“สุวัตร” เปิดสำนวนสอบสวนดั้งเดิมคดี “ร่มเกล้า” ชี้ชัด “แม้ว” ผู้ต้องหาที่ 1 “สุขเสก พลตื้อ” คนยิง แต่วันนี้กลับบิดเบือนว่าคดีไม่คืบ ด้าน “ปานเทพ” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลที่แล้วหนุนประกันตัวเสื้อแดงทั้งหมด ทั้งๆ ที่รู้ใครเป็นคนสังหาร หรือต่อรองทางการเมืองโดยเอาชีวิตทหารเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือเป็นเรื่องเจ็บปวด
วันที่ 16 มี.ค. นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายสุวัตรกล่าวว่า คดี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ในสำนวนสอบสวนครั้งแรกของดีเอสไอ จับคนที่ยิงได้แล้ว โดยสำนวนนั้นมีผู้ต้องหาทั้งหมด 20 กว่าคน มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ต้องหาที่ 1 บางคนเอาไปขังไว้ไม่ให้ประกันตัว แต่ในที่สุดก็ให้ประกันหมด พอประกันแล้วก็ได้ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุด จากบัดนั้นถึงบัดนี้สำนวนนั้นยังไม่ฟ้องเลย แต่สำนวนของพันธมิตรฯ ยื่นขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดที่หลังกว่า แต่มาแล้ว แถมให้ตั้งข้อหาเพิ่ม 48 คน
นายสุวัตรกล่าวต่อว่า มีพยานปากหนึ่งชื่อ นายเสก เชษฐา หรือโต้ง ท้วมมณี ได้ให้การว่า “เป็นการ์ดของกลุ่ม นปช. ได้วันละ 900 บาท ประสานงานกับ เสธ.แดงในการหาข่าวทางทหารส่งให้ เสธ.แดง เขาได้รับมอบหมายให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ดาวกระจายไปที่ต่างๆ นปช.เคยฝึกเป็นนักรบพระเจ้าตากกับ เสธ.แดงที่สนามหลวง โดยการชักชวนของนายโชคอำนวย ไม่ทราบนามสกุล มีผู้ต้องหาที่ 24 และเพื่อน คือ นายศิริชัย หรือตี๋ ร่วมฝึกด้วย มีการฝึกสอนและใช้ยิงอาวุธปืนและเครื่องยิงระเบิด และปา M76 และพยานยังทราบว่าผู้ต้องหาที่ 18 (ก็คือเสธ.แดง) เก็บอาวุธสงครามต่างๆ เช่น M16 ลูกระเบิดขว้าง M67 ไว้ภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์ที่เช่าพักไว้ โดยมีผู้ต้องหาที่ 24 เป็นคนเฝ้า
ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ผู้ต้องหาที่ 19 ได้ใช้เครื่องยิงระเบิด M79 ยิงก่อกวนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สนามหลวง ทั้งยืนยันว่าผู้ต้องหาที่ 19 ใช้อาวุธ M79 ยิงใส่โรงเรียนสตรีวิทยา “จน พ.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต” มีทหารบาดเจ็บสาหัสหลายนาย ยิงระเบิด M79 ใส่ประชาชนคนเสื้อหลากสีที่ศาลาแดง ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ต้องหาที่ 24 ยิงระเบิด M79 ใส่ตำรวจ
นอกจากนั้นยังให้การว่ามีบุคคลที่่ร่วมกระทำความผิดอีกจำนวนมาก และแกนนำบนเวทีก็รู้เห็น และทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธ หรือกองกำลังชุดดำรวมอยู่ด้วย เพราะมีการเบิกจ่ายอาวุธปืนกันอยู่เสมอ ซึ่งเก็บไว้ที่เต้นท์หลังเวทีชุมนุม โดยมีนายพิทักษ์ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้เก็บรักษา
พยานเคยเห็นผู้ต้องหาที่ 18 ติดต่อรายงานให้กับผู้ต้องหาที่ 1 (เสธ.แดงติดต่อกับ พ.ต.ท.ทักษิณ) ทราบทางโฟนอิน หรือทางคอมพิวเตอร์ ระหว่างชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 18 ทำหน้าที่สั่งการควบคุมกองกำลังติดอาวุธ ส่วนนายอารี ไกรนรา ทำหน้าที่ควบคุมกองกำลังการ์ดของคนเสื้อแดงทั้งหมด และผู้ต้องหาที่ 19 ก็คือนายสุขเสก พลตื้อ” นี่คือสำนวนของดีเอสไอที่ทำมาตั้งแต่ต้น แต่บัดนี้มีการร้องขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุด ซึ่งตนเชื่อได้เลยว่าหากสำนวนกลับมาอาจมีการสั่งไม่ฟ้อง
นายสุวัตรกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทหารกำลังถูกไล่ล่า หาความเป็นธรรมให้ทหารไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่าความยุติธรรมในยุคนี้มันถูกบิดเบือน แล้วถ้าหากกระบวนการยุติธรรมพังลง จะอยู่ในประเทศนี้กันอย่างไร ทั้งๆ ที่มีประจักษ์พยาน มีหลักฐานชัดเจนว่าใครยิง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นร้องขอความเป็นกับอัยการสูงสุด แค่กรณีหญิงอ้อ อัยการสูงสุดยังไม่ฎีกาเลย แล้วจะกล้าฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณหรือ
อีกทั้ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เมื่อก่อนกับปัจจุบัน คนละคนกันเลย ซึ่งก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่าสำนวนจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะก็มีการเปลี่ยนผู้ต้องหาจากนปช. เป็นชายชุดดำ หมาที่ไหนไปเปลี่ยนสำนวน ต้องถามกลับไปที่นายธาริต ให้คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ไปหานายสุเทพ ซึ่งได้รับอำนาจจากนายกฯ ขณะนั้น ให้เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน) ไปถามได้เลย นายสุเทพเป็นคนเซ็นสำนวนสอบสวนครั้งแรกเกือบทุกหน้า รู้เรื่องสำนวนนี้ดี
นายสุวัตรยังกล่าวต่อว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 ระบุว่าผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ดังนั้น หากศาลตัดสินออกมาว่าทหารฆ่าผู้ชุมนุมจริง คนที่ใช้ทหารก็ต้องผิดด้วย งานนี้ไม่จบง่ายๆ
ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า ปกติการไต่สวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ใช้กรณีเดียวเท่านั้น คือการเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นจากเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งแน่นอนกรณีนี้ก็คือทหาร ท้ายที่สุดน่าสนใจ เพราะพอระบุว่าไม่รู้ว่าใครทำให้ตาย ทหารจะแต่งตั้งทนายขึ้นไป เพื่อความยุติธรรมของคดี ก็อาจจะยากขึ้น เพราะทางศาลอาจบอกว่าก็ไม่ได้ระบุหนิว่าทหารเป็นคนทำให้ตาย จะมาขอความเป็นธรรมได้อย่างไร นี่เป็นแทคติกทางข้อกฎหมายอีกประการหนึ่งที่อาจมีการวางหมากไว้
จากหมายเรียก มีทหารหลายคนถูกเรียกไปไต่สวน และไม่แน่ศาลอาจไต่สวนให้ครบวรรค 5 ว่าใครทำให้ตายด้วยซ้ำไป ถ้าสรุปเป็นเจ้าพนักงานทำ ต่อไปญาติของกลุ่มคนที่ตาย ก็เอาสำนวนนี้ไปดำเนินฟ้องทางแพ่งและอาญาต่อทหาร นี่ก็เป็นความเสี่ยง
น่าประหลาด ที่อัยการชงเรื่องนี้ให้ศาลทำการไต่สวน แต่ดูเนื้อหาจริงๆ ประมาณปี 54 มีพี่น้องเสื้อแดงหลายคน ยื่นฟ้องทหารต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ตอนนั้นอัยการยืนข้างทหาร โดยให้เหตุผลว่าไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย เพราะคำฟ้องคลุมเครือ และความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้ตายเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อขึ้น แต่วันดีคืนดีไปยืนข้างเสื้อแดงเฉย เห็นบรรทัดฐานของอัยการแล้วพิลึกพิลั่น
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ขอเสริมคำให้การพยานอีกปาก ให้การว่า "นายกบไม่ทราบชื่อและนามสกุล ผู้ต้องหาที่ 25 โดยนายสุข (สุขเสก พลตื้อ) และนายหรั่ง เป็นการ์ดและคนหาข่าวให้กับเสธ.แดง นายหรั่งจะมีอาวุธปืนขนาด 11 มม. และระเบิดลักษณะคล้ายผลส้มติดตัว ส่วนนายกบเคยเห็นเสธ.แดงโทรศัพท์มาบอกว่ามีงานให้ทำ และโทรศัพท์ตามเอาของมาคืน คือปืน M79 มาคืนเสธ.แดง พยานทราบว่านายสุขและนายหรั่ง นำอาวุธปืน M79 ไปยิงสถานที่ต่างๆ เช่นห้องทำงานผบ.ทบ. สี่แยกคอกวัว เอเอสทีวี และกรมทหารราบที่ 11 และพยานเคยเข้าร่วมประชุมการ์ด และได้ยินแผนการ ให้นายสุขและนายหรั่ง นำอาวุธปืน M79 ไปยิงก่อกวนตามสถานที่ต่างๆ และฆ่าคนเสื้อหลากสีและคนเสื้อเหลืองด้วย นอกจากนี้พยานยังทราบว่ากลุ่มแนวร่วม นปช.ได้รับเงินสนับสนุนจากนายสงคราม คุณสมหวัง และจากพ.ต.ท.ทักษิณ"
ตนสนใจตรงที่ว่า วันที่หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ ดีเอสไอขอหมายจับ จับตัวได้แล้ว ศาลไม่ให้ประกันตัว ขั้นต่อไปคือนำเข้าสู่ชั้นอัยการ อัยการก็รับเรื่อง แต่ปรากฎว่าคดีไม่คืบหน้าจนป่านนี้ ล่าสุดนายธาริตก็ออกมาบอกว่าคดีไม่คืบ ทั้งๆที่ปีที่แล้วเดือนกรกฎาคม นายธาริตทำสำนวนนี้เองกับมือ ไม่คืบแล้วทำสำนวนยื่นต่ออัยการได้อย่างไร หรือจะพลิกสำนวนจากนปช.เป็นคนทำผิดกลายเป็นชายชุดดำ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครหลังจากนี้
“มีข้อสังเกต วันที่มีการประกันตัว ปกติจะประกันตัวทีละรอบ แต่ชุดของผู้ต้องสงสัยยิงพล.อ.ร่มเกล้า ได้รับการประกันตัวพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 นัยคือบังเอิญเอกสารของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบลายเซ็นนักการเมืองชื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เซ็นในเอกสารหลายหน้า และหน้าที่เซ็นและมีการขีดเส้นใต้เป็นหน้าที่กล่าวถึงว่าใครสังหารพล.อ.ร่มเกล้า ถามว่ารู้ทั้งรู้ว่าใครสังหาร เหตุใดจึงสนับสนุนการประกันตัวเสื้อแดงทั้งหมด ไม่คิดบ้างหรือว่านางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ตอนนั้นรับราชการอยู่ในทำเนียบรับบาล แต่กลับมีการเจรจาต่อรองทางการเมืองโดยเอาชีวิตทหารมาเป็นเครื่องมือหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด และน่าเศร้า” นายปานเทพกล่าว