xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผลศึกษาปรองดอง ผลงาน“บิ๊กบัง” ช่วย“แม้ว”กลับบ้าน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร พบปะกับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อหารือแนวทางปรองดอง ที่ร้านอาหารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สถาบันพระปกเกล้าได้เปิดเผยเนื้อหาของรายงานการวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

ซึ่งก็ไม่เหนือจากความคาดหมายนัก เมื่อรายงานดังกล่าวออกมาในลักษณะที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลืมความหลัง แล้วหันหน้าเข้าหากัน เพื่อสร้างความปรองดองขึ้นในสังคมไทย โดยไม่ต้องใส่ใจว่าใครเป็นฝ่ายผิดใครเป็นฝ่ายถูก

รายงานชิ้นนี้ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งปรากฏว่า หลายข้อ แทนที่จะนำไปสู่ความปรองดองตามเป้าหมาย แต่กลับจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาเสียเอง

โดยเฉพาะแนวทางระยะสั้นข้อ 2.ให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย และข้อ 3.ให้ผลการพิจารณาคดีที่เกิดจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ และให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด ซึ่งข้อเสนอทั้ง 2 ข้อนี้ เข้าทางเท้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบเต็มๆ

รายงานของสถาบันพระปกเกล้าชิ้นนี้ ใช้เวลาทำกว่า 2 เดือน โดยการไปสัมภาษณ์บุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เชื่อว่าเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทั้งแกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง นักวิชาการ นักการเมือง แล้วสรุปออกมาเป็นข้อเสนอ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ที่ถูกสัมภาษณ์จากทีมงานทำวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า คณะจากสถาบันพระปกเกล้าได้มาสัมภาษณ์ตนหลังจากแกนนำพันธมิตรฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เพราะเห็นว่าการปรองดองที่ดีที่สุดคือให้ทุกฝ่ายทำตามกฎหมายเท่านั้น

ในการให้สัมภาษณ์นั้น นายปานเทพบอกว่า ตนมีจุดยืนชัดเจนว่าพันธมิตรฯ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม และพร้อมพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับชี้แจงว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีปัญหาตั้งแต่เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ หรือเผด็จการทางทหารที่ผลัดกันไปมาตลอด

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับเอกสารจากสถาบันพระปกเกล้ากลับมา กลับระบุว่าทุกคนเห็นด้วยกับคำถามทั้งหมด ทั้งที่หลายข้อตนได้คัดค้านไปแล้ว แต่ไม่มีการนำไปรวมในรายงานด้วย แสดงให้เห็นว่าสถาบันพระปกเกล้าได้สรุปเนื้อหาโดยความคิดส่วนตัว โดยไม่ได้เอาความเห็นของคนที่เห็นแย้งไปประกอบเพื่อหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

นายปานเทพฟันธงว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นการตั้งธงต่อเนื่องมาจาก กมธ.ปรองดอง ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า รายงานนี้ไม่โปร่งใส เพราะไม่ได้นำข้อขัดแย้งหรือข้อความเห็นที่แย้งไปรวมอยู่ในผลของรายงานเลย

เมื่อย้อนไปถึงที่มาของ กมธ.ปรองดอง จะเห็นว่าได้ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ต้น เมื่อครั้งที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ได้เสนอเป็นญัตติด่วนเข้าสู่สภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 ขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังสาละวนอยู่กับมหาอุทกภัยน้ำท่วม

พล.อ.สนธิให้เหตุผลในหนังสือเสนอญัตติว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองผ่านมา นำไปสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน อันส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของชาติบ้านเมือง และความสามัคคี จึงจำเป็นเป็นต้องมีการแสวงหาทางออก เพื่อสร้างความปรองดอง ขจัดความตึงเครียด และความขัดแย้งทางการเมือง ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงและความเสียหายขึ้นอีกในอนาคต

หลังจากนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 ก็มีมติให้ตั้ง กมธ.ปรองดองดังกล่าวขึ้นมา ถัดจากนั้นอีก 2 วัน ก็มีการประชุม กมธ.ปรองดองนัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ พล.อ.สนธิ เป็นประธาน ส่วนรองประธานมีทั้งหมด 5 คน คือ นายวัฒนา เมืองสุข พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ และ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

นอกจากนี้ มีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นรองเลขานุการ ขณะที่ นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบังลำภู พรรคเพื่อไทย และ นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษก กมธ.

เพียงวันแรก ที่ประชุม กมธ. พล.อ.สนธิ ก็เผยไต๋ออกมาว่า ทางออกของปัญหาความขัดแย้งคือการที่ทุกคนลืมอดีตและให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งคณะกรรมาธิการจะนำผลการศึกษาของ คอป. ชุดของนายคณิต ณ นคร มาต่อยอด และสนับสนุนการทำงาน เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะส่งเรื่องไปยังสถาบันพระปกเกล้าเพื่อศึกษาความเป็นไปได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ พล.อ.สนธินั้น เป็นอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยเหตุผลสำคัญสรุปได้ 4 ข้อ คือพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน และพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

แต่ 5 ปีให้หลัง มุมมองของ พล.อ.สนธิต่อรากเหง้าของปัญหาบ้านเมือง ได้เปลี่ยนไป และเกิดคำถามว่า การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น พล.อ.สนธิทำไปเพราะสำนึกความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง หรือทำเพราะกลัวว่าตนเองจะถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกกันแน่

อันที่จริง การประนีประนอมระหว่าง คมช.กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นมีมาตั้งแต่ภายหลังการยึดอำนาจแล้ว โดยเฉพาะการที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คมช.ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐในมือในการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความเลวร้ายของระบอบทักษิณอย่างจริงจัง นอกจากเอาพรรคพวกของตัวเองเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อหาประโยชน์ แล้วรีบจัดการเลือกตั้งจนระบอบทักษิณกลับมามีอำนาจอีก

ขณะที่ พล.อ.สนธิก็กระโจนเข้าสู่วงการเมืองที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมเหมือนช่วงก่อนการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 โดยเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อแผ่นดิน ในการเลือกตั้งปลายปี 2550 ก่อนที่จะออกมาเซ้งพรรคมาตุภูมิมาเป็นของตัวเองในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา และได้รับเลือกเข้าสภา 2 ที่นั่ง รวมทั้งตัวของ พล.อ.สนธิเองด้วย

โดยสถานภาพของพรรคมาตุภูมิในสภาผู้แทนฯ ขณะนี้ ต้องถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ 7 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นพรรคของ พล.อ.สนธิแสดงบทบาทฝ่ายค้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากบทบาทการเป็นประธาน กมธ.ปรองดองของ พล.อ.สนธิ

และเป็นบทบาทที่ชวนสงสัยว่า รับใบสั่งมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ เพราะ พล.อ.สนธิเป็นคนเสนอญัตติด่วนเพื่อตั้ง กมธ.นี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง และประธานสภาซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทยก็รีบบรรจุเข้าวาระการประชุม เพื่อตั้ง กมธ.นี้ทันที แล้วตำแหน่งใน กมธ.ส่วนใหญ่ก็มาจากพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น

หาก พล.อ.สนธิ ยังมีความคิดแบบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อยู่ ก็คงจะไม่มาทำบทบาทนี้อย่างแน่นอน เพราะ พล.อ.สนธิย่อมรู้ดีว่าผลการศึกษาของ กมธ.นี้จะออกมาอย่างไร ซึ่งจะขัดแย้งกับเหตุผลในการยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีก่อนอย่างแน่นอน

แต่การที่ พล.อ.สนธิ เป็นคนเสนอญัตติเอง แล้วมานั่งเป็นประธาน กมธ.เอง เพื่อเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เท่ากับยอมทำตัวเป็นหมากอีกตัวหนึ่ง ในเกมการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังเดิน เพื่อหาทางกลับประเทศโดยปราศจากความผิดและอาจได้ทรัพย์สิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืน เป็นเดิมพันติดปลายนวม
กำลังโหลดความคิดเห็น