xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สภาฯมัวแต่เล่นเกม ส่งผลออกกฎหมายช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8 มี.ค.) ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มีการจัดงานสัมมนาเรื่อง “การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยมี นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเป็นวิทยากร
นายวิษณุ กล่าวถึง ความบกพร่องหรือจุดอ่อนของกระบวนการนิติบัญญัติไทย ว่า ประการที่ 1 รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐบาลจะต้องทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในแผนดังกล่าว ต้องทำแผนนิติบัญญัติควบคู่กันด้วย หมายความว่า ภายใต้นโยบายของรัฐบาล กระทรวงจะต้องออกกฎหมายใดบ้าง แต่ในพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ที่บังคับใช้กับทุกกระทรวง บางครั้งเมื่อกระทรวงใดพบประเด็นที่ต้องแก้ไขเพียงข้อเดียว ก็ต้องนำเรื่องเข้าสภา หรือหากมี 3 กระทรวง ก็ต้องเข้าทั้ง 3 เรื่อง ทำให้เสียเวลา 2. การตรวจสอบหรือเช็กลิสต์ ที่ระยะหลังหละหลวม ทำให้จุดประสงค์ในการออกกฎหมายไม่ชัดเจน
3. เรื่องเกม ซึ่งเกมสำคัญอยู่ที่คณะรัฐมนตรี กับสภาผู้แทนราษฎร
4 .รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะดึงร่างกฎหมายใดมาศึกษาก่อน เป็นเวลา 1 เดือนได้ ซึ่งส่วนมากจะเกิดในกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นร่างกฎหมายเข้ามา ซึ่งรัฐบาลมี 2 ทางเลือก คือ ไม่เห็นด้วย ก็ทำให้ตกไป หรือหากเห็นด้วย แต่ทำให้ตกไปไม่ได้ ก็จะขอมาศึกษา 1 เดือน แต่ความเป็นจริง แค่ถ่วงเวลา แล้วให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ร่างขึ้นมาใหม่ เป็นฉบับรัฐบาล และส่งไปประกบเพราะกลัวเสียหน้า ทำให้ล่าช้ามาก
5.ความไม่มีเอกภาพของรัฐบาล ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการออกกฎหมาย
6. การใช้เวลาพิจารณากฎหมายของรัฐสภา ที่นานเกินไป เนื่องจากตอนอภิปรายรับหลักการในร่างต่างๆ มีสาระหรือไม่มีสาระ ก็ยกมาพูดกัน
ทั้งหมดนี้ คือสาเหตุที่บั่นทอนคุณภาพของฝ่ายนิติบัญญัติ
ในส่วนขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายนั้น นายวิษณุ เล่าว่า ความจริงขั้นตอนของครม.มีเพียงรับหลักการ และเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หากกฤษฎีกาไม่แก้มา ก็ใช้เวลาไม่นาน แต่หากแก้ไขมาก ก็ต้องย้อนมาเข้าครม.อีก เรื่องนี้ก็แปลก เพราะความจริงครม. ไม่ต้องทำตามกฤษฎีกาก็ได้ บางครั้งแก้ไขมาเยอะมาก แล้วครม. มีมติให้กลับไปใช้ร่างเดิมก็มี
อีกเรื่องที่พบคือ ตนยังไม่เคยเห็นร่าง พ.ร.บ.ใด เสนอจากส่วนราชการ แล้วตกในขั้นของครม. ทั้งที่ฟังจากคำอภิปรายแล้วดู ว่าไม่เห็นด้วย เพราะพอเป็นเรื่องที่มาจากพรรคที่คุมกระทรวงนั้นๆ มีหัวหน้าพรรคเป็นเจ้ากระทรวง ไปฉีกหน้าฉีกตากันไม่ได้ ได้แค่ติบางเรื่อง แล้วก็ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปแก้ แสดงว่า ภายในครม. มีการเล่นเกม
นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยรัฐบาล โดยปกติมีบังคับไว้ว่า จะต้องขอความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูปัญหาที่จะส่งผลกระทบ แต่ร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่กระทบต่อประชาชน กลับไม่มีการสอบถามความเห็นจากประชาชน หรือเอกชน ทั้งที่มีองค์กรต่างๆ เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือ สมาคมธนาคาร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มาวันนี้มีการพูดถึงหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น ดังนั้น เราต้องปรับการทำงาน และต้องถามภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หากไม่เชิญมาชี้แจง ก็ควรให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมา
สำหรับประเด็นความล่าช้าของการทำงานในส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิษณุ อธิบายว่า มาจากหลายสาเหตุ อาทิ การที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องแบ่งงานให้ตรงตามความเชี่ยวชาญของ 12 คณะ ทำให้บางครั้งงานก็ไปกองอยู่ที่คณะใดคณะหนึ่งมากเกินไป หรือบางคณะอาจดองเรื่องไว้เอง เพราะมองถึงความจำเป็น และความเร่งด่วน การเชิญผู้ชี้แจงไม่อยู่ในอำนาจที่แท้จริง จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นต้น
โดยวิธีแก้ปัญหาความล่าช้า เห็นว่าควรตั้งอนุกรรมการกฤษฎีกา แยกหน้าที่ให้ชัดเจน เพราะคณะกรรมการชุดเดียวจะทำหน้าที่ทั้งหมดไม่ได้ นอกจากนี้ เราควรเอาราชบัณฑิต เข้ามาร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาที่เถียงกันมากในเรื่องการใช้คำ บางคำเสียเวลาเป็นเดือน หากมีราชบัณฑิตมาช่วย ก็อธิบายได้
นายวิษณุ ยังได้กล่าวตำหนิกระบวนการนิติบัญญัติในชั้นรัฐสภาว่า ปัญหาอยู่ที่วันนี้สภาเล่นเกม เพราะสภาพูดมาก และใช้สำนวนโวหารกันมากเกินไป ทำให้ร่างกฎหมายยืดเยื้อ เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างกฎหมายง่ายๆ สภาใช้เวลานานกว่าร่างกฎหมายยาก เพราะร่างกฎหมายยาก ผู้แทนจะไม่กล้าพูดกัน เพราะกลัวเขาจะรู้ว่าขี้เท่อ ที่สำคัญการพิจารณาร่างกฎหมายของสภา อยู่ที่การต่อรองกันระหว่างวุฒิสภา กับสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อร่างกฎหมายผ่านสภาไปแล้ว จะไปเจอด่านของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ใช้เทคนิกกัน ถ้าแพ้ในสภา ก็เข้าชื่อกันให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดหน้าเสียก่อนที่จะมีการยื่นทูลเกล้าฯ ลองคิดว่าถ้าติดที่ศาลรัฐธรรมนูญ 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้น บางฉบับไปติดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ปี ก็มี
นายวิษณุ กล่าวในช่วงท้ายว่า ครั้งหนึ่งตอนที่ตนเป็นเลขาธิการครม. ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งทูลเกล้าฯ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสประโยคหนึ่งว่า อย่ามาเร่งรัดกัน จะขอดูละเอียดหน่อย เพราะถ้าเป็นร่างที่ผ่านมาจากสภาที่เลือกตั้ง ก็ต้องไว้ใจว่าถูกผิดเป็นผู้แทนปวงชนเขาพิจารณามาแล้ว เกณฑ์ในการที่คณะองคมนตรี จะพิจารณาก็เป็นอีกเกณฑ์หนึ่ง แต่เมื่อเป็นร่างกฎหมายที่มาจากสภาแต่งตั้ง และไม่มีฝ่ายค้าน เวลาพิจารณา จะต้องถี่ถ้วนอีกแบบหนึ่ง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยที่สภาอาจมองไม่เห็นในส่วนนี้ จึงต้องใช้เวลาหน่อย แต่จะไม่เกินเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด
"ประโยคนี้มีความสำคัญมาก จะเห็นว่ากระบวนการในพิจารณาของชั้นองคมนตรี ก็มี เพียงแต่อาจจะเข้าไปพิจารณายาก แต่ถ้าพิจารณาแล้ว เราจะได้มีโอกาสเห็นความละเอียด ซึ่งบางทีอาจไม่ออกมาสู่สายตาภายนอก ในบางรัฐบาลก็มีได้เห็นบ้าง ในกรณีที่รับสั่งให้นายกฯ เข้าเฝ้า เพื่อสอบถามรัฐบาล ตอบว่าได้หรือไม่ได้ ก็จะมีท่าทีออกมา อย่างในอดีตมีร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง ผ่านสภาแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงมีรับสั่งให้นายกฯ เข้าเฝ้า แต่ที่สุดก็ต้องลงพระปรมาภิไธยให้ผ่านไป แต่หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลก็เสนอให้แก้ไขกฎหมายฉบับนั้น ท่ามกลางความไม่เข้าใจ จึงต้องอธิบายกัน" นายวิษณุ กล่าว
ขณะที่ นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า กลไกการตรากฎหมายในปัจจุบัน ไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน เพราะถูกชี้นำโดยฝ่ายข้าราชการประจำ หลายครั้งก็ถูกตีกรอบโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย หรือไม่ได้รับการผลักดันจาก ครม. เป็นสาเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น และยังถูกมองว่ากลุ่มทุนที่มีอิทธิพลอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้อยู่เบื้องหลังได้ เช่น กฎหมายภาษี หรือกฎหมายที่ดินหลายฉบับ มักไม่ได้รับการตอบสนอง และถูกลดทอนด้วยระบบราชการอีก
ดังนั้น ทางแก้ไขควรที่จะให้มีการออกเป็นแผนแม่บทกำหนดเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี เพื่อกำหนดแนวทางในการออกกฎหมาย ที่ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาล ต้องปฏิบัติตาม ในลักษณะเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ทั้งนี้ เมื่อมีแผนแม่บทแล้ว ก็เชื่อว่า จะสามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ของรัฐบาล ส.ส. -ส.ว. คณะกรรมการกฤษฎีกา และภาคประชาชน เพื่อมาบูรณาการเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในอดีต ที่เมื่อฝ่ายการเมืองออกกฎหมายในบางเรื่องแล้ว มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาชุมนุมคัดค้าน ส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรเพิ่มอำนาจประชาชน ให้มีสิทธิในการยับยั้งกฎหมาย หรือการคัดค้านไม่ให้กฎหมายที่เสนอ โดยภาคประชาชนตกไป โดยการออกเสียงประชามติ เพราะเชื่อว่าจะดีกว่าปล่อยให้มีผู้ออกมาชุมนุม เช่นอดีตที่มีผู้เคยบุกเข้าไปในสภาฯมาแล้ว รวมไปถึงกรณีที่มีการออกกฎหมายไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ ดองเรื่องไว้ ไม่ยอมนำไปออกเป็นกฎกระทรวงต่างๆ ทำให้กฎหมายฉบับนั้นๆไม่มีผลในทางปฏิบัติ ก็เท่ากับกฎหมายเป็นหมัน โดยเฉพาะกฎหมายของภาคประชาชน หลายเรื่อง บางฉบับกฎหมาย ผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เรื่องนี้ควรมีการระบุให้ชัดเจนลงไป ถึงกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้แม้ว่าจะไม่สามารถเอาผิดข้าราชการได้ ตนก็เตรียมที่จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีนี้
ด้าน นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมในส่วนของปัญหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ต่อรัฐสภาว่า ที่ผ่านมาการนำเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน ไม่เป็นที่สนใจขอสังคมมากนัก เนื่องจากภาระและค่าใช้จ่ายทุกอย่าง จะตกอยู่กับแกนนำที่เสนอร่างกฎหมายนั้นๆ ทั้งในเรื่องการประชาสัมพันธ์ และการล่ารายชื่อ ที่ยังขาดการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ อีกทั้งยังขาดความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ เกี่ยวกับหลักกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของร่างกฎหมายโดยประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ก็ยังมีอุปสรรคในหลายด้าน อาทิ การมีส่วนร่วมในการพิจารณาของรัฐสภา หรือร่างกฎหมายส่วนใหญ่มักถูกแก้ไขสาระสำคัญ โดยร่างที่เสนอโดยรัฐบาล ในการวิจัยครั้งนี้จึงได้มีข้อเสนอเพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน อาทิ การยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ประชาชน เป็นผู้นำเสนอร่างกฎหมายทั้งฉบับ โดยให้มีองค์กรผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการยกร่าง การเปิดโอกาสให้นำเสนอกฎหมายที่นอกเหนือจากหมวด 3 ( สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ) และหมวด 5 ( แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ) ของรัฐธรรมนูญ การกำหนดระยะเวลาในการพิจารณารับร่างของประธานรัฐสภาให้ชัดเจน หรือการรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างกฎหมายใดของประชาชน ต้องให้สู่การทำประชามติอีกครั้ง รวมไปถึงเพิ่มอำนาจของประชาชน ในการยับยั้งร่างกฎหมายใดๆได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น