xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสำนวน “คดีทหารฆ่าประชาชน” ไม้ขีดถูกจุดขึ้นแล้ว !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้พูดประโยคเด็ดที่มีนัยยะสำคัญ เกี่ยวกับการออก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หรือให้ “พ้นผิด” ในความผิดทั้งปวงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารที่ในนามว่า พรบ.ปรองดองเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 255 นั้น น่าสนใจยิ่ง

“ที่ยกร่างไว้ 6 มาตรา ไม่เกี่ยวกับเรื่องฆ่าคน ไม่เกี่ยวกับ 91 ศพ ใครผิดก็ติดคุกไป ส่วนรายละเอียดขอเวลาอีกสักระยะ ให้มั่นใจกว่านี้ก่อน เพราะตอนนี้ประชาชนยังไม่เข้าใจ”

คำสัมภาษณ์เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ว่า หากรัฐบาลเป็นผู้ตั้งเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทหารที่พรรคเพื่อไทยออกรณรงค์ปลุกระดมหาเสียงว่า “ทหารฆ่าคนเสื้อแดง” จนเกิดกระแสนั้น จะไม่สามารถใส่นิรโทษกรรมให้กับคดี 16 ศพซึ่งตั้งเรื่องโดยรัฐบาลได้ เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสียมวลชนที่ถูกปลุกระดมขึ้นมา

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไม คณะกรรมาธิการปรองดองแห่งชาติ อาจจึงต้องยืมมือ “สถาบันพระปกเกล้า” เข้ามาเป็นกลไกตั้งเรื่องเพื่อสร้างความหวังเรื่องในการฟอกความผิดทุกฝ่าย ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างความฝันให้กับ “ทหาร” ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ปิดเงียบเกี่ยวกับ พรบ.ปรองดอง เพราะไม่ต้องการให้เหล่ากองทัพได้รับรู้เรื่องก่อนที่ศาลอาญาจะเริ่ม “จุดไม้ขีด” ไต่สวนคดีการเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรับลูกต่อจากอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150

กว่าที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะแย้มข้อมูลว่า การนิรโทษกรรมตาม พรบ.ปรองดองนั้น ไม่เกี่ยวกับคดีทหารฆ่าประชาชน ก็ต้องรอให้ถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ที่ ร.ต.อ.เฉลิม สัมภาษณ์แย้มเรื่องการไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีทหารฆ่าประชาชนเอาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 นั้นอาจเป็นเพราะวันดังกล่าวเป็นวันแรกที่ศาลอาญาได้นัดไต่สวนคดีวิสามัญฆาตกรรมคดีแรกจากทั้งหมด 16 ศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150

ซึ่งบังเอิญว่าเกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ที่ในวันดังกล่าวนั้นต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เพราะเกิดอุบัติเหตุที่เจ้าหน้าที่ในศาลอาญาติดประกาศช้ากว่าแผน ติดประกาศไม่ถูกต้องตามกฎหมายหากเริ่มการไต่สวนวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 จนมีผู้ใหญ่บางคนในศาลอาญาออกแรงลงมาโวยวายการติดประกาศที่ล่าช้าครั้งนี้อย่างออกหน้าออกตา จนทำให้ทหารได้รับทราบทันทีว่าเกิดเหตุบางประการที่ศาลอาญาเกี่ยวกับคดีนี้อย่างแน่นอน

เพราะก่อนหน้านี้ประมาณปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2555 หลังจากที่อัยการสูงสุดได้ยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ให้ศาลอาญานัดไต่สวนคดีทหารฆ่าประชาชนนั้น หลังจาก “ข่าวรั่ว” ออกไป ปรากฏว่ามีนักการเมืองขี้เมาที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยชัดเดินควงไปกับอัยการท่านหนึ่งไปเจรจากับ “บิ๊กทหาร” โดยให้ความหวังว่า คดีนี้จะไม่เอาผิดทหาร และในสำนวนการไต่สวนนั้น ไม่ได้พูดถึงว่าทหารเป็นคนทำ เพียงแต่จะระบุว่า:

“การเสียชีวิตคนเหล่านี้กระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่” โดยที่จะไม่เอาผิดทหาร

ปรากฏว่า “บิ๊กทหาร” คนดังกล่าวเกิดความหลงเชื่อในคารมและคำมั่นสัญญาในการเจรจาของนักการเมืองคนดังกล่าวและอัยการท่านนั้น

ถึงวันนี้ทหารก็คงทราบและซาบซึ้งกันดีแล้วว่า 16 คดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อัยการสูงสุดยื่นต่อให้ศาลอาญาไต่สวนทั้งหมดกี่คดี และ เนื้อหานั้นเป็นไปตามที่นักการเมืองกล่าวถึงหรือไม่?

มาดูตัวอย่าง 2 คดีในการบรรยายการของอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลไต่สวน ดังนี้

คดีแรก การเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา (ซึ่งเป็นคดีที่เลื่อนออกไปจากวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 ไปเป็นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555) ถูกระบุในสำนวนความตอนหนึ่งว่า:

“ข้อ 2ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลากลางวัน ขณะที่นายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ตาย ซึ่งเป็น ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. กำลังร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณบังเกอร์(ยางรถยนต์) หน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศเตือนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้หยุดการวางยางเป็นบังเกอร์บริเวณดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการยิงปืนขึ้นฟ้า ต่อมามีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดโดยมีกระสุนปืนยิงมาที่บังเกอร์ยางที่ผู้ตายและกลุ่ม นปช.อยู่ ปรากฏว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนยิงที่บริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บ และนำตัวส่งโรงพยาบางพญาไท 1 แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และต่อมาได้ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1

ข้อ 4.ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนการสอบสวนตามสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพที่ ซ.65/2553 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเชื่อว่าการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา เป็นการตายอันเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้ตาย”

คดีที่สอง การเสียชีวิตของนายพัน คำกอง (ศาลอาญานัดไต่สวนวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555) ในการบรรยายในสำนวนระบุความตอนหนึ่งว่า:

“เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้เครื่องขยายเสียง (โทรโข่ง) ประกาศให้นายสมร ไหมทอง ขับรถตู้คันดังกล่าวออกไปจากพื้นที่ แต่นายสมร ไหมทอง ยังขับรถยนต์ตู้ดังกล่าววิ่งไปในเขตพื้นที่ควบคุมแนวของเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ใช้อาวุธปืนระดมยิงรถตู้คันดังกล่าว อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่จำนวนหลายนัด กระสุนปืนถูกรถตู้ได้รับความเสียหายและนายสมร ไหมทอง ได้รับบาดเจ็บถูกอาวุธปืนยิงบริเวณลำตัว และในขณะนั้นกระสุนปืนยังไปถูกนายพัน คำกอง ที่ออกมายืนบริเวณหน้าสำนักงานขาย ไอดิโอ คอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เพื่อดูเหตุการณ์ยิงกันดังกล่าวถึงแก่ความตาย

นายพัน คำกอง ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยพนักงานสอบสวนเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

น่าสังเกตว่าคดีทั้งหมดนี้แม้จะมีการสรุปปิดท้ายจากอัยการสูงสุดคล้ายคลึงกันหมดคือขอให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่า

“ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และทราบเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย”

ที่น่าสนใจก็คงจะเป็นประเด็นนี้เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 5 นั้นจะระบุด้วยข้อความดังนี้

“เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ”

ดังนั้นหากสังเกตก็จะพบว่า อัยการยื่นขอให้ศาลทำไม่ครบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 5 โดยขอให้ศาลทำเพียงแค่ไต่สวนและทำคำสั่งจำกัดเพื่อแสดงว่า “ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และทราบเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย” เท่านั้น

แต่อัยการสูงสุด “ไม่ยื่น” ขอให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งต่อในประเด็นที่ว่า ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้

และนี่คือความหวังที่นักการเมืองคนนั้นและอัยการคนนั้น มอบให้กับฝ่าย “บิ๊กทหาร”เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าทหารจะปลอดภัยในคดีการไต่สวนครั้งนี้ อันเป็นการนัดหมายและตกลงกันอย่างแนบเนียนที่สุด

แต่ผลที่ตามมาแม้ว่าจะไม่ระบุว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่เนื้อหาในสำนวนคดีที่เป็นเหตุในการไต่สวนครั้งนี้เกิดขึ้นตามที่พนักงานสอบสวนนั้นต่างรายงานตรงกันว่า

“เป็นการตายอันเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่บรรยายในชั้นการสอบสวนอย่างชัดเจนให้เข้าใจว่าทหารเป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉินโดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกจากทหารที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเลย

แผนนี้ดูลึกกว่าที่คิด เพราะเป็นการวางหมากเอาไว้ถึง 4 ประการด้วยกันคือ

1.การยื่นเช่นนี้เป็นการตั้งเรื่องเพื่อเอาผิดทหารในวันข้างหน้า เพราะเพียงแค่ศาลอาญาจะไต่สวนเพื่อทำคำสั่งว่า “ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และทราบเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย” แต่เฉพาะ การ “ทราบเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย” นั้นก็จะเป็นต้นเรื่องในการฟ้องทางแพ่งและอาญาต่อไปตามสำนวนการสอบสวนนี้ โดยผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายก็จะใช้ผลการไต่สวนและทำคำสั่งนี้ไปใช้ต่อในคดีความต่อไปได้

2.การที่อัยการสูงสุดไม่ขอให้ศาลไต่สวนและทำคำสั่งในประเด็นที่ว่า ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ นั้น มองอีกมุมหนึ่งอาจทำให้ลดทอนการไต่สวนในชั้นนี้ว่ากองทัพยังไม่ใช่ผู้เสียหาย เพื่อให้น้ำหนักที่กองทัพจะอาศัยช่องเล็กๆที่จะตั้งทนายไปต่อสู้ขอให้ศาลไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรค 9 ลดลงไป

3.กองทัพ จะเกิดความสั่นคลอนครั้งใหญ่ เพราะหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่จะเสี่ยงถูกดำเนินคดีความตามมาเป็นจำนวนมาก ทำให้สายบังคับบัญชาของกองทัพล่มสลายลงจนไม่สามารถสั่งการใดๆได้ เพราะผู้บังคับบัญชาการไม่ปกป้องคุ้มครองเวลามีภัยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่นักการเมืองได้ยื่นคำให้การในคดีนี้ว่า “สั่งการเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษร” เท่านั้น และก็ยังไม่แน่ว่าจะมีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรในระดับกองทัพมีมากน้อยแค่ไหนในการปฏิบัติตาม พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผู้ปฏิบัติงานและหัวหน้าชุดคุมกำลังทั้งหลายกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงในทางคดีความอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นี่เป็นเหตุผลที่มีการตั้งเรื่องเอาไว้ในการไต่สวนคดีวิสามัญฆาตกรรมในชั้นนี้ว่า “เป็นการตายอันเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่”

ข้อสำคัญหากมีการถูกดำเนินคดีความแพ่งและอาญากลับแล้ว กว่าคดีจะสิ้นสุดตั้งแต่ศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็คงจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และหมายความว่าทหารหลายคนในวันนี้คงอาจจะถูกดองยาวในระหว่างถูกดำเนินคดี และหลายคนก็อาจจะเกษียณอายุหมดอำนาจไปเรียบร้อยแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีแล้วเสียด้วยซ้ำ

4.สถานภาพทางการเมืองกับกองทัพ นอกจากผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีความเสี่ยงคดีความแล้ว ยังจะต้องถูกบันทึกตราเอาไว้ในประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนด้านเดียวเป็นกระแสว่า “ทหารฆ่าประชาชน” ทำให้สถานภาพเดิมที่เป็น “วีรบุรุษที่สลายผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง” จะตกอยู่ในฐานะทางประวัติศาสตร์ว่าเป็น “ฆาตกรฆ่าประชาชน” ส่งผลทำให้เหมือนเอาห่วงมาคล้องทหารได้สำเร็จ และผู้ที่คุมกำลังจะถูกบีบจากสังคมและฝ่ายการเมืองทำให้ทหารหลายคนอาจหมดความชอบธรรมในการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและถูกโยกย้ายให้ไปอยู่ที่อื่นในระหว่างถูกดำเนินคดีความ และอาจถึงขั้นการแก้ไขรื้อ พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ในที่สุด

สำหรับชนวนระเบิดระหว่างกองทัพกับนักการเมืองและมวลชนคนเสื้อแดงครั้งนี้สรุปได้ว่า “ไม้ขีดถูกจุดขึ้นแล้ว”!!!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น