริ ส.อ.อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
7. คดีคนร้ายวางเพลิงศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายกิตติพงษ์ สมสุข เสียชีวิต
8. คดีคนร้ายวางระเบิดหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้เสียชีวิตคือ นายธวัชชัย ทองมาก และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
นั่นหมายความว่า พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต เพราะการกระทำของนปช.
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการเปิดเผยสำนวนการสอบสวนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายสุวัตร กล่าวว่า “ คดีพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ในสำนวนสอบสวนครั้งแรกของดีเอสไอ จับคนที่ยิงได้แล้ว โดยสำนวนนั้นมีผู้ต้องหาทั้งหมด 20 กว่าคน มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องหาที่ 1 บางคนเอาไปขังไว้ ไม่ให้ประกันตัว แต่ในที่สุดก็ให้ประกันหมด พอประกันแล้ว ก็ได้ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุด จากบัดนั้นถึงบัดนี้ สำนวนนั้นยังไม่ฟ้องเลย แต่สำนวนของพันธมิตรฯ ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดที่หลังกว่า แต่มาแล้ว แถมให้ตั้งข้อหาเพิ่ม 48 คน”
“มีพยานปากหนึ่งชื่อ นายเสก เชษฐา หรือ โต้ง ท้วมมณี ได้ให้การว่า "เป็นการ์ดของกลุ่มนปช. ได้วันละ 900 บาท ประสานงานกับ เสธ.แดง ในการหาข่าวทางทหารส่งให้ เสธ.แดง เขาได้รับมอบหมายให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดาวกระจายไปที่ต่างๆ นปช. เคยฝึกเป็นนักรบพระเจ้าตากกับ เสธ.แดง ที่สนามหลวง โดยการชักชวนของ นายโชคอำนวย ไม่ทราบนามสกุล มีผู้ต้องหาที่ 24 และเพื่อน คือ นายศิริชัย หรือ ตี๋ ร่วมฝึกด้วย มีการฝึกสอนและใช้ยิงอาวุธปืน และเครื่องยิงระเบิด และปาระเบิด M76 และพยานยังทราบว่า ผู้ต้องหาที่ 18 ( ก็คือ เสธ.แดง ) เก็บอาวุธสงครามต่างๆ เช่น M16 ลูกระเบิดขว้าง M67 ไว้ภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เช่าพักไว้ โดยมีผู้ต้องหาที่ 24 เป็นคนเฝ้า”
“ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ผู้ต้องหาที่ 19 ได้ใช้เครื่องยิงระเบิด M79 ยิงก่อกวนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามหลวง ทั้งยืนยันว่า ผู้ต้องหาที่ 19 ใช้อาวุธ M79 ยิงใส่โรงเรียนสตรีวิทยา จนพล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต มีทหารบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ยิงระเบิด M79 ใส่ประชาชนคนเสื้อหลากสีที่ศาลาแดง ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ต้องหาที่ 24 ยิงระเบิด M79 ใส่ตำรวจ”
นอกจากนั้น ยังให้การว่ามีบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดอีกจำนวนมาก และแกนนำบนเวที ก็รู้เห็น และทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธ หรือกองกำลังชุดดำรวมอยู่ด้วย เพราะมีการเบิกจ่ายอาวุธปืนกันอยู่เสมอ ซึ่งเก็บไว้ที่เต้นท์หลังเวทีชุมนุม โดยมีนายพิทักษ์ ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้เก็บรักษา
“พยานเคยเห็นผู้ต้องหาที่ 18 ติดต่อรายงานให้กับผู้ต้องหาที่ 1 ( เสธ.แดง ติดต่อกับพ.ต.ท.ทักษิณ ) ทราบทางโฟนอิน หรือทางคอมพิวเตอร์ระหว่างชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 18 ทำหน้าที่สั่งการควบคุมกองกำลังติดอาวุธ ส่วนนายอารีย์ ไกรนรา ทำหน้าที่ควบคุมกองกำลังการ์ดของคนเสื้อแดงทั้งหมด และ ผู้ต้องหาที่ 19 ก็คือ นายสุขเสก พลตื้อ" นายสุวัฒน์ อธิบายเนื้อหาในสำนวนของดีเอสไอ ที่ทำมาตั้งแต่ต้น
นายปานเทพ อธิบายสำนวนคดีเพิ่มเติมว่า ขอเสริมคำให้การพยานอีกปาก ให้การว่า "นายกบไม่ทราบชื่อ และนามสกุล ผู้ต้องหาที่ 25 โดยนายสุข (สุขเสก พลตื้อ) และนายหรั่ง เป็นการ์ด และคนหาข่าวให้กับเสธ.แดง นายหรั่งจะมีอาวุธปืนขนาด 11 มม. และระเบิดลักษณะคล้ายผลส้มติดตัว ส่วนนายกบ เคยเห็น เสธ.แดง โทรศัพท์มาบอกว่ามีงานให้ทำ และโทรศัพท์ตามเอาของมาคืน คือปืน M79 มาคืน เสธ.แดง พยานทราบว่า นายสุข และนายหรั่ง นำอาวุธปืน M79 ไปยิงสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องทำงาน ผบ.ทบ. สี่แยกคอกวัว เอเอสทีวี และกรมทหารราบที่ 11 และพยานเคยเข้าร่วมประชุมการ์ด และได้ยินแผนการ ให้นายสุข และนายหรั่ง นำอาวุธปืน M79 ไปยิงก่อกวนตามสถานที่ต่างๆ และฆ่าคนเสื้อหลากสี และคนเสื้อเหลืองด้วย
นอกจากนี้พยานยังทราบว่า กลุ่มแนวร่วมนปช.ได้รับเงินสนับสนุนจากนายสงคราม คุณสมหวัง และจากพ.ต.ท.ทักษิณ"
แล้วอย่างนี้ ข้อเสนอให้ลบล้างการทุจริต และทรยศต่อร่างไร้วิญญานของผู้เสียชีวิต ควรได้รับการสานต่ออย่างนั้นหรือ !!?
ทั้งๆที่ “ทักษิณ ชินวัตร” คือต้นเหตุ และเป็นผู้ขัดแย้งกับรัฐไทย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม !!